เซอร์ วิลเลียม เพตตี้ (Sir William Petty)


เซอร์ วิลเลียม เพตตี้ (Sir William Petty ค.ศ. ๑๖๒๓-๑๖๘๗) เพตตี้สนใจเศรษฐศาสตร์การเมือง และเศรษฐศาสตร์จุลภาค เช่น ทฤษฎีมูลค่าและค่าจ้าง (Theory of Value and Wages) ทฤษฎีกำไร (Theory of Profit) ทฤษฎีอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน (Theory of interest and foreign exchanges) เป็นต้น และเพตตี้มีงานเขียนหลายเล่ม เช่น A Treatise of Taxes and Contribution (ค.ศ. ๑๖๖๒) Verbum Sapienti (ค.ศ. ๑๖๖๕) Political Anatomy of Ireland (ค.ศ. ๑๖๗๓) Quantulumcumque, or A tract Concerning Money (ค.ศ. ๑๖๘๒) เป็นต้น เพตตี้เป็นนักพาณิชย์ที่มีความคิดค่อนข้างเสรีมากกว่านักพาณิชย์นิยมคนอื่น เขามองบทบาทของภาษีที่มีต่อระบบเศรษฐกิจแตกต่างไปจากโทมัส เขาเริ่มต้นด้วยข้อสมมติที่ว่าทุกประเทศต้องการให้สังคมของประเทศตนเจริญรุ่งเรือง จากนั้นเขาได้วิเคราะห์ให้เห็นแนวทางในการทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมายโดยนโยบายภาษี แม้ว่าเขาจะมีความเห็นเช่นเดียวกับโทมัสว่า การเก็บภาษีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่เขาเห็นแตกต่างไปจากโทมัสคือ เขาเห็นว่านโยบายภาษีนั้นมีไว้สำหรับเป็นเครื่องมือในการที่จะทำความเจริญให้แก่ประเทศ รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะดูแลให้พลเมืองของตนเองมีความกินดีอยู่ดี ด้วยเหตุนี้เงินภาษีที่รัฐบาลเก็บได้ รัฐบาลก็อาจจะนำไปใช้ในการกระตุ้นการค้าและอุตสาหกรรมซึ่งจะทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง แต่ถ้าเงินภาษีถูกใช้ไปไม่ถูกทาง เช่นใช้ไปในการทำสงครามหรือใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่ายของรัฐบาล ก็อาจทำให้ประเทศตกต่ำแลประสบกับความหายนะได้ ทฤษฎีภาษีของเพตตี้เป็นทฤษฎีภาษีที่ขึ้นอยู่กับหลักผลประโยชน์ที่ประเทศและพลเมืองจะได้รับจากภาษี ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่าการเก็บภาษีไม่ก่อให้เกิดผลเสียแต่ประการใด ถ้าหากเงินภาษีที่เก็บได้นั้นมิได้ถูกนำไปใช้จ่ายในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ นอกจากนั้นแล้วแนวความคิดทฤษฎีที่สำคัญของเพตตี้ยังมีอีกคือ

 

            - ทฤษฎีมูลค่า (Theory of Value) เป็นทฤษฎีที่อธิบายว่ามูลค่าของสินค้ากำหนดจากจำนวนแรงงานที่ใช้ในการผลิตสินค้าและที่ดิน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานโดยตรงในการผลิตสินค้านั้น เพื่อการใช้แรงงาน โดยอ้อมในการปรับปรุงที่ดิน แรงงานเปรียบเสมือนบิดาของผลิตผล และที่ดินเปรียบเสมือนมารดาของผลิตผล  การแบ่งงานกันทำของแรงงาน (Division of Labour) ทำให้เกิดการผลิตและได้ ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ  ในเรื่องทฤษฎีมูลค่าเพตตี้มีความต้องการหาต้นทุนที่แท้จริง (Real Cost) โดยการใช้ปัจจัยในการผลิตอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นตัวกำหนดมูลค่า เช่น ทฤษฎีมูลค่าเชิงแรงงาน (Labour theory of Value) ที่มีการใช้แรงงานเป็นตัวกำหนดมูลค่า  แต่เพตตี้ทราบว่า ต้นทุนที่  แท้จริงประกอบด้วยปัจจัยการผลิตสองชนิด มิใช่ชนิดเดียว แต่ถ้าจะใช้ทฤษฎีมูลค่าแบบต้นทุนที่    แท้จริงให้ได้ผลดี ก็ต้องมีปัจจัยในการผลิตเพียงชนิดเดียวเป็นตัวกำหนดมูลค่า  ด้วยเหตุนี้เพตตี้จึงมุ่งพยายามปรับที่ดินให้เป็นแรงงาน หรือแรงงานให้เป็นที่ดิน ก็จะได้สามารถใช้ต้นทุนที่แท้จริงได้สะดวก ดังนั้นจึงได้พัฒนา Theory of Par ซึ่งมีแนวคิดว่า “เราควรจะยินดีที่หาการทดแทน (Par) ระหว่างแรงงานและที่ดินเพื่อจะได้แสดงมูลค่าอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง  ความพยายามของเพตตี้ได้ประสบปัญหามากมาย เช่น ปัญหาเลขดัชนี (Index Number) คือ จะรวมที่ดินกับแรงงานเข้า    ด้วยกันโดยไม่คิดเป็นตัวเงิน และปัญหาที่ว่าที่ดินหรือแรงงานมีหลายประเภทแตกต่างกันด้วย

              - แนวคิดเกี่ยวกับราคา เพตตี้แยกราคาออกจากมูลค่าเพราะราคาวัดด้วยเงินตราและค่าของเงินเปลี่ยนแปลงไปได้ราคาจึงไม่มีความแน่นอนเท่ากับมูลค่า  การนำเงินมาแลกกับสินค้าต้องคำนึงถึงการแลกเปลี่ยนด้วย เช่น นาย ก. ผลิตข้าวสาลี ๑๐ ถัง มาขายในตลาด  นาย ข. ขุดเงินโลหะ โดยใช้แรงงานและที่ดิน และเวลาเท่ากับนาย ก.  การแลกเปลี่ยนระหว่างข้าวสาลีกับเงินโลหะจะต้องแลกเปลี่ยนกันได้พอดีในตลาด  ดังนั้นราคาของข้าวสาลีต้องกำหนดโดยนำเงินตราที่ผลิตได้หารด้วยปริมาณผลิตผลข้าวสาลี  สมมติว่า ผลิตข้าวสาลี ๑๐ ถัง ผลิตได้ด้วยเงินตราเท่ากับ ๕๐ ชิลลิง ข้าวสาลี ๑ ถัง มีมูลค่าเท่ากับ ๕ ชิลลิง

              - แนวคิดเกี่ยวกับค่าเช่า ตามความคิดของเพตตี้ ค่าเช่า คือ ส่วนเกินของที่ดินที่ใช้ในการผลิต  ค่าเช่าจะถูกกำหนดโดยราคา  ดังนั้นเพตตี้จึงนำแนวคิดเกี่ยวกับค่าเช่ามาเกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ยและการกระจายรายได้  สามารถอธิบายได้ดังนี้

              - อัตราดอกเบี้ยกับค่าเช่า อัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดโดยค่าเช่าของที่ดิน  ในกรณีการกู้ยืมที่ไม่เสี่ยง  อัตราดอกเบี้ยจะเท่ากับค่าเช่า  เมื่อที่ดินมีเป็นจำนวนมากและมีจำนวนเงินที่สามารถซื้อหามาได้  ในกรณีของการกู้ยืมที่เสี่ยงอัตราดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้น

              - การกระจายรายได้กับค่าเช่า ปัจจัยการผลิตมีเพียง ๒ ชนิด คือ ค่าจ้าง กับ ค่าเช่า เท่านั้น สำหรับค่าจ้างเพตตี้ให้ความสำคัญกับระดับอัตราค่าจ้างพอมีกินมีใช้ คือ มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงหัวหน้าครอบครัว ภรรยา และบุตร  เมื่อใดที่อัตราค่าจ้างสูงกว่าระดับอัตราค่าจ้างพอมีกินมีใช้ หัวหน้าครอบครัวจะลดเวลาทำงานลงก็จะเกิดความเกียจคร้านในหมู่แรงงาน แต่ถ้าอัตราค่าจ้างต่ำกว่าระดับอัตราค่าจ้างพอมีกินมีใช้ หัวหน้าครอบครัวก็จะไม่สามารถเลี้ยงลูกหลานของตนเองได้  ดังนั้นในการกำหนดค่าเช่า สามารถกำหนดได้ดังนี้

             ค่าเช่าที่ดิน = ผลิตผล – (สิ่งของที่ใช้ในการผลิต+สิ่งของที่ผู้ผลิตและครอบครัว   ใช้ในการครองชีพ)

                   ดังนั้นค่าเช่าที่ดินอาจจะคิดเป็นสิ่งของหรือเป็นจำนวนเงินก็ได้

              - แนวคิดเรื่องการค้าระหว่างประเทศ จากการที่รัฐบาลจัดเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้นทำให้รายจ่ายในการซื้อสินค้าและบริการของประชาชนลดลง  และเนื่องจากเพตตี้มีความคิดในเรื่องการค้าระหว่างประเทศและการเงินเป็นแบบพาณิชย์นิยม จึงมีความเป็นห่วงว่าจะมีเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอสำหรับการผลิตและการค้า  ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับอัตราการหมุนเวียนของเงินตรา เพราะกลัวว่าเงินตราจะขาดแคลน

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 467993เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2011 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท