แนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ยุคโรมันและยุโรปสมัยกลาง


ความเจริญก้าวหน้าของโรมันนั้น ได้มาจากการสืบทอดความรู้ด้านเทคนิคการเกษตร การอุตสาหกรรม และการค้าต่าง ๆ จากยุคกรีก และจากอารยธรรมของพวกอีทรัสกันซึ่งเคยครอบครองดินแดนส่วนเหนือของอิตาลีมาก่อน ในช่วงระยะแรกของการก่อตั้งอาณาจักรโรมันเมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปี ถึง ๒๗๐ ปีก่อน ค.ศ. ปรากฏว่าโรมันได้ผลิตผลมากเกินความต้องการจากการเพิ่มผลผลิตการเกษตร จากอุตสาหกรรมเช่น เครื่องถ้วยชาม อาวุธต่าง ๆ เป็นต้น และจากการค้าและการแบ่งงานกันทำ แม้ว่าโรมันจะไม่ได้คิดค้นเทคนิคการผลิตใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพเองเลยแต่ก็สามารถจัดการผลิตตามเทคนิคที่ได้รับมาจากดินแดนอื่นได้ดี มีการก่อสร้างสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้า แนวความคิดสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ของยุคโรมัน ได้แก่    

            

       ยุคกฎหมายโรมัน                               

       โรมันในยุคต้นคือ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑ ถึง ๓ ที่เน้นสิทธิ์ในทรัพย์สินและการค้าเสรี เป็นยุคที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักการสำคัญของกฎหมายโรมัน ถึงแม้ว่าอาณาจักรโรมันจะล่มสลายในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ แต่อิทธิพลของกฎหมายโรมันก็ยังคงมีต่อไปโดยจักรพรรดิโอโดเรียส ทางตะวันตกได้รวบรวมเอาไว้ในปี ค.ศ. ๔๓๘ ส่วนในทางตะวันออกก็ได้เน้นความสำคัญของกฎหมายแพ่ง (copus juris civilis) ซึ่ง ออกโดยจักพรรดิคริสเตียน จัสติน (Justin) แห่งไบแซนไทน์ (Byzantine) ในช่วงทศวรรษ ๔๓๐ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการส่งต่อระบบทุนนิยมซึ่งก่อตัวขึ้นจากตะวันตกไปสู่ตะวันออก กฎหมายทั้งสองต่างเน้นราคาที่เป็นธรรม (just price) คือ ราคาที่ได้จากการเจรจาต่อรองโดยเสรีอันเกิดจากความสมัครใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้กับทรัพย์สินของตนเอง ดังนั้นพวกเขาจึงมีสิทธิ์ที่จะทำสัญญาเพื่อจะยกให้ เพื่อซื้อ หรือเพื่อขายทรัพย์สินเหล่านั้น ผลก็คือ ราคาที่เกิดขึ้นอย่างเสรีมีความเป็นธรรม ข้อยกเว้นในกรณีเหล่านั้นก็คือ ผู้ทำสัญญาจะต้องไม่เป็นเด็ก การใช้กำลังบังคับหรือการหลอกลวงเป็นการละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สิน การกระทำในลักษณะดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การที่ผู้ซื้อหรือผู้ขายจะอ้างว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับกับราคาของสินค้าที่ตกลงซื้อขายกัน จะไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปไกล่เกลี่ยในการทำสัญญาที่ทั้งคู่ตกลงกันโดยสมัครใจ

 

         แนวความคิดทางเศรษฐกิจในระหว่างยุคมืด         

         หลังจากอาณาจักรโรมันล่มสลายในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ยุโรปตกอยู่ในยุคมืด (dark ages) ของสงครามใหญ่และสงครามย่อย มีปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจโดยทั่วไป ซึ่งกินเวลาถึงหกศตวรรษ คือตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๕ จนถึง ๙ จึงยากที่จะมีการพัฒนาทางความคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองในระหว่างยุคนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวมีอาณาจักรที่โดดเด่นเพียงอาณาจักรเดียวคือ อาณาจักรคาโรลิงเจียน (Carolingian empire) ในยุโรปตะวันตก ซึ่งมีจักรพรรดิที่โดดเด่นคือ ชาร์ลเลอมาญน์ (ค.ศ. ๗๔๒-๘๑๔) โดยที่ชาร์ลเลอมาญน์และจักรพรรดิองค์ต่อมาได้ออกกฎระเบียบไว้อย่างละเอียดเกี่ยวกับทุกด้านในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา กฎระเบียบเหล่านี้ได้ถูกรวบรวมเอาไว้ในกฎหมายของศาสนจักรในเวลาต่อมา

          ในสมัยของพระเจ้าชาร์ลเลอมาญน์ได้มีการนำเอาข้อห้ามจากการประชุมสภาคริสตจักรที่เมืองนิเซีย (Nicea) ในปี ค.ศ. ๓๕๒ ที่ห้ามนักบวชมีกิจกรรมในทางเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่กิจกรรมที่ทำให้ได้รับผลประโยชน์โดยไม่ชอบ (shameful gain) มาปรับปรุงใหม่จากการประชุมสภาคริสตจักรที่เมืองไนย์เมเกน (Nijmegen) ในปี ค.ศ. ๘๐๖ พระเจ้าชาร์ลเลอมาญน์ได้ขยายกิจกรรมที่ทำให้ได้รับผลประโยชน์ไม่ชอบนี้ครอบคลุมไปถึงทุกคนและการให้คำจำกัดความก็กว้างออกไปจากการปลอมแปลงจนถึงความโลภที่จะได้สิ่งของจากผู้อื่น รวมถึงการขัดคำสั่งต่อการกำหนดราคาสินค้าของพระองค์ โดยที่ถ้าหากสินค้ามีราคาต่างไปจากที่กำหนดไว้ จะถูกกล่าวหาว่ามีการแสวงหากำไรจากผู้ซื้อหรือผู้ขายแล้วแต่กรณี การซื้อหรือขายสินค้าที่เป็นอาหารในลักษณะเก็งกำไรจะต้องห้ามโดยเด็ดขาด แนวความคิดดังกล่าวต่อมาได้มีการนำไปใช้ในกฎหมายสามัญของอังกฤษ (English commonlaw) โดยห้ามจำหน่ายสินค้าออกไปภายนอกท้องถิ่นล่วงหน้าในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดตามปกติ ซึ่งมีความหมายคล้ายจะช่วยปกป้องคนยากจน แต่ในความเป็นจริงเป็นการให้สิทธิ์ในการผูกขาดกับเจ้าของตลาดในท้องถิ่น

 

            แนวความคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจในยุโรปสมัยกลาง

            ทัศนคติเกี่ยวกับเศรษฐกิจในยุโรปสมัยกลางนั้นขึ้นอยู่กับความเชื่อทางศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ศาสนาเข้าไปมีบทบาทกำหนดแนวคิดของคนในสมัยนั้นเกือบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ความเชื่อโดยทั่วไปนั้นว่าชีวิตในโลกมนุษย์มีเพียงช่วงเริ่มต้นสั้น ๆ ของชีวิตที่แท้จริงเท่านั้น ถ้าบุคคลเชื่อมั่นในคำสอนของศาสนาโดยผ่านสื่อกลางอันได้แก่โบสถ์และพระ เขาก็จะค่อนข้างมั่นใจได้ว่าจะได้ไปสวรรค์แน่นอน คำสอนในสมัยนั้นจึงนำคนให้คิดถึงชีวิตหลังการตาย มากกว่าชีวิตในโลกปัจจุบัน

           ตามแนวความคิดสมัยกลางนั้น เชื่อว่าในสังคมหนึ่งแต่ละคนในสังคมจะสังกัดอยู่ในชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง แต่ละชนชั้นมีหน้าที่เฉพาะของตน เช่นพระมีหน้าที่สวดมนต์อ้อนวอน ชนชั้นปกครองมีหน้าที่ต่อสู้และให้ความคุ้มครอง ส่วนชนชั้นที่เหลือมีหน้าที่ทำงาน การกระทำหน้าที่ของทุกคนนั้นเป็นเพื่อส่วนรวมมิใช่เพื่อตัวเอง และจะทำให้เกิดสวัสดิการแก่ทุกคนโดยทั่วถึง บุคคลทุกคนจะพยายามทำงานที่เหมาะสมกับเขาในชน ชั้นที่เขาสังกัด โดยมุ่งที่จะได้รับรางวัลแห่งการทำความดีด้วยการได้อยู่ในสวรรค์หลังจากตายไปแล้ว ถ้าผู้ใดต้องการเลื่อนฐานะให้สูงขึ้นย่อมแสดงถึงความเห็นแก่ตัว ด้วยเหตุนี้การที่ผู้ใดจะพยายามให้มีรายได้สูงเกินกว่าที่จำเป็นจะให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ในชนชั้นที่เขาเกิดมาจึงถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ผิด ชาวนาควรจะอยู่อย่างชาวนา พ่อค้าก็อยู่อย่างพ่อค้า ช่างฝีมือก็อยู่อย่างช่างฝีมือตลอดไป การพยายามที่จะเลื่อนระดับทางเศรษฐกิจหรือสังคมเป็นสิ่งที่ผิด ดังนั้นความเชื่อในยุคกลางจึงมีว่าผู้ที่ร่ำรวยนั้นไม่น่าไว้ใจและยากที่จะขึ้นสู่สวรรค์ได้ เพราะการที่มั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาได้แสดงถึงการที่เขาได้ส่วนแบ่งความมั่งคั่งของสังคมมาจากบุคคลอื่นโดยไม่เป็นธรรม หรือไม่ก็เพราะเขาบริจาคในการกุศลน้อยเกินไป  ทางด้านทัศนคติเกี่ยวกับเศรษฐกิจในยุคกลางนี้อาจจะเห็นได้ชัดจากหลักเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ ๒ ประการซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในขณะนั้นคือ

            ประการที่หนึ่ง ราคายุติธรรม (just price) แนวคิดเรื่องนี้ก็คือถือว่าเป็นความผิดที่จะขายสินค้าในราคาที่สูงกว่าคุณค่าที่แท้จริงของสินค้านั้น ซึ่งคุณค่าที่แท้จริงดังกล่าวกำหนดได้จากราคาที่เพียงพอจะให้ผู้ผลิตได้รับรายได้พอที่จะทำให้ตัวเขาและแรงงานของเขาดำรงชีวิตอยู่และทำหน้าที่ในชนชั้นของเขาต่อไปได้ด้วยดี และโดยทั่วไปราคายุติธรรมนี้มักกำหนดขึ้นโดยเมือง รัฐ หรือโบสถ์เพื่อปกป้องผู้บริโภค การซื้อและขายที่แพงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของสินค้าถือว่าเป็นบาปและผิดกฎหมายด้วย

           ประการที่สอง การห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ย ( Usery) ตามความเชื่อของศาสนาคริสต์ในยุคกลางนั้นถือว่าการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากการนำเงินไปใช้นั้นไม่ถูกต้อง การให้เงินสดแก่ผู้ที่ต้องการเงินไปใช้นั้นควรถือเป็นการช่วยเหลือในแง่การกุศลซึ่งไม่เรียกร้องค่าตอบแทน เพราะผู้นำไปใช้นั้นเอาไปจ่ายสิ้นเปลืองโดยไม่ได้เกิดผลงอกเงยใด ๆ ขึ้นมาได้ แต่ถาหากเงินที่กู้ยืมไปนั้นได้ผลตอบแทนกลับมา การเรียกร้องดอกเบี้ยก็ไม่ผิด เช่น การให้กิจการธุรกิจกู้ยืมและไปและผู้ให้กู้มีส่วนทั้งในความเสี่ยงและกำไรด้วย อย่างไรก็ตามการเรียกเก็บดอกเบี้ยโดยทั่วไปนั้นถูกถือว่าเป็นความผิดและบาป และคริสตจักรในศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ กำหนดว่าผู้เรียกเก็บดอกเบี้ยจะไม่ได้รับการยอมรับในชุมชนคริสเตียน รวมทั้งศพก็จะจัดทำพิธีทางศาสนาไม่ได้ด้วย นอกจากนั้นเมืองและรัฐก็มีการลงโทษปรับผู้เรียกดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมอย่างหนักอีกด้วย

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 467775เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2011 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท