เหตุแห่งความล่มสลายของทุเรียนเมืองนนท์


ฤๅทุเรียนเมืองนนท์เอกลักษณ์ที่โด่ดเด่นของจังหวัดนนทบุรีจะเป็นเพียงแค่ตำนานที่เล่าขานให้คนรุ่นหลังได้รับรู้เท่านั้น

          ผู้เขียนได้เขียนเล่าเรื่องความเป็นมาและการต่อสู้ของชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์มาบ้างแล้ว แต่ครั้งนี้ผู้เขียนจะลองสะท้อนถึงความล่มสลายของสวนทุเรียนเมืองนนท์ ด้วยความรู้ความเข้าใจเท่าหางอึ่งของผู้เขียนเอง ซึ่งอาจจะไม่ครอบคลุมรอบด้านทุกแง่มุม แต่เป็นการสะท้อนจากคนใกล้ตัวผู้เขียนที่เป็นลูกหลานชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยใช้พื้นที่ของหมู่ที่ ๓ ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย เป็นตัวอย่างของการเล่าขานถึงความล่มสลายของสวนทุเรียนเมืองนนท์ในครั้งนี้

          เนื่องมาจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง เพราะติดแม่น้ำ ลำคลอง น้ำจึงท่วมทุกปี หนักบ้างเบาบ้าง ชาวสวนละแวกนั้นจึงเบื่อหน่าย ท้อแท้กับการลงทุนลงแรงที่ได้รับผลกระทบจากน้ำหลากทุกปีไม่มีเว้น จึงขายที่สวน ให้กับนายหน้า เพื่อไปทำเป็นหมู่บ้านจัดสรร ที่คืบคลานเข้ามาแทนที่พื้นที่สวนทุเรียนเมืองนนท์มากขึ้นเรื่อยๆ ชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์ดั้งเดิมจึงกลายเป็นเศรษฐีใหม่กันถ้วนหน้า นำเงินมาใช้จ่ายอย่างสนุกสนานและในเวลาเพียงไม่นานทั้งเงินและที่สวนก็มลายหายไป บางคนต้องกลายไปเป็นแรงงานรับจ้างรายวัน บางบ้านลูกหลานก็ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนแทนการทำสวนทุเรียนเมืองนนท์และสวนผลไม้อื่นๆ

          สภาพสังคม และกระแสสังคมที่เน้นการยอมรับนับถือผู้ที่มีหน้ามีตา ชาวสวนส่วนใหญ่จึงนิยมส่งให้ลูกหลานร่ำเรียนสูงๆ และทำงานที่มีหน้ามีตาเป็นเกียรติประวัติแก่ครอบครัว อาทิ รับราชการ ครู ตำรวจ ทหาร แพทย์ พยาบาล วิศวกร นายธนาคาร หรือทำงานในบริษัทเอกชนใหญ่โตชื่อเสียงดังระดับประเทศ ทำให้ไม่มีลูกหลานที่จะกลับมายึดอาชีพทำสวนทุเรียนเมืองนนท์กันเลย

          อีกทั้ง อาชีพชาวสวน เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจเยอะมาก เป็นงานที่ทั้งหนักและเหนื่อย อีกทั้งรายได้ก็อาจจะน้อยกว่ากินเงินเดือนก็เป็นได้ เพราะขึ้นอยู่กับฟ้าฝนและโชคชะตา รุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เคยทำสวนก็เริ่มแก่ชรา ทำสวนไม่ไหวแล้ว ลูกหลานก็ไม่สนใจทำสวน ไม่อยากลำบากเหมือนพ่อกับแม่ จึงปล่อยที่สวนให้รกร้างว่างเปล่า ขาดการเหลียวแลดูแล ดังนั้น เมื่อเป็นเพียงที่ดินที่สวนที่รกร้าง จึงไม่สนใจที่จะป้องกันน้ำท่วมยามน้ำหลาก ปล่อยที่สวนของตนเองให้เป็นพื้นที่รับน้ำท่วมขังแทน ซึ่งมีผลกระทบไปถึงที่ดินของคนที่ยังทำสวนอยู่ ทำให้ต้องถูกน้ำท่วมไปด้วย

          บริเวณละแวกที่สวนของคนใกล้ชิดผู้เขียนมีการทำสวนอยู่เพียง ๓ -๔ แห่งเท่านั้น รอบข้างถูกปล่อยให้รกร้างมานานนับสิบปี ดังนั้น เมื่อเข้าฤดูน้ำหลาก จึงไม่มีความร่วมไม้ร่วมมือกันหาแนวทางป้องกันน้ำท่วมในภาพรวม เจ้าของสวนที่ยังยึดอาชีพทำสวนอยู่ก็จะหาแนวทางป้องกันน้ำท่วมที่สวนของตนเอง ใครมีทุนหนาก็ทำเขื่อนคอนกรีตล้อมรอบพื้นที่สวนของตนเอง ใครไม่มีทุนเพียงพอก็ต้องหากู้หรือหยิบยืมให้เป็นหนี้เป็นสินต่อเนื่องเพิ่มขึ้นไปอีก  

          สภาพแวดล้อมสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่า จะเป็นดิน น้ำ ฟ้าฝน อากาศ รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้น ทำให้ผลผลิตของทุเรียนเมืองนนท์ไม่ค่อยออกดอกออกผล หรือ ผลผลิตต่อต้นลดน้อยลงไป อีกทั้งยังไม่สามารถคาดเดาหรือคาดคะเนเกี่ยวกับผลผลิตได้เหมือนเช่นเดิม

          ทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นของหน่วยราชการที่ต้องการให้จังหวัดนนทบุรีเป็นแหล่งบ้านจัดสรรหรือที่อยู่อาศัยของคนเมือง จึงมีการขยายตัวของชุมชน มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และหมู่บ้านต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย หลายโครงการมีการตัดถนน  การเปลี่ยนเส้นทางเดินของน้ำ   ปัญหาน้ำเน่าเสียจากหมู่บ้านที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลอง  ทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นที่และสภาพแวดล้อมในการปลูกทุเรียนของจังหวัดนนทบุรี ลดลงและเลวร้ายลงไปเป็นอย่างมาก 

          เจ้าหน้าที่ หรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งก็คือคนในท้องถิ่น ที่บรรพบุรุษก็เคยยึดอาชีพทำสวนทุเรียนเมืองนนท์มาก่อน ก็ไม่ได้เหลียวแลเอาใจใส่ สนับสนุนส่งเสริมการทำสวนทุเรียนเมืองนนท์ โดยการหาแนวทางป้องกันน้ำท่วมที่สวนทุเรียนเมืองนนท์อย่างจริงจัง เน้นการทำงานเชิงสงเคราะห์ (หลังประสบภัย) มากกว่าการป้องกันและพัฒนาอย่างยั่งยืน

          แม้จะมีหลายหน่วยงานพยายามที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูการทำสวนทุเรียนเมืองนนท์ แต่ก็ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง จริงใจและต่อเนื่องมากนัก จำกัดอยู่เพียงกลุ่มเล็กๆ ชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์ส่วนใหญ่ จึงต้องดิ้นรนต่อสู้ด้วยตนเอง จนกว่าจะหมดแรง หมดกำลังใจและหมดเงินทุน หรือหมดลมหายใจจนต้องท้อถอยและหยุดไปเอง

          ต้นพันธุ์ทุเรียนเมืองนนท์แท้ๆ หายากมากขึ้น เพราะน้ำท่วมตายไปเป็นจำนวนมาก ทำให้กิ่งพันธุ์ทุเรียนบางต้นที่นำมาปลูกในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี จึงไม่ใช่พันธุ์พื้นเมืองพื้นบ้านพื้นถิ่นเฉพาะของนนทบุรีแท้ๆ

          ที่สำคัญการถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาของการทำสวนทุเรียนเมืองนนท์ ขาดช่วงของการ “ให้” และ “รับ” แม้จะมีผู้ตั้งใจ “ให้” แต่ไม่มีผู้ตั้งใจและเต็มใจที่จะ “รับ” ความรู้และภูมิปัญญาของชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์ จึงจมมลายหายไปกับน้ำท่วมและสวนทุเรียนนนท์ที่รกร้างว่างเปล่า ดังเช่นปัจจุบัน

 

หญิง สคส.

๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

 

คำสำคัญ (Tags): #สวนทุเรียนนนท์
หมายเลขบันทึก: 467767เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2011 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

เจ้าของสวนทุเรียนเมืองนนท์

ขายที่ขายสวน แต่ไม่ได้ขายภูมิปัญญา

เราน่ามีหน่วยงานที่ไปขอให้ถ่ายทอด เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญานะคะ

ทำอย่างไรเราจะได้ทานทุเรียนก้านยาวที่อร่อยมาก...

ที่ปลูกได้ในที่ที่อื่นที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสวนนนท์เท่านั้น

ท่านภูมิปัญญาทุกท่านที่ไม่ได้ทำสวนแล้วน่าจะบอกและถ่ายทอดได้นะคะ

ธรรมทั้งหลาย เกิดมาแต่เหตุ...

เสียดายที่เรารักษาทุเรียนอร่อยๆ ของเมืองนนท์ไว้ไม่ได้นะครับ

หญิง

เพิ่งมาเจอหญิงใน G2K นี้ ผมอ่านทุกบันทึกช่วงน้ำท่วมของหญิงแล้ว และเห็นใจมาก ขอส่งความระลึกถึงและให้กำลังใจ และชื่นชมที่ดำน้ำเก่ง

วิจารณ์

เรียน อ.วิจารณ์

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ สำหรับกำลังใจ

ตอนนี้สถานการณ์น้ำท่วมที่บ้านเริ่มลดระดับลงอย่างช้าๆ (ยังคงท่วมอยู่ภายในบ้าน ๕ เซ็นติเมตร)แล้วค่ะ

หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แล้วได้ทำงานเสียที

ขอบพระคุณค่ะ

หญิง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท