นิทาน (เกมออนไลน์) ก่อนนอน


ในท้ายที่สุดพ่อมักจะย้ำกับผมเสมอถึงเรื่องความซื่อสัตย์ซึ่งพ่อถือว่าเป็นสมบัติที่จะต้องมีติดตัวไปด้วยตลอดเวลาไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด ๆ ก็ตามที โดยความซื่อสัตย์ทั้งภายใน (ต่อตัวเอง) และภายนอก (ต่อผู้อื่น) นี้จะเป็นคาถาชั้นดีเลิศที่ช่วยคุ้มครองให้ชีวิตประสบกับความสวัสดีและผาสุกตลอดไป...

สมัยก่อนเมื่อครั้งตอนเป็นเด็ก ผมจำได้ว่าชีวิตในวัยเยาว์ของผมนั้นมีความผูกพันธ์กับนิทานเป็นอย่างมากโดยเฉพาะก่อนนอนที่จะต้องอ้อนให้พ่อเล่านิทานให้ฟังทุกครั้งไป เสมือนประหนึ่งว่านิทานเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ต้องมีเอาไว้เพื่อความผ่อนคลายและสร้างความรื่นเริงบันเทิงใจในสมัยนั้น

             ผิดกับยุคสมัยนี้ที่เด็กและวัยรุ่นในสังคมส่วนใหญ่หันไปใส่ใจกับกิจกรรมก่อนนอนโดยการเล่นเกมออนไลน์! ไม่รู้ว่าเพื่อสร้างความผ่อนคลายหรือยิ่งทำให้จิตใจตึงเครียดกันแน่! แต่ที่แย่กว่านั้นก็คือผลข้างเคียงของมันที่มากับการเสพติดในเทคโนโลยีดังกล่าวที่พ่วงเอาความหายนะและความเสื่อมโทรมดังกล่าวตามติดมาด้วยดังจะเห็นตามข่าวสารทั่วไป...

            เมื่อประมาณปลายปี ๒๕๕๓ มีข่าวเกี่ยวกับเด็กสามคนที่สร้างความหดหู่และรู้สึกสังเวชใจให้กับคนส่วนใหญ่ทั่วไปในสังคมเมื่อตำรวจจังหวัดพิษณุโลกได้ทำการจับกุมเด็กจำนวน ๓ คนที่ได้เข้าไปขโมยเงินในตู้บริจาคของวัดแห่งหนึ่ง แต่ที่ทำให้อึ้งและถึงกับตกใจก็คือเด็กทั้งหมดมีอายุระหว่าง ๕ – ๑๐ ปี! โดยที่เด็กสารภาพว่าต้องการนำเงินไปเล่นเกมตามร้านอินเตอร์เน็ต!

              อีกกรณีที่มีข่าวตามสื่อต่าง ๆ ให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ก็คือ นักศึกษาทั้งชายและหญิงบางคนยอมขายตัวเพื่อหาเงินไปใช้หนี้พนันฟุตบอล หรือนำเงินไปใช้จ่ายในทางที่ฟุ่มเฟือย และรวมถึงกรณีล่าสุดที่มีข่าวว่านักศึกษาสาวรายหนึ่งต้องขายตัวเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ที่ติดจากการเล่นพนันใน บ่อนออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ต! ที่กำลังแพร่ระบาดในหมู่วัยรุ่นทั่วไปในขณะนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการปล่อยให้ “ความต้องการ” ที่ไม่รู้จักพอมามีอำนาจลากจูงให้ถลำเข้าไปในเส้นทางแห่งอบายที่มีความหายนะเป็นเดิมพัน

 

            การได้ฟังนิทานที่พ่อเล่าให้ฟังก่อนนอนนั้นนอกจากจะได้รับความรื่นเริงบันเทิงใจแล้วเหนือสิ่งอื่นใดยังได้รับความผูกพันธ์ทางใจที่ผูกติดร้อยเรียงถักทอเป็นความรัก ความอบอุ่นภายในครอบครัวที่จะหาซื้อตามท้องตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้

             ครอบครัวของผมเป็นร้านขายของชำเล็ก ๆ ในอำเภอแห่งหนึ่งของแถบชนบทที่ห่างไกลจากใจกลางเมืองหลวง นิทานส่วนใหญ่ที่พ่อเล่าให้ฟังจึงเป็นเรื่องที่ปลูกฝังเกี่ยวกับการทำมาค้าขายซึ่งมีหัวใจสำคัญก็คือ “ความซื่อสัตย์” ซึ่งพ่อถือว่าเป็นบาทฐานแห่งการประกอบการงานทั้งปวงจึงจะทำให้กิจลุล่วงไปได้ด้วยความสวัสดี เป็นไปในคติที่ว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” ดั่งในนิทานชาดก ที่พ่อหยิบยกขึ้นมาเล่าเพื่อเป็นตัวอย่าง :

 

*** กิระดังได้ฟังมาความว่าไว้ ในอดีตกาลนานมาเกินกว่าจะระบุวันเวลาได้ ในสมัยนั้นท่านว่ามีพ่อค้าเร่ขายของอยู่สองนายจากเมืองเสริวรัฐ ได้เดินทางเพื่อนำเอาสินค้าของตนไปขายยังเมืองต่าง ๆ

            ว่าถึงอุปนิสัยใจคอของพ่อค้าทั้งสองคนนั้น ท่านว่าแตกต่างกันเป็นอย่างมาก

               เวฬุริยะ : เป็นพ่อค้าที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน พูดจามีหลักการ สุภาพเรียบร้อย มีคุณธรรมสัตย์ซื่อ

               ปาวกะ   : เป็นพ่อค้าที่มีวาจาโผงผาง ชอบวางกล้ามกับคนที่อ่อนแอ และมีความโลภเกาะติดในจิตใจอย่างมากมายเป็นปฐมฐาน

           แต่ถึงกระนั้นคนทั้งสองก็ได้ร่วมอาชีพเป็นพ่อค้าเร่มาด้วยกันรวมทั้งร่วมทางในการค้าขายไปด้วยกันในทุกที่ตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพมา สินค้าที่ทั้งสองนำไปขายส่วนใหญ่นั้น ได้แก่ เครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ที่จำเป็นในครัวเรือนรวมถึงเครื่องประดับต่าง ๆ ที่เจริญหูเจริญตาต่ออิสตรีทั้งหลาย เช่น กำไล สร้อยคอ ต่างหู ที่ทำด้วยแก้ว หิน ลูกปัด ทอง เงิน และโลหะผสมต่าง ๆ เป็นต้น ในการค้าขายสมัยนั้นจะมีเครื่องมือทำมาหากินที่สำคัญอันหนึ่งซึ่งพ่อค้าเร่จะพึงขาดเสียไม่ได้ก็คือ “ตาชั่งมือถือ” ซึ่งข้างหนึ่งถ่วงด้วยมาตรวัดน้ำหนัก บางทีก็เป็นก้อนหินหรือลูกเหล็กแทนน้ำหนักครึ่งกิโลกรัมหรือหนึ่งกิโลกรัม ส่วนอีกข้างหนึ่งใช้วางสินค้าที่จะขายเพื่อเปรียบเทียบน้ำหนัก ดูให้น้ำหนักของทั้งสองข้างเท่ากันก็เป็นอันว่าได้น้ำหนักของสินค้าที่จะขายนั้น

           จะว่าไปในสมัยก่อนพ่อค้าเร่ถือได้ว่าเป็นสีสันของชาวบ้าน ชาวเมืองที่อยู่ห่างไกลความเจริญหรือถิ่นทุรกันดาน  นาน ๆ ทีจะมีสินค้าที่เจริญหูเจริญตามาเยือนทำให้บรรดาแม่บ้าน รวมถึงสาวน้อย – ใหญ่ทั้งหลายพึงพอใจที่จะได้ยลและจับจ่ายซื้อหาเพื่อเป็นเจ้าของสินค้าสวย ๆ งาม ๆ และแปลกใหม่เหล่านั้น การซื้อขายส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะของการใช้เงินหรือว่าจะนำเอาของ (เก่า) ที่มีอยู่ในบ้านแล้วแต่ไม่เป็นที่ต้องการโดยเอามาแลกกับของใหม่ที่ดูสวยสะดุดตาต้องใจก็ได้ แล้วแต่จะตกลงกันให้เกิดความพึงพอใจในทั้งสองฝ่าย (ผู้ซื้อกับผู้ขาย)

        

          กาลเวลาผ่านไปในวันหนึ่งซึ่งพ่อค้าเร่ทั้งสองนายได้นำของ (สินค้า) ไปขายที่เมืองอริฏฐปุระ เมื่อเดินทางไปถึงแล้วพ่อค้าทั้งสองก็ตกลงกันดังเช่นที่เคยทำมาโดยการแยกย้ายกันไปขายของคนละทาง (ไม่ให้ทับเส้นทางทำมาหากินของกันและกัน) โดยที่ทั้งคู่ต้องอยู่ขายของที่นี่หลายวันกว่าจะครบทุกเส้นทางเนื่องจากเป็นเมืองใหญ่

           ผ่านไปในวันหนึ่งซึ่งพ่อค้าเร่ที่ชื่อปาวกะ ได้เข็นรถขายสินค้าของตนเร่ขายไปตามถนนสายหนึ่งของเมือง สายตาของเขาเหลือบไปเห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกะคร่าว ๆ อายุคงราวไม่เกินสิบขวบกำลังนั่งเล่นอยู่หน้าบ้าน เขาพินิจพิจารณาเห็นว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ถึงแม้จะแปรสภาพไปในทางที่เก่าและทรุดโทรมผุพังไปบ้าง แต่ก็ยังบ่งชี้ถึงอดีตได้ดีว่าน่าจะเคยเป็นบ้านของคนที่ดูดีมีฐานะ (เศรษฐีเก่า) เป็นแน่แท้ เมื่อแลดังนั้นจึงทำการตะโกนร้องเร่เสนอขายสินค้าที่ตนเองนำมาในอันที่คิดว่าจะเป็นที่พึงพอใจและปรารถนาของกุมาริกาผู้นั้นโดยมีสาระสำคัญที่ว่า

            “เครื่องประดับสวย ๆ งาม ๆ แปลกใหม่ใครเห็นเป็นต้องชอบและอยากได้ไว้เชยชมและประดับกายามาแล้วจ๊ะ”

            “เครื่องประดับสวย ๆ งาม ๆ แปลกใหม่ใครเห็นเป็นต้องชอบและอยากได้ไว้เชยชมและประดับกายามาแล้วจ๊ะ”...

     

          ฝ่ายกุมาริกาผู้เดียงสาต่อโลกแห่งวัตถุเมื่อจู่ ๆ มีพ่อค้าเร่ผ่านมาพรั่งพร้อมไปด้วยสินค้าอันตระการตาที่ยั่วยวนอายตนะได้ดีแท้อันได้แก่ เครื่องประดับ สร้อยคอ กำไล ที่วางเรียงรายมากมายอยู่ในรถเข็นของพ่อค้า โอ...อนิจจาด้วยกุมาริกาเคยเห็นเด็กรุ่นวัยเดียวกับตนสวมใส่กำไลซึ่งทำให้ลำแขนของหญิงสาวเหล่านั้นดูงดงามต้องตาน่าชมเสียนี่กระไร แม้แต่ตนเป็นหญิงด้วยกันยังประจักษ์แจ้งถึงความข้อนั้นไฉนกันหากแม้นว่าผู้ใดที่ได้เห็นจะมิเกิดความพึงพอใจ เมื่อคิดได้ดังนั้นเด็กหญิงก็ได้แต่คิดอยากที่จะได้แต่ก็เก็บเอาไว้ภายในใจเพียงลำพังเพราะยังไม่มีโอกาสและวาสนา แต่ทว่าวันนี้ความฝันที่เคยเฝ้าถวิลหามาช้านานได้คลืบคลานเข้าไปใกล้ในความเป็นจริงทุกขณะกับกำไลที่มีเรียงรายอยู่ตรงหน้า กุมาริกาจึงไม่สามารถที่จะหักห้ามใจในความอยากได้ของตนเองลงไป สุญญากาศทางสติได้คลืบคลานเข้ามาหาความเดียงสาของเด็กน้อย เธอรีบปล่อยของเล่นชิ้นเก่าที่กำลังถืออยู่ในมือแล้วรีบวิ่งเข้าไปรบเร้ายายในทำนองที่ว่า

            “ยายจ๋า...ยาย หนูเห็นกำไลสวยงามอยู่พวงหนึ่ง หนูอยากได้ ยายใจดี๊ดีซื้อกำไลให้หนูทีนะจ๊ะ”...

            ฝ่ายยายเมื่อเห็นหลานสาวอันเป็นที่รักดั่งดวงใจได้รบเล้าและไหว้ขอร้องอ้อนวอนก็ได้แต่ถอนหายใจ เอามือเหี่ยวย่นที่ทรุดโทรมไปตามสังขารลูบที่ศีรษะของหลานเบา ๆ และกล่าวกับกุมาริกาว่า

            “นางฟ้าตัวน้อยของยายจ๊ะ หนูดูงดงามทั้งภายนอกภายในโดยไม่ต้องอาศัยกำไลหรือเครื่องประดับเหล่านั้น และที่สำคัญฐานะของเราตอนนี้ยากจนข้นแค้นยิ่งนัก อย่าว่าแต่กำไลพวงหนึ่งเลยแม้แต่เพียงกึ่งพวงยายก็จนปัญญา ลำพังเพียงจะหาอาหารมาประทังชีวิตเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของเราทั้งสองก็ดูสุดแสนจะลำบากหนักหนา”

            ฝ่ายกุมาริกาถึงแม้ว่าจะเข้าใจในฐานะแต่ทว่าเมื่อถูกตัณหาความอยากได้เข้าครอบงำนำพา ยิ่งเพ่งพินิจถึงความสวยงามของกำไลก็สุดที่จะห้ามใจเอาไว้ได้...ไหนจะเป็นกำไล ไหนจะเป็นต่างหู ไหนจะเป็นสร้อยคอ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความพึงพอใจให้เธอเป็นอย่างมาก เมื่อความต้องการไม่ได้รับการสนองตอบเพราะถูกตีกรอบจากฐานะทางการเงิน เด็กหญิงจึงพยายามมองหาส่วนเกินสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านที่ไม่ต้องการเพื่อที่จะได้นำไปแลกกับสินค้าที่ตนเองปรารถนา

           “ยายจ๋า...หนูจำได้ว่าในบ้านของเรามีถาดเก่า ๆ อยู่ใบหนึ่งซึ่งไม่ได้ใช้ หากเก็บเอาไว้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้ายังไงเราเอาถาดเก่าใบนั้นที่ไม่ต้องการใช้ไปแลกกับกำไลได้ไหมจ๊ะยาย”

            เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้เป็นยายหัวใจของกุมาริการู้สึกได้ว่าพองโตด้วยความปีติที่จะได้กำไลสมใจปรารถนา จึงรีบวิ่งถลาไปหยิบถาดใบเก่านั้นมาให้ยายพร้อมทั้งออกไปเชื้อเชิญพ่อค้าเร่ให้เข้ามาในบ้านของตน ฝ่ายยายก็กุลีกุจอหาผ้าที่พอมีอยู่มาปูไว้ให้พ่อค้าเร่ได้นั่งและสั่งผู้เป็นหลานสาวให้เอาน้ำมารับรองเขา หลังจากที่กล่าวทักทายปราศัยกันตามธรรมเนียมแล้ว ผู้เป็นยายก็เสนอขายถาดเก่า ๆ หนึ่งใบเพื่อแลกกับกำไลที่หลานสาวของตนอยากได้

 

              ฝ่ายปาวกะพ่อค้าเร่ผู้ช่ำชองด้านวาณิชเพ่งพินิจพิจารณาถาดใบเก่าที่อยู่ตรงหน้า พร้อมกับยกถาดขึ้นมาดู พลันแรกสัมผัสก็รู้สึกได้ว่าถาดนี้ไม่ธรรมดา เพราะว่ามีน้ำหนักมากกว่าถาดโลหะที่ดูด้อยค่าโดยทั่วไปที่เขาเคยสัมผัสมา โอ...ถาดนี้หนาสงสัยน่าจะเป็นถาดทองเป็นแน่แท้ แต่ก็ยังไม่แน่ใจเท่าใดนัก เพื่อให้เกิดความประจักษ์เราจักต้องพิสูจน์ให้เห็นกับตา ว่าแล้วเขาก็ร้องขอน้ำดื่มอีกแก้วเพื่อเบนความสนใจของสองยายหลาน ระหว่างนั้นเขาก็พลิกถาดคว่ำลงและเอาเข็มขูดที่หลังถาด ด้วยสายตาที่ชาญฉลาดและช่ำชองของเขา ก็เข้าใจได้ในทันทีว่าเป็นถาดทอง!

              หัวสมองเจ้าเล่ห์ของเขาเริ่มทำงานในทันที...ดี! ที่หญิงแก่และกุมาริกาไม่รู้ค่าว่าสิ่งของที่มีค่าของพวกตนเป็นถาดทอง เราจะต้องหาอุบายหลอกคนทั้งสองเพื่อให้ได้ครอบครองถาดทองใบนี้โดยที่ไม่ต้องเสียอะไรหรือแม้แต่เครื่องประดับสักเพียงชิ้นเดียว! เพียงเสี้ยวอึดใจไม่กี่นาทีเขาทำทีเพ่งพินิจพิจารณาถาดอีกสักครู่ จู่ ๆ เขาก็แสร้งขมวดคิ้วและทำตาโตพร้อมกับกล่าวด้วยน้ำเสียงที่โมโหเมื่อเงยหน้าขึ้นมาว่า

             “ถาดใบนี้ไม่มีราคาค่างวดอะไร! ขายไม่ได้แม้กึ่งมาสก แม้ยกให้ฟรี ๆ ก็ยังต้องคิดหนัก...เสียเวลาทำมาหากินจริง ๆ เลย” เขาสบถออกมาพร้อมกับโยนถาดใบนั้นทิ้งไปบนพื้นดินอย่างไม่สนใจใยดี โดยที่ปาวกะหารู้ไม่ว่าได้โยนเอาดวงใจน้อย ๆ หนึ่งดวงพ่วงลงไปพร้อมด้วย!  เสร็จสรรพเขาก็ลุกขึ้นเข็นรถขายของออกไปในทันใด ขณะที่ในใจก็เฝ้าครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะหาหนทางอย่างไรให้ได้ถาดทองคำใบนั้นฟรี ๆ โดยที่ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรไปเลย

              อันที่จริงจะว่าไปในความหลังครั้งก่อนนั้น หลานกับยายไม่ใช่คนยากไร้แต่ทั้งสองเป็นผู้เกิดในตระกูลเศรษฐีที่มั่งคั่ง ทว่าด้วยเคราะห์กรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นกับตระกูลนี้ทำให้คนอื่น ๆ ล้มหายตายจากรวมทั้งทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็หมดสิ้นไปด้วย คงเหลือเพียงแค่ผู้เป็นยายกับหลานสาวทั้งสองที่ต้องดำเนินชีวิตด้วยการรับจ้างคนอื่นเพื่อหาเงินมายังชีพไปวัน ๆ

               ว่าถึงถาดทองใบนั้นเล่ากล่าวกันว่าเป็นถาดที่มหาเศรษฐีเคยใช้สอยมาในสมัยที่มั่งคั่ง ก่อนที่ยายของกุมาริกาจะมาสู่เรื่อนของสามี ถาดทองมีอยู่มากมายหลากหลายเมื่อครั้งที่ครอบครัวยังเฟื่องฟู ทำให้บางถาดถูกเก็บเอาไว้ปะปนรวมกับภาชนะใช้สอยอื่น ๆ เมื่อครั้นผ่านไปในนานวันไม่ได้นำออกมาใช้ทำให้เศษฝุ่นและเขม่าจับจนฝังแน่น เนื้อทองจึงหมองไปจนดูไม่ออกว่าเป็นของที่มีค่า

               ปาวกะจากไปไม่นานนัก เวฬุริยะเพื่อนร่วมอาชีพพ่อค้าเร่ขายของในถนนอีกสายหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนักนัยว่าเป็นถนนที่ทะลุถึงกันได้ เมื่อเสร็จกิจจากการขายของที่ถนนเส้นนั้นแล้วบังเอิญเดินเข็นรถทะลุเส้นทางมาทับบนเส้นทางเดียวกันกับปาวกะโดยที่ไม่มีเจตนา พ่อค้าหนุ่มเข็นรถผ่านเรื่อยมาจนกระทั่งถึงหน้าบ้านของสองยายหลาน เขาเหลือบไปเห็นอาการของกุมาริกาที่ยืนหน้าเศร้าอยู่รั้วบ้าน เวฬุริยะจึงส่งยิ้มให้เพื่อเป็นการทักทายด้วยเป็นคนที่มีจิตใจดีอยู่ในตัว กุมาริกาถึงแม้ว่าจะมีอารมณ์ที่ขุ่นมัวจากการที่ไม่สมอารมณ์หมายในกำไลที่อยากได้ แต่เมื่อเห็นรอยยิ้มของผู้ใหญ่ที่ใจดีนั้นก็พลันยิ้มตอบและสายตาใสซื่อบริสุทธิ์ก็เหลือบไปเห็นกำไลในรถของเขา จิตใจที่เหี่ยวเฉาเมื่อสักครู่อยู่ ๆ ก็พองโตขึ้นมาอีกเพราะความอยากได้

               “น้าจ๋า...น้ารออยู่ตรงนี้ก่อนนะจ๊ะหนูจะไปบอกยายให้ซื้อกำไลให้หนู” พูดจบหญิงสาวก็วิ่งเข้าไปในบ้านอีกครั้งด้วยความหวังทีเต็มเปี่ยมเหมือนครั้งก่อนเพื่อรบเร้ายายให้ซื้อกำไลให้ ฝ่ายยายเมื่อเห็นท่าทางของหลานสาวที่อยากได้ก็ยิ่งสงสารจับใจ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง...นอกจากพูดในทำนองปลอบใจไปว่า

               “นางฟ้าตัวน้อยของยายจ๊ะ พ่อค้าเร่คนก่อนเพิ่งจะบอกว่าถาดใบเก่าของเราไม่มีราคาค่างวดอะไรพร้อมกับโยนมันทิ้งไป ตอนนี้ยายก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปแลกกำไลให้กับหนู...ดูท่ายายว่าหนูควรตัดใจจากกำไลซะเถอะหลาน”

               ความต้องการที่อยากจะได้กำไลด้วยจิตใจใสซื่อบริสุทธิ์ เด็กหญิงจึงหยุดคิดเพื่อมองหาสิ่งของมีค่าอย่างอื่นเพื่อนำไปแลกกับกำไล แต่ก็ไม่มีความกระจ่างปรากฏขึ้นในหัวสมองน้อย ๆ เธอจึงค่อย ๆ อ้อนวอนกับยายใหม่อีกครั้งว่า

              “ยายจ๋า...ถึงแม้ว่าถาดเก่าใบนั้นจะไม่มีค่า แต่ดูจากท่าทางแล้วพ่อค้าเร่คนนี้น่าจะมีจิตใจที่ดีกว่าพ่อค้าเร่คนก่อน ถ้ายังไงเราลองอ้อนวอนเขาดูไหมจ๊ะ เผื่อว่าเขาจะสงสารและเห็นใจรับแลกกำไลกับถาดเก่าของเรา”

              ด้วยความเวทนาและสงสารหลานจับใจที่อยากได้กำไลเป็นเครื่องประดับเหมือนเด็กข้างบ้าน

             “ถ้าอย่างนั้น หลานออกไปเรียกเขาเข้ามาในบ้านลองดูก็ได้จ๊ะ” ผู้เป็นยายพูดด้วยน้ำเสียงที่ไม่มั่นใจนัก

             ฝ่ายกุมาริการีบวิ่งไปเก็บถาดเก่าใบนั้นมาให้ยาย แล้วก็ออกไปเชื้อเชิญเวฬุริยะพ่อค้าเร่ผู้ใจดีให้เข้ามาในบ้าน เมื่อเข้ามาพูดจาทักทายปราศัยกันตามธรรมเนียมแล้ว ผู้เป็นยายก็ได้ยื่นถาดใบนั้นให้แก่พ่อค้าหนุ่มคนใหม่พร้อมกับแจ้งเงื่อนไขความประสงค์ของตนว่าจะขอแลกถาดเก่าหนึ่งใบกับกำไลหนึ่งพวง

 

            เวฬุริยะพ่อค้าเร่ที่มีจิตใจสัตย์ซื่อ เมื่อถือถาดใบนั้นมาพิจารณาแล้วก็รู้ได้ว่าเป็นถาดทอง จึงพูดขึ้นในทำนองที่ว่า

           “คุณยายครับเห็นที่เงื่อนไขดังกล่าวผมคงจะรับไว้ไม่ได้” เขาหยุดเว้นระยะในขณะที่หัวใจของสองหลานยายเหมือนแตกสลายไปต่อหน้า ดวงน้อยนั้นแตกสลายเพราะไม่ได้สิ่งของต้องประสงค์ดังใจในขณะที่ดวงใหญ่แตกสลายเพราะความสงสารหลานสาวจับใจ!

             เมื่อเวฬุริยะดื่มน้ำเพื่อดับกระหายแล้วเขาจึงพูดต่อว่า “ที่ผมพูดอย่างนั้นก็เพราะว่า ถาดใบนี้เป็นถาดทองคำ! มีค่าตั้งเป็นแสนกหาปณะ อย่าว่าแต่กำไลหนึ่งพวงเลยแม้แต่สินค้าทั้งหมดในรถของผมก็มีค่าไม่เท่าถาดทองใบนี้!”

               ทันทีที่ผู้เป็นยายได้ฟังดังนั้นก็รู้สึกสับสนและตกใจจนคาดไม่ถึง พ่อค้าคนหนึ่งบอกว่าถาดใบนี้ไม่มีราคาค่างวดอะไร ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าเป็นถาดทองคำ ทำให้ในหัวสมองของยายเกิดความสับสนมากมายจึงได้แต่คิดว่า ‘ไม่เป็นไรในเมื่อเรามีจิตใจที่บริสุทธิ์เห็นทีปัญหานี้ควรที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพ่อค้าหนุ่มคนนี้จะดีกว่า” จึงตัดสินใจพูดขึ้นว่า

              “พ่อหนุ่มจ๊ะ ก่อนหน้านี้มีพ่อค้าเร่คนหนึ่งผ่านมาเขาตีราคาถาดนี้ว่ามีค่าไม่ถึงแม้แต่กึ่งมาสกและโยนถาดนี้ทิ้งไป แต่ทว่าถาดใบนี้กลับกลายไปเป็นถาดทองคำขึ้นมาเมื่ออยู่ในมือที่มีบุญของท่าน เราสองยายหลานไม่มีความต้องการในประโยชน์ของถาดใบนี้เห็นทีว่าจะยกให้กับท่านเพื่อแลกกับอะไรก็ได้ที่ท่านเห็นสมควร”

               เวฬุริยะพ่อค้าหนุ่มที่ซื่อสัตย์เมื่อได้ฟังดังนั้นก็ดีใจในความเอื้ออาทรของคุณยาย จึงได้หยิบเงินทั้งหมดที่มีติดตัวอันเกิดจากการค้าขายมานับได้ทั้งหมด ๕๐๐ กหาปณะรวมทั้งสินค้าของตนที่มีเหลืออยู่ซึ่งประมาณค่าได้อีก ๕๐๐ กหาปณะ เขาจึงยกเงินและสิ่งของทั้งหมดให้กับยายหลานเพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของในถาดทองใบนั้น โดยขอเพียงตาชั่งกับถุงและขอเงินติดตัวไว้ ๘ กหาปณะเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับบ้าน

                เมื่อตกลงกันได้ดังนั้นก็เกิดการแลกเปลี่ยนที่สร้างความพึงพอใจให้กับทั้งสองฝ่าย โดยยายกับหลานได้เงินกับรถเข็นรวมทั้งสินค้าที่เหลือทั้งหมดไป ส่วนฝ่ายเวฬุริยะพ่อค้าหนุ่มก็ได้ถาดทองคำใบนั้นอันเป็นผลที่เกิดจากความซื่อสัตย์ในอาชีพของตน หลังจากนั้นเขาได้เร่งรุดไปยังฝั่งแม่น้ำนีลพาหะ เพื่อที่จะจ้างเรือเป็นเงินจำนวน ๘ กหาปณะกลับไปสู่เมืองเสริวรัฐอันเป็นปิตุภูมิมาตุคามของเขา

                ครั้นกล่าวถึงฝ่ายชายหนุ่มปาวกะพ่อค้าเร่ร่วมอาชีพอีกคนที่ในใจสารวนเฝ้าคิดแต่จะพิชิตเอาถาดทองมาเป็นของตนโดยไม่ยอมสูญเสียอะไรเลย ทำให้ตลอดเส้นทางที่ผ่านมาไม่ได้ค้าขายสินค้าอะไรเลยสักชิ้น เพราะในใจเฝ้าถวิลหาแต่ถาดทอง แต่เพราะต้องการที่จะสร้างอำนาจการต่อรองจึงจำต้องทำทีเป็นเดินหนีจากมาอย่างไม่สนใจใยดี ครั้นผ่านมาได้สักพักก็ยอมหักใจที่จะสูญเสียของมีค่าแต่เพียงเล็กน้อยบางอย่างเพื่อแลกกับถาดทองคำใบนั้นจึงหวนกลับไปยังบ้านของยายหลานทั้งสองอีกครั้ง แล้วพูดขึ้นว่า

                “เอาหละ... ไหน ๆ วันนี้ฉันก็ขายของได้กำไรมากมาย...ฉันนั้นเป็นคนใจดีเลยอยากทำบุญสงเคราะห์คนแก่กับเด็กสักครั้ง โดยจะยอมให้ของแก่ท่านบางอย่างเพื่อแลกกับถาดอันอุบาศก์ใบนั้น”

                ครั้นเมื่อหญิงชราได้ยินได้ฟังดังนั้นก็พูดสวนกลับไปว่า

                “หนอยแนะ...เจ้าพ่อค้าใจคดยังมีหน้ามาพูดปดอย่างไม่อาย ถาดทองใบนี้มีค่าอย่างมากมายกว่าแสนกหาปณะ แต่เจ้ากลับตีราคาให้ไม่ถึงกึ่งมาสก พวกเราได้ยกถาดทองให้กับพ่อค้าเร่ท่านหนึ่งซึ่งมีใจสัตย์ซื่อถือคุณธรรมโดยแลกกับเงิน ๕๐๐ กหาปณะและสินค้าทั้งหมดของเขา” พูดจบหญิงชราก็ได้ชี้นิ้วให้ดูรถเข็นสินค้าที่ข้างบ้านของตนนั้น

                 ทันทีที่ได้รับรู้เรื่องราวปาวกะถึงกับเข่าอ่อน หมดแรง หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม เสียงแห่งความขมขื่นตะโกนก้องร้องอยู่ในใจ ‘โอ...ถาดทองของข้าอันมีค่ามากมายเจ้าได้มลายหายไปแล้วหรือนี่ ไม่จริง...มันไม่จริง’ ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้นทั้งเจ็บใจและเสียดายทำให้อุณหภูมิโทสะในร่างกายลุกโชนจนทะลุจุดเดือด เขาได้ขว้างเงินทองรวมทั้งสิ่งของทั้งหมดทิ้งไปอย่างคนเสียสติพร้อมทั้งตีอกชกตัวอย่างคนบ้าคลั่งแล้วหันหลังออกวิ่งไปโดยมีจุดหมายปลายทางที่ฝั่งแม่น้ำนีลพาหะ เมื่อมาถึงเห็นเวฬุริยะนั่งอยู่ในเรือที่กำลังลอยอยู่กลางน้ำ จึงตะโกนร้องเรียกให้นายเรือกลับมารับเขาไปด้วยคนแต่ก็จนด้วยปัญญาเมื่อเรือไม่มีทีท่าว่าจะหวนกลับมารับเขา เรือลำน้อยค่อย ๆ เคลื่อนห่างออกไปประหนึ่งคล้ายหัวใจของปาวกะจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ เขายังเฝ้าตะโกนอย่างสุดเสียงอยู่อย่างนั้นด้วยความอาฆาตและเจ็บใจ จนในที่สุดความอัดอั้นตันใจที่รุนแรงก็แปลงค่าออกมาเป็นการกระอักโลหิตทำให้เขาเสียชีวิตอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำดังกล่าวนั่นเอง***

 

ในท้ายที่สุดพ่อมักจะย้ำกับผมเสมอถึงเรื่องความซื่อสัตย์ซึ่งพ่อถือว่าเป็นสมบัติที่จะต้องมีติดตัวไปด้วยตลอดเวลาไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด ๆ ก็ตามที โดยความซื่อสัตย์ทั้งภายใน (ต่อตัวเอง) และภายนอก (ต่อผู้อื่น) นี้จะเป็นคาถาชั้นดีเลิศที่ช่วยคุ้มครองให้ชีวิตประสบกับความสวัสดีและผาสุกตลอดไป...

 

 

        เป็นนิทานชาดกที่จับความมาจากอรรถกถาพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต เรื่องเสรีวาณิช ซึ่งกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ในพระชาติที่เป็นนายเสริววาณิชผู้ซื่อสัตย์สุจริต และพระเทวทัตที่เป็นนายเสริววาณิชผู้มีจิตใจไม่ซื่อ คดโกงและละโมบ

          มาสก ถือได้ว่าเป็นหน่วยเงินตราในสมัยพุทธกาล

            ๒๐ มาสก   เท่ากับ   ๑ กหาปณะ

โดยที่      ๕ มาสก   เท่ากับ   ๑ บาท    ดังนั้น     ๔ บาท     เท่ากับ   ๑ กหาปณะ

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 467402เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2011 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท