เสวนาคณบดี ครั้งที่ ๖/๒๕๕๔


อยากให้มีการประชุมร่วมกันที่เข้มข้นระหว่างอธิการบดี รองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ และคณบดี เพื่อหาทางทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยต้องการ

วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
หลังจากที่ว่างเว้นการเสวนาคณบดีมาหลายเดือน เนื่องจากอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ประกอบกับเป็นช่วงของการรับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน (อ่านที่นี่) และภายนอก (อ่านที่นี่) เราก็มีการเสวนาคณบดีครั้งที่ ๖/๒๕๕๔ ในวันนี้ ณ ห้องประชุม ๑ อาคารวิชาการ ๔ โดยมีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร รับเป็นฝ่ายเหย้า

การเสวนาครั้งนี้ถือว่าเป็นการต้อนรับ รศ.ดร.อมรา ช้างทรัพย์ ที่จะปรับเปลี่ยนตำแหน่งจากรักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ไปเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการด้วย กิจกรรมในวันนี้คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากรได้เตรียมเรื่องเอาไว้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ๔ เรื่องคือ
(๑) ปัญหาการเรียนของนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ และการตกค้างของนักศึกษาชั้นปีอื่นๆ
(๒) บัณฑิตศึกษากับระบบสนับสนุน (ศูนย์เครื่องมือฯ หน่วยงานบัณฑิต)
(๓) เกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานกับการดำเนินงานของสำนักวิชา
(๔) กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนาสำนักวิชา

พอเริ่มประชุมปรากฏว่าคณบดีสำนักวิชาต่างๆ ได้อภิปรายกันหลายเรื่องอันสืบเนื่องมาจากการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน มีทั้งประเด็นที่เราอาจจะมองข้ามไป เรื่องที่อยากจะเรียกร้องขอการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ข้อเสนอในการปรับปรุงระบบการทำงาน การปรับปรุงเรื่องอัตรากำลัง ฯลฯ เช่น

  • การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม : ผศ.พญ.มยุรี วศินานุกร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ เสนอว่าการเป็นอยู่ร่วมกันของนักศึกษา ก็เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง แต่เราอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่ได้นำมาเสนอ (น่าสนใจ) คณบดีหลายสำนักวิชาเสนอว่าควรจัดงบประมาณเพิ่มให้สำนักวิชาดำเนินงานด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
  • อัตรากำลัง บางสำนักวิชาบอกว่าไม่มีคนพอที่จะทำงานด้านกิจการนักศึกษา ในภาพรวมของมหาวิทยาลัยพบว่ามีจำนวนเจ้าหน้าที่สนับสนุนมากกว่าพนักงานสายวิชาการ (อาจารย์ นักวิจัย) จึงควรพิจารณาสัดส่วนตรงนี้ เนื่องจากงานสนับสนุนมีเยอะเป็นบางช่วง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ประจำสำนักวิชามีงานมากตลอดเวลา
  • การบริหารวิชาการ ควรพิจารณาการมีหัวหน้าสาขาวิชาในสำนักวิชาที่มีหลายหลักสูตรหลายสาขาวิชาอย่างจริงจังเสียที
  • การบริการวิชาการ การนับงานบริการวิชาการ ควรนับให้สำนักวิชาที่ทำงานร่วมกับศูนย์บริการวิชาการด้วย
  • การตีพิมพ์ผลงานของนักศึกษาปริญญาโท แผน ข. เกณฑ์ของ สมศ. บังคับให้ตีพิมพ์ ในขณะที่ไม่มีระบุไว้ในข้อบังคับการศึกษา จึงต้องใช้การขอร้อง

ช่วงท้ายคณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ได้นำเสนอข้อมูลที่เตรียมมาและที่ประชุมได้ร่วมอภิปรายให้ความคิดเห็น ดังนี้

  • การรับนักศึกษาให้ได้ตามแผน ซึ่งสำนักวิชาก็มีแผนการประชาสัมพันธ์เชิงรุก
  • ปัญหาผลการเรียนของนักศึกษา มีนักศึกษาตกเยอะในรายวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จำนวนผู้ที่เรียนจบภายใน ๔ ปีมีค่อนข้างน้อย การจัดติวน่าจะเป็นการจัดการในระดับมหาวิทยาลัย... คนเรียนอยากจะเรียนในสิ่งที่จะเอาไปใช้
  • มีการตั้งคณะทำงาน ๓ ฝ่ายช่วยติดตามการทำงานตามแผนในพันธกิจหลักคือฝ่ายวิชาการและบริการวิชาการ กิจกรรมนักศึกษาและพัฒนาระบบ และวิจัย แต่คนทำงานก็บ่นว่าไม่คุ้ม
  • การประเมินผลการปฏิบัติงานระดับดีเยี่ยมของอาจารย์ หากใช้เกณฑ์การตีพิมพ์ในวารสาร ISI หลายคนไม่มีโอกาสเพราะภาระงานสอนมาก ควรมอบอำนาจในการตัดสินใจและวงเงินให้แก่สำนักวิชา
  • เสนอให้จัดกิจกรรม ลปรร. ให้แก่เจ้าหน้าที่สายสนับสนุนประจำสำนักวิชา

เรายังได้พูดคุยกันเรื่องการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะทำ TOR กับคณบดี โดยดูจากผลการประเมิน QA ว่าอยากให้มีการประชุมร่วมกันที่เข้มข้นระหว่างอธิการบดี รองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ และคณบดี เพื่อหาทางทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยต้องการ ซึ่งสำนักวิชาต้องได้รับการสนับสนุนในหลายเรื่องจากมหาวิทยาลัยเช่นกัน (ต้องมีการเจรจา)

ช่วงท้าย ผศ.ดร.อัญชลี ชยานุวัชร รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ นำเสนอข้อมูลความร่วมมือกับสถาบันในต่างประเทศของสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากรว่ามี MOU กับสถาบันใดบ้าง ในลักษณะใด

ที่ประชุมสอบถามเรื่องการลงนามใน MOU ควรทำในระดับสำนักวิชาหรือมหาวิทยาลัย เสนอว่าควรเผยแพร่ข้อมูลให้เป็นที่รู้และดำเนินการหลายๆ สำนักวิชาร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ นอกจากนี้ยังได้อภิปรายถึงแนวทางการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นภายในประเทศ เช่น การแลกเปลี่ยนนักศึกษา การลงทะเบียนข้ามมหาวิทยาลัย เป็นต้น

ดิฉันคิดว่างานหลายเรื่องที่เรานำมาอภิปรายกันนั้น สำนักวิชาสามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องรอมหาวิทยาลัย เช่น กิจการนักศึกษา สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ได้จัดกิจกรรมพัฒนานักศึกษามาเป็นปีแล้ว โดยอาจารย์และเจ้าหน้าที่ร่วมมือกัน และขอความช่วยเหลือจากทั้งส่วนส่งเสริมวิชาการ ส่วนกิจการนักศึกษา และหน่วยพัฒนาองค์กร

งานทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ก็สามารถดำเนินการได้โดยบูรณาการกับกิจกรรมพัฒนานักศึกษาหรือกิจกรรมในโอกาสวันสำคัญต่างๆ การได้มาพบปะพูดคุยกันระหว่างคณบดีสำนักวิชาต่างๆ เป็นโอกาสให้เราได้แลกเปลี่ยนกันและเกิดไอเดียเอาไปทำงานต่อ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 467141เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2011 07:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท