หอมกลิ่นกฐินโบราณ : เพียรพยายามพานิสิตและชาวบ้านกลับสู่ "ต้นน้ำ" ให้ได้มากที่สุด


ให้นิสิตได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ในระยะแรกเริ่มร่วมกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิด เสมือนการเดินทางไปเรียนรู้ ณ “ต้นน้ำ” ให้ได้มากที่สุดเท่าที่พึงกระทำได้ เพื่อให้นิสิตได้เห็นมุมที่ต่างไปจากความสำเร็จรูปที่แสนสะดวกสบายเฉกเช่นวาทกรรม “ข้าวสุก...ปลาตาย”

 

เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง...
บทพิสูจน์การสอนงาน สร้างทีม

 

สัปดาห์ที่แล้ว  ผมหลบไปคุยกับชาวบ้านคนเดียวโดยไม่มีเจ้าหน้าที่และน้องนิสิตติดสอยห้อยตามไปด้วย  เรื่องที่พูดคุยกันนั้นก็คือเรื่อง “จุลกฐิน” หรือ “กฐินแล่น”  ซึ่งผมเรียกเป็นวาทกรรมนอกชั้นเรียนว่า “กฐินโบราณ” 

ผมเจตนา "บินเดี่ยว" เพราะต้องการไปสร้างกระบวนการบางอย่างแบบเงียบๆ ถัดจากนั้นจะปล่อยให้นิสิตและเจ้าหน้าที่จับมือกันลงประชุมร่วมกับชาวบ้านด้วยตนเองในแบบ “เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง” 

 

 

ผมตั้งใจให้กระบวนการเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะจะพิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถทำงานนี้ได้ดีแค่ไหน  เพราะอย่างน้อยก็ทำกันมาตั้งสามครั้งแล้ว  กล่าวคือเป็นการพิสูจน์ว่าผู้รับผิดชอบในปีที่ผ่านมามี "คลังความรู้" ใดในตัวตนของเขาบ้าง และเขามีทักษะการ "สกัดความรู้" ออกมาสู่สาธารณะได้แค่ไหน รวมถึงสามารถเป็น "พี่เลี้ยง" ให้เจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่นิสิตได้เรียนรู้ตามหรือเปล่า-

 

ทั้งปวงนั้นคือสิ่งที่ผมตั้งใจและจงใจล้วนๆ  เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้พิสูจน์ตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการพิสูจน์ระบบ หรือวัฒนธรรมองค์กรแบบ “สอนงาน สร้างทีม” ที่ผมและพวกเขาได้ร่วมบุกเบิกและสร้างสรรค์ไว้ว่าวันนี้เดินหน้าได้ไกลแค่ไหนแล้ว  ยิ่งในห้วงยามที่ผมก้าวลงมาจากตำแหน่งเช่นนี้  ยิ่งเป็นจังหวะที่ดีในการจะพิสูจน์สำคัญว่าพวกเขา “เก่งและแกร่ง” แค่ไหน  รวมถึงมีความเป็นทีมที่ทรงพลังหรือเปล่า

 

 

 

ปักกฐินโบราณสู่การเทิดพระเกียรติ

 


ในค่ำคืนนั้น  ผมและชาวบ้านพูดคุย (โสเหล่) กันอย่างออกรสออกชาติ  ชาวบ้านตื่นเต้นกับวิถีกฐินโบราณที่จะมีขึ้น  มีผู้เฒ่าผู้แก่จำนวนมากมานั่งล้อมวงพูดคุยอย่างเป็นกันเอง  ผมเห็นชัดว่าในแววตาและคำพูดนั้นแจ่มชัดและมีพลังอย่างเหลือเชื่อ  ซึ่งแต่ละท่านพยายามร้อยเรียงความทรงจำเกี่ยวกับการ “ทอดกฐิน” ในยุคเก่าก่อนให้ลูกหลานฟังอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ครับ,ชาวบ้านเห็นพ้องที่จะทอดกฐินแบบโบราณ  ผ่านการเย็บด้วยมือและย้อมสีจากเปลือกหรือแก่นไม้แบบธรรมชาติๆ  รวมถึงการไม่ล้มวัวล้มควาย  แต่เน้นความสมถะพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย  ใครมีอะไรก็จะเก็บกำหอบหิ้วมาบริจาคร่วมกัน อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ผัก ปลา  พริก มะเขือ มะพร้าว มะนาว ฯลฯ

 

และที่สำคัญก็คือ  เราเห็นพ้องกันว่า กฐินโบราณครั้งนี้จะขับเคลื่อนในแบบบูรณาการ  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เชื่อมโยงจากอดีตสู่ยุคสมัยปัจจุบัน  กล่าวคือยังคงมีการตัดเย็บและย้อมจีวรแบบดั้งเดิม ธง หรือตุง หรือแม้แต่เครื่องกฐินต่างๆ ก็จะสร้างหรือผลิตขึ้นจากมือ หรือไม่ก็นำมาจากครัวเรือนต่างๆ โดยจะไม่มีการจัดซื้อมาจากท้องตลาดให้สิ้นเปลือง  เรียกได้ว่า “มีแค่ไหน เอาแค่นั้น”  (ใจนำพา ศรัทธานำทาง)

 

 

เช่นเดียวกับมหรสพสมโภชนั้น  ก็จะจัดในแบบบูรณาการจำลองให้เห็นรอยต่อของยุคสมัย  ผ่านกิจกรรมแห่กลองยาว  รำวงชาวบ้าน  และการสอยดาว  เพื่อระดมทุนเข้าวัด

และเหนือสิ่งอื่นใดนั้นทุกคนเห็นพ้องที่จะจัดกฐินโบราณเทิดพระเกียรติในหลวงเนื่องในปีมหามงคล 84 พรรษา  โดยมีกรอบแนวคิดของการประหยัด ปลอดอบายมุข และกำหนดให้มีการจองเป็นเจ้าภาพกฐินกองละ 84 บาท  ส่วนใครจะมีจิตศรัทธาและความพร้อมจับจองถอดกฐินกี่กองก็ไม่ว่ากัน 

 

 

 

กลับไปเรียนรู้ "ต้นน้ำ" ให้ได้มากที่สุด

 

 

การพูดคุยกันในค่ำคืนนั้น  ผมฝากให้ชาวบ้านได้ทบทวน "ภูมิปัญญา" หรือ "คลังความรู้" ในชุมชนว่ามีอะไรพอที่จะสร้างเป็นฐานให้นิสิต หรือแม้แต่ผู้คนในหมู่บ้านให้เรียนรู้ร่วมกันได้บ้าง  แต่ผมไม่ก้าวล้ำว่าควรมีอะไร เพียงแต่ฝากให้กลุ่มเครือข่ายชุมชนที่เคยเป็นแกนนำในปีที่แล้วได้คอยทำหน้าที่ถ่ายทอดและประคับประคองอยู่ใกล้ๆ 

และที่สำคัญก็คือไม่ว่าอะไรก็ตาม  ผมขอให้นิสิตได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ในระยะแรกเริ่มร่วมกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิด  เสมือนการเดินทางไปเรียนรู้ ณ “ต้นน้ำ”  ให้ได้มากที่สุดเท่าที่พึงกระทำได้  เพื่อให้นิสิตได้เห็นมุมที่ต่างไปจากความสำเร็จรูปที่แสนสะดวกสบายเฉกเช่นวาทกรรม “ข้าวสุก...ปลาตาย”

 

 

ครับ,แรกเริ่มชาวบ้านดูเกรงใจและสงสารนิสิตค่อนข้างมาก  เพราะมองว่านิสิตคงไม่คุ้นชินกับกระบวนการ  หรือแม้แต่อาจเบื่อหน่ายต่อกระบวนการที่จะมีขึ้น  ซึ่งผมก็ไม่ปฏิเสธ เพียงแต่ยืนยันว่าอยากให้นิสิตได้เรียนรู้ความเป็นต้นน้ำ หรือปฐมบทของแต่ละเรื่องให้ได้มากที่สุดจริงๆ (และนั่นก็ไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะนิสิตเท่านั้น หากแต่รวมถึงทุกคนในหมู่บ้านนั้นๆ ด้วย...)

ดังนั้น  ทุกอย่างจึงลงเอยด้วยกระบวนการที่จะนำพานิสิตและลูกหลานกลับไปสู่ “ต้นน้ำ”  ในเรื่องต่างๆ ให้ได้ไกลที่สุด  ไม่ว่าจะเป็นการลงแขกเกี่ยวข้าวเพื่อนำมาถวายวัดและใช้หุงเป็นข้าวปลาอาหารในบุญกฐิน  โดยจะผ่านกระบวนการเกี่ยว,ทาลาน,นวดข้าวด้วยมือไปแบบเสร็จสรรพ... 

นอกจากนั้นยังรวมถึงการจับปลา เก็บผัก  บีบขนมจีน  ทำพลุโบราณ  ทำโคมแบบโบราณ  ทำว่าวและสะนูว่าว  สานตะกร้า  และอื่นๆ อีกจิปาถะ ก็ล้วนแล้วแต่มีสัญญาใจที่หนักแน่นระหว่างผมกับชาวบ้านว่าจะทำเช่นนั้นจริงๆ  โดยหากไม่ได้ครบถ้วน  ก็ขอให้เห็นเค้าเดิมของวิถีวัฒนธรรมให้ได้มากที่สุด  เพื่อให้ทุกคนสามารถปะติดปะต่อให้เกิดกระบวนทัศน์เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของประเพณีและวัฒนธรรมไทย

 

...

 

๓๐  ตุลาคม ๒๕๕๔
ริมกำแพงวัดศรีสุข
บ้านดอนหน่อง ต.ขามเรียง
อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 467115เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2011 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กว่าข้าว จะกลายมาเป็น แป้งข้าวเจ้าอัดแท่งในซองมาม่า..

หวังสิ่งที่อาจารย์ริเริ่มไว้ สร้างประกายในใจศิษย์เหล่านี้ไปตลอดคะ

  • ดูนิสิตร่าเริง มีความสุข รวมทั้งเห็นความกระหายใคร่เรียนรู้ซ่อนอยู่ในสายตาด้วยครับ
  • ขอบคุณกลวิธีการจัดการเรียนรู้อันแยบยลนี้ครับ "เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง"

ชอบค่ะ...ในความดำรงไว้ซึ่งความงดงาม

Large_zen_pics_007 

สวัสดีครับ คุณป.

ผมเชื่ออยู่อย่างว่า การสอนคนผ่านกระบวนการทำนานั้น เป็นการสอนคุณค่าของการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง เพราะมีกระบวนการขั้นตอนอย่างชัดเจน แต่มีระยะเวลาของการเดินทางในแต่ละขั้นตอนที่ยาวนานพอที่จะสอนให้คนเราเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นๆ รวมถึงเห็นคุณค่าของการดูแล,เฝ้ารอ...หรือแม้แต่แบ่งปัน

ครับ,การทำนา คงไม่ใช่อาชีพ
หากแต่หมายถึง "วัฒนธรรม" และ "มรดกของสังคม" - หรือมรดกของมนุษยชาติ นั่นเอง

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

ค่ำคืนที่ผ่านมา  ผมแอบเข้าไปในงานแบบเงียบ เฝ้าดูรำวงโบราณและการสอยดาวเพื่อระดมทุนเข้าวัด  พอพิธีกรประกาศให้ผมโชว์ตัวเท่านั้นแหละ  อดีตลูกทีมถึงกลับแซวผ่านเวทีแบบขำๆ ประมาณว่า "ถ้ารู้ว่าผมมา คงไม่กล้าพูดกล้าจาและกล้าทำอะไรเบิ่นๆ ให้ชาวบ้านได้หัวเราะสนุกสนานแบบนี้หรอก..."

สวัสดีครับ คุณKa-Poom

ความอบอุ่น สมถะ บางทีเราต้องหันกลับไปเรียนรู้จากวิถีเดิมๆ เพื่อให้สามารถประยุกต์สู่ปัจจุบันได้ -นั่นคือสิ่งที่ผมเชื่อ ...

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท