เสี้ยววินาทีพ้นคุกเรือนจำ ย่างเท้าสู่ห้องกักตม.โดยพลัน กรณีช่วยเหลือตามป.วิ.อ.มาตรา ๙๐


การคุมขังผู้ถูกคุมขังทั้ง ๗ จึงเป็นการควบคุมตัวโดยปราศจากเหตุผล ทำให้ผู้ถูกคุมขังทั้ง ๗ ปราศจากเสรีภาพ อันเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๒ ละเมิดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๓ ข้อ ๙ และละเมิดต่อกติกาว่าระหว่างประเทศด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ ๙(๑) ข้อ ๑๓

ผมได้รับหนังสือขอแรงจากศาลจังหวัดระนอง[1] ให้เป็นทนายความแก้ต่างให้แก่จำเลยซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติเชื้อสายพม่าหนึ่งคนในคดีอาญา ที่พนักงานอัยการฟ้องในฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๖[2] ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ[3]

 

ก่อนหน้าที่จะถึงวันนัดพร้อม ตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ ผมไปพบกับเธอในเรือนจำเพื่อสอบข้อเท็จจริงก่อนถึงวันนัด เธออยู่ในเรือนจำมาตั้งแต่วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ เมื่อคำนวณระยะเวลาตามโทษสูงสุดที่เธอจะได้รับคือจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน ปรับไม่เกิน ๑ พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อถึงวันนัดพร้อมก็จะเป็นเวลา ๒๖ วัน หากเธอรับสารภาพ เธอก็จะพ้นโทษทันที

 

แต่เมื่อได้สอบข้อเท็จจริง พร้อมกับอธิบายฟ้อง และโทษที่เธอจะได้รับ เธอก็ยืนกรานปฏิเสธสู้คดีอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่ ผมก็อธิบายผลของโทษให้ฟังว่า แม้ว่าผมสู้คดีให้เธอ เธอชนะ เธอก็พ้นคุก เธอแพ้ เธอก็พ้นคุก เธอรับสารภาพวันพร้อมก็พ้นคุก เพราะวันเวลาการถูกจองจำของเธอจะมากกว่าโทษที่เธอจะได้รับ เธอก็ยืนกรานปฏิเสธ

 

ผมก็เลยนัดเจอเธออีกครั้งในวันนัดพร้อม พร้อมกับให้เธอเตรียมรายชื่อพยาน และที่อยู่ของพวกเขาด้วย

 

แล้ววันนัดพร้อมก็มาถึงวันนั้น มิใช่มีเธอเพียงคนเดียวแต่มีอีก ๖ คน รวมเป็น ๗ คน ซึ่งพนักงานอัยการแยกฟ้องใช้ทนายขอแรงทั้งหมด ๖ คน มีทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง อดีตประธานสภาทนายความจังหวัดระนอง นักการเมืองท้องถิ่น อดีตผู้สมัครนักการเมืองท้องถิ่น เข้าร่วมเป็นทนายความด้วย

 

แต่ก็ไม่มีใครสักคนยอมรับสารภาพในความผิดที่พนักงานอัยการฟ้อง จนต้องเลื่อนนัดพร้อมไปอีกนัด ทุกคนแยกย้ายกันกลับบ้าน กระทั่งช่วงบ่ายคล้อย หน้าบัลลังค์ศาลโทรศัพท์มาเรียกให้ขึ้นไปทำหน้าที่ทนายความอีกครั้งหนึ่ง เพราะจำเลยทั้ง ๗ ยอมรับสารภาพแล้ว การณ์เลยกลายเป็นว่าในช่วงบ่ายผมไปเป็นประจักษ์พยานในคดีนี้ให้กับจำเลยอีก ๖ คนด้วย ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นผู้ถูกคุมขังทั้ง ๗

 

โดยปกติทั่วไปเมื่อใครคนหนึ่ง ศาลได้มีคำพิพากษาและคำสั่งให้ปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เพราะโทษจำคุก หรือกักขังรับมาครบกำหนดแล้ว ก็จะได้ย่างก้าวเท้าออกนอกคุกกับไปบ้าน หาครอบครัว

 

แต่กรณีกับแรงงานข้ามชาติหาเป็นเช่นนั้นไม่ ขนาดผมเป็นทนายความยังงุนงง แล้วคนโดยทั่วไปจะเข้าใจได้อย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เมื่อศาลสั่งปล่อยคนให้มีอิสระภาพแล้ว ควรที่จะได้กลับบ้าน ซุกอกคนในครอบครัว หัวเราะ หรือแม้แต่ร้องไห้กับญาติสนิท มิตรสหาย

 

แต่ทำไมแรงงานข้ามชาติกลับกลายเป็นเรื่องตรงกันข้าม พ้นจากอิสระภาพเรือนจำ โดยไม่มีความผิดติดตัว เพราะชดใช้เสียสิ้นแล้ว กลับต้องไร้อิสระภาพในวินาทีก้าวเท้าแรกออกเรือนจำ ก้าวถัดมาขึ้นสู่บันไดรถส่งตัวของทางการนำไปกักขังไว้ส่งด่านตรวจคนเข้าเมืองเพื่อผลักดันออกนอกประเทศ

 

มันเป็นเรื่องบังเอิญหลาย ๆ อย่าง ๆ และหมวกหลาย ๆ ใบของผมเองที่ได้ไปพบพานจนมิอาจอยู่นิ่งเฉยได้ ในวินาทีที่ศาลจังหวัดระนองอ่านคำพิพากษา และสั่งปล่อยแรงงานทั้ง ๗ คน

 

ตำรวจศาลแจ้งว่า “หลังจากปล่อยออกจากเรือนจำก็จะส่งตม.ผลักดันกลับพม่า”  “ศาลไม่ได้ลงโทษในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง หรืออยู่ในประเทศไทยโดยมิชอบ ตามกฎหมายคนเข้าเมือง อีกทั้งโทษที่พวกเขาได้รับก็เป็นลหุโทษ ผลักดันไม่ได้” ผมแย้ง

 

๕ โมงเย็นของวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ ศาลออกหมายปล่อยแรงงานทั้ง ๗ ออกจากเรือนจำ

 

๖ โมงเย็นกว่า ๆ นายจ้างของแรงงานโทรศัพท์มาบอกว่า เรือนจำปล่อยตัวแล้ว แต่จะนำไปกักไว้ที่โรงพักเมืองระนอง เพื่อส่งด่านตรวจคนเข้าเมืองระนองในวันรุ่งขึ้น

 

๒ ทุ่มครึ่ง แรงงานข้ามชาติทั้งหมดอยู่ในห้องขังของสถานีตำรวจภูธรเมืองระนอง ในนามของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ผมไปเยี่ยม กล่าวด้วยน้ำเสียงแห้ง ๆ ว่า  “นอนในห้องขังอีก ๑ คืนนะ พรุ่งนี้ผมจะช่วย”

 

ผมคุยกับนายจ้างของพวกเธอ แล้วขอเอกสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นใบรับคำขอ ต.ท.๘[4] แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติคนต่างด้าว ฯ (ท.ร.๓๘/๑)[5] และใบเสร็จรับเงินจากสำนักงานจัดหางานระนอง รวบรวมไว้เพื่อเสนอศาลจังหวัดระนอง

 

จากเอกสารทั้ง ๓ อย่างของพวกเธอที่บอกในใบอนุญาตทำงานว่าทำงานได้ถึงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ ประกอบกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔[6] ก็ยืนยันได้ว่าเธอมีสิทธิอาศัยชั่วคราวอยู่ในประเทศไทย อีกทั้งโทษที่เธอได้รับก็เป็นลหุโทษสิทธิอาศัยของเธอจึงไม่สิ้นผลไปตามกฎหมายด้วย[7] เมื่อเป็นเช่นนี้ก็มิอาจคุมขังพวกเธอได้

 

เช้าวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ ผมเปิดอีเมล์ตามที่ได้ปรึกษา ขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ แก้ไขร่างฟ้อง จัดทำบัญชีพยาน สืบข่าวว่าแรงงานยังอยู่ที่โรงพัก หรือไปตม.แล้ว จวบจนใกล้เสร็จนายจ้างโทรศัพท์มาบอกว่าพวกเธอถูกส่งไปยังตม.

 

บ่ายโมงครึ่งวันเดียวกันผมยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดระนอง เป็นคดีดำที่ ษ ๑/๒๕๕๔ ร้องขอให้ศาลทำการไต่สวน และมีคำสั่งให้ปล่อยตัวแรงงานข้ามชาติ ๗ คน ซึ่งถูกผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง คุมขังโดยมิชอบ ความว่า

 

 “ข้อ ๒.เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ ศาลจังหวัดระนองได้มีคำพิพากษาในความผิดตามข้อ ๑.ซึ่งผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายทั้ง ๗ เป็นจำเลย โดยมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกคุมขังมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๖ วรรค ๑  ลงโทษปรับ ๑,๐๐๐.- บาท ผู้ถูกคุมขังให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับ ๕๐๐.- บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้

จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ แต่ผู้ถูกคุมขังแต่ละคนต้องขังพอแก่โทษปรับแล้ว เพราะฉะนั้นให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทั้งหมดออกจากเรือนจำตามหมายปล่อย แต่ปรากฏว่าเรือนจำจังหวัดระนองกลับส่งผู้ถูกคุมขังทั้ง ๗ ไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองระนองเพื่อทำการผลักดันออกไปนอกราชอาณาจักรไทย ในวันดังกล่าว ปรากฎตามหนังสือส่งตัวจากเรือนจำจังหวัดระนองเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข ๑                              

            ข้อ ๓.การคุมขังผู้ถูกคุมขังทั้ง ๗ ยังด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง เพื่อทำการ

ผลักดันออกไปนอกราชอาณาจักรไทยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือ ผู้ถูกคุมขังทั้ง ๗ ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามความในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔  จนถึงวันที่ ๑๔ มิถุนายน๒๕๕๕ เพราะผู้ถูกคุมขังทั้ง ๗ ได้รายงานตัวเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔  และได้ยื่นขอรับใบอนุญาตเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ตามประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง การกำหนดระยะเวลาและสถานที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานสำหรับคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔ แล้วจึงมิอาจนำ มาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ มาใช้บังคับแก่ผู้ถูกคุมขัง เพราะผู้ถูกคุมขังยังมิได้ถูกเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๕ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.   ๒๕๕๔  ปรากฏตามสำเนาใบรับคำขอตท.๘,  สำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.๓๘/๑ ) ประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง การกำหนดระยะเวลาและสถานที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานสำหรับคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔ และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔  เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข ๑-๑๖ ตามลำดับ

                      ดังนั้นการคุมขังผู้ถูกคุมขังทั้ง ๗ จึงเป็นการควบคุมตัวโดยปราศจากเหตุผล ทำให้ผู้ถูกคุมขังทั้ง ๗ ปราศจากเสรีภาพ อันเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๒ ละเมิดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๓ ข้อ ๙ และละเมิดต่อกติกาว่าระหว่างประเทศด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ ๙(๑) ข้อ ๑๓ ขอศาลได้โปรดนัดไต่สวนคำร้องรายนี้ และมีคำสั่งเรียกผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองระนองมาศาล และขอศาลได้โปรดมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทั้ง ๗ ด้วย”

 

และก่อนที่ศาลจะทำการไต่สวนผมได้ไปหาผู้กำกับตม.ระนอง พร้อมด้วยสำเนาคำร้องที่ศาลประทับรับคำร้อง แม้ว่าจะเป็นคำขอฝ่ายเดียวก็ตาม เผื่อว่าการสนทนาด้วยหลักกฎหมายที่อ้างในคำร้อง กับพยานหลักฐานที่จะเสนอศาลนั้น ทางตม.จะเห็นพ้องกันและปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทั้งหมด

 

เมื่อผมไปถึงตม.สิ่งที่พบก็คือหนังสือส่งตัวจากทางเรือนจำมีเพียงแต่ชื่อ ฐานความผิดที่ได้รับ และลายพิมพ์นิ้วมือ ทางตม.บอกผมว่า “ทางตม.ไม่มีเอกสารใดที่จะใช้พิจารณาถึงสิทธิอาศัยของผู้ถูกคุมขัง เมื่อตม.ได้พิจารณาจากเอกสารต้นฉบับทั้งใบตท.๘ ท.ร.๓๘/๑ แล้วจึงมีคำสั่งปล่อยตัวคนทั้งหมด”    

 

เมื่อเป็นฉะนี้ ผมเลยกลับไปที่ศาลพร้อมกับถอนคำร้องจากสาระบบความเนื่องจากความเดือดร้อนของผู้ถูกคุมขังได้รับการเยียวยาแล้ว     

 

ปัจจุบัน พวกเธอยังคงทำงานในร้านขายอาหารตามปกติเช่นเดิม

 

 



[1] หนังสือขอแรงศาลจังหวัดระนอง ที่ ศย ๓๐๘.๐๑๔/๔๔๘๗ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๔

[2] ผู้ใดเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณีเพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     ถ้าการกระทำผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำเพราะถูกบังคับ หรือตกอยู่ภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ ผู้กระทำไม่มีความผิด

[3] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๐๒ ความผิดลหุโทษ คือความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามานี้ด้วยกัน

[4]  ใบรับคำขอ ใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนแรงงานระหว่างวันที่  ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๔-๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔ ทั้งแรงงานรายใหม่ และรายเก่าที่ใบอนุญาตทำงานขาดอายุ

[5]  เมื่อแรงงานข้ามชาติได้ไปจัดทำทะเเบียนประวัติแล้ว ทางที่ว่าการอำเภอ หรือเทศบาลแล้วแต่กรณีจะมอบท.ร.๓๘/๑ ให้ ซึ่งเกิดขึ้นตามอำนาจในข้อ ๒ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔

[6] ข้อ ๓ มิให้นำมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ มาใช้บังคับแก่แรงงานต่างด้าวข้อ ๑ ที่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ตามข้อ ๒ แห่งประกาศนี้แล้ว ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ ตามระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ทั้งนี้ ไม่เกินวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕

[7] ข้อ ๔(๒) การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวตามประกาศนี้เป็นอันสิ้นผลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๒) ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล เว้นแต่ความผิดซึ่งได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

หมายเลขบันทึก: 466438เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2011 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พี่ น้องหนูโดนข้อหาอยู่เกิน ไปศาลแล้ว ท่านรอลงอาญา แต่เค้าจะพาน้องหนูไปอยํ่ห้องกักตัวอีกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท