ชีวิตที่พอเพียง : 1419a. ออกไปทำงานในท่ามกลางน้ำเอ่อกรุง


ในท่ามกลางความตึงเครียด บรรยากาศรอบตัวผมก็มีความสดชื่นงดงามทั้งทางจักษุสัมผัสและ นาสิกสัมผัส คือนอกบ้านมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของดอกปีบ และที่ริมสระน้ำในหมู่บ้านต้นจิกน้ำออกดอกร่วง ลงในสระ ให้ความงดงามยิ่ง เป็นโอกาสให้ทดลองถ่ายรูปธรรมชาติงาม

ชีวิตที่พอเพียง  : 1419a. ออกไปทำงานในท่ามกลางน้ำเอ่อกรุง

เช้าวันที่ ๒๕ ต.ค.​๕๔ สถานการณ์ที่บ้านผมยังปกติ   แต่ข่าวในเว็บไซต์ของ นสพ. แสดงว่าน้ำค่อยๆ เอ่อมากขึ้น ที่โน่นที่นี่ใกล้เข้ามา เช่น , , ,    และ ศปภ. ก็ประกาศขยายเขต (อำเภอ) ที่ต้องระวังจาก ๖ เป็น ๙ เขตแล้ว ที่นี่  และการที่ รพ. ราชวิถีย้ายผู้ป่วยหนักไป รพ. หัวหิน ก็แสดงว่าได้คาดการณ์ว่าบริเวณนั้นเสี่ยงต่อ น้ำท่วมนาน

กปน. เริ่มบอกว่าแม้ตอนนี้น้ำประปายังมีคุณภาพได้มาตรฐาน ต่อไปน้ำประปาอาจมีปัญหาแต่ละบ้าน ต้องสำรองน้ำไว้    ที่บ้านผม “สาวน้อย” สำรองน้ำดื่ม ใส่ถังปลาสติกใหญ่ ๒ ถังไว้หลายวันแล้ว    และใส่ขวด ๒ ลิตรจำนวนประมาณ ๑๐ ขวดไว้ด้วย    ตอนนี้เมื่อน้ำในขวด ๒ ลิตร หมด ผมเติมทันที    เป็นการเตรียมพร้อมเรื่อง น้ำดื่ม    โชคดีที่ที่บ้านผมดื่มน้ำประปาผ่านเครื่องกรอง ไม่ซื้อน้ำขวดดื่ม ไม่ดื่มน้ำปรุงรสชนิดใดๆ ทั้งสิ้น    

วันนี้นัดตอนเช้าเลื่อนออกไป   ผมจึงนัดรถมารับ ๑๐ น. เพราะเหลือนัดเดียว คือบรรยายตอนบ่ายที่ ม. มหิดล ศาลายา    เป็นโอกาสได้ออกไปดูสถานการณ์น้ำนอกบ้านไปในตัว    จุดแรกที่ไปคือพญาไทพลาซ่าคอนโด ของลูกสาว ที่ป้ากับแม่ไปอาศัยลี้ภัยสามวันแล้ว    และวันนี้แม่ (สาวน้อย) บินไปดูหลานที่สิงคโปร์แล้ว เพราะหลานป่วย)    เราขึ้นทางด่วนมาตามปกติ เหตุการณ์ปกติ ยกเว้นบนทางด่วนบริเวณตั้งแต่ถนนงามวงศ์วาน  มีรถยนต์ มาจอดซ้อนสามอีกแล้ว    ภายในเมืองแห้งสนิท แต่รถติด

จากนั้นเราไปที่ศิริราช ทั้งสองที่นี้เพื่อไปรับกระเป๋าเสื้อผ้าคืน    ที่ศิริราชน้ำแห้ง    แต่ที่ท่าน้ำมีกระสอบทรายสูงมาก ข้างๆ มีปั๊มน้ำตัวใหญ่ที่เมื่อวานซืนทำหน้าที่ปั๊มน้ำออกได้ผลดีมาก   เจ้าหน้าที่บอกว่าน้ำเพียงซึมเข้ามาและสูงเพียงไม่ถึง ๑๐​ซ.ม.   ออกจากศิริราชมาทางถนนพรานนก เลี้ยวเข้าถนนอรุณอมรินทร์ ขึ้นสะพานอรุณอมรินทร์ มาเจอน้ำท่วมริมถนนนิดหน่อย ยังไม่ถึงทางเท้า    เป็นระยะทางประมาณ ๕๐ เมตร 

จากนั้นเราไปศาลายาทางถนนลอยฟ้าบรมราชชนนี   ตลอดทางน้ำไม่ท่วม   แต่ก่อนจะขึ้นถนนยกระดับ วนเข้าพุทธมณฑลสาย ๔ เพื่อไป ม. มหิดล   ถนนฝั่งซ้าย เขตกทม. ตรงหน้าวริยา วิลล์  น้ำท่วมเล็กน้อย พอท่วมทางเท้าเท่านั้น   ที่ ม. มหิดลศาลายาแห้งสนิท   แต่คุณลูกหว้าบอกว่าผู้บริหารกำลังประชุมว่าจะประกาศ ปิดมหาวิทยาลัยไหม   เพราะน้ำมาแน่ภายใน ๑ - ๒ วัน  

ผมไม่ได้วิ่งในหมู่บ้านมาหลายวัน เพราะมัววิ่งหรือขี่จักรยานไปดูน้ำ    วันนี้เช้าไปวิ่ง พบว่าประมาณ ร้อยละ ๘๐ - ๙๐ ไม่มีรถจอดอยู่ที่บ้าน    หลายบ้านไม่มีคนอยู่ มีร่องรอยป้องกันน้ำเข้าบ้านด้วยวิธีต่างๆ กัน   รวมทั้งแบบที่ที่บ้านผม ๒ บ้านใช้   คือใช้ถุงดำและซิลิโคนปิดรอยต่อที่ประตูหน้าต่าง    ซึ่งหากน้ำท่วมขัง เป็นเดือนสงสัยว่าจะไม่ทนทาน

ผมเห็นจุดอ่อนที่จะถูกน้ำโจมตี ที่ทางหมู่บ้านไม่ได้เตรียมตัวรับ    คือช่องจากท่อระบายน้ำ ยังไม่มีการ เอากระสอบทรายเตรียมไปอุดเลย    ผมคิดว่านี่คือจุดอ่อนที่สุด 

ในท่ามกลางความตึงเครียด บรรยากาศรอบตัวผมก็มีความสดชื่นงดงามทั้งทางจักษุสัมผัสและ นาสิกสัมผัส   คือนอกบ้านมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของดอกปีบ   และที่ริมสระน้ำในหมู่บ้านต้นจิกน้ำออกดอกร่วง ลงในสระ ให้ความงดงามยิ่ง   เป็นโอกาสให้ทดลองถ่ายรูปธรรมชาติงาม

ตอนกลับจาก ม. มหิดลศาลายา ผมทราบข่าวว่า    ม. มหิดลศาลายา ประกาศให้วันที่ ๒๖ - ๓๑ ต.ต. เป็นวันหยุด เพื่อเตรียมรับมือน้ำใหญ่ที่กำลังมา   รถที่ไปส่งผมต้องไปขึ้นทางด่วนที่ยมราช    ทางอื่นที่เคยใช้ น้ำท่วมหมด   เมื่อลงจากสะพานพระราม ๘ พบว่าทางซ้ายมือน้ำกำลังเอ่อขึ้นมาที่ขอบถนนตรงหน้า วัดใหม่อมตรส    ข่าวเรื่องน้ำวันนี้ส่อว่าน้ำน่าจะกำลังจะท่วมกรุงเทพ    ที่ดอนเมืองท่วมรันเวย์ ต้องประกาศปิด สนามบิน    แต่ที่บ้านผมสถานการณ์ยังปกติ    

มีคนเข้าใจว่าบ้านผมท่วมไปแล้ว เพราะข่าวในสื่อมวลชนบอกว่าที่ปากเกร็ดน้ำท่วมระดับอก ซึ่งเป็นความจริง    แต่นั่นเป็นส่วนของอำเภอปากเก็ดที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา    บ้านผมอยู่ฝั่ง ตะวันออก   อยู่ระหว่างถนนติวานนท์กับแม่น้ำเจ้าพระยา 

สองทุ่ม คุณชูชาติ โชเฟอร์ของ ม. มหิดล ที่ขับรถให้ผมทุกวันโทรศัพท์มาบอกว่ารถโดนน้ำท่วมเสียแล้ว    เพราะเสี่ยงลุยน้ำไปทางสะพานพระราม ๕   พรุ่งนี้ผมต้องไปรถแท็กซี่   ไปประชุมคณะกรรมการรางวัลสมเด็จ เจ้าฟ้ามหิดล ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล

สรุปว่าที่บ้านผมน้ำยังไม่ท่วม

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ต.ค.​๕๔ 

หมายเลขบันทึก: 466102เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2011 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"...จุดอ่อนที่จะถูกน้ำโจมตี ที่ทางหมู่บ้านไม่ได้เตรียมตัวรับ คือช่องจากท่อระบายน้ำ ยังไม่มีการ เอากระสอบทรายเตรียมไปอุดเลย ผมคิดว่านี่คือจุดอ่อนที่สุด ..."

Even 'deep' storm water drains in Brisbane blew their heavy concrete covers up under flood water pressure -- early this year.

Steel grid covers let water out, stayed in place and not turned into submerged hazards for people and cars traffic.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท