ชีวิตที่พอเพียง : 1418d. น้ำใหญ่กำลังมา


ผมชอบบทความของคุณสุทธิชัย หยุ่น เรื่อง Community-based approach needed for next big flood ในเดอะ เนชั่น มาก เป็นแนวทางที่สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส เอามาเผยแพร่ ตามที่ผมเคยเล่าไปแล้ว ที่จริงบทความนี้ลงมาตั้งแต่วันที่ ๒๐ ต.ค. เราควรช่วยกันส่งเสริมแนวทางนี้ให้มาก และไม่ใช่เพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว ควรใช้กับกิจการสาธารณะอย่างอื่นๆ ด้วย รัฐบาลควรส่งเสริม ไม่ใช่กีดกันหรือครอบงำบทบาทของ ภาคประชาชน

ชีวิตที่พอเพียง  : 1418d. น้ำใหญ่กำลังมา

เช้าวันที่ ๒๔ ต.ค. ๕๔ สถานการณ์ที่บ้านผมยังปกติ   ตรวจสอบจาก ThaiFlood Reporter บริเวณใกล้เคียงยังคงเดิม  แต่ที่หลักหก ห่างออกไป ๘ ก.ม. สถานการณ์เลวลง    ข่าวใน นสพ. บอกให้ ๖ เขตใน กทม. เตรียมตัว    เว็บส่องให้ดูระดับน้ำที่ปากเกร็ดตอนกลางคืนไม่มีไฟฟ้าส่องเสียแล้ว จึงมองไม่เห็น   ตอน ๖ น. เห็นว่าเลย ๓ เมตร   “เลขา” คุยกับสมาชิกเฟสบุ๊ก ได้ข้อมูลที่บ่งชี้ว่าตอนนี้ระดับน้ำสูงมากจนกรมชลฯ เจ้าของเครื่องมือนี้ไม่อยากให้ประชาชนได้ข้อมูล   ถ้าเป็นจริง ก็แสดงว่าเขายังมีความคิดว่าการปกปิดข้อมูลดีกว่า การเปิดเผยข้อมูล   เพื่อเป็นธรรมต่อกรมชลฯ ผมขอบันทึกว่า เวลา ๘.๒๘ น. ผมเข้าไปดูได้เหมือนวันก่อนๆ ระดับน้ำสูงกว่า ๓ เมตรเล็กน้อย    ใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจรวบรวมสิ่งควรรู้ในสถานการณ์น้ำท่วม น่าอ่านมาก

ใน Manager online บอกเว็บให้เข้าไปดูระดับน้ำที่สถานีวัดระดับน้ำในคลองต่างๆ ที่นี่   และระดับน้ำบนถนนที่นี่   เป็นข้อมูล ณ เวลาที่เราเข้าไปดู ผมชอบมาก   ผมชอบข้อมูลมือหนึ่ง ไม่ชอบข้อมูลมือสองผ่านสื่อที่ช่วยตีความให้ตื่นเต้นเกิน

หกโมงเช้าเศษผมขี่จักรยานไปดูลาดเลาริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนสุขาประชาสรรค์ ๒ ไปทางวัดกู้    พบว่าเปียกน้ำมากกว่าเดิม   น้ำท่วมถนนประมาณ ๑๐ ซ.ม. เป็นช่วงๆ    ผมถีบจักรยานฝ่าน้ำไปจนถึงจุดหนึ่ง ได้คำตอบที่ต้องการว่าน้ำที่ท่วมถนนล้นมาจากไหน   จึงถีบกลับ ไม่ลุยน้ำต่อ

น้ำล้นมาจากท่อระบายน้ำครับ    ปุดขึ้นมาตรงรูฝาปิดท่อ   และที่วัดบางพังก็เปียกน้ำมากกว่าเดิม   ส่วนหนึ่งปุดมาจากท่อระบายน้ำเช่นเดียวกัน    ตอนนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตรงวัดบางพังสูงถึงระดับ พนังซีเมนต์ที่มีอยู่ก่อน   ตอนนี้อยู่ได้ด้วยพนังที่เพิ่งสร้างต่อขึ้นไปครึ่งเมตร ยันด้วยกระสอบทราย    ต้องชมเทศบาลนครปากเกร็ดนะครับ ว่าเขาวางแผนล่วงหน้าได้ดี    สิ่งที่ผมกำลังเป็นห่วงคือพนังกั้นน้ำที่ใช้ กันอยู่เป็นของชั่วคราว    จะทนแช่น้ำได้นานแค่ไหน 

ช่วงนี้มีรถยนต์ใช้   ผมจึงหาโอกาสออกไปสำรวจในตลาดเมืองทอง ด้วยการไปหาอาหารเช้ากิน   และซื้อกลับมาฝากคนที่บ้าน ๒ คน  และเตรียมให้ “เลขา” เอาไปฝาก “สาวน้อย” ที่คอนโด   รวมทั้งซื้อมาฝาก เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่หมู่บ้านด้วย    อาหารพิเศษนี้ คือขาหมูเมืองทองที่มีชื่อเสียงครับ    นานๆ กินทีคงจะไม่เสียสุขภาพเกินไป   นอกจากความสุขจากการกินแล้ว ผมยังได้ความสุขจากการขับรถในถนนที่โล่ง   ซึ่งหาถนนสภาพนี้ขับรถได้ยากมาก

ผมเห็นข่าวนี้ในบางกอกโพสต์ แล้วดีใจ ว่ารัฐบาลรู้จักใช้อำนาจเพื่อรับผิดชอบการจัดการน้ำท่วมเพื่อ ประโยชน์ส่วนรวม   ไม่ปล่อยให้ประชาชนทะเลาะกันและเข้าไปยุ่งกับการตัดสินใจเปิดหรือปิดประตูน้ำ ในยามวิกฤติ    โดยผมคิดว่า ภาครัฐก็ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงและทันเหตุการณ์แก่สาธารณชนด้วย  

“เลขา” ชื่นชมเทศบาลนครปากเกร็ดมาก ที่ให้ข่าวตรงตามความเป็นจริงผ่านทาง เฟสบุ๊ก ที่นี่   เขาวิจารณ์ว่าต่างจาก ศปภ. ที่ให้แต่ข่าวดี ปกปิดข่าวไม่ดี   ผมชมว่าเทศบาลนครปากเกร็ดทำงานป้องกันน้ำท่วม เข้มแข็งมาก

ตกเย็นพบข่าวนี้ในมติชน ออนไลน์   และข่าวสัมภาษณ์อธิบดีกรมชลฯ ที่นี่  ผมสงสัยว่าที่น้ำท่วมปาก พูดไม่ได้มีอีกแค่ไหน   

ในกรุงเทพธุรกิจ ก็มีข่าวที่น่าสนใจที่นี่    สรุปแล้วเราเห็นสถานที่สำคัญสำหรับรับผู้ประสบภัย ที่อยู่ในบริเวณน้ำหลาก ค่อยๆ โดนน้ำท่วมมากแห่งขึ้น เช่นเมื่อวานต้องย้ายคนออกจากศูนย์ธรรมศาสตร์รังสิต  บ่ายวันนี้นี้ มทร. ธัญบุรีก็ต้องอพยพผู้ประสบภัย ๑,๕๐๐ คนออก    เป็นเครื่องบอกว่าน้ำปริมาณมากกำลังลงมา เรื่อยๆ  

ผมชอบบทความของคุณสุทธิชัย หยุ่น เรื่อง Community-based approach needed for next big flood ในเดอะ เนชั่น มาก   เป็นแนวทางที่สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส เอามาเผยแพร่ ตามที่ผมเคยเล่าไปแล้ว    ที่จริงบทความนี้ลงมาตั้งแต่วันที่ ๒๐ ต.ค.   เราควรช่วยกันส่งเสริมแนวทางนี้ให้มาก   และไม่ใช่เพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว    ควรใช้กับกิจการสาธารณะอย่างอื่นๆ ด้วย   รัฐบาลควรส่งเสริม ไม่ใช่กีดกันหรือครอบงำบทบาทของ ภาคประชาชน 

วันนี้ผมอ่านหนังสือ The Necessary Revolution ต่อ   และต่อไปนี้คือ short note ของผม

ลูกโป่งนรกแห่งยุคอุตสาหกรรม   หลอกให้เรางมงายกับสวรรค์หรือความก้าวหน้าที่อยู่ภายในลูกโป่ง มองไม่เห็นสภาพภายนอกที่ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นนรก

จึงต้องเลือก ว่าจะอยู่ในลูกโป่ง หรือออกมาเสียจากลูกโป่ง   การอยู่ในหรือนอกลูกโป่งนี้ วิธีคิด โลกทัศน์ และสมมติฐานแตกต่่งกันโดยสิ้นเชิง

วิธีคิด โลกทัศน์ และสมมติฐานแห่งยุคอุตสาหกรรม ได้แก่

  . พลังงานมีราคาถูกและมีเหลือเฟือ ไม่มีวันหมด

  . จะมีที่เหลือเฟือสำหรับทิ้งขยะ

  . สภาพแวดล้อมของโลกไม่ได้ขึ้นกับมนุษย์   มันจะดำเนินไปตามทางของมัน

  . โลกมีไว้สำหรับมนัษย์อยู่ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่สำคัญ

  . ทรัพยากรพื้นฐาน เช่นน้ำและหน้าดินมีไม่จำกัด   ถ้ามีข้อจำกัด มนุษย์ก็จะหาวิธีปัดเป่า เพื่อให้เรามีชีวิตอยู่ตามแนวทางเดิมได้

  . ผลิตภาพและมาตรฐานเป็นหัวใจสำคัญของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

  . การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่ม GDP เป็นวิธีการดีที่สุดที่จะให้ทุกส่วนของสังคมมีการพัฒนา และเกิดความเป็นธรรมในสังคม

ชีวิตนอกลูกโป่งอุตสาหกรรม ใช้วิธีคิด โลกทัศน์ และสมมติฐานที่แตกต่าง ดังนี้

  . ใช้ชีวิตด้วยพลังงานจากแหล่งที่ renewable หด้แก่ แสงอาทิตย์ ลม น้ำขึ้นน้ำลง และชีวภาพ

  . ไม่มีขยะเข้าสู่บ่อกำจัดขยะ  ของใช้ทุกอย่่างสามารถ recycle, remaufactirable, หรือ ย่อยสลายได้

  . เรากำลังยืมอนาคตจากลูกหลานของเรา   จึงต้องส่งมอบโลกและ biosphere ที่อยู่ในสภาพดีต่อสุขภาพให้แก่คนรุ่นต่อไป

  . มนุษย์เป็นเพียงหนึ่งในสุดยอดวิวัฒนาการท่งธรรมชาติ   และต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลก เพื่อการดำรงชีวิตของเรา

  . เราได้รับบริการฟรีจากโลก ในการทำความสะอาดโลก  เราต้องเคารพ และไม่สร้างภาระเพิ่มแก่โลกจนโลกทำความสะอาดไม่ไหว  ไม่สามารถให้บริการให้โลก หรือระบบนิเวศ สะอาดได้

  . จงให้คุณค่าความแตกต่างหลากหลาย  สร้างชุมชน   ความรักใคร่สามัคคีในท่ามกลางความแตกต่างเป็นคุณลักษณะของระบบนิเวศ และสังคม ที่สมบูรณ์

  . เราอยู่ในเรือลำเดียวกัน เรียกว่าหมู่บ้านโลก  หากเรือลำนี้จม เราทุกคนก็จะไม่รอด

สังคมที่ฟื้นตัวเองได้ (regenerative society) คือสังคมแห่งอุดมคติ   สังคมที่ฟื้นตัวเองได้ประกอบด้วย ๓ ส่วน (๑) องค์กรที่ฟื้นตัวเองได้  (๒) อุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวเองได้  และ (๓) เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเองได้  

สังคมที่ฟื้นตัวเองได้ คือสังคมที่การดำรงชีวิต นำไปสู่การสร้างสภาพหรือเงื่อนไขให้ชีวิตอื่น งอกงามเติบโต 

หัวใจของการเรียนรู้เพื่อไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ : เก้าอี้สามขา

  . การคิดกระบวนระบบ (systems thinking)

  . ทำงานร่วมมือข้ามพรมแดน

  . สร้างภาพอนาคตที่มุ่งหวัง และร่วมกันดำเนินการเพื่อบรรลุการสร้างสรรค์นั้น

อย่ามุ่งแก้ปัญหา  ให้มุ่งสร้างสิ่งใหม่ที่มุ่งหวัง   ใช้การสร้างสรรค์นำ การแก้ปัญหาช่วยเสริม

การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เกิดได้จาก ๒ กระบวนการเสริมกัน

   (๑) มีวิสัยทัศน์หรือความมุ่งมั่นในอนาคตอย่างแรงกล้า (vision)

   (๒) มีความเข้าใจความเป็นจริงในปัจจุบัน (current reality)

 

สรุปว่าแม้น้ำใหญ่กำลังมา    และหลายส่วนของกรุงเทพมีน้ำท่วม   แต่ผมยังอยู่ที่บ้านอย่างมีความสุข    ใช้โอกาสนี้เรียนรู้สิ่งใหม่ สัมผัสชีวิตในสถานการณ์คับขัน   ผมได้เรียนรู้วิธีใช้ Kindle อ่านและทำเครื่องหมายช่วย การสรุปประเด็นสำคัญ   ตกเย็นออกไปอ่านนอกบ้าน ได้กลิ่นหอมของดอกไม้ชื่นใจ

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ต.ค.​๕๔

หมายเลขบันทึก: 465907เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2011 19:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพิ่งพบบันทึกนี้ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/465690 ใน Gotoknow จึงเอามาลงไว้ เพื่อบอกผู้คนว่าข่าวในสื่อมวลชนในเรื่องน้ำท่วมนั้นคลาดเคลื่อนมาก ทำให้ตกใจเกินเหตุ ผู้เสพข่าวพึงระวัง ดังในบันทึกนี้

วิจารณ์ พานิช

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท