สกัดความรู้จากกระบวนการสนทนากลุ่ม


        ครูในยุคปฏิรูปการศึกษาต้องมีความสามารถในการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาจึงเป็นภารกิจหนึ่งที่สถานศึกษาต้องดำเนินการ ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้ประสบความสำเร็จ ขั้นตอนแรกที่นักพัฒนาหลักสูตรควรทำ คือ การศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร

        อาจารย์ใจทิพย์ เชื้อรัตนพงษ์ กล่าวถึงความสำคัญของข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่นและควรมีการศึกษาให้ชัดเจนก่อนการพัฒนาหลักสูตรซึ่งถือได้ว่าเป็นการวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์ ได้แก่

          1) ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพและความต้องการของชุมชน เพื่อให้หลักสูตรที่จัดทำขึ้นเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของท้องถิ่น การศึกษาสภาพและความต้องการของชุมชนอาจศึกษาในหลายๆ ด้าน เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ประเพณี การประกอบอาชีพทั้งในปัจจุบันและอนาคต ความคาดหวังของชุมชน เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสามารถกระทำได้โดยการศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่เป็นข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Sources) ได้แก่ ข้อมูลที่มีผู้สำรวจศึกษารวบรวมไว้เป็นเอกสาร สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เลย นอกจากนั้นยังศึกษาจากการสำรวจชุมชนเป็นข้อมูลที่เป็นปฐมภูมิ (Primary Sources) คือ สำรวจด้วยตนเอง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยตรงจากชุมชน เป็นข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะแสดงถึงสภาพที่แท้จริงของชุมชน

          2) สำรวจสภาพและความต้องการของชุมชน เพื่อให้หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นสอดคล้องกับการพัฒนาการทางด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ รวมทั้งสอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของผู้เรียนด้วย ข้อมูลเหล่านี้สามารถศึกษาได้จากผู้เรียน ครู ผู้ปกครอง ซึ่งอาจใช้วิธีการพูดคุยกับนักเรียนและผู้ปกครอง รวมทั้งการสังเกตนักเรียน

          3) ศึกษาทำความเข้าใจหลักสูตรแกนกลาง คณะทำงานต้องศึกษาให้เข้าใจเกี่ยวกับปรัชญา หลักการ จุดหมาย จุดประสงค์ และโครงสร้างเนื้อหาของกลุ่มประสบการณ์/กลุ่มวิชาและหลักสูตรแม่บท การจัดการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผลหลักสูตร และอื่นๆ เพื่อพิจารณาว่ามีส่วนใดที่หลักสูตรเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม

          4) วิเคราะห์ศักยภาพของโรงเรียน เป็นการศึกษาสภาพโดยทั่วไปของโรงเรียนในด้านต่างๆ เช่น ด้านบุคลากร การบริหาร วัสดุอุปกรณ์ ความร่วมมือระหว่างบุคคลภายในโรงเรียน ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับท้องถิ่น ฯลฯ ผลจากการวิเคราะห์ทำให้ทราบว่าโรงเรียนมีจุดเด่นหรือความพร้อมในเรื่องใดมากที่สุด และมีจุดด้อยหรือความขาดแคลนในเรื่องใดบ้าง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาตัดสินใจในการพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่นเพราะหากโรงเรียนมีความพร้อมมากเพียงใด ก็ส่งผลให้การดำเนินการของโรงเรียนในการนำหลักสูตรไปปฏิบัติได้เพียงนั้น ข้อมูลเหล่านี้สามารถรวบรวมได้จากการสำรวจภายในโรงเรียน ศึกษาจากครู ผู้บริหาร และสถิติของโรงเรียน  

           การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาในครั้งนี้ ผู้เขียนได้ใช้กระบวนการสนทนากลุ่มเพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกับท้องถิ่น โดยผู้เขียนขอสรุปประโยชน์ที่ได้จากการสนทนากลุ่มดังนี้

1) ข้อมูลที่ได้มีความหลากหลาย ครอบคลุมประเด็นที่ผู้เขียนต้องการ

2) ข้อมูลมีลักษณะเป็นพลวัต คือ แสดงถึงที่มาที่ไป ผลที่เกิดขึ้น และสามารถทำนายอนาคตได้ดี

3) ผู้ให้ข้อมูลแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระตามหลักประชาธิปไตย เกิดบรรยากาศของการร่วมมือกัน การแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ทำให้เกิดการฟังอย่างลึกซึ้งซึ่งอาจนำไปสู่การแก้ปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้

4) ทำให้ได้เห็นมุมมองและทัศนคติที่แตกต่าง

            ผู้เขียนคิดว่าการสนทนากลุ่มเป็นกระบวนการหนึ่งในการสกัดความรู้ที่มีอยู่ในแต่ละบุคคล การศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรจากกระบวนการสนทนากลุ่มก็นับว่าเป็นวิธีการที่น่าสนใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างแท้จริง 

ภาพ การประชุมสนทนากลุ่มเพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา

หมายเลขบันทึก: 465736เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2011 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในฐานที่วันนี้เป็นวันปิยมหาราช ก็ขอพระบารมีล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ดลบันดาลให้ "คนล่าฝัน" ประสบความสำเร็จในวิชาชีพนะครับ

ในฐานะผู้ที่สนใจด้านหลักสูตร แล้วได้อ่านบทความของอาจารยแล้วก็รู้สึกชื่นชมว่า มีคนให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มขึ้นแล้ว อันที่จริงเหมือนพี่จะเคยเขียนไว้บทความหนึ่งว่า ปรัชญาและหลักสูตรคือต้นทางนำไปสู่การสอน หากเราไม่วางหลักสูตรให้ดี การสอนย่อมไร้ทิศทาง นักหลักสูตรอย่าง Oliva เคยบอกว่าเราต้องศึกษาความต้องการของสังคม (social needs) อย่างรอบด้าน ซึ่งก็จริงอยู่ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ก่อนที่จะถามว่าสังคมต้องการอะไร คาดหวังอะไรจากผู้เรียนของเรา ในฐานะนักการศึกษาเราต้องย้อนกลับมาถามก่อนว่า เธอคาดหวังอะไรในชีวิต อะไรคือความหมายที่แท้จริงของชีวิตตามที่เธอใฝ่ฝัน ดังนั้นภาพที่ผมอยากจะเห็นอาจารย์ดำเนินต่อไปก็คือ นำข้อมูล นำความคาดหวังและนำความต้องการที่อาจารย์สกัดได้ ไปปรึกษาผู้เรียน แล้วให้พวกเขาสะท้อนออกมา นั่นจึงจะเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดหลังผลผลิต (post-product approach) ที่ผู้เรียนจะเข้ามามีบทบาทในการออกแบบเป้าหมายชีวิตของตนเอง

ขอให้กำลังใจ "คนล่าฝัน" ว่าที่นักการศึกษารุ่นใหม่ของสังคมเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท