วงจรหลักแห่งวิกฤติการเมือง


วงจรหลักแห่งวิกฤติทางการเมืองสร้างมารถป้องกันได้ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมโดยการร่วมกันสร้างจิตสำนึกใน “คุณธรรมและจริยธรรม” โดยเฉพาะนักการเมืองที่จะต้องมีระดับของมาตรฐานทางด้านคุณธรรมที่สูงเพื่อรักษาและสร้างผลประโยชน์ให้กับส่วนรวม ดังคำกล่าวที่ว่า “การเป็นรัฐบาลหรือการปกครองที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”

“การเมือง” ตามนัยที่คนส่วนใหญ่ซึมซับและเข้าใจก็คือ “การเมือง เป็นเรื่องของการใช้อำนาจของผู้ที่มีอำนาจในการปกครองสังคม เป็นไปในทางการจัดสรร ผลประโยชน์ ให้กับสังคมเพื่อบรรลุซึ่งเป้าหมายของการอยู่ร่วมกันอย่างศานติ” วาทะกรรมดังกล่าวในเรื่องของการเมืองก็จะอยู่ในบริบทของ “อำนาจ” และ “ผลประโยชน์” ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านและคนทั่ว ๆ ไปมักจะพูดเสมอว่า “การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์” คำว่า “ผลประโยชน์” ในที่นี้เพื่อความเข้าใจโดยง่ายสามารถแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ

 

                          ๑. ผลประโยชน์ส่วนตน

                          ๒. ผลประโยชน์ของพวกพ้อง และ

                          ๓.ผลประโยชน์ของส่วนรวม

 

         ซึ่งนัยของคำว่า ผลประโยชน์” ตามความรู้สึกนึกคิดของประชาชนโดยส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันแล้ว จะมองนักการเมืองที่ข้อ (๑) และ (๒) คือ “ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง” เป็นสำคัญ ดังนั้นในอีกแง่มุมหนึ่งทำให้เกิดมายาคติทางด้านการเมืองของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่จะรักษา “ผลประโยชน์ของส่วนรวม” เอาไว้จึงมีไม่มากนักในสังคมไทยยุคปัจจุบัน เนื่องจาก คนส่วนใหญ่มองว่า “ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง” ของนักการเมือง มันได้กลายเป็นเรื่องปรกติธรรมดาและชาชิน ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาช้านานแล้ว ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะโกงกินบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้หว่านเงินมาแจกชาวบ้านเพื่อปิดปากด้วยก็แล้วกัน จนมีคำพูดที่ติดปากของชาวบ้านเสมอ ๆ ว่า “มันก็โกงกันทุกรัฐบาลนั่นแหละ อยู่ที่ว่าโกงมากโกงน้อยก็เท่านั้นเอง” ซึ่งมายาคติในทัศนะเรื่องดังกล่าวเป็นการสะท้อนออกมาถึง การยอมรับ ในเรื่องของ “การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ (ส่วนตนและพวกพ้อง)” ว่า เป็นเรื่องปรกติในสังคมไทย ที่ทุกคนต้องยอมก้มหน้ารับกรรม การที่การเมืองตกอยู่ในวังวนของเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ (ส่วนตนและพวกพ้อง) นั้นเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่วงจรแห่งวิกฤติทางการเมือง ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนมองว่า

 

วงจรหลักแห่งวิกฤติทางการเมือง 

 

มิจฉาทิฏฐิเรื่อง “เกียรติ”                         เป็นปัจจัยจึงเกิด     การสะสมความมั่งคั่ง

การสะสมความมั่งคั่ง                             เป็นปัจจัยจึงเกิด    การสร้างฐานอำนาจ

การสร้างฐานอำนาจ                              เป็นปัจจัยจึงเกิด    ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน  

ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน              เป็นปัจจัยจึงเกิด    การใช้อำนาจเงินตรา

การใช้อำนาจเงินตรา                             เป็นปัจจัยจึงเกิด    การครอบงำองค์กรและประชาชน

การครอบงำองค์กรและประชาชน           เป็นปัจจัยจึงเกิด    การผูกขาดอำนาจ(ใช้อำนาจมิชอบ)

การผูกขาดอำนาจ (ใช้อำนาจมิชอบ)      เป็นปัจจัยจึงเกิด    วิกฤติการเมือง

 

 มิจฉาทิฏฐิเรื่อง “เกียรติ” หากมีคนตั้งคำถามว่า บุคคลใดในประเทศถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีเกียรติ คนส่วนใหญ่ก็จะตอบออกมาในแนวทางที่เป็นบุคคลที่สังคมรู้จักเป็นอย่างดี เป็นบุคคลที่มีหน้ามีตาในสังคม เป็นบุคคลที่ร่ำรวย เป็นต้น น้อยคนนักที่จะนึกถึงบุคคลที่มีคุณสมบัติที่เป็นคนดี อมตะพจน์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสกว่า ๒๕ ศตวรรษที่ผ่านมา เป็นสัจธรรมมิเสื่อมคลายในสาระสำคัญที่ว่า ในหมู่คนที่คิดว่าตนเองเจริญแล้วเรื่องเกียรติถือได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่และมีดัชนีชี้วัดในเรื่องดังกล่าว ก็คือ ความมั่งคั่งทางด้านวัตถุ

 

            คนส่วนใหญ่ใหญ่เชื่อและเข้าใจว่า “เกียรติ” มีความสัมพันธ์กับความมั่งคั่งทางวัตถุอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ เมื่อมีความมั่งคั่งทางด้านวัตถุมากขึ้น ก็จะมีเกียรติมากขึ้น และถ้าหากมีความมั่งคั่งทางด้านวัตถุลดลงก็จะส่งผลทำให้เกียรติลดลงมาด้วย

 

         ทุกคนเกิดมาก็ย่อมปรารถนาให้ตัวเองเป็นผู้มีเกียรติทั้งนั้น ซึ่งเรื่องเกียรตินี้ถือเป็นความต้องการในแรงจูงใจลำดับที่สี่ของทฤษฎีลำดับขั้นของแรงจูงใจ (Maslow’s hierarchical theory of motivation) ที่กล่าวไว้ว่า แรงจูงใจลำดับที่สี่ เป็นแรงจูงใจที่แสวงหาและรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีเกียรติยศทั้งโดยตนเองสำนึกและผู้อื่นกล่าวขวัญยกย่องเชิดชู เช่น ความต้องการมีเกียรติ มีหน้ามีตา ความต้องการมีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่องนับถือ ความรู้สึกนับถือและเชิดชูตัวเอง เป็นต้น มาสโลว์ กล่าวว่า ศักดิ์ศรีที่สำคัญต่อความมีสุขภาพจิตที่ดีคือ ความรู้สึกนับถือและเคารพตนเอง กับการได้รับการนับถือและเคารพจากผู้อื่นที่ไม่ใช่ลักษณะฉาบฉวยไม่จริงใจ 

 

           ในความเป็นจริงทุกคนเกิดมาก็ย่อมปรารถนาให้ตัวเองเป็นผู้มีเกียรติทั้งนั้น เมื่อความเข้าใจและความเชื่อในมายาคติแห่งเกียรติ (ที่อิงกับความมั่งคั่งทางวัตถุ) ครอบงำและบดบังปัญญาของมนุษย์ มนุษย์ส่วนใหญ่ก็แสวงหาเกียรติในรูปแบบของการกอบโกยและตักตวงเอาความมั่งคั่งทางวัตถุไปสู่ตนเองและพวกพ้องให้มากที่สุด โดยมองข้ามและก้าวข้ามพ้นผ่านเส้นแบ่งของเรื่อง “คุณธรรมและจริยธรรม”ไป โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจอยู่ในมือมุ่งเน้นที่จะกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องในการเป็นแนวทางไปสู่การสะสมเกียรติ อำนาจและบารมี ซึ่งมายาคติเรื่องเกียรติดังกล่าว ถือเป็นกับดักและหนทางในการนำไปสู่การมัวเมาในอำนาจอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการมุ่งเน้นสะสมความมั่งคั่งทางวัตถุในการตักตวงมูลค่าส่วนเกินทางเศรษฐกิจ มากกว่า การมุ่งเน้นสะสมความดีทางด้านจิตใจ เมื่อสะสมความมั่งคั่งแล้วก็มุ่งที่จะสร้างฐานอำนาจของตนเองเพื่อที่จะเก็บรักษาและแสวงหาความมั่งคั่งมาเก็บสะสมเพิ่มเติม (มุ่งกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง) เมื่อมีอำนาจและความมั่งคั่งก็จะใช้อำนาจความมั่งคั่ง (อำนาจเงิน) ครอบงำองค์กรและประชาชนเพื่อยืดอายุงานของการใช้อำนาจนั้นออกไปให้ยาวนานที่สุด เมื่อครอบงำองค์กรและประชาชนได้แล้วทำให้เกิดความเหลิงและมัวเมาในอำนาจ ก่อเกิดการลุแก่อำนาจ (ใช้อำนาจไปในทางมิชอบ) ใช้อำนาจเพื่อรักษาอำนาจของตนเองและพวกพ้องเอาไว้ และท้ายที่สุดก็นำไปสู่จุดวิกฤติของการเมือง

 

       วงจรหลักแห่งวิกฤติทางการเมืองสร้างมารถป้องกันได้ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมโดยการร่วมกันสร้างจิตสำนึกใน “คุณธรรมและจริยธรรม” โดยเฉพาะนักการเมืองที่จะต้องมีระดับของมาตรฐานทางด้านคุณธรรมที่สูงเพื่อรักษาและสร้างผลประโยชน์ให้กับส่วนรวม ดังคำกล่าวที่ว่า “การเป็นรัฐบาลหรือการปกครองที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”

 

         -   เป็นของประชาชน สื่อความหมายถึงอำนาจอธิปไตยในแผ่นดินล้นเป็นของประชาชนทุกคน ทั้งบุคคลในปัจจุบันและที่จะเกิดมาในอนาคต ตลอดจนรวมถึงความรับผิดชอบร่วมเพื่อดูแลปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม

         -   โดยประชาชน การบริหารจัดการผลประโยชน์ทั้งหลายของส่วนรวมโดยประชาชน อย่างไรก็ตามประชาชนไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโดยตรงได้ทุกคน จึงต้องมี ตัวแทน เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว

         -   เพื่อประชาชน เป็นหลักประกันว่า การบริหารจัดการโดยประชาชนจะต้องมีเป้าหมายที่ให้ผลประโยชน์เป็นไปเพื่อประชาชนโดยส่วนรวม ตกถึงมือประชาชนโดยเสมอภาคเท่าเทียมกันและเป็นธรรมทุกคน

 

             นอกเหนือจากคุณธรรมและจริยธรรมที่ต้องมีระดับที่สูงแล้วนักการเมืองต้องตระหนักและพึงระลึกไว้เสมอ คือ ต้องรักษาและธำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

 

  “พุทธโอวาท ก่อนปรินิพพาน” ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้โอวาทภิกษุทั้งหลาย ด้วยพระธรรมเทศนา อันเป็นไปเพื่อ โลกุตตราริยธรรม กล่าวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุติญาณทรรศนะ ในระหว่างที่เสด็จไปยังภัณฑุคามและโภคนคร ตามลำดับ

 

       "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ไม่มีความสุขใดเสมอด้วยความสงบชนิดนี้สามารถหาได้ในตัวเรานี้เอง ตราบใดที่มนุษย์ยังวิ่งวุ่นแสวงหาความสุขจากที่อื่น เขาจะไม่พบความสุขที่แท้จริงเลย มนุษย์ได้สรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นไว้เพื่อให้ตัวเองวิ่งตาม แต่ก็ตามไม่เคยทัน การแสวงหาความสุขโดยปล่อยใจ ให้ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ที่ปรารถนานั้น เป็นการลงทุนที่มีผลไม่คุ้มเหนื่อย เหมือนบุคคลลงทุนวิดน้ำในบึงใหญ่เพื่อต้องการปลาเล็กๆ เพียงตัวเดียว มนุษย์ส่วนใหญ่มัววุ่นวายอยู่กับเรื่องกาม เรื่องกิน และเรื่องเกียรติ จนลืมนึกถึงสิ่งหนึ่ง ซึ่งสามารถให้ความสุขแก่ตนได้ทุกเวลา สิ่งนั้นคือ ดวงจิต ที่ผ่องแผ้ว เรื่องกามเป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรน เรื่องกินเป็นเรื่องที่ต้องแสวงหา และเรื่องเกียรติเป็นเรื่องที่ต้องแบกไว้ เมื่อมีเกียรติมากขึ้นภาระที่จะต้องแบกเกียรติเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งของมนุษย์ผู้หลงตนว่าเจริญแล้ว ในหมู่ชนที่เพ่งมองแต่ความเจริญทางด้านวัตถุนั้น จิตใจของเขาเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยประสบความสงบเย็นเลย เขายินดีที่จะมอบตัวให้จมอยู่ในคาวของโลกอย่างหลับหูหลับตา เขาพากันบ่นว่าหนักและเหน็ดเหนื่อย พร้อมๆ กันนั้นเขาได้แบกก้อนหินวิ่งไปบนถนนแห่งชีวิตอย่างไม่รู้จักวาง"

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 465634เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2011 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท