Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

อุ้มผางศึกษา : เป้าหมายกิจกรรมวิจัยเพื่อการพัฒนาหรือกิจกรรมพัฒนาเพื่อวิจัยควรจะมาจากความต้องการของเรื่องจริง


โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔

เนื่องจากในช่วงนี้ มีข้อหารือจากคนทำงานอุ้มผางศึกษาในเรื่องโครงการลงพื้นที่ที่อุ้มผางสัก ๕ – ๑๐ วัน ในปลายเดือนตุลาคม หลังจากที่อ่านร่างโครงการที่ อ.ไหม เขียนส่งมาให้ดู อ.แหววก็คิดว่า จะต้องชวนคุยเรื่อง “หลักคิด” ในการกำหนดเป้าหมายของการสร้างกิจกรรมการวิจัยเพื่อการพัฒนา หากเราอยากวิจัยเพื่อพัฒนา หรือพัฒนาเพื่อวิจัย หลักคิดที่สำคัญก็คือ เราจะต้องกำหนดเป้าหมายกิจกรรมจาก “ความต้องการของเรื่องจริง (Real need of true story)” การกำหนดเป้าหมายจากความอยากทำหรือความสะดวกของผู้ทำกิจกรรมอาจไม่สนองตอบต่อความต้องการของเรื่องจริง เรื่องจริงจะเป็นตัวกำหนด “ย่างก้าวที่มีประสิทธิผล” ของการทำงานวิจัยหรืองานพัฒนา

อ่านเอกสารที่ อ.ไหม ส่งมา ก็อยากถามว่า อะไรคือเป้าหมายโดยรวม (จริงๆ ชัดๆ) ที่คณะทำงานนี้อยากได้ ?? ความเข้าใจร่วมกันของ มน. และทีมงานโรงพยาบาลอุ้มผางหรือคะ ? ข้อเท็จจริงของเคสที่ฟังเป็นยุติหรือคะ ?

เมื่อตอบว่า อะไรคือเป้าหมายแล้ว ก็ควรถามตัวเองต่อว่า สิ่งที่จะนำมาเป็นเป้าหมายของกิจกรรมนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้จริง ? หรือเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องจัดการก่อนหรือไม่ ?

คำถามว่า การหารือกับทีมงานโรงพยายามอุ้มผางนั้นเป็นเป้าหมายที่ต้องทำก่อนเลยเป็นกิจกรรมที่เร่งด่วนหรือไม่ ? หรือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนหรือไม่ ? ปัญหาความไม่ลงตัวในเคสต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้มาจากความเข้าใจไม่ตัวกันระหว่าง มน.และทีมงานโรงพยาบาลอุ้มผาง หรือมาจากเหตุปัจจัยอื่น ?

ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุตินั้นอาจทำได้จริงหรือไม่ ? โดยทีมงานของ มน. ในเวลาที่กำหนดไว้ ? ถ้าทำไม่ได้จริง เป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็จะไม่อาจบรรลุตั้งแต่แรก

หากเราพิจารณาจากทุกกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นบนอุ้มผาง จากคนถือบัตรขาว – ๒๖ กรณีศึกษาที่เลือก - ชิชะพอ – ไหล่โผล่ – ดาที –มีชอ – บุญส่ง  เราถอดบทเรียนอะไรได้บ้าง ? ความคืบหน้าหรือความไม่คืบหน้าของงานอยู่ที่ไหน ? อุปสรรคของความพยายามที่จะคืบหน้าอยู่ตรงไหน ? ความผิดพลาดอยู่ตรงไหน ? จะเห็นว่า อำเภออุ้มผางปรากฏตัวเป็นภาคีที่ก้าวข้ามมิได้เลย การไม่ยอมลงพื้นที่พูดคุยกับกระบวนการของอำเภอต่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติจึงน่าจะทำให้การศึกษาขาดข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญของเรื่องหรือไม่ ? การเปลี่ยนตัวนายอำเภอหมายถึงการเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงานของอำเภอหรือคะ ?

คำถามเหล่านี้ผ่านมาในหัวของ อ.แหวว จึงคิดดังๆๆ ให้ท่านอื่นได้ยินด้วย

การออกแบบกิจกรรมการทำงานที่ย่อยอดได้มีความสำคัญสำหรับงานวิจัยเพื่อการพัฒนา ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ หากไม่ได้อะไรกลับมา การสร้าง Success Story ก็จะทำไม่ได้ จึงควรทบทวนสิ่งที่จะทำว่า เป้าหมายที่จับต้องได้จะทำให้ทำงานง่ายค่ะ แต่เป้าหมายที่จับต้องไม่ได้ ก็จะทำให้การต่อยอดทำไม่ได้ค่ะ

คำถามแรกที่ว่า คนถือบัตรขาวคือใคร ? มีจำนวนเท่าไหร่ ? พวกเขามีปัญหาอะไร ? เป็นชุดคำถามแรกที่ต้องตอบก่อน และตอบง่าย ซึ่งเป็นที่น่าคิดว่า การที่คนทำงานอุ้มผางศึกษาไม่ตอบคำถามนี้เพราะว่า ไม่เห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงไม่มีการทำงานเพื่อตอบโจทย์วิจัยนี้ หรือมีคำตอบแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการเผยแพร่

เราลองมาคิดดูว่า หากเราพบคนถือบัตรขาวที่ยังประสบปัญหาความไร้รัฐหรือความไร้สถานะตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร เราก็ควรจะผลักดันผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ถูกระบุว่า เป็นเครือข่ายการทำงานที่จะขจัดปัญหาความไร้รัฐเอาไว้ก่อนมิใช่หรือ  จึงเป็นที่น่าคิดเช่นกันว่า การที่คนทำงานอุ้มผางศึกษาไม่สนใจทำสิ่งนี้ ก็เพราะพวกเขาไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนบัตรขาวเลย หรือมีข้อเท็จจริง แต่พวกเขาไม่รู้จักมาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ตลอดจนข้อ ๖ แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และข้อ ๑๖ แห่ง กติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง (พลเมือง) และทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ ซึ่งผูกพันรัฐไทยให้มีหน้าที่รับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายแก่มนุษย์ทุกคน หรืออีกสาเหตุที่ทำให้การต่อยอดการพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของคนถือบัตรขาวที่ประสบปัญหาความไร้รัฐอาจจะเกิดขึ้นที่ “ความเชื่อมต่อ” ระหว่างคนทำงานอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมิได้เกิดขึ้น

จะเห็นว่า โอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาคนอุ้มผางที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย โดยผ่านกรณีศึกษาคนบัตรขาว เป็นเรื่องที่ไม่ยากและทำง่าย แต่โอกาสนี้ยังไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างชัดเจนและเต็มที่ อ.แหววจึงเสนออย่างที่เคยเสนอว่า คนทำงานอุ้มผางทั้งที่เป็นคนจาก มน. หรือคนจากโรงพยาบาลอุ้มผาง หรือคนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือคนจาก SWIT ลองมาทบทวน “ย่างก้าวในอดีต” ดูว่า ปัญหาความไม่คืบหน้ามาจากสาเหตุอะไร ? และการแก้ไขปัญหาที่สาเหตุแรกจะนำทางไปสู่ความสำเร็จในจุดแรก อันนำไปสู่การพบสาเหตุในจุดต่อๆ มา อันนำไปสู่ความสำเร็จในจุดต่อๆ ไป

หมายเลขบันทึก: 465001เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2011 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การนำเสนอเรื่องราวของคนบัตรขาวตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่นำเสนอต่อคณะทำงานของอนุกรรมการชุดคุณหมอนิรันดร์ลงพื้นที่ และอาจารย์แหววตั้งข้อสังเกตไว้ว่าให้คัดกรองคนบัตรขาวว่าเป็นใครบ้าง ได้ถูกนำเสนอในคณะอนุกรรมการฯที่ห้องประชุมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในวันที่เข้าไปชี้แจงกรณีของนางชิชะพอกับนายไหร่โผ่ซึ่งเข้ารับการรักษาตัวเป็นคนไข้ไตวายระยะสุดท้าย คุณหมอนิรันดร์แจ้งในที่ประชุมว่า การทำงานกับพื้นที่อำเภออุ้มผางเป็นหนึ่งในพื้นที่ศึกษางานของคณะอนุกรรมการฯ โดยมิได้บรรจุเรื่องราวของคนไข้ทั้งสองคนเป็นเรื่องร้องเรียนค่ะ

ขอบคุณที่แมวที่กรุณาบอกว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบเรื่องของคนถือบัตรขาวแล้ว ดังนั้น ก็หวังว่า คณะกรรมการนี้จะได้ทำอะไรเป็นการพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของคนถือบัตรขาวที่ประสบปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลในไม่ช้า

แต่อย่างไรก็ตาม ก็อยากให้คนทำงานอุ้มผางศึกษา ไม่ว่าจะเป็นชาว มน. หรือชาวโรงพยาบาลอุ้มผาง หรือชาว SWIT โปรดเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคนบัตรขาวให้สังคมไทยได้รับรู้ค่ะ ไม่อยากให้เป็นเพียงข้อมูลที่รับรู้กันภายในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งในขณะนี้ อ.แหววก็ไม่ได้ทำงานในคณะกรรมการนี้แล้ว ก็เลยไม่มีโอกาสได้ทราบเกี่ยวกับคนบัตรขาวค่ะ

แต่อย่างไรก็ดี จึงสงสัยว่า คนทำงานอุ้มผางจะไม่มีการต่อยอดความรู้เกี่ยวกับคนบัตรขาวเลยหรือคะ ยังติดใจอยู่มากในเรื่องนี้ อ.แหววว่า เรื่องนี้เป็น success story ของโรงพยาบาลอุ้มผางทีเดียวนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท