พุทธทำนาย ๑๖ ประการกับความทุกข์ของสังคมไทยในปัจจุบัน


สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันนี้ถ้าหากจะหาตัวเชื่อมของความสัมพันธ์เพื่อโยงไปสู่ความสัมพันธ์ที่ล้มเหลวระหว่างมนุษย์ด้วยกันกันเองและความสัมพันธ์ที่เห็นแก่ได้ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแล้ว ตัวเชื่อมหรือเครื่องมือที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลของภาวการณ์ดังกล่าวในปัจจุบันคือ "กิเลสตัณหา" โดยผ่านช่องทางหรือกลไกคือ "ความอยาก" ของมนุษย์

พุทธทำนาย ๑๖ ประการเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า ๒๕ ศตวรรษมาแล้ว โดยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากการที่พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งแคว้นโกศลซึ่งทรงสุบินที่แปลกประหลาดถึง ๑๖ ประการ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จนทำให้พระองค์ทรงวิตกกังวลเป็นอย่างมากว่าจะมีเหตุร้ายกับพระองค์ ซึ่งพราหมณ์ปุโรหิตได้ทำนายว่า นิมิตแบบนี้จะนำเหตุร้ายมาสู่พระองค์ พระมเหสีและราชบัลลังก์ จึงแนะนำให้ทำพิธีบูชายัญเพื่อสะเดาะเคราะห์ โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นทราบถึงพระนางมัลลิกาเทวีพระมเหสี พระนางมัลลิกาเทวีทรงแนะนำให้ พระเจ้าปเสนทิไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อนที่จะทำตามคำแนะนำของพราหมณ์ปุโรหิต ซึ่งเป็นที่มาของพุทธทำนาย ๑๖ ประการ  

            พุทธทำนาย ๑๖ ประการ ประกอบไปด้วย ๑. โคสีดอกอัญชัญ (ยุคข้าวยากหมากแพง) ๒. ไม้รุ่นออกดอกผล (เยาวชนมั่วกาม) ๓.แม่โคขอกินนมลูก (ลูกอกตัญญู) ๔. ลูกโคไถนา (ใช้คนไม่ถูกกับงาน) ๕. ม้าสองปาก (ความยุติธรรมตกอับ) ๖. ถาดทองรองเยี่ยว (คนชั่วมีอำนาจ) ๗. สุนัขกินเชือกหนัง (คู่ครองนอกใจกัน) ๘. ตุ่มน้ำว่างเปล่า (ช่องว่างของคนในสังคม) ๙. สระน้ำขุ่นกลาง (คนดีหนีเข้าป่า คนชั่วเข้าครองเมือง หรือ สังคมที่คนเลวไล่คนดีออกนอกระบบ) ๑๐. ข้าวสุก ดิบ แฉะ ไหม้ (เห็นชั่วเป็นดี เห็นดีเป็นชั่ว) ๑๑. แก่นจันทน์ (นักบุญ คนบาป หรือพระสงฆ์ประพฤติผิด) ๑๒. น้ำเต้าจมน้ำ (ปัญญาชน คนดี ถูกรังแก) ๑๓. ศิลาลอยน้ำ (ผู้นำหูเบา ถูกคนชั่วครอบงำ) ๑๔. เขียดขยอกงู (หญิง – ชายต่างมั่วกาม) ๑๕. หงส์ ทองล้อมกา (คนดีเป็นบริวารคนชั่ว) และ ๑๖. เนื้อไล่เสือ (คนดีไร้ค่า)

 

 

           พุทธทำนาย ๑๖ ประการเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว เมื่อหันมาดูสังคมของไทยในปัจจุบันนี้คำทำนายดังกล่าวได้อุบัติขึ้นจากการรังสรรค์ผลงานโดยน้ำมือของมนุษย์เองทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคม การเมือง เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ความถี่ของการเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยและทวีความรุนแรงเป็นอย่างมาก สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันนี้ถ้าหากจะหาตัวเชื่อมของความสัมพันธ์เพื่อโยงไปสู่ความสัมพันธ์ที่ล้มเหลวระหว่างมนุษย์ด้วยกันกันเองและความสัมพันธ์ที่เห็นแก่ได้ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแล้ว ตัวเชื่อมหรือเครื่องมือที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลของภาวการณ์ดังกล่าวในปัจจุบันคือ กิเลสตัณหา โดยผ่านช่องทางหรือกลไกคือ ความอยาก ของมนุษย์ ซึ่งถ้ามองในทางเศรษฐศาสตร์แนวพุทธแล้วสิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความทุกข์มวลรวมของมนุษย์ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น ความทุกข์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Sadness -- GNS)

 

ความทุกข์มวลรวมประชาชาติ คือ ความทุกข์รวมของคนในชาติทั้งหมดที่เกิดจากการดำเนินชีวิตที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองและมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมถูกครอบงำไปด้วยกิเลสและตัณหา โดยมีปัจจัยเหตุมาจากความอยากทั้งสาม คือ กามตัณหาทางเศรษฐกิจ ภวตัณหาทางเศรษฐกิจ และวิภวตัณหาทางเศรษฐกิจ

 

          กามตัณหาทางเศรษฐกิจ เป็นความทุกข์ที่เกิดจากการอยากได้ในสิ่งที่ตนรักใคร่พอใจในทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงรูปแบบ และวิธีการที่จะได้มาว่าถูกต้องตามหลักศีลธรรมหรือกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้วการแย่งชิงแข่งขันทางผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องมีอยู่ทั่วไป ซึ่งทำให้เกิดทุกข์กับผลการกระทำที่ตามมา อาจจะมีทุกข์มากน้อยตามลำดับขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับตามกติกาของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่ความทุกข์ที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คนในสังคมไม่ยอมรับ คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดศีลธรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมาย

 

 

           ภวตัณหาทางเศรษฐกิจ เป็นความทุกข์ที่เกิดจากความอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่ตนอยากจะเป็นในทางเศรษฐกิจ โดยที่ยึดติดในกิเลสตัณหา “ความอยากเป็น” เป็นที่ตั้ง ไม่คำนึงถึงสภาวะความเป็นจริงของตนเอง แน่นอนที่สุดมนุษย์ทุกคนล้วนมีความอยากเป็นอย่างนั้นอยากเป็นอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ความอยากเป็นแล้วทำอะไรที่เกินตัวในทางธุรกิจเพื่อสนองความอยากของตัวเองนั้น เมื่อเกิดล้มขึ้นมาจึงเป็นทุกข์มหันต์ รวมทั้งการที่ก่ออาชญากรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งการสนองความอยากของตนเอง

 

            วิภวตัณหาทางเศรษฐกิจ เป็นความทุกข์ที่เกิดจากความอยากไม่ให้เป็นอย่างนั้น ไม่ให้เป็นอย่างนี้ตามที่ตนอยากจะไม่ให้เป็นในทางเศรษฐกิจ เป็นการกระทำที่สนองความอยากของตนเองที่ไม่ต้องการให้คนอื่นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ตามที่ตนเองต้องการ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องและความเป็นธรรมในทางธุรกิจและเศรษฐกิจ เป็นการคิดอิจฉาริษยาในทางธุรกิจ และจะกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนที่ตนเองอิจฉาริษยาได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว ซึ่งการกระทำเหล่านั้นประกอบด้วย การคอรัปชั่นในภาครัฐและภาคเอกชน  

 

            นอกจากภาครัฐจะให้ความสนใจในการหาความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness -- GNH) แล้ว สิ่งที่รัฐบาลของประเทศเราควรให้ความสนใจควบคู่กันไปคือ การหาความทุกข์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Sadness – GNS) เพื่อที่จะได้สะท้อนถึงความเป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบันได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากจะสะท้อนให้เห็นถึงกรอบมุมมองที่ครอบคลุมทั้ง ๒ ด้าน

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 464900เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2011 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท