อยู่กับน้ำ


คนเมืองเป็นอีกระบบของชีวิต ที่ทำเงินอย่างเดียวนอกนั้นซื้อทุกอย่าง เป็นวิถีชีวิตที่มีความเสี่ยงเมื่อภัยพิบัติใหญ่เกิดขึ้น

นึกถึงสมัยที่ผมเด็กๆอยู่ที่บ้านวิเศษชัยชาญ พื้นที่น้ำท่วมในฤดูน้ำคือหลังทำนาแล้วฝนก็ตกใหญ่น้ำเหนือก็ไหลบ่า น้ำก็ท่วมทั้งแม่น้ำน้อยและทุ่งนาและที่อยู่อาศัย แต่ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดเพราะมันเกิดมานับร้อยปีมาแล้วตั้งแต่มีการตั้งหมู่บ้าน ชุมชน เมื่อฤดูกาลแต่ละปีจะมีช่วงหนึ่งน้ำท่วม วิถีชีวิตก็ปรับให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ

ไม่เดือดร้อนเหมือนน้ำท่วมในปัจจุบัน

เพราะวิถีชาวบ้านนั้นทำนา เก็บข้าวไว้กินใส่ยุ้งฉางไว้ จะกินเมื่อไหร่ก็เอาไปใส่ครกใหญ่ตำ ต่อมาพัฒนาเป็นเครื่องสีข้าวมือ ต่อมาเป็นโรงสีใหญ่ และโรงสีเล็ก เลิกการตำและสีข้าวมาเป็นจ้างโรงสี หรือขายข้าวแล้วซื้อข้าวกิน

หุงข้าวด้วยฟืนก็เตรียมไว้ตั้งแต่ช่วงเริ่มฤดูทำนาใหม่ๆ เด็กๆมีหน้าที่ไปตัดต้นก้ามปูมาเป็นฟืน แล้วเอามากองให้สูงเหนือระดับน้ำที่ชาวบ้านรู้ดีว่าแต่ละปีน้ำสูงแค่ไหน เรามี “โคก” เป็นพื้นที่ปลูกพืชผักทุกอย่างที่อยากกิน และเมื่อน้ำท่วมพืชผักในฤดูน้ำก็มีมาโดยธรรมชาติ ปลามีมากมาย ใครมีปัญญาจับก็เอามากิน มาขาย มาแบ่งปันกัน

การคมนาคม บ้านผมมีเรือไผ่ม้า เรือบด เรืออีป๊าบ และเรือมาด เรือแต่ละชนิดใช้ประโยชน์ต่างกัน เลือกใช้ตามวัตถุประสงค์ มีใบพายที่พ่อทำขึ้นมาเอง พ่อรู้จักว่าจะทำใบพายแบบไหนจึงจะเบาแรงและใช้ได้ดี เราเตรียมเรือตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูทำนา เอามาขัดด้วยแปรงทองเหลืองทั้งด้านนอกด้านในเพื่อเอาสิ่งไม่พึงประสงค์ออกไปแล้วก็ทาด้วยน้ำมันยางโดยลงชันอุดตามรอยต่อเรือ หรือรูรั่วต่างๆที่ชาวบ้านรู้ดีว่าเรือลำนี้ตรงไหนมีรูรั่ว ตรงไหนชำรุดก็ซ่อมแซม พร้อมใช้งานในช่วงน้ำหลาก

เรือซึ่งเป็นพาหนะของสังคมชุมชนในช่วงฤดูน้ำนั้นมีหลายวัตถุประสงค์ หลักๆคือเอาไปใช้ทำนาบรรทุกสิ่งของที่ต้องใช้ หรือเอาไปเยี่ยมแปลงนา กำจัดวัชพืชที่มักเป็น “ต้นซิ่ง” เริ่มมีการฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชในแปลงนา จำได้ว่าจะฉีดยาฆ่าวัชพืชที่เรียกต้นซิ่งนี้ ในถังน้ำยาต้องใส่ผงซักฟอกลงไปด้วย นัยว่าช่วยให้น้ำยาจับใบวัชพืชมากขึ้น หากไม่ใส่ผงซักฟอกน้ำยาเคมีจะไม่จับใบพืชชนิดนี้ เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน สิ้นเปลืองยา วัชพืชไม่ตาย

เมื่อวันโกนวันพระมาถึง เราแต่งตัวสวยงามพากันพายเรือไปทำบุญที่วัดกันทั้งครอบครัว เด็กๆชอบใจเพราะจะได้กินขนมแปลกๆที่ชาวบ้านจะเอาข้าว เอาขนมมาแลกกัน หลังจากที่ถวายพระทำบุญแล้ว เด็กๆได้เล่นกัน แต่อยู่ในสายตาการสอนการดูแลของผู้ใหญ่

หมู หมา กา ไก่ มีร้านให้เขาอยู่อาศัย แม้แต่สัตว์ใหญ่เช่น ควายทั้งคอก เราทำร้านให้เขาอยู่ หรือเรียกง่ายๆคือ สร้างเรือนให้ควายอยู่ แล้วชาวบ้านเจ้าของก็ไปตัดหญ้ามาให้เขากินทุกเช้า เหล่านี้มีการเตรียมตัว จัดทำมาก่อนหน้าที่น้ำจะหลากมาแล้ว

เรามีข้าวในยุ้ง เรามีน้ำดื่มเพราะรองน้ำใส่ตุ่มไว้ตั้งแต่ฤดูฝนปีก่อน มีตุ่มมากเพียงพอที่เก็บน้ำดื่มได้ทั้งปี อาหารมีตามฤดูกาล การเดินทางใช้เรือ วัฒนธรรม ประเพณีตามฤดูกาลก็มี เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา กฐิน ผ้าป่า การทำบุญวันพระ การแข่งเรือยาวช่วงออกพรรษา สมัยนั้นยังมีการเล่นเพลงเรือ คนเฒ่าคนแก่ออกมาต่อเพลงเรือกันสนุกสนาน

มีการทำกระยาสารท กล้วยไข่ มีการย้อมแห อวนด้วยผลไม้ชนิดหนึ่งเอามาตำใส่ครกใหญ่แล้วเอาน้ำมาย้อม เพราะยางของผลไม้ชนิดนี้มีคุณสมบัติเกาะจับแน่นกับผ้าหรือฝ้ายการห่อหุ้มผ้าหรือเส้นใยทำให้รักษาคุณภาพทำให้คงทนต่อการใช้งาน

ช่วงนี้ก็จะจับปลามาเป็นอาหารและทำแห้งเพื่อเอาไว้ใช้ในยามเกี่ยวข้าว พอน้ำเริ่มลดลง ปลาออกจากทุ่ง ก็จะมีการทำยอยกจับปลาในบริเวณที่ปลาจะออกมาจากทุ่งลงสู่แม่น้ำน้อย ปลาชนิดหนึ่งจะขึ้นมาจากเจ้าพระยา เข้าสู่แม่น้ำน้อย และมาเป็นฝูงใหญ่ๆ คือปลาสร้อย ปลาชนิดนี้เป็นปลาชั้นเยี่ยมที่เอามาทำน้ำปลา ตั้งแต่มีการสร้างประตูน้ำพระอินทร์ ที่วิเศษชัยชาญก็ไม่มีปลาสร้อยอีกต่อไป เพราะมันไม่สามารถผ่านประตูน้ำขึ้นไปได้ ปลาที่ชาวบ้านทำแห้งมากที่สุดคือปลาตะเพียน ปลาช่อน..

ไม่เห็นต้องกักตุน เพราะมีการเตรียมมาแล้วตามปกติของวิถีในรอบปี

เมื่อน้ำลดลงงานในนาก็เริ่มเข้มมากขึ้นนั่นคือ ฤดูหนาวเข้ามาข้าวในนาเริ่มสุก งานใหญ่รอข้างหน้าคือการเก็บเกี่ยว พ่อบ้านจะเตรียมอุปกรณ์ เช่น เคียวเกี่ยวข้าว คันฉาย หลาว เขน็ดมัดฟ่อนข้าว เครื่องสีฝัด ลานกองข้าว

แต่วิถีชีวิตแบบนี้ค่อยๆเปลี่ยนไปเมื่อไฟฟ้าเข้ามา ถนนเข้ามา เด็กรุ่นใหม่เข้าเมือง เรียนหนังสือ  พืชใหม่ๆเข้ามาแทนนาข้าว ระบบชลประทานเข้ามา เงินซื้อทุกอย่าง

คนเมืองเป็นอีกระบบของชีวิต ที่ทำเงินอย่างเดียวนอกนั้นซื้อทุกอย่าง เป็นวิถีชีวิตที่มีความเสี่ยงเมื่อภัยพิบัติใหญ่เกิดขึ้น  

วิถีชีวิตแบบอยู่กับน้ำในอดีตนั้นค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป...

หมายเลขบันทึก: 464787เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2011 00:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

เจริญพรคุณโยมบางทราย

ขออนุญาตคุณโยมบางทราย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากบันทึกดูแล้วได้หลายเรื่องเลย
ที่โยมบางทรายเล่ามานึกออกหมดเลย แม้จะเป็นคนบ้านดอนพายเรือไม่เป็นก็ตาม
แต่ก็ได้เห็นคนในชุมชนที่อยู่ในที่ลุ่มมีน้ำมากแล้วต้องใช้เรือ

อย่างเรื่องราวในภาพวาดนี้ ก็อยู่ในประสบการณ์ตรงของชีวิตจริงเลย
                       
                        ลานนวดข้าวหรือลานกองข้าว : ของชาวบ้านอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ วาดโดย : เสวก ใยอินทร์ ที่มาจากบันทึกของคุณเสวก ใยอินทร์ เรื่องคนหนองบัวกับพริกเกลือ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/281711?page=3

 

เจริญพรคุณโยมบางทราย

ขออนุญาตคุณโยมบางทราย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากบันทึกดูแล้วได้หลายเรื่องเลย
ที่โยมบางทรายเล่ามานึกออกหมดเลย แม้จะเป็นคนบ้านดอนพายเรือไม่เป็นก็ตาม
แต่ก็ได้เห็นคนในชุมชนที่อยู่ในที่ลุ่มมีน้ำมากแล้วต้องใช้เรือ

อย่างเรื่องราวในภาพวาดนี้ ก็อยู่ในประสบการณ์ตรงของชีวิตจริงเลย
                       
                        ลานนวดข้าวหรือลานกองข้าว : ของชาวบ้านอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ วาดโดย : เสวก ใยอินทร์ ที่มาจากบันทึกของคุณเสวก ใยอินทร์ เรื่องคนหนองบัวกับพริกเกลือ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/281711?page=3

 

กราบนมัสการพระมหาแลครับ

ถูกใจผมมากเลยครับ ชีวิตเป็นเช่นนั้นจริงๆ เรามีความสุขตามประสาบ้านนอกอย่างเรา ผมนึกน้อนไปแล้วเรามีเพื่อนบ้านเป็นพี่ป้าน้าอาที่เหมือนพ่อเหมือนแม่ หิวน้ำก็ขึ้นบ้านไปตักน้ำมากินได้ บ้านใครก็ได้ หิวข้าวเขาก็เรียกกินข้าว หากเราร้าย นิสัยไม่ดี ทุกคนในหมู่บ้านตีก้นเราได้ เพราะพ่อแม่อนุญาติไว้ในที่สาธารณะแล้ว ชุมชนอยู่ด้วยกัน จุนเจือกัน ช่วยเหลือกัน ประคับประคองกัน ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก

วัดคือสถานที่ทำพิธีกรรมต่างๆของชุมชน บ้านกับวัดใกล้ชิดมาก พระคือผู้ทรงคุณธรรมคอยตักเตือนแนะนำบอกกล่าวเด็กๆ เป็นหลักเป็นแกนให้ชุมชนทำในครรลองที่ดีที่งามครับ

ความสุขเช่นนั้นหายไปแล้วครับพระคุณเจ้า

กราบนมัสการครับ

วิถีชุมชนเรื่องการจัดการความรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างปลอดภัยของชาวบ้าน
                     
                     ฉาย : เทคโนโลยีและวิถีความรู้ชาวนา วาดโดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ที่มา....http://www.gotoknow.org/blogs/posts/347598

อีกภาพที่เข้ากับบันทึกคุณโยมพอดี

เรื่อง : การนวดข้าวด้วยควายเหยียบของชาวนาหนองบัว
ที่มา  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/348165

                  
                   อธิบายภาพ : การนวดข้าวด้วยควายเดินวน ใช้ตะเกียงเจ้าพายุ ระหว่างนวดด้วยควายเดินวน ชาวนาก็จะใช้คันฉายรุฟางข้าวเพื่อพลิกให้ฟางขึ้นมาอยู่ด้านบนและสงเมล็ดข้าวให้หล่นลงด้านล่าง คนเฒ่าคนแก่นั่งกินหมากเป็นกำลังใจ เด็กๆเล่นเงาตะเกียง มีน้ำแข็งเป็นมือใส่กระติกแช่น้ำยาอุทัยหมอมี(วาดโดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์)

รองน้ำฝนเก็บไว้กินตลอดหน้าแล้ง นี่ก็ชัดเจนมากๆ

                   
                    จากเรื่อง ฤดูกาลชีวิต : พลังความพอเพียงต่อธรรมชาติ(เรื่องและภาพวาดโดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์)
ที่มา  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/290168

ขออภัยที่โพสต์ซ้ำ เพราะโพสต์ครั้งแรกเหมือนโพสต์ไม่ได้เลยโพสต์ใหม่ เลยมีข้อความซ้ำกัน ช่วยลบออกด้วย

ที่จริงนั้นชุมชนตั้งแต่โบราณนานมาทั่วโลกก็ว่าได้ การตั้งบ้านเรือนชุมชนต้องอยู่กับแหล่งน้ำทั้งนั้นเลย อาทิ ใกล้แม่น้ำ ลำคลอง บึง หนอง

ประเทศเรา ไม่ว่าเชียงใหม่ อุตรดิตถิ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี อยุธยา และอีกมากมายทั้วประเทศ ล้วนแต่ชุมชนใหญ่ๆอยู่ใกล้แหล่งน้ำทั้งหมดเลย

ทุกภาคก็คล้ายกันนี้ทั้งนั้น คืออยู่กับน้ำ ทำไมลืมวิถีน้ำกันหมด

อีกเรื่องในบันทึกของโยมที่กล่าวถึงเรื่อง : การฝัดข้าว
นี่ก็อยู่ในชีวิตอาตมาด้วย
                 
                  ภาพวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์
การฝัดข้าวด้วยสีฝัดข้าว กระด้ง วัฒนธรรมการลงแขก - เอาแรง และเทคโนโลยีพอเพียง ของชุนบ้านตาลินและชุมชนเกษตรกรหนองบัว อำเภอหนองบัว นครสวรค์  ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ กรกฎาคม ๒๕๕๒

ที่มาจากเรื่อง
โรงเรียนวันครู และบ้านตาลิน อำเภอหนองบัวhttp://www.gotoknow.org/blogs/posts/233623?page=1

ปรัชญาชีวิตและสังคมชุมชนที่นำพาให้รอดปลอดภัยของชาวบ้านในอดีต

รอให้ลูกหลานไปเรียนรู้ ถอดบทเรียน(ถึงคราวจะได้เรียนรู้เรื่องราวเก่าๆกันซะที)
                 
                 
                  ถ่ายภาพโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

Nong Bua Pictorial : ๑.วัดหนองกลับ : จารึกธรรมและบอกเล่าวิถีสังคมบนงานศิลป์
ที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/433625

ปรัชญาของคนสองรุ่น
เชื่อต่างกันทำให้ใช้ต่างกันด้วย
เลยออกแบบที่อยู่อาศัยคนละแบบ
จึงเกิดความไม่สอดคล้องขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว

ที่วิเศษชัยชาญคงไม่มีป่า
การหาไม้ฟืนมาเผาถ่าน คงหาตามทุ่งนา

แต่ที่หนองบัวเมื่อก่อนนั้นยังมีป่า
หน้าแล้ง ว่างจากงานนา ก็ไปหาไม้ในป่ามาทำบ้าน ไม้ฟืนเผ่าถ่าน ไปกันเป็นขบวนสนุกดี
เลยนำภาพคาราวานเรื่องราวการหาของป่าอย่างนิยายเรื่องสั้นของนักเขียนไทยมาประกอบในบันทึกนี้ฝากโยมด้วย
                  
                   ธิบายภาพ : ชาวบ้านอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เข้าป่าหาไม้และอาหารจากป่า การหาไม้บางครั้งเป็นการระดมพลังชุมชนเพื่อหาไม้สร้างสิ่งสาธารณะของชุมชนและเป็นมรดกสังคมมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ศาลาวัดหนองกลับ ซึ่งเป็นศาลาไม้ขนาดใหญ่มีเสามากกว่า ๑๐๐ ต้น วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/361301
(คาราวานเกวียนหาไม้และอาหารจากป่า
)

พระอาจารย์นิยมชมชอบของเก่าๆ เรื่องราวเก่าๆ เหมือนผมเลยครับ เราถูกเป่าหูมานับชั่วอายุคนถึงความเจริญ แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคความเจริญ เรากลับทิ้ง ทำลายสิ่งดีดีแบบเดิมๆ ไม่ยึดถือ ไม่ปฏิบัติ ตรงข้ามรับของใหม่เข้ามาแล้วย่อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท