ปฏิบัติการโรงเรียนร่วมใจ คืนครูสู่ศิษย์ “ครูสอนดี” (3)


     ผู้เขียนได้ศึกษาหลักเกณฑ์การคัดเลือกครูสอนดี และแนวทางพิจารณา ซึ่งมีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1) จัดกระบวนการเรียนรู้ได้ดีสอนเป็น 2) มีผลการสอนที่ทำให้ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จและความก้าวหน้าในทางการเรียน หน้าที่การงาน และการดำเนินชีวิตเห็นผล และ 3) เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นที่ยกย่องของลูกศิษย์ เพื่อนครู และชุมชนคนยกย่อง นำมาตั้งเป็นคำถามเพื่อการสนทนากลุ่มและเขียนเป็นบทร้อยกรองเพื่อสร้างคุณค่าและความหมายในแต่ละประเด็น ดังนี้

คำถามที่ 1. เมื่อพิจารณาจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ และใคร่ครวญด้วยหัวใจของพวกเราทุกคน ใครคือ “ครูสอนดี” ในมุมมองของเรา ?

“ครู”ท่านนี้สอนดีเพราะต่อเนื่อง
พัฒนาเนื้อเรื่องและการสอน
ยกตัวอย่างแจ่มชัดอุปกรณ์
ฟัง “ครู” สอนเข้าใจดีมีความสุข

“ครู”ยังมุ่งพัฒนาที่ตนเอง
ไม่อวดเก่งฉกฉวยคว้าประโยชน์
น้อมใจรับเรียนรู้จิตปราโมทย์
ตั้งเป็นโจทย์สังเคราะห์สร้างบทเรียน

ในห้องเรียนคุณ “ครู”รู้ประสาน
กิจกรรมการงานให้เป็นผล
สร้างส่วนร่วมบุคคลและชุมชน
สำเร็จผลร่วมกันทั้งชั้นเรียน.

     การพูดคุยระหว่างเพื่อนครูด้วยกัน เครือข่ายผู้ปกครอง และนักเรียน เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา เพราะคุยกันเรื่องดี ๆ ที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าอัตตาของตัวเอง ผู้ใหญ่ถามเด็ก ๆ แล้วตั้งใจฟังคำตอบ ถามย้ำลึกลงไปเรื่อย ๆ ว่าคุณครูที่เด็ก ๆ พูดถึง ดีอย่างไร ? อยากจะเห็นหน้า รู้ชื่อของคุณครู ก็จูงมือกันเดินออกไปดูที่แผ่นป้ายไวนิลซึ่งทางโรงเรียนเตรียมไว้พร้อม แล้วจึงกลับมาตัดสินใจเขียนชื่อคุณครูลงไปในกระดาษการ์ดสีชมพู 1 คนต่อ 1 ชื่อ ส่งให้กับน้อง ๆ กรรมการสภานักเรียนนำไปใส่ในกล่องที่ 1

     ก่อนขึ้นคำถามที่ 2 ผู้เขียนได้เล่าเรื่อง The King’s Speech เป็นกรณีตัวอย่างของการใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง (Storytelling) ดี ๆ เพื่อสร้างคุณค่าและความหมายให้เกิดการตระหนักรู้ในใจของผู้เข้าประชุมทุกคน

     The King’s Speech เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากเรื่องจริงของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ซึ่งเดิมคือ เบอร์ตี ผู้มีปัญหาทางการพูด ต้องขึ้นครองราชย์แทนพระเชษฐาในนามพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งอังกฤษ ด้วยเหตุที่ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์จวนเจียนเข้าสู่สงคราม และจำเป็นต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง เอลิซาเบ็ธ ภรรยาของเบอร์ตี และอนาคตราชินี จึงจัดแจงให้สามีของเธอได้พบกับ ไลโอเนล ล็อก ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคผิดปกติทางการพูด

     จากการเริ่มต้นที่แสนลำบากในฐานะผู้รักษาและผู้รับการรักษา ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในฐานะใหม่ คือ ครูกับศิษย์ ต่างร่วมกันแสวงหาวิธีฝึกฝนแบบใหม่ ๆ เพื่อแก้ปมบกพร่องตั้งแต่วัยเด็ก ก่อให้เกิดมิตรภาพอันลึกซึ้งระหว่างชายทั้งคู่ ด้วยความช่วยเหลือของล็อก รวมทั้งครอบครัว รัฐบาล ทำให้กษัตริย์จอร์จที่ 6 เอาชนะอาการพูดติดอ่างได้ สามารถกล่าวสุนทรพจน์ปลุกปลอบพสกนิกรของพระองค์ ให้ลุกขึ้นยืนหยัดเคียงข้างประเทศชาติในภาวะสงคราม จากนั้นจึงได้ฉายภาพยนตร์ตัวอย่างก่อนเข้าสู่ประเด็นคำถาม

คำถามที่ 2. ใครคือ “ครูสอนดี” ที่ทำให้ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จและความก้าวหน้าในทางการเรียน หน้าที่การงาน และการดำเนินชีวิต ?

ระลึกถึงคุณ “ครู”แล้วปีติ
จากเคยริลองของทางมัวหมอง
ได้คุณ “ครู”ท่านนี้คอยเฝ้ามอง
ประคองศิษย์ให้ก้าวข้ามผ่านทุกข์ภัย

“ครู”ยังสอนวิชชาได้โดดเด่น
ให้ได้เห็นประจักษ์ในเนื้อหา
วัฒนธรรมศิลปะและศาสตรา
คว้ารางวัลล้ำค่าเรื่องลือไกล

ก้าวเข้ามาเรียนรู้กับคุณ “ครู”
ได้มุ่งสู่เส้นทางอันสดใส
“ครู”อบรมบ่มเพาะกำลังใจ
สร้างพลังยิ่งใหญ่ให้ใฝ่ดี.

     ในรอบนี้หลังจากพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างถี่ถ้วนแล้ว ผู้เข้าประชุมจึงตัดสินใจเขียนชื่อคุณครูลงไปในกระดาษการ์ดสีเหลือง 1 คนต่อ 1 ชื่อ ส่งให้กับน้อง ๆ กรรมการสภานักเรียนนำไปใส่ในกล่องที่ 2

     ก่อนขึ้นคำถามที่ 3 ผู้เขียนได้เล่าเรื่องบางส่วนจากภาพยนตร์เรื่อง A Beautiful Mind ซึ่งสร้างมาจากชีวประวัติของ ศ.จอห์น แนช อัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ และเป็น ครูสอนดี ของมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา การทำงานถอดรหัสให้กับองค์การของรัฐเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายทำให้ ศ.จอห์น แนช มีปัญหาทางจิต แต่ยังได้รับอนุญาตให้ทำงานสอนหนังสือซึ่งเป็นงานที่เขารัก   และทำได้ดีโดยมีภรรยาเป็นกำลังใจและช่วยเหลือดูแลในการรักษาสุขภาพ ผลงานของเขาได้รับการตัดสินให้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1994 มีตัวแทนจากประเทศสวีเดนเดินทางมาพบเพื่อดูว่า เขามีอาการที่พร้อมต่อการขึ้นรับรางวัลและกล่าวปาฐกถาหรือไม่

     มีฉากที่ประทับใจเมื่อทั้ง 2 เข้าไปนั่งคุยกันในห้องดื่มน้ำชาของอาจารย์ ซึ่ง ศ.จอห์น แนช ไม่เคยเข้ามาหลายปีแล้ว เมื่อข่าวการได้รับรางวัลโนเบลเริ่มแพร่กระจายออกไป เพื่อน ๆ อาจารย์ได้ให้เกียรติโดยวางปากกาของตนมอบให้ ศ.จอห์น แนช เป็นการแสดงออกเพื่อให้เกียรติ ครูสอนดี – คนยกย่อง ที่ปราศจากสิ่งเคลือบแฝงอย่างชัดเจน จากนั้นจึงได้ฉายภาพยนตร์ในฉากดังกล่าวก่อนเข้าสู่ประเด็นคำถามสุดท้าย

คำถามที่ 3. ใครคือ “ครูสอนดี” ที่ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี ได้รับการยกย่องจากลูกศิษย์ เพื่อนครู และชุมชน ?

“ครู”คือผู้ทำตนเป็นแบบอย่าง
บนเส้นทางพอเพียงให้เห็นผล
ชีวิต “ครู”อยู่ได้พอดีตน
ไม่ยากจนติดหนี้หนีความจริง

คุณธรรมของ “ครู” รู้ประจักษ์
สังคมรักยกย่องสมานฉันท์
มีความรู้ความสามารถพร้อมแบ่งปัน
จิตมุ่งมั่นทำดีให้เกิดดี

“ครู”ยังรักศักดิ์ศรีความเป็นครู
ทุกคนรู้สัมผัสประภัสสร
มองภายนอกภายในไม่สั่นคลอน
เพราะ “ครู” สอนโดยกระทำที่ตนเอง.

     จบรอบนี้หลังจากผู้เข้าประชุมตัดสินใจเขียนชื่อคุณครูลงไปในกระดาษการ์ดสีฟ้า 1 คนต่อ 1 ชื่อ ส่งให้กับน้อง ๆ กรรมการสภานักเรียนนำไปใส่ในกล่องที่ 3 ก็เริ่มดำเนินการนับคะแนนโดยสภานักเรียนทำเองทั้งหมด

     ผลการคัดเลือก ครูสอนดี ของโรงเรียนเทศบาล 1 บ้านท่าตะเภา ออกมาอย่างชัดเจนเป็นที่ยอมรับของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งนี้ โรงเรียนจะส่งรายชื่อเพียง 3 ท่านตามเป้าหมายของโครงการฯ ดังนี้

1) ครูเด่นชัย ไมตรีจิต
2) ครูพันธุ์พงศ์ มุจลินทร์
3) ครูกัญญา สายน้อย

ขอคารวะคุณครู มา ณ โอกาสนี้.

ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์
วิทยากรกระบวนการ

คำสำคัญ (Tags): #ครูสอนดี
หมายเลขบันทึก: 464401เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2011 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท