ผนังกั้นน้ำท่วมจำเป็นต้องมาพร้อมกับระบบการ(ใช้เรือ)ดันน้ำ


ตัวทำนบเองกลับทำให้น้ำระบายได้ช้า ..ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุของการกีดขวางทางไหลหลากของน้ำ

น้ำท่วมปีนี้ท้ังกว้างขวาง รุนแรง และยาวนาน ไม่รู้ว่าปีหน้าและปีต่อๆไปจะเป็นอย่างไรกัน

ที่ผ่านมาประเทศเราได้พากันสร้างสิ่งกีดขวางการไหลหลากของน้ำโดยไม่รู้ตัว ทำให้ระบายน้ำลงสู่ทะเลได้ช้าลงมาก  เช่นถนนหนทางต่างๆ อาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ และอีกประเด็นสำคัญก็คือผนังกั้นน้ำ(หรือทำนบ หรือคันกั้นน้ำ)เพื่อไม่ให้น้ำท่วมตัวเมืองหรือชุมชนต่างๆนั่นเอง

ซึ่งพวกเราได้พากันสร้างเพิ่มขึ้นมาทุกๆปี และยิ่งสร้างกันมากขึ้นเมื่อมีน้ำท่วมในแต่ละครั้ง

แต่ทว่า ตัวทำนบเองกลับทำให้น้ำระบายได้ช้า จึงทำให้น้ำท่วมนานขึ้น และสูงขึ้นอีก ยิ่งแต่ละเมืองแต่ละชุมชนได้เห็นที่อื่นสร้างก็พากันสร้างตามๆกัน ยิ่งทำให้ภาวะน้ำท่วมกลับทบทวีขึ้นหลายซับหลายซ้อน กลายเป็นวงจรอุบาทว์ ซึ่งอาจลุกลามทวีคูณขึ้นไปจนรุนแรงเป็นสิบหรืหลายสิบเท่าของภาวะน้ำท่วมที่แท้จริงก็อาจเป็นได้นะครับ ถ้าไม่รีบแก้ไขเสียโดยเร็ว

หลายๆฝ่ายได้พยายามแก้ปัญหาน้ำท่วมมาแล้วด้วยวิธีการที่หลากหลาย อย่างเช่นการผันน้ำผ่านทางลำน้ำอื่น ,อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ ,แก้มลิง ,การบริหารเวลาปิดเปิดประตูน้ำ ,การสูบน้ำข้ามประตูน้ำ ,และที่เห็นในข่าวเมื่อไม่นานมานี้ก็คือจะขุดคลองใหญ่คู่ขนานกับลำน้ำเจ้าพระยา

ทุกวิธีที่กล่าวมา ล้วนมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพดีในระดับหนึ่ง ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่าควรทำทุกวิธีครับ แต่นั่นไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุของการกีดขวางทางไหลหลากของน้ำ และเราก็ได้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่ายังไม่เพียงพอใช่ไหมครับ

ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่เคยมีการนำมาใช้แล้วได้ผล และในขณะนี้ก็เริ่มมีพูดถึงกันบ้างแล้ว แต่ยังไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่เท่าใดนัก วิธีที่ว่านี้ก็คือ "การ(ใช้เรือ)ผลักดันน้ำ" ซึ่งผมเองก็มีความเห็นว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีศักยภาพอย่างมาก และน่าจะมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี จึงขอแจกแจงรายละเอียดดังต่อไปนี้ครับ

จุดเด่นและข้อได้เปรียบ

  1. มีความซับซ้อนน้อยและไม่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับมากนัก จึงเริ่มดำเนินการได้เร็วและได้ผลเร็ว เพียงกำหนดบริเวณจอดเรือในลำน้ำ,จัดหาเรือและจัดเตรียมสถานที่ในด้านอุปกรณ์ในการยึดเรือไม่ให้เคลื่อนที่ก็พอแล้ว
  2. มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวะของน้ำและปัจจัยอื่นๆได้เป็นอย่างดี เริ่มที่ในภาวะปกติ ก็จะมีเพียงหลักยึดเรือ/หรือทุ่น/หรือฐานรากใต้น้ำเท่านั้น ,เมื่อน้ำเริ่มท่วมก็ใช้งานได้ทันที ,ถ้าน้ำท่วมน้อยหรือหาเรือได้น้อยก็ระบายน้ำน้อยๆไปก่อนได้ ,และเมื่อน้ำท่วมมากก็ระดมเรือมาเพิ่ม(หรือแม้แต่จะเกณฑ์เอามาในภาวะวิกฤต - ควรออกกฏเกณฑ์ไว้ล่วงหน้า) เรือแต่ละลำยังสามารถเร่งเครื่องมากหรือน้อยและกำหนดเวลาใช้งานได้อย่างเป็นเอกเทศ ,สุดท้ายพอจะเลิกใช้ก็สามารถเลิกได้ทันที เรือแต่ละลำก็นำกลับไปใช้งานได้ตามปกติโดยไม่ต้องดัดแปลงอะไรเพิ่มเติม
  3. มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด -ไม่ต้องลงทุนเป็นอสังหาริมทรัพย์ คือไม่ต้องซื้อหรือเวนคืนที่ดิน,ไม่ต้องมีการก่อสร้างมากมาย,ไม่ต้องมีการขุดเจาะหรือขุดลอกใดๆ -ประสิทธิภาพการใช้พลังงานน่าจะดีกว่าการสูบน้ำข้ามประตูน้ำหรือผ่านอุโมงค์เพราะทำงานเพียงการผลักดันน้ำไปตามแนวราบ ไม่ต้องยกมวลน้ำต้านแรงโน้มถ่วง -มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าทั้งในเวลาน้ำท่วมและเวลาน้ำไม่ท่วม ไม่ต้องซื้อหรือสร้างไว้เฉยๆรอใช้งานเฉพาะเวลาน้ำท่วมเหมือนวิธีอื่นๆ
  4. ชุมชนในทำนบเองก็ได้รับประโยชน์ในทางอ้อมด้วย เพราะถ้าน้ำไหลผ่านไปได้เร็วก็ไม่ขังจนท่วมสูงจึงไม่ต้องสร้างทำนบให้สูงขึ้นหรือถูกน้ำไหลบ่าล้นทำนบ และเมื่อน้ำลดเร็วก็คนไม่ถูกขังอยู่ในป้อมปราการ รวมทั้งวิถีชีวิตกับระบบเศรษฐกิจก็จะกลับสู่ปกติเร็วขึ้นเช่นกัน

จุดอ่อนและวิธีแก้ไข

  1. ต้องการใช้เรือจำนวนมากจึงจะเพียงพอในการระบายมวลน้ำปริมาณมาก แก้ไขได้ดังต่อไปนี้- 1.1ระดมเรือทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรือใหญ่หรือเล็ก แต่ถ้าลำใดมีภาระกิจหลักที่สำคัญก็ให้ไปทำภาระกิจหลักก่อน เมื่อเสร็จสิ้นหรือพอจะว่างจากภาระกิจหลักก็สามารถหมุนเวียนมาช่วยในบางเวลาได้- 1.2สามารถหาเรือเพิ่มจากภายนอก เช่นขอยืมจากมิตรประเทศและจากองค์การกุศลทั่วโลก 1.3เรือสินค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่รอรับส่งสินค้าก็สามารถขอเช่าหรือยืมมาเดินเครื่องช่วยดันน้ำได้- 1.4เรือรบและเรือของหน่วยราชการทุกลำที่พอจะปลีกจากภาระกิจปกติได้- 1.5เครื่องยนต์ต้นกำลังทุกชนิดสามารถนำมาติดใบพัดแบบเรือหางยาวแล้วติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำก็ใช้ดันน้ำได้เช่นกัน
  2. จำนวนเรือที่มาก เวลาใช้งานในน้ำที่ไหลเชี่ยวต้องระวังเรื่องการเซส่ายไปปะทะชนกันได้
  3. ความหลากหลายในชนิดและขนาดของเรือ อาจทำให้บริหารจัดการได้ยุ่งยากพอสมควร ดังนั้นในระยะเริ่มใช้งานต้องมีบุคลากรที่มีศักยภาพเพียงพอและมีอำนาจในการตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงทีด้วย
  4. เรือแต่ละลำจะต้องมีคนควบคุมบังคับอย่างน้อย1คน ดังนั้นจำนวนคนจึงมีมาก จะตามมาด้วยปัญหาการส่งอาหาร,ดูแลความเป็นอยู่,การผลัดเวร,ค่าจ้างฯลฯ แต่ในภาวะที่เพื่อนร่วมชาติจำนวนมากกำลังทุกข์ยากเช่นนี้ คนไทยเราคงพอจะช่วยๆกันไป และคงมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยเสริมกำลังบ้างพอสมควร ที่เหลือก็คงอาศัยการบริหารจัดการที่ดีมาช่วยให้การปฏบัติลื่นไหลไปได้โดยสะดวก

แนวทางปฏิบัติในภาวะปัจจุบัน

เราคงไม่สามารถทำให้บรรลุผลโดยสมบูรณ์ได้ในทันที ควรตั้งเป้าหมายใว้ว่าให้เริ่มทำไปก่อน ได้มากหรือได้น้อยก็ไม่เป็นไร ประสิทธิภาพและประสิืทธิผลอาจยังต่ำอยู่ แต่เราสามารถเรียนรู้แล้วค่อยหาวิธีแก้ไขไปเรื่อยๆทีละปัญหา ในที่สุดก็จะได้ผลดีขึ้นได้เองในที่สุด

ส่ิงที่ผมเห็นว่าควรให้ความสำคัญในภาวะปัจจุบันคือ

  1. เร่งเผยแพร่แนวคิดให้ประชาชนเข้าใจและเห็นความสำคัญ เพื่อจะได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มใจ ในด้านจำนวนเรือ คนบังคับเรือ และสถานที่ปฏิบัติงาน (แม้จะใช้ทางน้ำสาธารณะ แต่ถ้าประชาชนเข้าใจผิดก็อาจต่อต้านไม่ให้ทำใกล้บ้านหรือชุมชนของเขาก็ได้)
  2. ทางราชการควรรับเป็นเจ้าภาพรีบทำไปก่อน ทั้งในการริเริ่ม การบริหารงาน ค่าเช่า+ค่าขนย้ายเรือ ค่าจ้างคน และค่าน้ำมันเรือ 
  3. พยายามใช้เรือของทางราชการเองให้มากที่สุดก่อน เช่นเรือรบทุกลำที่พอจะปลีกภาระกิจได้ให้เข้ามาใช้ดันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างรวมทั้งบริเวณปากแม่น้ำอื่นๆ ส่วนเรือของหน่วยงานอื่นๆก็ใช้ดันน้ำในบริเวณต้นน้ำเหนือขึ้นไป
  4. การจัดวางตำแหน่งของเรือแต่ละลำและในภาพรวม อย่าให้กีดขวางการสัญจร และค่อยๆลองขยับตำแหน่งดูว่าจัดวางแบบใดแล้วได้ผลดีมากที่สุด

แนวทางปฏิบัติในระยะยาว

เนื่องจากทำนบกั้นน้ำทั้งหลายเป็นสิ่งกีดขาวงการระบายน้ำ ทำให้น้ำท่วมสูงและนานกว่าที่ควรจะเป็น แต่จะไปห้ามไม่ให้สร้างหรือจะสั่งให้รื้อออกก็ไม่ได้

ชุมชนใดที่ได้รับประโยชน์จากทำนบอยู่แล้วหรือที่กำลังจะสร้างเพิ่มขึ้นก็ตาม(รวมทั้งคนใน กทม.ส่วนใหญ่ด้วย) ควรตระหนักไว้ว่าเพื่อนร่วมชาติจำนวนมากต้องเสียสละเพื่อท่านมานานแล้ว

นอกจากนี้ทำนบเองก็มีผลเสียต่อชุมชนที่ได้รับการปกป้องนั้นเองด้วย ที่เห็นได้ชัดๆก็คือจะต้องต่อเติมความสูงของทำนบเพิ่มขึ้นเรื่อย จนบางแห่งทำนบก็พังลงมา และท่านเองต้องถูกกักขังอยู่ในป้อมปราการนี้นานขึ้นเท่ากันกับคนนอกทำนบ ที่ถูกน้ำท่วมนานขึ้นเช่นกัน

ดังนั้น ทำนบที่มีอยู่แล้วทั้งหมดจะต้องเสริมด้วยมาตรการใช้เรือดันน้ำโดยด่วน เริ่มจากทำเท่าที่จะทำได้ก่อน แล้วค่อยเพิ่มให้เพียงพอในโอกาสต่อไป แต่ทำนบที่จะสร้างเพิ่มจากปัจจุบันจะต้องแบ่งงบประมาณใว้จัดหาระบบดันน้ำอย่างเพียงพอจึงจะสามารถอนุญาติให้สร้างได้

สำหรับปริมาณน้ำที่ต้องการผลักดัน อาจคำนวนคร่าวๆได้จากพื้นที่ซึ่งได้รับการปกป้อง คูณด้วยความสูงของทำนบ(ได้เป็นปริมาตรน้ำ) แล้วคูณด้วยความเร็วของมวลน้ำที่ไหลผ่านชุมชน(จะได้ปริมาตรของน้ำต่อหน่วยของเวลา)

ส่วนปริมาณน้ำที่เรือจะผลักดันไปได้ จะคำนวนได้จากระวางขับน้ำปกติของเรือนั้น คูณด้วยความเร็วของเรือ(ขึ้นอยู่กับการจะเร่งเครื่องมากหรือน้อย)

                               สวัสดีครับ    ขอให้น้ำลดเร็วๆทุกแห่งครับ

หมายเลขบันทึก: 464262เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2011 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณคุณหมอที่ไปให้กำลังใจกันค่ะ

คุณหมอวิเคราะห์ได้ตรงประเด็นมากค่ะ ถนนหนทาง บ้านช่องที่ขวางทางน้ำ คลองซอย ลำน้ำที่เป็นสาขา เป็นแพรกก็มีการก่อสร้างทำนบกั้นไม่ให้น้ำได้หลากเข้าทุ่งอย่างเคย วิธีการช่วยระบายให้น้ำไหลไปจากบริเวณได้เร็วจึงน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ไม่น้อย

ทางกลุ่มลุ่มน้ำท่าจีนเขาได้พิสูจน์แล้วว่าการใช้เรือผลักดันน้ำทำให้น้ำไหลเร็วขึ้นอีกถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ค่ะ

แต่ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะอยากสนับสนุนข้อเสนอของคุณหมอ หรือ ของคนลุ่มน้ำท่าจีนเพียงใด เพราะชุมชนจะเข้มแข็ง และไม่ใช่การก่อสร้างที่มีงบประมาณ เอาเงินไปโกงกินกันไม่สะดวก

ครับ คุณนายดอกเตอร์ (หน้าคุ้นๆนะครับ แต่หาข้อมูลของคุณไม่พบครับ) วันนี้ผมก็ได้อ่านบทความของ อาจารย์ ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ในมติชนรายวัน(หน้า10) เรื่อง"ทำไมแต่ก่อนไม่ท่วมเท่านี้" ท่านเขียนไว้ว่า ....ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะหาทางป้องกัน วิธีหนึ่งที่นิยมทำคือ สร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำตามริมแม่น้ำ ไม่ให้น้ำเข้ามาท่วมเมือง ผลที่เกิดขึ้น น้ำไม่มีที่ไป จึงเอ่อท้นและยกระดับตัวเองขึ้น ผลที่ตามมาคือ ระดับน้ำในแม่น้ำก็จะยกตัวย้อนไปทางต้นน้ำมากขึ้น เพราะเป็นธรรมชาติของน้ำที่ต้องไหลจากที่สูงมาท่ีต่ำ และในเมื่อที่ต่ำยกระดับน้ำสูงขึ้น ส่วนต้นน้ำก็ต้องยกระดับตามขึ้น.... ครับ ชัดเจนมากนะครับ ผลต่อจากนั้นก็คือต้องเฝ้าระวังคอยเสริมคันดินให้สูงตามขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ต้องพังทลายลงอย่างที่ได้เห็นหลายๆแห่งในช่วงหลายวันนี้นั่นเองครับ ก็คงเป็นธรรมชาติของมนุษย์อีกเหมือนกัน ที่คนนอกพนังกั้นน้ำจะออกมาประท้วงหรือรื้อทำลายพนังกั้นน้ำ เพราะเขาย่อมรู้สึกได้เองว่า พนังฯทำให้เขาต้องได้รับความเดือดร้อนมากกว่าที่ควรจะเป็น และนี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เพิ่มความทุกข์ให้แก่คนไทยทุกคนครับ -ขอขอบคุณสำหรับความเห็นครับ-

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท