ปฏิบัติการโรงเรียนร่วมใจ คืนครูสู่ศิษย์ “ครูสอนดี” (1)


กระบวนการคัดเลือก "ครูสอนดี" โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านท่าตะเภา อ.เมือง จ.ชุมพร

ขอขอบคุณท่านนายอำเภอเมืองชุมพร นายประดิษฐ์ ยมานันท์ ที่ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งผู้เขียนเป็น คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับท้องถิ่นของเทศบาลเมืองชุมพร ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสได้ทำงานสร้างสรรค์ใน โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชูยกย่อง “ครูสอนดี”

คณะกรรมการฯ ชุดนี้ได้จัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 17 สิงหาคม 2554 ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองชุมพร โดยได้รับการสนับสนุนจากนายประสิทธิ์ มุจลินทร์ ผู้อำนวยการกองการศึกษา อบจ.ชุมพร นำคณะทำงานซึ่งเป็นทีมติดตามการคัดเลือกครูสอนดี จากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จำนวน 5 ท่าน เข้าร่วมสังเกตการณ์และตอบข้อซักถามในประเด็นต่าง ๆ

ผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นโดยอ้างอิงถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ “เพื่อระดมความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการปฏิรูปค่านิยมที่สังคมมีต่อครู ด้วยการร่วมกันเชิดชูและมอบรางวัลให้แก่ครูสอนดีเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ครูทั้งประเทศและเป็นกำลังใจให้ผู้ที่กำลังทำหน้าที่ครูทั้ง “ครูในเครื่องแบบ” และ“ครูนอกเครื่องแบบ” ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจและสติปัญญาให้ลูกศิษย์” ดังนั้น กระบวนการคัดเลือก ครูสอนดี จึงต้องออกแบบโดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ถ้าเป็น “ครูในเครื่องแบบ” ของโรงเรียน ทุกภาคส่วนก็ควรจะประกอบด้วย คณะครูทั้งหมด สภานักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา เครือข่ายผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ผู้นำชุมชน และผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ถ้าเป็น “ครูนอกเครื่องแบบ” ก็ขึ้นอยู่กับบริบทการทำงานของครูในภารกิจต่าง ๆ

ดังนั้น รูปแบบที่เคยปฏิบัติกันมาในการคัดเลือกครูดีเด่น โดยการเปรียบเทียบตัวเลข ผลงาน ประกาศนียบัตร ฯลฯ จากเอกสารจำนวนมาก แล้วนำมาให้คะแนนมาก-น้อยแตกต่างกันไป น่าจะไม่ใช่วิธีปฏิบัติที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เพราะถ้าใช้รูปแบบดังกล่าวผลการคัดเลือก ครูสอนดี ก็คงจะตกอยู่กับครูนักล่ารางวัลซึ่งมีความสามารถพิเศษในการจัดทำเอกสารให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การให้คะแนน

ผู้เขียนจึงเสนอให้ออกแบบกระบวนการคัดเลือก ครูสอนดี โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ผ่าน การประชุมเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งมีเทคนิคที่จะนำมาใช้ได้หลายอย่าง ได้แก่ การพูดคุยแบบสุนทรียสนทนา (Dialogue) การเปิดโลก-สภากาแฟ (The World Café) การเล่าเรื่อง (Storytelling) โดยนำเรื่องดี ๆ ที่มีคุณค่าและความหมายเกี่ยวกับ ครูสอนดี มาใช้สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสรรหา ครูสอนดี ตามหลักเกณฑ์ที่ สสค.กำหนด คือ สอนเป็น – เห็นผล – คนยกย่อง

ทีมติดตามจาก สสค.ทั้ง 5 ท่าน แสดงความเห็นสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว และร่วมให้ข้อคิดในการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์หลายอย่าง ในที่สุดผู้เขียนจึงรับเป็นภารกิจช่วยเหลือในการจัดประชุม ปฏิบัติการโรงเรียนร่วมใจ คืนครูสู่ศิษย์ ครูสอนดี ณ โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านท่าตะเภา อ.เมือง จ.ชุมพร ซึ่งผู้เขียนมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษา โดยจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2554

เมื่อได้เวลาตามกำหนดการมีคณะครู เครือข่ายผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา และนักเรียน เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน นายประสิทธิ์ หะรังศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 1 ได้กล่าวเปิดประชุมและส่งต่อให้ผู้เขียนทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการ ซึ่งผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการขอเชิญทุกคนสวดมนต์-ไหว้พระโดยให้นักเรียนเป็นต้นเสียงนำสวดมนต์ และทำสมาธิ 2 นาที เพื่อสร้างพลังจากความสงบนิ่ง ตั้งใจแน่วแน่ จากนั้นจึงเริ่มกล่าวถึงที่มา-ที่ไปของโครงการนี้ และนำเสนอบทกวี “ใครคือครู” ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรท์ อ่านโดยตัวแทนจากสภานักเรียน

 

คำสำคัญ (Tags): #ครูสอนดี
หมายเลขบันทึก: 464220เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2011 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท