ยาพิษ!


“ยาพิษ!”...ยาพิษ! นี่มันยาพิษชัด ๆ” เสียงเอะอะโวยวายอันดังลั่นของลุงกล้าทำให้ผู้คนทั้งที่อยู่ในร้านกาแฟและเดินผ่านหน้าร้านตกอกตกใจกันยกใหญ่ ก่อนที่จะตามติดมาด้วยเสียงแก้วกาแฟที่ถูกกระแทกลงบนโต๊ะซึ่งบ่งบอกถึงอารมณ์ของผู้พูดได้เป็นอย่างดี!

         ใบหน้าแดงก่ำกับกรามที่นูนเป็นสันขึ้นมาราวกับว่าแกโกรธและอาฆาตใครมาหลายร้อยปี ก่อนที่เหตุการณ์จะเลยเถิดและเกิดการเข้าใจผิดกันไปยกใหญ่

           “มันทำอย่างนี้ได้ยังไง มันนึกว่าคนจนอย่างพวกเรากินหญ้ากันหรือไงวะ!” คำสบถต่อมาของลุงกล้าทำให้หลาย ๆ คนที่อยู่ในร้านกาแฟและบริเวณใกล้เคียงโล่งอกโล่งใจกันยกใหญ่นึกว่ามีเหตุร้ายวางยาพิษฆาตกรรมกันภายในร้านแต่ที่ไหนได้...

           “พวกมันคิดกันได้แค่นี้เองเหรอ มีปัญญากันแค่นี้เองเหรอ” แกพับหนังสือพิมพ์ที่อ่านอยู่แล้วฟาดลงบนโต๊ะอย่างคนหัวเสีย

            “กูหละไม่เข้าใจจริง ๆ พวกมันคงคิดว่าประชาชนโง่หละซิ ถึงได้เอาขนมหวานปนเปื้อนยาพิษมาให้ประชาชนเสพติดอยู่อย่างนี้ พวกมันไม่มองว่าพวกเราเป็นคนแต่มองว่าเป็นเพียงสินค้าเท่านั้น ไอ้พวกเฮง_วยเอ๊ย!” แกพูดจบก็ลุกสะบัดก้นกำลังจะเดินออกไปนอกร้านก่อนที่จะหันกลับมา

           “ค่าแกแฟลงบัญชีหนังหมาเหมือนเดิมนะไอ้โก๋” ผู้ที่ถูกเรียกชื่อได้แต่พยักหงึก ๆ พร้อมกับโบกมือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการรีบไล่ส่งให้ออกไปจากร้านไว ๆ โทษฐานที่ทำให้ลูกค้าของแกตกอกตกใจในเมื่อสักครู่ที่ผ่านมา

 

ร้าน “กาแฟโก๋ (ไม่) แก่” อยู่ไม่ห่างจากร้านขายของชำของครอบครัวผมมากนัก และถือได้ว่าเป็นร้านกาแฟที่เก่าแก่ที่สุดในอำเภอที่ผมอยู่ นับอายุก็กว่า ๓๐ ปีมาแล้ว ฝีมือการชงกาแฟของแกก็ถือว่าไม่เป็นสองรองใคร เพราะลุงโก๋ยึดอาชีพดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงปลายปฐมวัยจนอายุย่างเข้าสู่ช่วงต้นปัจฉิมวัยในปัจจุบัน โดยที่ร้านของแกถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการถก (เถียง) ปัญหาต่าง ๆ ของบรรดาคอการเมืองซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็ล้วนอยู่ในช่วงวัยปลาย ๆ มัชฌิมวัยขึ้นไปทั้งนั้นมีทั้งลุงแก่น ลุงมี ลุงผล ลุงแดง ลุงเล็ก ลุงโต้ง พ่อผม รวมทั้งลุงโก๋ (เจ้าของร้าน) และที่ขาดไม่ได้ (แต่หลาย ๆ คนอยากจะให้ขาด) ก็คือลุงกล้าขาประจำนั่นเอง! มาเมื่อไหร่วง (ทำท่าจะ) แตกเมื่อนั้นเข้าทำนองเข้าแก๊งค์ไหนหัวหน้าแก๊งค์ตายหมด!

             ด้วยเอกลักษณ์ประจำของแกที่เป็นคนโผงผางพูดจาตรง ๆ แบบขวานผ่าซาก เชื่อมั่นในตัวเองสูงและมีหัวอนุรักษ์นิยม แต่เป็นเพราะทุกคนรู้ซึ้งถึงนิสัยแกดีเพราะเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ไม่ว่าแกจะพูดอะไรหรือเอะอะโวยวายอะไรก็ไม่ค่อยมีใครถือสาแก ยกเว้นก็แต่พ่อผมและลุงโก๋สองคนเท่านั้นที่ลุงกล้าแกพอจะฟังเหตุผลอยู่บ้าง นอกนั้นแกจะเถียงหัวชนฝาจนหลาย ๆ คนส่ายหน้าเอือมระอากับความดื้อตาใสของแก แต่ก็มีหลายเรื่องที่แกพูดถูกและก็อีกนั่นแหละที่มีหลายเรื่องที่แกพูดไม่ถูก!

 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งลุงกล้าแกหงุดหงิดโมโหจากการอ่านข่าวสารในหนังสือพิมพ์ที่เห็นรัฐบาลมีโครงการนำเงินมาหว่านแจกชาวบ้าน (ประชานิยม) โดยไม่สมเหตุสมผล! หวังเพียงแค่ผลประโยชน์ทางการเมืองของพวกตนและพวกพ้องเท่านั้น ซึ่งแกมองว่ามันเป็นเพียงแค่ขนมหวานเคลือบยาพิษที่หลอกให้ประชาชนหลงเสพติดจนอ่อนแอและโงหัวไม่ขึ้นซึ่งในท้ายที่สุดนักการเมืองเหล่านั้นก็จะลากจูงไปในทิศทางไหนก็ได้สุดแต่ใจอยากให้เป็น  

 

           “แล้วประชานิยมมันไม่ดีตรงไหนหรือพ่อ” ผมถามขึ้นเมื่ออยู่ด้วยกันตามลำพังหลังจากที่ลุงโก๋มาเล่าเหตุการณ์ที่ (เกือบจะ) วุ่นวายภายในร้านเมื่อเช้าให้พ่อผมฟัง

            พ่อยิ้มบาง ๆ ก่อนตอบว่า “จำที่พ่อเคยบอกได้ไหมลูกว่าทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ” ผมพยักหน้าในขณะที่พ่ออธิบายต่อ

            “ที่ลุงกล้าแกหงุดหงิดอารมณ์เสียก็เพราะว่าแกกลัวนักการเมืองพวกนั้นจะเอาเงินมาฟาดหัวประชาชนโดยผ่านนโยบายประชานิยม”

             “แล้วมันไม่ดีหรือพ่อ...มีคนเอาเงินมาให้ใช้สบายจะตายไป” ผมพูดขึ้นตามความคิด

พ่อยิ้มนิดนึงก่อนพูดว่า “มันก็ดีในระยะสั้น ๆ เท่านั้นแหละลูกแต่ระยะยาวแล้วอันตราย!” พ่อเน้นในประโยคสุดท้าย

             “ยังไงครับพ่อ” ผมถามออกไป

             “คืออย่างนี้ลูก...คนเราเมื่อได้อะไรมาง่าย ๆ และได้อยู่บ่อย ๆ ก็จะเกิดความเคยชินจนติดเป็นนิสัยถาวร ก็อย่างนโยบายประชานิยมที่มีเงินมาแจกจ่ายประชาชนผ่านโครงการนั้นทีโครงการนี้ทีจนทำให้ประชาชนเกิดความเคยชินและคิดว่าถึงอย่างไรเสียรัฐบาลก็ต้องมีเงินมาแจกจ่ายให้เรื่อย ๆ ทำให้เกิดความประมาทในการดำเนินชีวิต และที่สำคัญทำให้ประชาชนอ่อนแอลงรอหวังพึ่งแต่นักการเมืองอย่างเดียว ในที่สุดประชาชนก็จะตกเป็นทาสยอมขายจิตวิญญาณของตนให้กับนักการเมืองพวกนี้ ไม่ว่านักการเมืองพวกนั้นจะทำถูกหรือผิดยังไงก็ไม่สนใจขอเพียงแค่ให้หว่านเศษเงินมาแจกจ่ายเหมือนเดิมก็เป็นพอ” พ่ออธิบายซะยืดยาวในขณะที่ผมยังคงมีท่าทีงง ๆ พ่อจึงเสริมต่อ

              “พ่อจะเล่าถึงประเทศที่เคยนำนโยบายประชานิยมไปใช้แล้วทำให้เกิดปัญหาตามมาให้ฟังเอาไหม” พ่อถามในขณะที่ผมพยักหน้าตามทันที

            “อยากฟังครับพ่อ”

          

            “ประเทศที่เคยนำนโยบายประชานิยมมาใช้แล้วประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรงก็คือ ประเทศอาร์เจนตินา” พ่อเริ่มเล่าด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

           “ ซึ่งเริ่มต้นจากประธานาธิบดีอิริโกเยน และต่อเนื่องถึงประธานาธิบดีฮวน เปโรน ซึ่งเป็นการใช้นโยบายประชานิยมโดยไม่คำนึงถึงความสมเหตุสมผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นการใช้นโยบายเพื่อผลทางการเมืองเท่านั้น ทั้ง

            - การช่วยเหลือทางด้านเงินทุน การลดอัตราดอกเบี้ย และการให้แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในอัตราพิเศษ

            - ตั้งรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นและสนับสนุนให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรและข้าราชการ

             - ตั้งองค์กรเพื่อสวัสดิการทางสังคมขึ้น เพื่อแจกเงินและสิ่งของแก่คนจนในนามของภรรยาประธานาธิบดี

             - จัดตั้งหน่วยประชาสัมพันธ์ขึ้นพิเศษหรือที่เรียกว่าหน่วยโฆษณาชวนเชื่อเพื่อกระจายข่าวความสำเร็จของรัฐบาลและสร้างภาพลักษณ์ให้กับประธานาธิบดี” พ่อยกตัวอย่างบางส่วนให้ฟังซึ่งผมก็ยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ในขณะที่พ่อก็อธิบายต่อไป  

 

          “ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวดังเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และเมื่อนำมาใช้ปรากฏว่ามันเห็นผลทันตา เศรษฐกิจขยายตัวได้ในอัตราต่อเนื่องจากปัจจัยที่กระตุ้นหลายอย่างโดยผ่านเม็ดเงินทางด้านนโยบายประชานิยม ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นและมีความรู้สึกเหมือนได้เงินมาแบบฟรี ๆ จึงใช้เงินไปอย่างสุรุ่ยสุหร่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมาใช้ เพราะคิดว่าถึงยังไงเสียเดี๋ยวรัฐบาลก็เอาเงินมาแจกอีก” พ่อหยุดพักนิดนึงก่อนเล่าต่อ

          “ในขณะรัฐบาลก็ได้อยู่ในอำนาจต่อไปเพราะประชาชนให้การสนับสนุนก็เกิดการทุจริตคอรัปชั่นมากมายแต่ประชาชนก็ไม่สนใจเพราะโดนปิดปากจากเศษเงินที่นักการเมืองหว่านลงมาให้...ในท้ายที่สุดก็ทำให้เศรษฐกิจมีปัญหาเพราะเงินถูกนำไปใช้ผ่านนโยบายประชานิยมจนทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศหมดสิ้นไปทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตามมาและประชาชนก็ลุกฮือขึ้นมาขับไล่รัฐบาล”

 

          “อย่างนี้ใช่ไหมครับที่ลุงกล้าบอกว่าเป็น ‘ยาพิษ’ ที่เคลือบขนมหวานให้คนเสพติด” ผมคิดและถามพ่อออกไปในทันทีที่พ่อพูดจบ

          “ใช่ลูก ‘ยาพิษ’ ก็คือนโยบายประชานิยม และ ‘ขนมหวาน’ ก็คือเงินที่แจกจ่ายมาให้โดยผ่านโครงการต่าง ๆ และ ‘ผู้เสพติด’ ก็คือประชาชนนั่นเอง” พ่อสรุปให้ฟังในท้ายที่สุดก่อนที่จะเสริมว่า

 

            “เมื่อใดที่นโยบายประชานิยมของรัฐบาลถูกเจือปนไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งหวังผลประโยชน์ในอำนาจ และบารมีทางการเมือง เพื่อปูทางไปสู่การเอื้อผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้องในทางธุรกิจ มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายกันอย่างกว้างขวางแล้ว สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์และตัวตนที่แท้จริงของผู้บริหารนโยบายของประเทศได้อย่างชัดเจนว่าทำเพื่อประชาชนหรือตัวเองและพวกพ้อง!”

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องสั้น
หมายเลขบันทึก: 463742เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2011 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท