มอเชา (Mosuo) ดินแดนผู้หญิงเป็นใหญ่ (ที่ยังมีอยู่จริง) 1


The Kingdom of Female , Dr. Bumrung Ngamkarn
มอเชา (Mosuo) ดินแดนผู้หญิงเป็นใหญ่ (ที่ยังมีอยู่จริง)  1                                                            The Kingdom of  Female                                                                                                                 
by......Bumrung Ngamkarn
       
         จากการได้ร่วมทำงานด้านการวิจัยร่วมกับนักวิจัยในประชาคมอาเซียนใน field ตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (trip 3) ผู้เขียนได้พบเรื่องราวที่น่าสนใจและเห็นว่าพอจะนำมาเล่าเป็นเกร็ดด้านสังคมศาสตร์อยู่หลายเรื่องราว แต่ที่เห็นว่าน่าสนใจมากสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ คือเรื่องของดินแดนที่ผู้หญิงเป็นใหญ่  ซึ่งพวกเราเหล่านักวิจัยขอเรียกตามที่อาหลิว (Xuechao Liu) ตั้งชื่อให้ก็แล้วกันว่า The Kingdom of the Female
           เราคงได้ยินมาว่าในสมัยอดีตกาลอันไกลโพ้น เคยมีดินแดนหลายแห่งในโลกนี้ที่ปกครองโดยผู้นำซึ่งเป็นผู้หญิง  แต่ไม่คิดว่าชุมชนที่มีผู้หญิงปกครองอย่างแท้จริง (absolutely rule) จะมีเหลืออยู่หรือจะยังมีอยู่จริงในยุคปัจจุบัน แต่ ณ ที่แห่งนี้ หมู่บ้านหยงหนิง (yongning) ริมทะเลสาบลูกู (Lugu lake)
           เรากลับพบว่าชุมชนที่ผู้หญิงเป็นใหญ่นั้นยังมีอยู่จริง…!
           หมู่บ้านหยงหนิง (yongning) เป็นส่วนหนึ่งของเมืองหนิงหลาง (Ninglang) ตั้งอยู่     ริมทะเลสาบลูกู (Lugu lake) หรือรู้จักและเรียกขานของคนทั่วไปว่า ลูกูหู (หู แปลว่าทะเลสาบ : ผู้เขียน) เป็นทะเลสาบน้ำจืดกว้างใหญ่และมีทัศนียภาพงดงาม ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางเทือกเขาสลับซับซ้อนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหยิงหนัน (Yunnan)ติดกับเขตแดนมณฑลซือฉวงหรือเสฉวน (Sichuan)
          ผู้คนในหมู่บ้านหยงหนิงเป็นชนเผ่ามอเชา mosuo (จากข้อมูลเบื้องต้นบอกว่า มอเชาเป็นชนเผ่าหนึ่งซึ่งมีชาติพันธุ์ใกล้เคียงชนชาวทิเบต อาศัยอยู่ตามบริเวณภาคเหนือของมณฑล  หยิงหนัน   ติดมณฑลเสฉวนและมีอยู่บ้างในดินแดนแถบทิเบต ปัจจุบันมีประมาณ 40,000 คน     มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่เฉพาะของตนเองที่สืบทอดต่อกันมานาน:ผู้เขียน)ล้วนเป็นคนที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย แต่กระตือรือร้น อารมณ์ดีและยึดถือความซื่อตรง ไม่แคลงใจคนแปลกหน้า พูดคุยและตอบข้อสงสัยในเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของตนด้วยความภาคภูมิใจอย่างเปิดเผยโดยไม่ปิดบัง
            ผู้เขียนเคยได้มีโอกาสเข้ามายังหมู่บ้านหยงหนิงแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2007 เมื่อครั้งมาสำรวจพื้นที่เพื่อทำโครงการนำนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้ามาทัศนศึกษา แต่น่าเสียดายที่โครงการนี้ถูกยกเลิกไป  เมื่อกลับมาครั้งนี้ก็ยังได้อาศัยอาหยง ( Ma yong) คนพื้นที่เป็นผู้นำทางและเป็นผู้อุปการะที่แสนดีเหมือนดั่งเดิม   อาหยงเป็นผู้นำคณะของเราเข้าไปพบปะพูดคุยกับบรรดาชาวบ้านมอเชาอย่างเข้าถึงตามที่เราปรารถนา
            หมู่บ้านหยงหนิงอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่งดงาม บ้านเรือนทรงจีนโบราณที่ส่วนใหญ่สร้างด้วยดินและไม้ซุงปลูกเรียงรายไปตามขอบทะเลสาบลูกู  ทะเลสาบซึ่งมีผืนน้ำเขียวดุจมรกตและใสดั่งกระจก  ด้านหลังหมู่บ้านออกไปเป็นท้องนาสลับเนินเขาเตี้ยและป่าสน เป็นดุจภาพที่จิตรกรวาดขึ้นตามจินตนาการที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีอยู่จริง (ซึ่งความงดงามของทัศนียภาพที่ดันมีอยู่จริงและความเฉพาะที่คนทั่วไปเห็นว่า “แปลก” ของดินแดนแห่งนี้   ได้นำมาซึ่งนักท่องเที่ยวและคนแปลกหน้าที่นับวันยิ่งทวีมากขึ้น: ผู้เขียน)
             ครอบครัวของมอเชาเป็นครอบครัวใหญ่ อันที่จริงต้องเรียกว่าใหญ่มากหรืออภิมหาใหญ่ เพราะบ้านแต่ละหลังจะประกอบไปด้วยสมาชิกประมาณ 40-50 คน นี่ขนาดความเจริญสมัยใหม่ได้แผ่เข้าไปและเป็นเหตุให้ครอบครัวหลายๆครอบครัวเริ่มที่จะ “เล็กลงกว่าแต่ก่อน” แล้ว  สมาชิกของครอบครัวจะประกอบไปด้วยท่านยาย  ซึ่งจะเป็นหัวหน้าผู้ปกครองของทุกคนและจะมีบรรดา “แม่ๆ” บรรดา “ลุงๆและน้าๆ” บรรดา “พี่ใหญ่”และ “เจ๊ใหญ่” และมีบรรดา    “น้องเล็ก” ทั้งหญิงและชายอีกหลายคน
            ทั้งหมดที่ไล่เรียงมา รวมกันเป็น 1 ครอบครัว...!!
             คนที่เป็นผู้ปกครองสูงสุดคือ “ท่านยาย” แต่ผู้ที่เป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการบริหารคือ “บรรดาแม่ๆ” ทั้งหลายซึ่งจะเป็นผู้บริหารจัดการทุกอย่างในบ้าน เป็นผู้ดูแลการใช้จ่ายเงิน  แต่ผู้ที่ควบคุม “งบประมาณ” ทุกคนยกให้ท่านยาย 
            ที่น่าสนใจและถือเป็นเอกลักษณ์ของสังคมมอเชาคือ พวกเขามีวิถีชีวิตสืบต่อกันมาได้โดยไม่ต้องมี “ผู้ที่เป็นพ่อ” ข้อมูลจากนักสังคมศาสตร์หลายสำนักกล่าวว่า สำหรับมอเชาแล้ว ศัพท์คำว่า “พ่อ” และ “สามี” ไม่มีบัญญัติไว้ในสังคมมอเชา (have no words father and husband in Mosuo society) บรรดา “หลานๆ”ของพวกลุงและน้า บรรดาพี่ชายน้องชาย พี่สาวและน้องสาวต่างอยู่ภายใต้การดูแลของบรรดาแม่ๆอย่างมีความสุขและอบอุ่น   แม่ๆและน้าๆของพวกเขาทำงานหนักเพื่อความสุขของทุกชีวิตในบ้าน
             มันเป็นสถานะและหน้าที่ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป
             ผู้เป็นแม่จะเป็นผู้จัดการเรื่องการงานทั้งหมดในบ้าน ตั้งแต่เรื่องอาหารการกินและ  กิจการในไร่นาโดยมีบรรดาป้าหรือน้าผู้หญิงหรือเด็กๆผู้หญิงเป็นผู้ช่วย ส่วนบรรดาลุงและน้าๆผู้ชายจะมีหน้าที่ในการก่อสร้าง ซ่อมแซมบ้านเรือนและสิ่งของเครื่องใช้ และมีหน้าที่ในการสอนบทเรียนและวิธีการดำเนินชีวิตให้กับบรรดาเด็กๆ หรืออาจจะมีหน้าที่ในการออกไปติดต่อค้าขายกับชุมชนภายนอก ซึ่งเมื่อได้เงินมาก็จะต้องนำมามอบให้บรรดาแม่ๆ ซึ่งก็จะนำไปส่งมอบให้ท่านยายอีกต่อหนึ่ง หากครอบครัวต้องการใช้จ่ายอะไรก็จะแจ้งให้ผู้รักษาเงินคือท่านยายทราบก่อนเบิกไปใช้ (อาจจะมีบางครอบครัวที่ท่านยายชรามาก ความจำเริ่มเลอะเลือน ก็จะมอบหน้าที่การเงินการคลังทั้งหมดให้แม่คนใดคนหนึ่งบริหารจัดการครบวงจร  ส่วนตัวเองก็จะกินตำแหน่งเฉพาะ “ประมุข” ของบ้านนั่งผิงไฟหรือตากแดดอย่างเดียว : ผู้เขียน)
              ในการลง field ครั้งนี้ ผู้เขียนและคณะได้มีโอกาสได้พักค้างคืนในหมู่บ้านมอเชา   ชนิดที่เรียกว่าได้นอนในบ้านของมอเชาเลย ซึ่งยากมากที่คนภายนอกจะได้รับเกียรติให้นอนพักค้างคืนร่วมกับสมาชิกภายในบ้าน ต้องนอนโรงเตี๊ยมข้างนอก (ในการเข้าไปครั้งหลังนี้ เริ่มเห็นมีโรงเตี๊ยมสำหรับนักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นหลายแห่งเกิดขึ้นในชุมชน: ผู้เขียน) ผู้เขียนจึงได้พบเห็นวัตรปฏิบัติของครอบครัวมอเชาอย่างละเอียดตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน โดยเฉพาะได้เห็นกิจกรรม “พิเศษ” ของบรรดาลุงๆน้าๆผู้ชายในยามค่ำคืน และได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตของบรรดาป้าๆน้าๆผู้หญิง    ซึ่งน่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างมาก
              แล้วจะเล่าให้ฟังวันหลัง...!!
 
By  Dr. Bumrung Ngamkarn                                                                                                        From Yongning, Ninglang. Yunnan China.
หมายเลขบันทึก: 463256เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2011 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เรณุวัฒน์ โคตรพัฒน์

น่าสนใจมากครับ ตรงกับบริบทครอบครัวไทยตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ช่วง 200 ปีต่อมาไทยเริ่มเปลี่ยนไป และมากในช่วง 50 กว่าปีนี้ น่าศึกษานำมาเป็นต้นแบบปฏิรูปครอบครัวไทยกันใหม่นะครับ แล้วการปกครองชุมชนเป็นอย่างไรบ้างครับ แตกต่างจากพวกเราอย่างไร

สวัสดีค่ะ

Ico64

ดร.บำรุง ...แสดงว่าผู้ชายเมืองนี้น่ารักมาก...ยกย่องให้เกียรติ...ให้ความสำคัญผู้หญิง...ผู้หญิงส่วนใหญ่จะยกย่องให้เกียรติให้ความสำคัญผู้ชาย...แต่ถ้ายุโรป...มีความเสมอภาคกัน...จึงทำให้ต่างคนต่างอยู่ก็เยอะ...เป็นสังคมเฉพาะผู้หญิง... สังคมเฉพาะผู้ชาย และสังคม...ประเภทสอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท