ข้อคิด "กัลยาณมิตร"


จะพึงสังเกตได้ว่าหากเราหมั่นฝึกฝนและผลิตความเป็นบัณฑิตภายใน (ตัวเรา) ให้มีความเข้มแข็งและเข้มข้นเพื่อนำมาใช้ในการประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็เปรียบเสมือนเป็นการไปตัดกำลังทำให้ความพาลภายใน (ตัวเรา) อ่อนแอลงไปในท้ายที่สุดก็จะพ่ายแพ้และมลายหายไปจากความคิด เมื่อเรามีความเป็นบัณฑิตภายในอย่างเต็มเปี่ยมซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการทำ เหตุ ให้พรั่งพร้อมในเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่ ผล ของการคบคนที่เป็นบัณฑิต (ภายนอก) เป็นไปในลักษณะที่ว่าบัณฑิตพึงคบบัณฑิตด้วยกันเพื่อก้าวเข้าไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จและสวัสดีในชีวิตเป็นเบื้องปลาย

มีเรื่องเล่าที่เกี่ยวเนื่องกับ “กัลยาณมิตร” เชิงปรัชญาที่น่าคิดอยู่เรื่องหนึ่งว่า :

            มีเด็กหนุ่มสองคนเป็นเพื่อนรักคบหากันมาตั้งแต่ในวัยเยาว์ อยู่มาวันหนึ่งคนทั้งสองได้ร่วมเดินทางไปในทะเลทรายด้วยกัน ผ่านไประหว่างทางไม่นานนักเพื่อนรักทั้งสองเกิดโต้ถียงกัน ขัดแย้งกันในเรื่องบางอย่างจนเพื่อนคนหนึ่งพลั้งลงมือตบหน้าอีกฝ่าย คนที่ถูกทำร้ายรู้สึกเจ็บปวดและเสียใจในการกระทำของเพื่อนรักที่มีต่อเขาแต่ก็ไม่ได้กล่าววาจาอะไรออกมาแต่กลับเขียนจารึกลงบนผืนทรายที่ทอดยาวไกลสุดลูกหูลูกตาเอาไว้ว่า “วันนี้เพื่อนรักตบหน้าของฉัน”

              หลังจากนั้นอีกไม่นานพวกเขาทั้งสองยังคงร่วมเดินทางไปด้วยกันจนกระทั่งมาถึงแหล่งน้ำแห่งหนึ่งซึ่งจากความเหนื่อยล้าที่ปรากฏและเนื้อตัวที่เหนียวเหนอะหนะตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งคู่จึงได้ลงอาบน้ำชำระร่างกายดังใจปรารถนา แต่ทว่าในระหว่างนั้นพลันคนที่ถูกตบหน้าดูท่าเหมือนว่าจะเป็นตะคริวและกำลังจมน้ำหายไปต่อหน้าต่อตา! ปรากฏว่าเพื่อนอีกคนหนึ่ง (ซึ่งตบหน้า) ไม่รั้งรอรีบว่ายเข้าไปช่วยเหลือชีวิตจนเพื่อน (ที่ถูกตบหน้า) ผ่านช่วงวิกฤติรอดตายมาได้ แต่คนที่เคยถูกตบหน้าก็ยังคงไม่ได้เอ่ยวาจาอะไรออกมาแต่กลับสลักข้อความลงไปบนแผ่นหินขนาดใหญ่ว่า “วันนี้เพื่อนรักช่วยชีวิตฉันไว้” 

 

        คนที่เคยตบหน้าไม่เข้าใจจึงถามขึ้นว่า  “เมื่อถูกฉันตบหน้าเธอเขียนเอาไว้บนพื้นทราย แต่ทำไมเมื่อเธอรอดตายถึงได้สลักไว้บนแผ่นหินใหญ่”

          คนที่เคยถูกตบหน้าและพึ่งรอดตายมาได้ยืนยิ้มพรายและกล่าวตอบด้วยความจริงใจไปว่า

 

        “เมื่อถูกเพื่อนรักทำร้าย (ตบหน้า) เราควรเขียนมันไว้ในผืนทรายเพราะสายลมแห่งการให้อภัยจะพัดผ่านทำลายลบล้างความหมางใจไปไม่มีเหลือ แต่เมื่อมีสิ่งดีงามเกิดขึ้นมามากมายในจิตใจเราควรสลักไว้บนก้อนหินแห่งความทรงจำในหัวใจซึ่งจะไม่มีสายลมแม้ว่าจะรุนแรงเพียงใดมาลบล้างและทำลายไปได้”

 

 

      “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล” เป็นประโยคที่ได้ยินได้ฟังกันมาจนคุ้นหูที่สอนให้รู้ถึง ผล ของการเลือกคบคนที่จะนำพาความสวัสดีมาสู่ชีวิต แต่ก็มีวิธีคิดแห่ง เหตุ ในการฝึกฝนตนให้เป็นคนดี (กัลยาณมิตรธรรม)*** เพื่อที่จะนำไปสู่ผลแห่งการเลือกคบบัณฑิตนั้น เกี่ยวเนื่องจาก คนพาลและบัณฑิตมี ๒ ลักษณะ คือ

                ๑. คนพาลและบัณฑิตภายใน เป็นไปในลักษณะของความคิดและตัวตนที่ปรากฏอยู่กับตัวเราในบางครั้งบางขณะ ซึ่งลักษณะของคนพาลภายในได้แก่ ความเกียจคร้านไม่อยากทำงาน ไม่อยากทำความดี ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ แต่กลับอยากทำในสิ่งไม่ดีที่ตรงกันข้ามทั้งอยากเล่นการพนัน อยากทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรมและกฎหมาย เป็นต้น ส่วนลักษณะของบัณฑิตทีมีอยู่ภายในได้แก่ มีความขยันในสัมมาอาชีพ อยากทำความดี เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์รวมทั้งไม่ต้องการทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรมและกฎหมาย เป็นต้น   

                 ๒. คนพาลและบัณฑิตภายนอก หมายถึง คนอื่นที่อยู่รอบตัวเราที่คลุกเคล้าไปด้วยคนดีและไม่ดีในสังคมนั่นเอง   

              จะพึงสังเกตได้ว่าหากเราหมั่นฝึกฝนและผลิตความเป็นบัณฑิตภายใน (ตัวเรา) ให้มีความเข้มแข็งและเข้มข้นเพื่อนำมาใช้ในการประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็เปรียบเสมือนเป็นการไปตัดกำลังทำให้ความพาลภายใน (ตัวเรา) อ่อนแอลงไปในท้ายที่สุดก็จะพ่ายแพ้และมลายหายไปจากความคิด เมื่อเรามีความเป็นบัณฑิตภายในอย่างเต็มเปี่ยมซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการทำ เหตุ ให้พรั่งพร้อมในเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่ ผล ของการคบคนที่เป็นบัณฑิต (ภายนอก) เป็นไปในลักษณะที่ว่าบัณฑิตพึงคบบัณฑิตด้วยกันเพื่อก้าวเข้าไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จและสวัสดีในชีวิตเป็นเบื้องปลาย ดังนั้นผู้ที่มุ่งหมายจะให้มีความเจริญก้าวหน้าควรพยายามคบหาสมาคมกับบัณฑิตเอาไว้ ดังในพุทธพจน์ที่ว่า

                                      ปมาทมนุยุญฺชนฺติ     พาลา ทฺมเมธิโน ชนา 

                                     อปฺปมาทญฺจเมธาวี   ธนํ เสฏฐวํ รกฺขติ 

         “คนพาลผู้มีปัญญาทราม  ประกอบแต่ความประมาทอยู่เสมอ

          ส่วนบัณฑิตผู้มีปัญญา  รักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนคนรักษาทรัพย์อันประเสริฐ ฉะนั้น.

 

 

*** กัลยาณมิตรธรรม เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่พึงมีของผู้ที่ทำหน้าที่สั่งสอนและให้การศึกษแก่ผู้อื่นซึ่งมีหลักประพฤติปฏิบัติ ๗ ประการ (จากหนังสือ “ธรรมนูญชีวิต” โดยท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) หน้า ๖๓ – ๖๔.) ดังนี้  

            ๑. ปิโย น่ารัก คือ มีเมตตากรุณา ใส่ใจคนและประโยชน์สุขของเขาเข้าถึงจิตใจ สร้างความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเอง ชวนใจผู้เรียนให้อยากเข้าไปปรึกษาไต่ถาม

            ๒. ครุ น่าเคารพ คือ เป็นผู้หนักแน่น ถือหลักการเป็นสำคัญ และมีความประพฤติสมควรแก่ฐานะ ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย

            ๓. ภาวนีโย น่าเจริญใจ คือ มีความรู้จริง ทรงภูมิปัญญาแท้จริง และเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตนอยู่เสมอ เป็นที่น่ายกย่องควรเอาอย่าง ทำให้ศิษย์เอ่ยอ้างและรำลึกถึงด้วยความซาบซึ้ง มั่นใจ และภาคภูมิใจ

            ๔. วตฺตา รู้จักพูดให้ได้ผล คือ รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี

            ๕. วจนกฺขโม อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามแม้จุกจิก ตลอดจนคำล่วงเกินและคำตักเตือนวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ อดทนฟังได้ ไม่เบื่อหน่าย ไม่เสียอารมณ์

            ๖. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ คือ กล่าวชี้แจงเรื่องต่างๆ ที่ยุ่งยากลึกซึ้งให้เข้าใจได้ และสอนศิษย์ให้ได้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

            ๗. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่ชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย หรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #กัลยาณมิตร
หมายเลขบันทึก: 463215เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2011 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท