ความพอเพียงในชีวิตประจำวัน


ความพอเพียงเริ่มต้นได้ด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม

           เมื่อไม่นานมานี้ขณะที่ผู้เขียนกำลังยืนคุยกับเพื่อนที่หน้าร้านกาแฟ ก็สังเกตเห็นชาวต่างชาติคนหนึ่งสะพายเป้ขนาดใหญ่ไว้ข้างหลังและมือถือขวดน้ำ เดินถามร้านค้ามาตลอดเส้นทางจนมาถึงร้านกาแฟที่ผู้เขียนยืนอยู่ สังเกตเห็นเหงื่อของเธอเต็มตัวเลยทีเดียว

 

             “ขอโทษนะคะ แถวนี้มีตู้ใส่น้ำไหมคะ”  แม้ว่าเธอจะพูดไม่ชัด แต่ก็ถือได้ว่าภาษาไทยของเธออยู่ในระดับที่ใช้ได้เลยทีเดียว

 

            คนขายกาแฟทำหน้างงเล็กน้อยก่อนตอบว่า “ตู้ใส่น้ำ... อ๋อ ตู้น้ำหยอดเหรียญ เดินตรงไปแล้วเลี้ยวซ้ายตรงซอยหน้าก็จะเจอครับ”

 

             ดูท่าทางเธอดีใจมาก เธอพูดพร้อมกับทำมือประกอบ “เลี้ยวซ้ายข้างหน้า โอเค ขอบคุณมากคะ”

 

              เมื่อเธอเดินไปได้ซักพัก คนขายกาแฟพูดขึ้นลอย ๆ ว่า “เซเว่น ก็อยู่ใกล้ ๆ ไม่รู้จักเข้าไปซื้อ จะเดินให้เหนื่อยทำไม”

 

               ตอนแรกผู้เขียนเองก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอคนขายกาแฟพูดประโยคนี้ขึ้นมาทำให้อดคิดไม่ได้

               “เออ นั่นซิ ทำไมต้องเดินให้เหนื่อยด้วย ร้านค้าแถวนี้ก็มีเยอะแยะ” 

             จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทำให้มองในมุมสะท้อนออกมาให้เห็นถึง “ความพอเพียง” ในตัวของชาวต่างชาติคนนั้น คือ

 

            ประการที่ ๑ ความพอประมาณ เป็นลักษณะของการวางแผนบริหารจัดการรายได้ กับรายจ่าย และภาระหนี้สิน ให้ลงตัว หากพิจารณาจากพฤติกรรมการบริโภคของเธอดังกล่าวแล้วจะเห็นว่า ถึงแม้ว่าเธอจะต้องเดินและเหนื่อยมากขึ้นในการหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ แต่สิ่งที่ชดเชยกลับมาให้เธอก็คือความประหยัด (เงินเก็บในกระเป๋าเธอเหลือมากขึ้น)

 

   น้ำหยอดเหรียญ ๑ ลิตร / ๑ บาท หากซื้อน้ำขวดใหม่ขวดละ ๑๐ บาท (น้ำ ๑ขวดประมาณ ๗๐๐ ซีซี)  หากสมมติในหนึ่งวันดื่มน้ำ ๒ ขวด

                  - กรณีซื้อน้ำขวดใหม่ใช้จ่าย (๒ x ๑๐) เท่ากับ ๒๐ บาท

                                หนึ่งเดือน (๓๐ x ๒๐)      เท่ากับ         ๖๐๐ บาท

                                 หนึ่งปี       (๓๖๕ x ๒๐) เท่ากับ     ๗, ๓๐๐ บาท

 

                  - กรณีใช้ตู้หยอดเหรียญหนึ่งวัน (๒ x ๐.๗๐)  เท่ากับ  ๑.๔๐ บาท

                                 หนึ่งเดือน  (๓๐ x ๑.๔๐)    เท่ากับ        ๔๒  บาท

                                 หนึ่งปี      (๓๖๕ x ๑.๔๐)   เท่ากับ      ๕๑๑  บาท

 

           หนึ่งเดือนสามารถประหยัดได้   ๖๐๐ – ๔๒   เท่ากับ       ๕๕๘  บาท

           หนึ่งปีสามารถประหยัดได้   ๗,๓๐๐ – ๕๑๑ เท่ากับ    ๖,๗๘๙  บาท

 

      ประการที่ ๒ ความสมเหตุสมผล ถึงแม้ว่าเธอจะต้องเดินเหนื่อยมากขึ้นกว่าเดิมแทนการเข้าไปซื้อน้ำในร้านค้า แต่เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนของรายจ่ายในการซื้อน้ำขวดใหม่กับต้นทุนรายจ่ายในการใช้บริการตู้น้ำหยอดเหรียญบวกกับพลังงานในการเดิน ก็ถือว่ามีความสมเหตุสมผลที่เธอจะเลือกใช้บริการตู้น้ำหยอดเหรียญ

 

      ประการที่ ๓ ความสมดุล จากพฤติกรรมของเธอยังสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนและช่วยสร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมอีกด้วย ซึ่งถ้าหากว่าเธอเลือกซื้อน้ำขวดใหม่ทุกวัน ปริมาณของขวดพลาสติกก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อนำไปสู่กระบวนการการรีไซเคิลก็จะไปเสริมทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น

 

     ประการที่ ๔ ภูมิคุ้มกัน พฤติกรรมของเธอช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเธอเอง (มีเงินเหลือเก็บเพิ่มขึ้น หากเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นก็จะไม่เดือดร้อนมาก) และภูมิคุ้มกันให้กับสิ่งแวดล้อมดังได้กล่าวมาในประการที่ ๓

 

 

 ความพอเพียงเริ่มต้นได้ด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนะคติและพฤติกรรม

 

 

 

กายใจพอเพียง...เลี้ยงชีพพอประมาณ...บริหารจัดการสมเหตุผล...  ธรรมชาติและคนสมดุลสุขสันต์...สร้างภูมคุ้มกันให้กับสังคม"

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ข้อคิด
หมายเลขบันทึก: 463167เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2011 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ช่างคิด ช่างวิเคราะห์ดีจังคะ

เศรษฐศาสตร์ใกล้ตัวก็ทำให้ได้ข้อคิด

ที่จริง หากเมืองไทยเรา เก็บภาษีรีไซเคิล พวกขวดพลาสติก

หรือลดราคากาแฟเวลานำแก้วไปเอง

อาจทำให้คนหันมาพกแก้ว/กระติกน้ำส่วนตัว เพื่อลดขยะกันมากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท