ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน


ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน

           สุภาษิตนี้คนสมัยนี้อาจจะบอกว่าเชย เพราะทุกคนคิดถึงตัวเองเป็นที่ตั้ง กลายเป็นว่าคนในสังคมในสมัยนี้เห็นแก่ตัวกันมากขึ้น อยากเล่าประสบการณ์ตรงที่ผ่านมาให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ค่ะ

            เรื่องมีอยู่ว่าปีที่แล้ว(2553) ฉันรับพนักงานใหม่เข้ามาช่วยในตำแหน่งจัดซื้อ เค้าทำงานได้เดือนเดียว ฉันก็ไล่เขาออก ด้วยเหตุว่าเค้าทุจจริตต่อหน้าที่ โดยปรกติพนักงานที่อยู่ในสำนักงานทุกคน ฉันต้องสัมภาษณ์เอง แต่พนักงานคนนี้ฉันไม่ได้สัมภาษณ์เขาด้วยตัวเอง เพราะเหตุฉันไม่ได้เข้าทำงานทุกวันอย่างเมื่อก่อน สำหรับพนักงานคนนี้ ฉันให้ชื่อเขาว่า “ใหม่” ตำแหน่งพนักงานจัดซื้อ

          ฉันดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนสำนักงาน ดูแลงานระบบบัญชี งานจัดซื้อ บุคคล ธุรการ รวมทั้งเอกสารทางภาษีทุกประเภท เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ฉันต้องรู้ทุกอย่างที่อยู่ในสำนักงาน สำหรับพฤติกรรมของใหม่ มาสายทุกวัน งานเข้า 8.00 มาไม่ต่ำกว่า 8.30 โดยที่เค้าเพิ่งเริ่มงานได้ไม่เกิน 1 เดือนเท่านั้น เหตุเกิดคือ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553  วันนี้ใหม่พาลูกสาวอายุประมาณ 3 ขวบมาด้วย (สายอีกเช่นเคย) แล้วขออนุญาตฉันพาลูกไปหาหมอ (ยังไม่ทราบว่า รพ.ไหน) แล้วแจ้งไว้ว่าเสร็จธุระจะกลับมาทำงาน ฉันอนุญาตด้วยเห็นว่าเป็นเช่นนั้นจริง ช่วงบ่ายฉันให้พนักงานจัดซื้ออีกคนโทรไปถามเขาว่าจะกลับมาทำงานหรือไม่ เค้าบอกว่า เค้าอยู่ รพ.เด็ก ยังไม่ได้ตรวจเลย อยู่คิวที่ 200 กว่า ฉันเลยไม่ว่าอะไร เวลาประมาณ 16.00 น. พนักงานจัดซื้อที่อยู่สำนักงานได้รับโทรศัพท์จาก Vender ว่าจะวางบิลค่าหมึกพริ้นเตอร์ HP น้องเอะใจว่า HP บริษัทเราไม่ได้ใช้เลย แล้วเค้าจะมาวางบิลได้อย่างไร ชื่อบริษัท ก็ไม่คุ้น น้องจึงมาถามฉันว่ารู้จักหรือไม่ แล้วสั่งซื้อหรือเปล่า ฉันจึงขอคุยโทรศัพท์กับ Vender นั้น เรื่องจึงแดงขึ้นมาว่า ใหม่ใช้ชื่อว่า “นิด” ติดต่อกับ Vender รายนี้ โดยซื้อหมึกพริ้นเตอร์ยี่ห้อ HP และให้Vender รายนี้เปิดใบกำกับภาษี/ใบส่งของ ในนามของบริษัทฉัน และเค้าจะมาวางบิล โดยโทรมาสอบถามหลักเกณฑ์การวางบิลที่สำนักงาน ฉันจึงให้เค้าแฟกซ์เอกสารที่เกี่ยวข้องมาให้ทั้งหมด ตรวจสอบแล้วพบว่าของที่ซื้อทางบริษัทฯ ไม่มีใครเคยเห็น และยังไม่ได้รับสินค้าใด ๆ เลย ส่วนเอกสารในการขอเครดิต ทางใหม่ หรือ นิด เป็นผู้ใช้เอกสารของบริษัท ส่งไปให้ และเซ็นต์ยืนยันว่าสั่งสินค้า โดยใช้LOGO ของบริษัท จากหัวจดหมาย ตัดแปะ และเซ็นต์อนุมัติ ในใบเสนอราคาของVender แล้วแฟกซ์กลับไปเพื่อยืนยันการสั่งซื้อ(เป็นการปลอมแปลงเอกสาร) แต่ในระบบบัญชีที่ฉันวางเอาไว้ในบริษัท สินค้าทุกชิ้นที่สั่งซื้อจะต้องเปิดใบสั่งซื้อ (P.O.) ทุกรายการ การกระทำแบบนี้จึงเข้าข่ายการทุจริต

            ฉันอยากให้โอกาสเขา เพราะไม่แน่ใจว่าเค้าทำไปโดยรู้เท่าไม่การณ์หรือไม่ เช้าอีกวัน ฉันเรียกใหม่ไปอบรมเรื่องมาทำงานสาย เค้าให้เหตุผลว่าต้องเอาลูกไปส่งที่โรงเรียนก่อน ฉันจึงบอกให้เค้าปรับปรุงเรื่องของเวลา จากนั้น ฉันเล่าเหตุการณ์คร่าว ๆ ว่ามีVender โทรมาเพื่อขอวางบิล ซึ่งสินค้าไม่ใช่สินค้าที่บริษัทสั่ง  ฉันให้ใหม่อธิบาย ก็ยังมิวาย ใหม่ไม่ยอมรับ โดยพูดประมาณว่า Vender เข้าใจผิดเป็นเพราะว่าก่อนหน้านี้เคยสั่งสินค้าตัวนี้ให้อีกบริษัทฯนึง ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่เค้าทำงานมาก่อน แล้วพอเค้าย้ายมา Vender จึงเข้าใจว่าต้องเปิดเอกสารในนามบริษัทฉัน แต่ที่ฉันพิจารณาดูแล้ว เอกสารที่แสดงให้เห็น เป็นการจงใจในการกระทำเช่นนั้น ฉันจึงส่งเรื่องให้ผู้บริหารพิจารณา ผู้บริหารเรียกใหม่ขึ้นไปสอบถามข้อเท็จจริง และเปิดโทรศัพท์คุยกับVender กว่าที่ใหม่จึงยอมรับออกมาว่าตั้งใจให้เกิดแบบนี้ขึ้นก็พูดกันหลายรอบ ใหม่ยอมรับผิด ขอโทษ และขอแก้ไขเอกสารทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกี่ยวข้องกับบริษัท ทางผู้บริหารแจ้งกับVender ว่าสำหรับค่าสินค้า บริษัทจะจ่ายให้แค่เงินเดือนที่ใหม่ได้เท่านั้น แต่ก็ต้องพิสูจน์ว่า Vender ไม่ได้รับเงินค่าสินค้านั้นแน่นอน ซึ่งใหม่ก็ยอมรับ โดยในแต่ละคำพูด การแสดงสีหน้า ใหม่ไม่มีความละอายใจสักนิดที่ทำแบบนั้น (ในความรู้สึกของฉัน ฉันจึงคิดว่าใหม่คงทำแบบนี้มาแล้ว จึงดูเป็นเรื่องปรกติสำหรับใหม่)ฉันให้ใหม่ไปทำงานต่อ ผู้บริหารปรึกษากับฉันเรื่องนี้ ผู้บริหารสั่งเช็คบิลทันที โดยให้เหตุผลว่า คนทำงานไม่เก่ง แต่มีความซื่อสัตย์ ดีกว่าคนที่ทำงานเก่งแต่ไม่ซื่อสัตย์ ช่วงบ่ายวันนั้นฉันปรึกษากับที่ปรึกษากิติตมศักดิ์ ด้วยเห็นว่าทำงานในฟิวส์เดียวกัน และเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ที่ปรึกษาบอกว่าให้ใหม่เขียนใบลาออกไว้ด้วย กันข้อปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในเรื่องของกฎหมายแรงงาน ผู้บริหารอีกคนอยากให้แจ้งความเพื่อบันทึกเป็นหลักฐาน แต่ทางทีมบริหารส่วนใหญ่ไม่อยากจะเหยียบย่ำซ้ำให้จมดิน เพราะเห็นแก่ลูกใหม่ที่ยังเล็ก จึงอยากให้ใหม่จ่ายค่าสินค้านั้นให้Vender เสียก่อน ซึ่งเขานัดชำระกันเป็นวันศุกร์หน้า ถ้าไม่ได้รับชำระ ทางฉันคงต้องทำอะไรสักอย่าง เย็นนั้นฉันคุยกับใหม่ และอบรบใหม่ในฐานะที่ฉันเป็นหัวหน้าเขา และคิดว่าเขาไม่ควรทำอย่างนี้อีก (ในสีหน้าเขาไม่อยากฟัง ในเมื่อจะไล่ออกแล้วนิ)

            นี่เป็นอีกบทเรียนหนึ่งสำหรับนักบัญชีทั้งหลาย การทำงานในหน้าที่ คุณจะต้องมีจรรยาบรรณ มีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ในหลาย ๆ ครั้งฉันพบเจอเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้ง อย่างเช่น lapping เอกสาร การเอาเงินบริษัทไปหมุนใช้ก่อน การตรวจเจอผู้ที่เอาบิลทางด่วนมาเบิกแต่ไม่ได้มีหน้าที่ขึ้นทางด่วน หรือขึ้นทางด่วนไม่ตรงด่านที่จะไปทำงานในหน้าที่ ฯลฯ บางครั้งมูลค่าอาจน้อย แต่เมื่อรวม ๆ แล้วจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ได้ การทำงานจึงไม่สมควรทุบหม้อข้าวตัวเอง ความซื่อสัตย์ คือความจริง สำหรับใหม่ ในความคิดเห็นของผู้อ่าน ว่าสมควรจะแจ้งความดำเนินคดีกับเขาไหม ถ้าไม่แจ้งความเขาอาจจะไปปฏิบัติแบบนี้กับบริษัทใหม่ที่เขาเข้าไปทำงานหรือเปล่า ฉันอยากขอความเห็น แต่ในเรื่องนี้ ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นานจริง ๆ

 

คำสำคัญ (Tags): #ความซื่อสัตย์
หมายเลขบันทึก: 463031เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2011 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท