TU LIBS
นาง ศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ

การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การฟื้นฟูทรัพยากรสารสนเทศที่เปียกน้ำและขึ้นรา


แผนฟื้นฟูทรัพยากรสารสนเทศ เป็นแผนปฏิบัติการภายหลังภัยพิบัติยุติลง ขั้นตอนการทำงานเริ่มต้นจากการรวบรวมอาสาสมัครและคณะทำงานทั้งหมด ติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านการสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อขอคำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือ สำรวจและบันทึกสภาพทรัพยากรสารสนเทศที่ได้รับความเสียหาย ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น วางแผนการฟื้นฟูและอนุรักษ์อย่างรวดเร็วและทันเวลา เพื่อให้ทรัพยากรสารสนเทศที่ได้รับความเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ทันเวลามากที่สุด

 

           วันศุกร์ที่ 16 ก.ย. 2554 เวลา 8.00 – 16.00 น. นางพงษ์ลดา เอี่ยมเยี่ยม นางวันดี ชิงดวง และนางสาวประวีณา ปานทอง เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การฟื้นฟูทรัพยากรสารสนเทศที่เปียกน้ำและขึ้นรา ณ ห้องกิจกรรมเรวัต พุทธินันทน์ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

สรุปโดยนางสาวประวีณา ปานทอง ดังนี้

 - โครงการป้องกันภัยพิบัติ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนางจันทร์เพ็ญ เล่าอิทธิโชติ 

            แผนฟื้นฟูทรัพยากรสารสนเทศ เป็นแผนปฏิบัติการภายหลังภัยพิบัติยุติลง ขั้นตอนการทำงานเริ่มต้นจากการรวบรวมอาสาสมัครและคณะทำงานทั้งหมด ติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านการสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อขอคำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือ สำรวจและบันทึกสภาพทรัพยากรสารสนเทศที่ได้รับความเสียหาย ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น วางแผนการฟื้นฟูและอนุรักษ์อย่างรวดเร็วและทันเวลา เพื่อให้ทรัพยากรสารสนเทศที่ได้รับความเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ทันเวลามากที่สุด

            การฟื้นฟูทรัพยากรสารสนเทศที่เปียกน้ำ / ขึ้นราหลังจากเกิดภัยพิบัติ ให้รีบขนย้ายทรัพยากรสารสนเทศออกจากบริเวณที่เกิดภัยพิบัติโดยเร็วที่สุด ตรวจสอบสภาพทรัพยากรสารสนเทศว่าได้รับความเสียหายเพียงใด ถ้ามีทรัพยากรสารสนเทศเปียกน้ำไม่มาก ให้นำไปผึ่งอากาศ ตากลม (Air Drying) แต่ถ้าเปียกน้ำมากและไม่สามารถทำให้แห้งได้ภายในเวลา 48 ชม.ให้นำไปแช่แข็ง (Freezing) แล้วถ้ามีเวลาค่อยนำมาฟื้นฟูด้วยวิธีการ ผึ่งอากาศ ตากลม (Air Drying) แต่ถ้าทรัพยากรสารสนเทศมีราขึ้น ให้ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์เช็ดเพื่อฆ่าเชื้อโรค และทาน้ำยาป้องกันเชื้อโรคด้วย Thymol ผู้ปฏิบัติงานต้องใส่ผ้ากันเปื้อนและถุงมือป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เมื่อทรัพยากรสารสนเทศใกล้แห้งสามารถใช้เครื่องอัดกระดาษทับไว้ให้กระดาษเรียบ แล้วจึงทำการซ่อมทรัพยากรสารสนเทศที่ชำรุด พร้อมคอยตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้นตลอดเวลา

 

- การดูแลรักษา และฟื้นฟูทรัพยากรสารสนเทศประเภทกระดาษที่เปียกน้ำ เปื้อนโคลนและขึ้นรา โดยนางสาวโสภิต ปัญญาขัน

            การฟื้นฟูทรัพยากรสารสนเทศสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

Air Drying คือการทำให้แห้งโดยการลดอุณหภูมิ ลดความชื้น เพิ่มการถ่ายเทของอากาศ เช่น ใช้พัดลม   หรือการดูดซับความชื้น เหมาะกับกระดาษที่เปียกน้ำน้อย

Freezing คือ การแช่แข็งกระดาษ หรือหนังสือที่เปียกน้ำมาก และไม่สามารถทำให้แห้งได้ทัน 48 ชม. ให้นำเอกสารนั้นใส่ถุงพลาสติกปิดปากถุงให้สนิท เขียนรายละเอียดแนบ แช่ไว้ที่อุณหภูมิ -5 องศาเซลเซียสขึ้นไป สามารถเก็บไว้ได้นาน 2-3 ปี เมื่อจะนำเอกสารออกมาฟื้นฟูให้ตากอากาศไว้ก่อน 24 ชม. เหมาะกับเอกสารหรือหนังสือที่ไม่หนามาก ภาพถ่าย

Freeze-Drying คือ การทำให้แห้งโดยแช่เย็น ซึ่งวัสดุที่เปียกจะถูกลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว น้ำจะระเหิดออกไป ซึ่งกระบวนการนี้จะดำเนินการอย่างช้าๆ 6 เดือน แต่สามารถหยุดได้ตลอดเวลา เป็นวิธีที่ทำให้หลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อรา และเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับวัสดุจำนวนมาก เหมาะสมกับหนังสือหายาก เอกสารเคลือบมันผิวและภาพพิมพ์

Vacuum Freeze-Drying คือ กระบวนการกำจัดน้ำออกจากเอกสารด้วยการใช้สุญญากาศ โดยลดความดันของอากาศในตู้อบ (Chamber) โดยวัตถุถูกทำให้แห้ง น้ำจะเปลี่ยนสถานะจากเกล็ดน้ำแข็งเป็นก๊าซ ใช้อุณหภูมิประมาณ -20 ถึง -40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 7 วันแล้วแต่ประเภทเอกสาร เป็นวิธีที่อาจทำให้หนังสือหรือเอกสารแห้งเกินไป เพราะไม่สามารถหยุดกระบวนการทำงานได้จนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์

Vacuum Thermal-Drying คือการทำให้แห้งโดยใช้ความร้อนกำจัดความชื้นหรือน้ำออกจากเอกสาร โดยความร้อนจะถูกปั๊มเข้าสู่ตัวปั๊ม ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส น้ำส่วนใหญ่จะระเหิด เหลือบางส่วนที่ตกค้าง เอกสารที่นำมาทำ อาจจะแช่เย็นก่อนหรือไม่ก็ได้ เอกสารหรือหนังสือที่เป็นภาพอาจเสียหายเนื่องจากความร้อน และอาจเกิดเชื้อรา

 - การอนุรักษ์ทรัพยากรสารสนเทศประเภทวัสดุ และสื่อดิจิตอล โดยนางสาวคนธรส โชติช่วงสถาพร

- วีดีโอเทป เทปคลาสสิก วัสดุพวก Magnetic ทั้งหลายเสื่อมสภาพได้ง่ายและฟื้นฟูยาก ควรจัดทำสำเนาและเก็บไว้ที่อื่น แต่กรณีต้องทำการฟื้นฟูให้ทำให้แห้งภายใน 72 ชม.ใส่ถุงมือเมื่อต้องจับต้อง ห้ามใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติแม่เหล็ก เช่น กรรไกร เครื่องดูดฝุ่น เพราะจะทำให้ภาพ เสียง เปลี่ยนไป ทำความสะอาดโดยการล้างในน้ำอุ่น แล้วนำไปวางในแนวตั้งบนผ้าหรือกระดาษซับ รอให้แห้ง ใช้เครื่องดูดความชื้นเพื่อควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ให้อยู่ที่ หรือต่ำกว่า 50%RH

- ไมโครฟิช ไมโครฟอร์ม ฟิล์มสตริป ไมโครฟิล์มและฟิล์มภาพยนตร์ ให้ล้างทำความสะอาดและทำให้แห้งภายใน 72 ชม. ส่วนฟิล์มที่เปียกน้ำให้ทำให้เปียกจนกว่าจะส่งไปให้บริษัท/ผู้ผลิต ที่มีความเชี่ยวชาญดำเนินการต่อ ไมโครฟิล์มเปียกน้ำ ฟิล์มลำดับแรกที่ควรฟื้นฟูคือฟิล์มต้นฉบับที่เป็น silver halide โดยนำไปแช่ในน้ำเย็นที่สะอาด สามารถแช่น้ำได้หลายวันก่อนนำส่งบริษัท/ผู้ผลิต อย่าพยายามทำให้ไมโครฟิล์มแห้ง เพราะเยื่อฟิล์มจะติดกัน และสารไวแสงที่เคลือบบนเนื้อฟิล์มอาจแยกออกจากฐานรองฟิล์ม ส่วนฟิล์มภาพยนตร์ควรติดต่อบริษัท/ผู้ผลิตที่มีความชำนาญเพื่อล้างใหม่และทำให้แห้ง ฟิล์มที่เป็นขาว-ดำจะทนกว่าฟิล์มสี สามารถแช่น้ำกลั่นได้นานกว่าแต่ไม่ควรเกิน 2 วัน เพราะเยื่อไวแสงหรือเยื่อภาพจะแยกออกจากฐานฟิล์มหรือพื้นฟิล์ม

- แผ่น CD / DVD / Blueray / Diskettes ควรรีบทำให้แห้งทันทีภายใน 48 ชม. นำออกจากซองที่เปียกน้ำ ล้างด้วยน้ำกลั่น อย่าขัดหรือถูแผ่นจะเป็นรอย ห้ามดัดงอหรือแช่แข็ง วางผึ่งบนตะแกรง วางแนวตั้งบนผ้าขนหนู นำผ้านุ่มที่ไม่มีขนมาซับน้ำออก

- ภาพถ่าย ควรจับต้องอย่างระมัดระวัง วิธีการฟื้นฟูต้องแยกประเภทรูปถ่าย และนำออกจากซองหรือกรอบก่อน ห้ามสัมผัสสารไวแสงที่เคลือบบนเนื้อฟิล์ม ทำความสะอาดด้วยการล้างน้ำสะอาด ห้ามใช้กระดาษซับผิวของภาพ และทำให้แห้งโดยใช้พัดลมหรือเครื่องดูดความชื้น หากมีจำนวนมาก ให้แช่น้ำไว้ 48 ชม. หรือแช่แข็ง กรณีเป็นอัลบั้มภาพให้นำออกมาจากซองวางผึ่งแดดให้แห้ง

 

 

หมายเลขบันทึก: 462959เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2011 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท