ตัวอย่างการทูตภาคประชาชนที่เมืองเทียนสิน


บทความจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2554 ติดตามอย่างบทความย้อนหลังได้ที่ลิงก์ข้างล่างนี้

http://www.naewna.com/allnews.asp?ID=97&HL=0&no=1

 

ตัวอย่างการทูตภาคประชาชนที่เมืองเทียนสิน ประเทศจีน (บทเรียนจากความจริง กับดร.จีระ)

 
ผมและคณะบินจากกรุงเทพฯ มาที่เมืองเทียนสิน หรือ Tianjin เป็นเมืองที่สำคัญมากทางประวัติศาสตร์ในอดีตของประเทศจีน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี เบลเยียม รัสเซีย เป็นเวลานานโดยได้รับอนุญาตให้มาทำธุรกิจและมีสิทธิพิเศษนอกราชอาณาจักร และเป็นเมืองสำคัญทางอุตสาหกรรม เป็นแหล่งการเรียนรู้ทางวิชาการที่เก่าแก่

ผมเคยได้อ่านประวัติศาสตร์ของเมืองเทียนสินมานาน แต่ไม่คิดว่าจะได้มาประชุมที่นี่ อยากให้คนไทยสนใจ หากมาที่ปักกิ่งก็อาจจะมาเที่ยวที่เมืองเทียนสินต่ออีก 1-2 วัน เพราะเดี๋ยวนี้มีรถไฟความเร็วสูง จากปักกิ่งไปเทียนสินใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น

ขณะที่เขียนบทความนี้ผมยังอยู่ที่เทียนสินจนถึงวันศุกร์ เมืองนี้ใหญ่มาก อยู่อันดับที่ 5 -6 ของจีน มีประชากรกว่า 10 ล้านคน คล้ายกับเมืองใหญ่ๆ ของจีนทั่วไป คือ ถนนกว้างใหญ่ และมีการก่อสร้างมากมาย โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยเป็นตึกสูงๆ เต็มไปหมด



บรรยากาศของเมืองเทียนสิน ประเทศจีน



  

ผมมี 2 เรื่องใหญ่ 2 ประเด็น คือ

เรื่องแรก ได้รับเชิญไปบรรยายให้ Institute of Human Resource and Social Security of Tianjin University

มหาวิทยาลัยเทียนสินเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มาก มีอายุเกือบ 120 ปี คือ ก่อตั้งในปี 1895

Institute of Human Resource and Social Security จัดให้นักศึกษาปริญญาเอกและปริญญาโท รวมทั้งคณาจารย์รวมประมาณ 30 คนมาฟังและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการกว่า 2 ชั่วโมง  

บรรยากาศที่มหาวิทยาลัยเทียนสิน   



 

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือ..

มีการทำวิจัย เรื่องทุนมนุษย์ในประเทศจีนหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับปัญหาประชากรของประเทศจีนที่ในอดีตจำกัดให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้คนเดียวปัจจุบันถึงแม้ว่าจะลดจำนวนประชากรของจีนไปได้บ้าง แต่ก็สร้างปัญหามากมายให้แก่สังคมครอบครัวของคนจีนมากมาย

ข้อมูลที่น่าสนใจจากงานวิจัย คือ พบว่าการบังคับให้ครอบครัวมีลูกคนเดียวจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว มีปัญหาทางด้านจิตใจ สร้างปัญหาให้ครอบครัวและสังคม คิดว่าตัวเองสำคัญ พอเรียนหรือทำงานไม่ได้ผลตามที่คาดหวังก็ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายสูงมาก เพราะได้รับการเอาใจจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายมากเกินไป

ทำให้ผมคิดถึงสังคมไทย การเลี้ยงลูกแบบไม่ให้ต่อสู้ด้วยตัวเองจะทำให้คุณภาพของเด็กและทรัพยากรมนุษย์ในอนาคตมีปัญหาเช่นกัน คือ ขาดทุนแห่งความยั่งยืน เพราะเด็กไทยจะก้าวร้าว ผิดหวังง่าย ไม่อดทน

มีการแลกเปลี่ยนเรื่องทุนมนุษย์กันมากในทางวิชาการ ผมได้นำเสนอแนวคิดเรื่องทุนมนุษย์ เช่น 8K's และ 5K's และรวมถึงการร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศกับมหาวิทยาลัยเทียนสินในอนาคตด้วย

ผมได้เชิญอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเทียนสินไปที่ประเทศไทยเพื่อร่วมมือกันทางวิชาการต่อไป มหาวิทยาลัยไทยใดหรือหน่วยงานใดต้องการความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทียนสินก็ติดต่อมาทางผมได้

ในวันที่ 22 กันยายน เป็นงานใหญ่ของจีน จัดโดย China Renewable Energy Society (CRES) เชิญผมมากล่าวเปิดการสัมมนา เรื่อง พลังงานแสงอาทิตย์แบบใช้ความร้อน หรือ International Workshop on Solar Thermal Power Technology

ในงานนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ได้มอบหมายให้คุณวินัย นาคนาม มาร่วมสัมมนาและนำเสนอกรณีศึกษาเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยด้วย

ผู้เข้าประชุมส่วนมากเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนใหญ่มาจากยุโรป ผมรู้สึกได้รับเกียรติมากที่มาร่วมกล่าวและเปิดงาน และนำเสนอผลงานซึ่งผมภูมิใจและขอชมเชยคุณสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการของ กฟผ. ที่เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ฉกฉวยโอกาสทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในสายตาของนานาประเทศได้อย่างดี

ในการกล่าวเปิดงานครั้งนี้ ผมกล่าวถึง

* ความสำคัญของพลังงานทดแทนซึ่งโลกกำลังเข้าสู่ภาวะการขาดแคลนพลังงานน้ำมันในอนาคต

* การร่วมมือระหว่างประเทศไทย GMS จีน และกลุ่มอื่น เช่น ยุโรป

* และได้เน้นว่าจีนจะต้องเป็นผู้นำเรื่องพลังงานทดแทน เพราะปัญหาภาวะโลกร้อน สร้างภาพลักษณ์ให้จีนเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนในอนาคต และเพื่อความมั่นคงในพลังงานในประเทศไทย

* อย่าเน้นเฉพาะเรื่องวิศวะ และวิทยาศาสตร์เท่านั้น ให้มองเรื่องการศึกษา เรื่องเศรษฐศาสตร์ เรื่องกฎหมายพลังงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเรื่องพลังงานทดแทนด้วย

* ผมเน้นว่าการประหยัดพลังงานยังสำคัญอยู่อย่ามองทางด้าน Supply เท่านั้น มองทางด้าน Demand ด้วย

* ถึงแม้ว่าการประชุมครั้งนี้จะเน้นเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar แต่พลังงานลม พลังงานชีวมวล/ชีวภาพ ยังสำคัญมากอยู่

* ได้ทราบว่าจีนลงทุน R&D เตรียมการพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมากมาย เพราะว่าพลังงานแสงอาทิตย์กว่าจะคุ้มทุนก็อีกประมาณ 15-20 ปี จึงต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า ซึ่งน่าเป็นตัวอย่างของประเทศไทยในระยะยาว

ผมเชิญผู้เข้าสัมมนาครั้งนี้มาประเทศไทย เพื่อร่วมงาน International Conference on Human Capital and Renewable Energy ซึ่งทางมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศจะจัดขึ้นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 5-17 มีนาคม 2555 จะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายในงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อภาคพลังงานทดแทนของกลุ่มประเทศ GMS

5 วันแรกจะเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมกับปัญหาพลังงาน

3 วันต่อมาจะเป็นการประชุมนานาชาติเพื่อสรุปผลงานที่ผ่านมา 2 ปี และเชิญ Organization for Economic Co-operation and Development (OECD), Asian Development Bank (ADB) และ World Bank มาร่วมด้วยในครั้งนี้ และ

5 วันสุดท้ายจะเน้นเรื่องทรัพยากรมนุษย์เพื่อการสร้างพลังงานทดแทน

การมาที่ประเทศจีนครั้งนี้ผมเลยได้พบและถือโอกาสเชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานหลายท่าน เช่น Professor Carlo Rubbia จากประเทศอิตาลีซึ่งได้รับรางวัลโนเบล, Professor Jorge Servert del Rio จากประเทศสเปน ไปร่วมการประชุมที่เมืองไทยด้วย      

International Workshop on Solar Thermal Power Technology
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 ณ เมืองเทียนสิน ประเทศจีน
 


Welcome Speech By.. Professor Shi Dinghuan
Counselor of the State Council, President of CRES
    


Opening Remark by.. Prof.Dr.Chira Hongladarom Secretary - General
Foundation for International Human Resourse Development (FIHRD)
   


สนทนากับ Professor Carlo Rubbia จากประเทศอิตาลีซึ่งได้รับรางวัลโนเบล   


คุณวินัย นาคนาม Professor Rubbia Jorge Servert และ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์     

งานทั้งหมดสำเร็จได้เพราะกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยได้สนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะดร.อภินันท์ ภัทรธิยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) รวมทั้งคุณสุชาดา ไทยบรรเทา คุณวีระยา จารุอำพรพรรณ ซึ่งได้ให้กำลังใจสนับสนุนพวกเราจนกลายเป็นการทูตภาคประชาชนที่เริ่มได้ผล

รวมทั้ง Mr. WuZhiyi ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนได้ประสานงานอย่างดีมาตลอด และต้อนรับคณะของเราอย่างดีเยี่ยม

การทูตภาคประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญ ลำพังรัฐบาลเองก็ทำคนเดียวไม่ไหว

จึงขอรายงานมาจากเทียนสินครับ  

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์
เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ
[email protected]
www.gotoknow.org/blog/chiraacademy
แฟกซ์ 0-2273-0181
หมายเลขบันทึก: 462878เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2011 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 09:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท