การจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน


       ในสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน ที่มีการแข่งขันเพื่อการอยู่รอด ทุกภาคส่วนคงต้องหากลยุทธต่าง ๆ มาใช้เพื่อพัฒนาทั้งด้านคุณภาพสินค้า การบริการ และความร่วมมือ โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยนในปี 2558 ที่จะมีการเปิดเสรีด้านการค้าและบริการ สถานศึกษาโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตและพัฒนากำลังคนออกสู่ตลาดแรงงาน เมื่อมีการแข่งขันมากขึ้นเราคงต้อง ผลิตบัณฑิตคุณภาพมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่า เดิมการผลิตบัณฑิตไม่มีคุณภาพ แต่อาจจะบอกได้ว่าเรายังไม่ได้มุ่งให้เขาเข้าถึงอาชีพ เพียงแต่ขอให้เขาจบออกไปก็หมดภาระหน้าที่เรา การได้งานไม่ได้งานเป็นหน้าที่ของเขาเอง เมื่อมีการแข่งขันสูงขึ้น คือต้องผลิตบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานหรือผู้ใช้บัณฑิตให้มากขึ้น เราคงต้องหวนมาคิดใหม่ทำอย่างไรบัณฑิตของเราจึงจะได้งานทำ ไม่เพียงแต่ทำอย่างไรให้เขาจบ

       สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้รับมอบหมายจากอธิการบดี ให้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต 2 งาน ติดต่อกัน วันที่ 15 กันยายน เข้าร่วมประชุมคณะทำงานที่ปรึกษาโครงการนำร่องการวิจัยเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการเรียนรู้กับการทำงาน ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตพระนครเหนือ กรุงเทพฯ และวันที่ 17-18 กันยายน งานนี้มีอาจารย์ ดร.ธนกร น้อยทองเล็ก และอาจารย์ธรรมรัฐ ปานคำ ร่วมทีมด้วย เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษา ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เชียงราย โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวัฒ ไทยอุดม และ ดร. อลงกต ยะไวย์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นวิทยากร

       วิธีการที่จะให้บัณฑิตมีความรู้ความสามารถตรงตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต เมื่อจบการศึกษาสามารถเข้าสู่สถานประกอบการได้ทันทีอย่างมีคุณภาพ วิธีที่ง่ายที่สุดคงต้องใช้ความร่วมมือกับสถานประกอบการที่เป็นผู้ใช้บัณฑิตเป็นผู้ร่วมหล่อหลอมความเป็นบัณฑิตนั้นด้วย เรียกอย่างเป็นทางการว่า การจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ WIL : Work-Integrated Learning เป็นกรณีหนึ่งของการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ที่ช่วยให้นักศึกษามีโอกาสในการประยุกต์ความรู้ ทักษะการทำงาน และทักษะเฉพาะที่สัมพันธ์กับวิชาชีพ ได้รู้จักชีวิตการทำงานที่แท้จริงก่อนสำเร็จการศึกษา การจัดการศึกษาดังกล่าวมีหลากหลายรูปแบบตามความเข้มข้นของแต่ละวิธี

       1. การกำหนดประสบการณ์ก่อนการศึกษา (Pre-course Experience) หมายถึง การกำหนดประสบการณ์ในการทำงานเป็นคุณสมบัติเฉพาะของนักศึกษาก่อนเข้ารับการศึกษา (Pre-requisite) ตัวอย่าง เช่น การกำหนดประสบการณ์ทำงานในฟาร์มก่อนเข้าศึกษาเกษตรศาสตร์

       2. การเรียนสลับกับการทำงาน (Sandwich Course)  กำหนดระยะเวลาทำงานในระหว่างปีที่ศึกษา โดยทั่วไปอาจกำหนดให้ทำงาน 4 เดือน หรือทำงาน 3 เดือน สลับกับการเรียนในสถาบันอุดมศึกษาจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา ตัวอย่าง เช่น หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

       3. สหกิจศึกษา (Cooperative Education) กำหนดระยะเวลาทำงานไว้ชัดเจนในหลักสูตร เน้นการ บูรณาการทฤษฏีและการปฏิบัติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจ้างงานของบัณฑิต ตัวอย่าง เช่น หลักสูตรต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

       4. การฝึกงานที่เน้นการเรียนรู้หรือการติดตามพฤติกรรมการทำงาน (Cognitive Apprenticeship or Job Shadowing) มุ่งเน้นการสังเกตพฤติกรรมและการซึม-ซับวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรผู้ใช้บัณฑิต

       5. หลักสูตรร่วมมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม (Joint Industry University Course) กรณีนักกฎหมาย ทนายความ นักปกครอง หลักสูตรที่ร่วมพัฒนาและอุดหนุนงบประมาณโดยองค์กรผู้ใช้บัณฑิตรวมทั้งการใช้บุคลากร และอุปกรณ์ขององค์กรผู้ใช้บัณฑิต ตัวอย่าง เช่น หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ บริหารธุรกิจ และอื่น ๆ

       6. พนักงานฝึกหัดใหม่หรือพนักงานฝึกงาน (New Traineeship or Apprenticeship) การฝึกงานที่มีการจัดระบบการเตรียมการและการฝึกงานในสถานที่หรือนอกสถานที่ ที่มีโครงสร้างการดำเนินงานชัดเจน ตัวอย่าง เช่น สาขาสัตวแพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์

       7. การบรรจุให้ทำงาน หรือการฝึกเฉพาะตำแหน่ง (Placement or Practicum) การพัฒนาทักษะหรือประสบการณ์ที่จำเป็นในอนาคต โดยจัดเวลาการฝึกปฏิบัติงานเพิ่มเติมในสถานการณ์จริง ตัวอย่าง เช่น แพทย์ พยาบาล ครู

       8. ปฏิบัติงานภาคสนาม (Fieldwork) การสำรวจหรือการสังเกตการทำงานในสถานที่จริงในระยะสั้นตัวอย่าง เช่น สังคมสงเคราะห์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์

       9. การฝึกปฏิบัติจริงภายหลังสำเร็จการเรียนทฤษฎี (Post-course Internship) การเสริมสร้างประสบการณ์ในการปฏิบัติงานภายหลังสำเร็จการศึกษาภาคทฤษฎี ตัวอย่าง เช่น แพทย์ ทนายความ

บรรณานุกรม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลธัญบุรี.  2554. [ออนไลน์].  “WiL (Work-Integrated Learning) มิติใหม่ของดุดมศึกษาไทย,” เข้าถึงได้จาก : http://academic.rmutl.ac.th/2009/pdf/download530804-2.pdf  สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน

หมายเลขบันทึก: 462469เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2011 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท