ใช้”ละคร”บอกชุมชน


ละครสะท้อนปัญญา

ใช้”ละคร”บอกชุมชน

จุดประกายความคิด ยกระดับสุขภาวะ 

กับโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงปีที่3

เพราะชื่นชอบเป็นทุน ประกอบกับความขยันคิดและพร้อมลงแรงทำ “หนุ่ม” อิสระพงษ์ เตชะแก้ว นักศึกษาม.ราชภัฎสวนดุสิต จึงเลือกการแสดง “ละครเร่” แบบที่ตัวเองถนัด เป็นช่องทาง “สื่อสาร” ระหว่างตัวเองกับชุมชน

ในสภาพสังคมที่มากไปด้วยปัญหาทั้งที่มองเห็นและถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรมนั้น “หนุ่ม”บอกว่า เป็นเรื่องราวที่เยาวชนอย่างเขา และพลเมืองทุกคนควรตระหนักพร้อมๆกับต้องกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหากยังมีเรื่องใดที่เห็นว่าสภาพสังคมควรจะดีกว่านี้

แต่อย่างไรก็ดีกับสาระหลักที่จะสื่อสารนั้นไม่ได้จำเป็นต้องถูกพูดด้วยน้ำเสียงที่เป็นทางการเสมอไป ด้วยกับงานศิลปะอย่างการแสดงซึ่งมีความบันเทิงซ่อนอยู่นี้กลับทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวได้ดีไม่แพ้วิธีการอื่นใด

เขาและเพื่อนกลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันเพราะความชื่นชอบในการแสดงละครนามทีม “เป็นศูนย์”จึงเข้าร่วมโครงการ“ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ปีที่3 ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) สนับสนุน พร้อมกับพกความมั่นใจที่จะสอดแทรกหลักคิดกระบวนการผลิตสื่อมุ่งรับใช้ความเป็นชุมชน ด้วยความหวังละครดีๆจะเปลี่ยนแปลงและยกระดับสุขภาวะของชุมชนได้

เมื่อเยาวชนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความชื่นชอบเป็นทุน ถูกติวเตอร์ด้านการละครอย่างมะขามป้อม พ่วงด้วยการเสริมสร้างหลักคิดแบบขับเคลื่อนเชิงประเด็นของสสส. ซึ่งมีแนวทางให้เยาวชนได้ผลิตกิจกรรมที่ขับเคลื่อนสุขภาวะ 4 มิติ คือ กาย จิต สังคม และปัญญา โดยจุดประกายและกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางความคิด

“หนุ่ม” บอกผลลัพธ์ของการเข้าร่วมกิจกรรมว่า ได้ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ในผลงานมากขึ้น เพราะแต่ละท่วงท่าที่สื่อสารออกไปผ่านการแสดง ไม่ได้หวังให้ผู้ชมรับความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่กลับต้องมองถึงสาระหลักที่จะนำเสนอด้วย   

“จุดเริ่มต้นเกิดจากพวกเราได้ไปเฝ้าสังเกต บริเวณตลาดน้ำคลองรัดมะยม ย่านตลิ่งชัน ซึ่งบริเวณนั้นเป็นย่านตลาดเก่าที่ล้อมรอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ ดังนั้นเราจึงหยิบประเด็นการอยู่รวมกันระหว่างวัฒนธรรมเก่าและใหม่มาสะท้อนให้คนในชุมชนได้รู้ผ่านบทละคร เรื่อง “ทวิภพ”ภาคพิสดาร ซึ่งดัดแปลงจากข้อมูลจริงมาบอกเล่าให้สนุกขึ้น”หนุ่มท้าวความ และเล่าต่อว่า “พอเล่นจบ ชาวบ้านก็มีโอกาสได้มาคุยกับเรา มาแลกเปลี่ยนต่อกัน ทำให้เรารู้ว่ากับประเด็นเดียวกันนี้เราในฐานะผู้สังเกต กับชาวบ้านจริงๆคิดเห็นต่างกันอย่างไร”

สอดคล้องไปทางเดียวกับ “แตงโม” สุธีรา บุญญัติสินี นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ราชภัฎสวนสุนันทา ตัวแทนจากทีม “Box of fish” ซึ่งได้ร่วมทำกิจกรรมโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงในส่วนของพื้นที่ภาคกลาง

 “แตงโม” เปรียบเปรยแบบน่าสนใจว่า พวกเธอเทียบได้กับนักสื่อสารที่ร่วมซึมซับและสะท้อนข้อมูลชุดหนึ่งไปสู่คนกลุ่มหนึ่ง

 “เรื่องที่เราพยายามจะบอกนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่เป็นเรื่องของพวกเขาเอง เพราะในเรื่องราวที่มีอยู่ในชุมชนหนึ่ง คนที่อาศัยอยู่ในนั้นอาจมีความชินชาจนไม่รู้ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ขณะที่นักสังเกตการณ์ก็อาจจะไม่รู้ความลึกซึ่งของเรื่องราวเท่ากับชาวบ้านจริง”

“ละครจึงเหมือนสื่อกลาง และเป็นจุดร่วมให้นักแสดงและผู้ชมพบกัน เพราะเป็นการสื่อสารระหว่างโดยตรง คนดูกับคนแสดงได้พูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ก่อนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดีกว่าเดิม หรือคงรักษาไว้ในความดีที่มีอยู่แล้ว”

“แตงโม” ยกตัวอย่างจากผลผลิตของทีม “Box of fish” ที่อธิบายความเป็นไปของชุมชนท่าเรือดินแดง ผ่านพล็อตละคร“คนละเรื่องเดียวกัน”

“ชุมชนแถวท่าเรือดินแดงเป็นชุมชนเมือง และคนในชุมชนนั้นต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาตลอดเวลา และท้าทายการรับมือของประชาชนในนั้น แต่เพราะสมาชิกต่างคิดว่า “ถ้าฉันไม่ทำ ก็มีคนทำอยู่ดี” นั่นจึงทำให้ชุมชนเหมือนกับต่างคนต่างอยู่ ดังนั้นกลุ่มของเราจึงพยายามชี้ให้ชุมชนเห็นประเด็นเหล่านี้”

 “มันเป็นเรื่องง่ายๆที่เรามักหลงลืม คือรู้อยู่แก่ใจแต่ไม่เคยมีใครคิดจะทำอะไร ดังนั้นละครเรื่องนี้จึงเหมือนการสะกิดเตือน” เธอทิ้งท้าย

ส่วน “จันทร์ ไชเป็ง” สมาชิกกลุ่มสื่อสารสุขภาพไทยใหญ่ จ.เชียงใหม่ เจ้าของละคร เรื่อง “กลืน (เสียดายเมื่อวันโป้น) ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมในส่วนของภาคเหนือบอกว่า ละครของเธอและเพื่อนต้องการสื่อสารถึงวันเวลาที่ต้องเสียดายไป โดยมีประเด็นเรื่องการอยากได้สัญชาติไทยจนต้องถูกหลอกของชาวบ้านไทใหญ่เป็นสาระหลัก

เหตุที่เลือกเรื่องนี้เพราะมีประสบการณ์ตรง ซึ่ง “จันทร์” เล่ามุมมองว่า คนไทยใหญ่ในชุมชนของเธออยากมีสัญชาติไทยมาก เพราะนั่นหมายถึงสิทธิที่เพิ่มขึ้น โดยความต้องการเช่นนี้ส่งผลให้ชาวบ้านยอมทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเทียบเท่าคนไทย รวมไปถึงการแต่งงานกับผู้ชายไทยโดยไม่คิดจะตัดสินใจอย่างรอบคอบ

“เอาเข้าจริง ต่อให้แต่งงานกับคนไทยก็ใช่ว่าจะได้สัญชาติไทยเลย เพราะการจะได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้นต้องมีหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่มีใครศึกษา” จันทร์บอก

“นอกจากนี้ความเป็นคนชนเผ่า ยังเป็นเรื่องที่เด็กสมัยใหญ่พยายามจะวิ่งหนี เหมือนกับว่าเป็นเรื่องน่าอาย จนทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบเนื่องมาต้องหมดไปกลุ่มของเราจึงพยายามจะบอกเรื่องเหล่านี้กับคนในชุมชนแห่งหนึ่ง ในอ.ฝาง จ.เชียงใหม่ที่ไปศึกษามา

“หากแต่ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรคงขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะตีความ ละครของเราไมได้บอกวิธีการแก้ปัญหา ไม่มีบทจบ แต่เป็นการชวนให้คนดูคิดและร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน”เธอว่าทิ้งท้าย

โครงการฯจัดกิจกรรมเชิงฝึกทักษะละครซึ่งได้เวียนจัดกิจกรรมฯ และสรุปงานทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ก่อนจะมีเวทีใหญ่แลกเปลี่ยนสรุปบทเรียนภายใต้ชื่อ “มหกรรมละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ต้นเดือนกันยายนนี้ หอจดหมายเหตุท่านพุทธทาส กรุงเทพฯ

เพื่อจุดประกายให้เยาวชนร่วมขบคิดถึงความเป็นไปในสังคมโดยมีละครเป็นสื่อกลาง 


ใช้ละครสร้างสุขภาวะ

โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” คือกิจกรรมที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสื่อชาวบ้าน ส่งเสริมจัดโครงการละครให้แก่กลุ่มเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี52 โดยให้เด็กและเยาวชนได้สะท้อนปัญหาสังคมในชุมชนผ่านละคร ไม่ว่าจะเป็น ปัญหา สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง ฯลฯ

เด็กและเยาวชนที่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวนี้จึงได้สะท้อนปัญหาของชุมชนผ่านละคร โดยนำปัญหาเหล่านี้ไปแสดงให้คนในชุมชนให้เห็นว่า ขณะนี้ในชุมชนของตนเองเกิดอะไรขึ้นเพื่อจะได้ร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา นอกจากนี้ยังเสริมมิติเรื่องการมีจิตอาสาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้นอีกด้วย 

ทั้งนี้ “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง”ได้เกิดขึ้นหลังจากพบว่าปัจจุบันเยาวชนไทยใช้เวลาว่างที่ไม่เกิดประโยชน์ อาทิ การเล่นเกมส์ เสพสื่อที่ไม่ปลอดภัย หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการดื่มสุรา สูบบุหรี่ อันนำไปสู่การเสพสารต้องห้าม หรือยาเสพติด ตกเป็นเหยื่อและไม่เท่าทันสื่อ ใช้ชีวิตยึดติดกับวัตถุนิยม ฟุ่มเฟือยในการบริโภคสินค้าและบริการ สุดท้ายกลายเป็นความเห็นแก่ตัว

อีกทั้งความซับซ้อนจากปัจจัยหลายประการของสังคม ทำให้ครอบครัวไม่มีเวลาดูแลกันอย่างใกล้ชิด ในขณะที่สถาบันทางการศึกษามุ่งเน้นสาระวิชาการมากกว่าพัฒนาตัวตนเยาวชนจากภายใน ไม่มีแหล่งเรียนรู้ มีพื้นที่สุ่มเสี่ยงมากกว่าสร้างสรรค์ ทำให้เยาวชนมีความอ่อนแอในเชิงจริยธรรม ขาดความเข้มแข็งจากภายใน 

 เหล่านี้เป็นจุดที่ สสส.อยากเห็นคนไทยมีสุขภาวะยั่งยืนครบทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิต สังคม และปัญญา แต่การจะทำให้ได้อย่างที่ตั้งใจ ต้องจุดประกาย กระตุ้น และสนับสนุนพัฒนาการระบบสุขภาพของเยาวชนให้เป็นไปในทิศทางที่พึงประสงค์ เพราะเยาวชนไทยขาดสุขภาวะทางปัญญา สสส.จึงหันมามุ่งส่งเสริมและสร้างปัญญาของเยาวชน ด้วยการดึงศิลปะการละคร ที่เน้นนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อมาพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เป็นนักการละครรุ่นใหม่ที่ดี



คำสำคัญ (Tags): #กระจายสุข
หมายเลขบันทึก: 462407เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2011 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมก็เคยคิดจะใช้โครงการแบบนี้ในการสื่อสารเหมือนกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท