KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๖๓๒. เน้นที่ความรู้ชนิดซับซ้อน


          วันที่ ๒๐ ก.ย.๕๔  ทีม มสธ. จากชุดวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการและการจัดการความรู้ ขอมาสัมภาษณ์เรื่อง "ประเด็นข้อมูลการจัดการความรู้" ถ่ายทำรายการทีวี ไปออกอากาศในรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา   โดยได้ส่งชุดคำถามล่วงหน้ามาให้เป็นอย่างดี เป็นข้อๆ รวม ๙ ข้อ ดังนี้

          เพราะชุดคำถามเหล่านี้แหละ ที่ทำให้ผมปิ๊งแว้บ และเขียนบันทึกนี้   เพื่อจะบอกว่า ในเรื่อง KM นั้น   เราเน้น "ความรู้ที่ซับซ้อน" (complex knowledge) ไม่ใช่ความรู้ชนิดที่ทำให้ชัดเจนด้วยกระบวนการ reduction จนกลายเป็นความรู้แบบตรงไปตรงมา (simple knowledge หรือ explicit knowledge)

          ผมเรียก complex knowledge ที่เรามุ่ง "ใช้, สร้าง, และแลกเปลี่ยน" ในกระบวนการ "จัดการความรู้" ว่า "ความรู้นุ่งผ้า"    ซึ่งหมายถึงความรู้ที่จำเพาะต่อแต่ละสถานการณ์ หรือบริบท  ในภาษาอังกฤษอาจเรียกว่า contextualized knowledge  ในการดำเนินกระบวนการจัดการความรู้ เราสนุกกับการทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์หรือกิจกรรมที่มีการลงมือทำ   ความรู้ชนิดนี้จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ความรู้ปฏิบัติ" (practical knowledge หรือ phronesis)  

          เทคนิคหรือเครื่องมือ KM ส่วนใหญ่ เน้นการใช้ประโยชน์ของความรู้ชนิดนี้   

          ความรู้ชนิดที่เราคุ้นเคย เป็น "ความรู้เปลือยเปล่า" ที่เอาบริบทออกไปหมด   คือเปลือยความรู้เชิงบริบท (context) ออกไป   เหลือแต่ความรู้ที่เป็นแก่นหรือทฤษฎีจริงๆ เท่านั้น  เป็นความรู้ที่แม่นยำหรือเป็นจริงในทุกสถานการณ์  ในภาษาอังกฤษอาจเรียกความรู้ชนิดนี้ว่า theoretical knowledge  หรือ simple knowledge  หรือเรียกในภาษา KM ว่า explicit knowledge  เวลาเอาไปใช้งาน จะต้องจัดการ "นุ่งผ้า" คือเอาความรู้เกี่ยวกับบริบทในสถานการณ์นั้นๆ ใส่เข้าไป   ให้กลายเป็น "ความรู้นุ่งผ้า" (tacit knowledge) เสียก่อน จึงจะใช้งานได้จริง เกิดผลสำเร็จในการทำงาน

          เครื่องมืออย่างหนึ่งของการจัดการความรู้ เรียกว่า "วงจรเซกิ" (SECI Circle : Socializaion, Externalization, Combination, Internalization) อาจอธิบายได้ว่า   เป็นวงจรยกระดับความรู้ (Knowledge Spiral) ด้วย "วงจร เปลื้องผ้า - นุ่งผ้า" ความรู้  

          เครื่องมือของการจัดการความรู้ ได้แก่ BAR (Before Action Review), AAR (After Action Review), "เรื่องเล่าเร้าพลัง" (storytelling), สุนทรียสนทนา (dialogue), SSS (Success Story Sharing), เพื่อนช่วยเพื่อน (peer assist)  และอื่นๆ   ล้วนเน้นที่การใช้, สร้าง (ยกระดับ), และแลกเปลี่ยน "ความรู้นุ่งผ้า" ที่เป็นความรู้ที่ซับซ้อน ทั้งสิ้น

          นี่คือพลังที่แท้จริงของการจัดการความรู้

          อ่านบันทึกเรื่องความรู้นุ่งผ้าได้ที่นี่ และที่นี่ 

 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๐ ก.ย.๕๔

 
 
 

    
 

หมายเลขบันทึก: 462043เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2011 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท