รายการสายใย กศน. 19, 26 ก.ย., 3, 10, 17, 24 ต.ค. 54


19 ก.ย.54 เรื่อง “กิจกรรมชมรมวิชาการของสถาบันการศึกษาทางไกล” 26 ก.ย.54 เรื่อง “หลักสูตรเซียนกล้องและแนวคิดการถ่ายภาพเชิงศิลปะ”, 3 ต.ค.54 เรื่อง “การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านสังคม”, 10 ต.ค.54 เรื่อง “การสร้างจิตสำนึกให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษา”, 17 ต.ค.54 เรื่อง “การสร้างจิตสำนึกให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษา”, 24 ต.ต.54 เทปซ้ำวันที่ 8 ส.ค.54

รายการสายใย กศน. วันที่  24  ตุลาคม  2554

         เทป ซ้ำวันที่ 8 ส.ค.54 เรื่อง “กศน. กับแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ( เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการชดเชยวันปิยมหาราช )

 

 

รายการสายใย กศน.  วันที่  17  ตุลาคม  2554   

         เรื่อง “ทัศนคติและค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต” 

         ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช  สุพงษ์
         วิทยากร คือ
         - นายพะนอม แก้วกำเนิด  อนุกรรมการเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต สำนักงานคณะกรรมการ ปปช. 

         เอแบคโพลสำรวจความคิดเห็นวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงอุดมศึกษาระดับต้น พบว่า ยอมรับการโกงได้ถ้าตนมีส่วนได้รับประโยชน์  ซึ่งเป็นทัศนคติที่น่าเป็นห่วง   ผู้ใหญ่ก็เห็นเรื่องการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่เรื่องใหญ่ โกงได้แต่ขอให้บ้านเมืองเจริญ ( ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่โกงแล้วบ้านเมืองจะเจริญ )

         เราต้องสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อให้คนมีนิสัย ( สันดาน ) รักความซื่อสัตย์สุจริต เกลียดชังการทุจริต จึงจะช่วยแก้ปัญหาความไม่ซื่อสัตย์สุจริตได้อย่างยั่งยืน   กฎหมายก็เป็นส่วนหนึ่ง ต้องทำควบคู่กันระหว่างการปราบปรามด้วยกฎหมายกับการป้องกันด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันโดยปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต

         อนุกรรมการเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต สำนักงานคณะกรรมการ ปปช.  ได้สร้างโครงการเสริมสร้างฯต่าง ๆ โดยระยะแรก ( ตอนยังเป็น ปปป. ) สร้างความสัมพันธ์กับสถานศึกษาทุกระดับ เพื่อสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ  ต่อมาขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มต่าง ๆ สู่ข้าราชการ ประชาชน   มุ่งสร้างคุณธรรมจริยธรรมเป็นหลักใหญ่ ไม่ได้มุ่งเฉพาะความซื่อสัตย์สุจริต แต่มุ่งคุณธรรมอื่น ๆ ด้วย ซึ่งคุณธรรมแต่ละตัวจะเกื้อหนุนกัน

         มีโครงการการจัดประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อหาวิธีบริหารจัดการให้ผู้เรียนมีคุณธรรม   โครงการประชุมสัมมนาครูเพื่อหาวิธีจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีคุณธรรม   โครงการรักชาติถูกทาง ( ให้เด็กออกไปสำรวจปัญหาและคิดโครงการพัฒนาชุมชน ส่งโครงการมาประกวดที่สำนักงาน ปปช.  รางวัลที่ 1 จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีฯ พร้อมเงินรางวัลห้าหมื่นบาท   มีโครงการเข้าประกวดปีละสองร้อยกว่าโครงการ   การดำเนินงานตามโครงการของเด็ก เป็นการเรียนรู้ด้วยการกระทำ ซึ่งจะได้ผลสูงสุด ได้เรียนรู้หลาย ๆ ด้านจากกระบวนการ )   และหลักสูตรปัจจุบันก็เอื้ออำนวย เพราะในหลักสูตรจะมีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ( กิจกรรมพัฒนาชุมชน )  และโรงเรียนสามารถสร้างหลักสูตรเองในการเรียนรู้ท้องถิ่น 

         โครงการอื่น ๆ เช่น โครงการสถานศึกษาสัมพันธ์ ( คณะอนุกรรมการ ปปช. ออกไปที่สถานศึกษา ดูกิจกรรมผลงานดีเด่น ของแต่ละสถานศึกษา )   โครงการยกย่องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ( 1. เป็นคนยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เอนเอียงไปตามอิทธิพล  2. ต่อสู้ ไม่ยอม เมื่อเห็นการทุจริต  3. มุ่งมั่นพากเพียร อบรมสั่งสอน สร้างรูปแบบไม่ให้เกิดการโกง )   โครงการประกวดเครื่องหมายสัญลักษณ์คุณธรรมความดี สำหรับใช้ประดับเพื่อแสดงออกถึงความชื่นชมในความซื่อสัตย์สุจริต ( ผลการประกวดได้ “ช่อสะอาด” เป็นรูปมือหลายมือทรงพุ่มรวบด้วยริ้วธงชาติ แสดงถึงความร่วมมือร่วมใจ )   โครงการแต่งและจัดทำหนังสือนิทานคุณธรรม   โครงการกัลยาณมิตรของ ปปช. ( ประสานงานกับจังหวัดต่าง ๆ สรรหาคนในท้องถิ่นที่เป็นคนดีเป็นที่ยอมรับ ช่วยเหลือชุมชน  จังหวัดละประมาณ 10 คน เป็น “กัลยาณมิตรของ ปปช.” มาประชุมสัมมนาหาวิธีช่วยสังคม เช่นเป็นวิทยากรอบรม  โดยมีศูนย์ประสานงานในจังหวัด )   โครงการประกวดละครสั้น   ภาพยนตร์สั้น   ค่ายคุณธรรมจริยธรรม  ฯลฯ 

         ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต เป็นอุปสรรคกัดกร่อนความเจริญก้าวหน้าของประเทศ  ทั้งๆที่ประเทศไทยมีทรัพยากรทางธรรมชาติมาก แต่ไม่สามารถพัฒนาได้เท่าที่ควร   ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกัน จะสามารถแก้ปัญหาได้ผลอย่างยั่งยืน

 

 

 

รายการสายใย กศน.  วันที่  10  ตุลาคม  2554

   

         เรื่อง “การสร้างจิตสำนึกให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษา”

 

         ดำเนินรายการโดย อัญชิษฐา  บุญพรวงค์
         วิทยากร คือ
         - นายบุญสม นาวานุเคราะห์  อนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านสังคม สำนักงาน ปปช.
         - นายนิวัฒน์ วชิรวราการ  อนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านสังคม สำนักงาน ปปช.

 

         สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ ( สำนักงาน ปปช. ) มีหน้าที่แก้ปัญหาความไม่ซื่อสัตยสุจริตใน 3 บทบาท คือ 1. ป้องกัน  2. ปราบปราม  3. ป้องปราม ( ตักเตือน )   แต่ยิ่งปราบยิ่งเพิ่ม คนเห็นแก้ได้ เอาแต่ประโยชน์ส่วนตน   กระทรวงศึกษาธิการบอกว่าเน้นคุณธรรมนำความรู้ ในทางปฏิบัติไม่ได้เน้นคุณธรรมจริง แต่ไปเน้นด้านการสอนความรู้     ที่ผ่านมาในการป้องกันมีการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตแก่ผู้ใหญ่ โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดอบรมผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศทั้งใน-นอกระบบ ทุกระดับ ในเรื่องต่าง ๆ เช่นเทคนิควิธีการถ่ายทอดให้ผู้เรียน   แต่ผู้ใหญ่ปรับยาก เพราะเป็น “ไม้แก่” ไม่ค่อยบังเกิดผลในการนำไปปฏิบัติ และโรงเรียนมีปัญหาขาดงบประมาณและบุคลากร จึงไม่ได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องทุกปี ทำชั่วครั้งชั่วคราวในลักษณะไฟไหม้ฟาง ตามผู้บริหารระดับสูง      

         ปัจจุบัน สำนักงาน ปปช. เน้นด้านการป้องกันที่เด็กและเยาวชน ซึ่งโรงเรียนยังมีกิจกรรมสร้างความซื่อสัตย์สุจริตน้อย  ควรเน้นกิจกรรมมากกว่าการสั่งสอนบนกระดานอย่างเดียว  หน่วยงานควรจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดกิจกรรมด้านคุณธรรมให้มากกว่านี้และต่อเนื่องทุกปี  เช่นงบประมาณสำหรับให้เด็กทำกิจกรรมหลังเวลาเรียน แทนที่จะเข้าร้านเกมอินเตอร์เน็ต   ครูต้องปลูกฝังคุณธรรมอยู่เสมอ ให้เด็กมีจิตสำนึกเข้มแข็ง ไม่ไปทางไม่ดีตามเพื่อน  มีระเบียบวินัยเหมือนชาวญี่ปุ่น  ( ควรเน้นการบังคับใช้กฎหมายเหมือนญี่ปุ่น สิงคโปร์ )

         กิจกรรมที่โรงเรียนต้องฟื้นฟูเช่น กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ค่ายอาสา ค่ายจริยธรรม  เพื่อให้เด็กมีจิตอาสา บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม   การนำพระ โต๊ะอิหม่าม มาเป็นวิทยากรเพื่อให้เด็กได้ใกล้ชิดพระ ก็ดี    ควรมีการนำเด็กไปทัศนศึกษานอกโรงเรียน ( ดูกิจกรรมทางสังคมดี ๆ รอบ ๆ โรงเรียน )

 

         โรงเรียนกับครอบครัวมีความสำคัญมาก ถ้าครอบครัวไม่ช่วยรับผิดชอบ สิ่งแวดล้อมจะพาเด็กเสีย

          ( ในส่วนของสำนักงาน ก.พ. จะเน้นที่ข้าราชการพลเรือน ไม่รวมข้าราชการครูและข้าราชการ กทม.   ให้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณและรายงานผลต่อ ก.พ.  โดยผูกเรื่องจรรยาบรรณไว้กับเรื่องวินัยด้วย มีบทลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ    ซึ่งก็ยังไม่เห็นผลชัดเจน )

         ควรมีการเผยแพร่ตัวอย่างที่ดี ทั้งด้านกิจกรรม วิธีการ

 

 

 

 

 

รายการสายใย กศน.  วันที่  3  ตุลาคม  2554

   

         เรื่อง “การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านสังคม”

 

         ดำเนินรายการโดย อัญชิษฐา  บุญพรวงค์
         วิทยากร คือ
         - สมลักษณ์ จักกระบวนพล  ประธานอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านสังคม
         - ดร.เฉลิม ศรีผดุง  อนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านสังคม
         - นายประสาท เกศวพิทักษ์  อนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านสังคม
         - นายต่อยศ วงศ์สุนทร  อนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านสังคมและเลขานุการ

 

         สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ ( ปปช. ) มีหน้าที่
          - ปราบปราม
          - ป้องกัน
          - ตรวจสอบทรัพย์สิน
          และกำกับดูแลคุณธรรมจริยธรรม ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 มาตรา 250  และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรม    ได้อาศัยอำนาจตามกฎหมาย ปปช. มาตรา 19 อนุ 11  แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นหลายคณะ รวมทั้ง คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านสังคม

 

         คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านสังคม ดำเนินการหลายเรื่อง  เรื่องสำคัญที่นำเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว เช่น

         1. การสร้างความโปร่งใสในการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนให้ดำรงตำแหน่งสูง เป็นไปตามระบบคุณธรรม ( ถูกต้อง ไม่ใช่ถูกใจ )     รัฐบาลชุดที่แล้วให้ความเห็นชอบแล้ว ส่งสำนักงาน ก.พ.ดำเนินการ ให้คนดีคนเก่งมีโอกาสเข้าถึงการพิจารณาแต่งตั้งอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่มาโดยระบบอุปถัมภ์ ซื้อขาย เล่นพรรคเล่นพวก ( ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 ห้ามนักการเมืองก้าวก่ายในการแต่งตั้ง )   โดยคณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านสังคมได้จัดสัมมนาในภูมิภาคต่าง ๆ สรุปว่า ให้มีกลไกการถ่วงดุลอำนาจของข้าราชการการเมืองและข้าราชการระดับสูง  โดยให้ทุกกระทรวงจัดให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำเนินการเลือกคนมาเป็นกรรมการเลือกสรรในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง   ( คณะอนุกรรมการจะดำเนินการเสนอต่อรัฐบาลใหม่อีกครั้ง และจะติดตามการดำเนินงานของกระทรวงต่าง ๆ ยกเว้นกระทรวงกลาโหมซึ่งไม่ใช่ข้าราชการพลเรือน )

 

         2. ปัญหาการส่งเสริมโครงการปลูกยางพารา   ซึ่งโครงการระยะที่ 2 ( ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ) มีปัญหามาก   คณะอนุกรรมการฯจึงพิจารณาเสนอมาตรการป้องกันการทุจริต  เช่น ปัญหาการส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม  คุณภาพกล้ายางไม่ได้มาตรฐาน  ส่งกล้ายางช้ากว่ากำหนดไม่ตรงฤดูกาล  ประกอบกับเกษตรกรขาดความรู้  ส่งผลให้ต้นยางตายเป็นแสนไร่   แต่ประชาชนเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกยางมาก  ก่อให้เกิดความเสียหาย   คณะอนุกรรมการฯเสนอรัฐบาลชุดที่แล้ว ดังนี้
             1)  ให้ชะลอโครงการระยะที่ 3  ( ข้อนี้รัฐบาลไม่เห็นชอบ  ซึ่ง ปปช.จะติดตามโครงการต่อไป )
             2)  ให้ศึกษาปัญหาโครงการที่ทำไปแล้ว
             3)  ดำเนินการแก้ปัญหาโครงการระยะที่ 2 ไม่ให้ต้นยางตาย เช่น ให้ความรู้เกษตรกร
             4)  ทบทวนนโยบายเรื่องอาหารและพลังงานจากพืชเศรษฐกิจ   เช่น ไม่ควรทำให้พื้นที่ปลูกข้าวลดลง  ไม่ต้องส่งเสริมการปลูกยาวพารา เพราะเกษตรกรปลูกกันเองมากอยู่แล้ว

 

         3. การศึกษาประเด็นการอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาไม่ต้องเสียภาษี    ปัจจุบันมีการกวดวิชาเป็นธุรกิจตั้งแต่จะเข้าอนุบาล  มีการยกเว้นภาษีเพื่อส่งเสริมการศึกษา   แต่ปัจจุบันธุรกิจนี้มีรายได้มาก การไม่เสียภาษีจึงไม่เป็นธรรมแก่สังคม    คณะอนุกรรมการฯเสนอรัฐบาลให้แก้กฎหมายเป็นให้เก็บภาษีจากโรงเรียนกวดวิชาเชิงธุรกิจ และดูแลให้ครูสอนในโรงเรียนเต็มที่ รวมทั้งควบคุมไม่ให้เปิดโรงเรียนกวดวิชาในอาคารสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยไม่เหมาะสม โดยให้ตรวจสอบอาคารสถานที่ทุกปี    รัฐบาลชุดที่แล้วไม่เห็นชอบให้เก็บภาษี แต่ให้กระทรวงศึกษาธิการ/กระทรวงการคลังควบคุมอัตราการเก็บเงินค่ากวดวิชาไม่ให้สูงเกินไป และเข้มงวดไม่ให้ครูสอนในระบบโรงเรียนด้อยคุณภาพลงแต่ไปสอนเต็มที่ในโรงเรียนกวดวิชา  และให้ตรวจสอบอาคารสถานที่โรงเรียนกวดวิชา   แต่กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่มีมาตรการติดตามควบคุมการดำเนินการที่ชัดเจน  คณะอนุกรรมการฯจึงจะเสนอรัฐบาลใหม่ให้เก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาอีกครั้ง

 

         นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่คณะอนุกรรมการฯดำเนินการเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอ ครม. คือเรื่องการพิจารณาศึกษาโครงการยกระดับคุณภาพทั้งระบบ    และเรื่องที่ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการอีก 6 เรื่อง เช่น การบริหารงานบุคคลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( โดยเฉพาะการโยกย้าย )   การจัดการศึกษาระดับมหาบัณฑิต-ดุษฎีบัณฑิตของกระทรวงศึกษาธิการ  การศึกษาประเด็นการซื้อขายประกาศนียบัตร ป.บัณฑิตวิชาชีพครู

 

 

 

 

 

รายการสายใย กศน.  วันที่  26  กันยายน  2554

 

         เรื่อง “หลักสูตรเซียนกล้องและแนวคิดการถ่ายภาพเชิงศิลปะ”

 
         ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช  สุพงษ์
         วิทยากร คือ
         - นายบุญส่ง  คูวรากุล  ผอ.สถาบันการศึกษาทางไกล
         - นายเชาวลิต  ธาดาสิทธิเวท  อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรเซียนกล้องฯ
         - นายศิวกฤษฎิ์  ศราวิช ( อ.ไม้หลัก )  เจ้าของแนวคิดการถ่ายภาพเชิงศิลปะและผู้ก่อตั้ง 19 Studio

         สถาบันการศึกษาทางไกลมีหน้าจัดการศึกษาโดยวิธีทางไกล ใน 2 ประเภท คือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประถม ม.ต้น ม.ปลาย ) กับหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง ( เดิมเรียกว่าหลักสูตรระยะสั้น ) เน้นการเรียนด้วยตนเอง และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ

         สถาบันการศึกษาทางไกลได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องตามความต้องการ ความสนใจ ตามสภาพความจำเป็น เช่นหลักสูตรภาษาจีน ภาษาอังกฤษ เซียนพระ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้

         ในเชิงของศิลปะมี 2 หลักสูตร คือหลักสูตรร้องเพลงเบื้องต้น ( จัดมา 8 รุ่นแล้ว ) กับหลักสูตรเซียนกล้อง : พื้นฐานการถ่ายภาพเส้นทางสู่มืออาชีพ

 

         กระบวนการบริหารพัฒนาหลักสูตรเซียนกล้องฯ ได้นำผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพมาช่วยกันทำหลักสูตร แบ่งเนื้อหาเป็น 7 หน่วยการเรียนรู้ ใช้เวลาเรียน 240 ชั่วโมง ( ประมาณ 4 เดือน ) เริ่มตั้งแต่ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของการถ่ายภาพ  กล้องถ่ายภาพ  องค์ประกอบ-หลักพื้นฐานต่าง ๆในการถ่ายภาพ  การถ่ายภาพเชิงศิลปะ  คอมพิวเตอร์กับการถ่ายภาพ  ช่องทางการประกอบอาชีพหารายได้จากการถ่ายภาพ    มีการพัฒนาสื่อเป็นชุดการเรียน ให้ทำกิจกรรมท้ายหน่วยการเรียนเป็นหลักฐานว่าปฏิบัติจริงเกิดการเรียนรู้  เป็นส่วนหนึ่ง ( 60 % ) ของการประเมินผล    มีการฝึกปฏิบัติภาคสนามกับอาจารย์ไม้และทีมงาน “19 สตูดิโอ” ในการถ่ายภาพจริง โดยแบ่งฐานการฝึกเป็น 6 ฐาน ( การใช้กล้อง และเทคนิคพิเศษต่าง ๆ ) ใช้เวลา 1 วันเต็ม มีการประเมินผลภาคสนามว่าผู้เรียนไดฝึกและเกิดทักษะจริงหรือไม่  มีใบรับรองความรู้การผ่านการฝึกภาคสนาม  ( ไม่ได้บังคับ เพราะนักศึกษากระจายอยู่ทั่วประเทศ )

         กระบวนการเรียน  นอกจากผู้เรียนจะศึกษาด้วยตนเองแล้ว มีการจัดอาจารย์ที่ปรึกษาให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ อีเมล และหน้าเฟซบุ๊ค รวมทั้งมีการสัมมนาประเมินผลเป็นส่วนสุดท้าย ( ให้ความรู้เพิ่มเติมโดยวิทยากร การสอบข้อเขียน การแสดงผลงานของนักศึกษา นักศึกษาคัดเลือกภาพของตัวเองมาประกวดชิงรางวัล )    ผู้ผ่านเกณฑ์จะได้รับวุฒิบัตรรับรองความรู้ที่ออกร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาทางไกล กับ 19 สตูดิโอ   ทั้งนี้ในการบริหารหลักสูตรได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากบริษัทแคนนอนมาร์เก็ตติ้ง ( MOU กัน 3 หน่วยงาน )

         คุณสมบัติผู้สมัครเรียน คือ ต้องเป็นผู้สนใจด้านการถ่ายภาพ และต้องมีกล้อง D-SLR ไม่ใช่กล้องคอมแพ็คหรือกล้องอัตโนมัติ ซึ่งต่างกันที่ฟังค์ชั่นการทำงาน )   ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเรียนการสอนรุ่นที่ 2  ผู้เรียนส่วนใหญ่สนใจวิธีการใช้กล้องให้ถ่ายภาพคมชัด  แต่การถ่ายภาพในปัจจุบันต้องเน้นที่ ความคมชัด ชัดตื้นชัดลึก และศิลปะด้านอารมณ์ความรู้สึก  การถ่ายภาพที่ดีต้องคิดก่อนถ่าย  ( ศิลปะ เป็นหัวใจของการถ่ายรูป และเป็นหัวใจของหลักสูตรนี้ )  ผู้เรียนไม่ต้องเป็นอะไรมาก่อนเลย ( แต่ควรศึกษาจิตวิทยาเป็นเบื้องต้น )  เมื่อเรียนจบจะมีผลงานการถ่ายภาพที่โชว์ได้  ผู้เรียนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในหลักสูตร ได้ประโยชน์ทุกคนแต่ไม่ได้ไปถึงเส้นที่เท่ากัน ( ผู้ที่เรียนการถ่ายภาพจะเป็นคนละเอียดอ่อน นุ่มนวล รู้จักรอคอย รู้จักจินตนาการ รู้จักวางแผน รักสิ่งแวดล้อม มีสมาธิ ไม่เครียด มีระเบียบวินัย ไม่อยู่ในจุดเสี่ยง )

         ค่าลงทะเบียนเรียน 2,500 บาท รวมทุกอย่างแล้ว ยกเว้นค่าเดินทางไปร่วมกิจกรรม   รุ่นที่ 3 เปิดรับสมัคร 1 พ.ย. - 9 ธ.ค.54  ดูรายละเอียดที่ www.dei.ac.th  หรือโทรศัพท์ 02 216 2685-7 ต่อ 15 

 

 

 

 

 รายการสายใย กศน.  วันที่  19  กันยายน  2554

   

         เรื่อง “กิจกรรมชมรมวิชาการของสถาบันการศึกษาทางไกล”

 

         ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช  สุพงษ์
         วิทยากร คือ
         - บุญส่ง คูวรากุล  ผอ.สถาบันการศึกษาทางไกล
         - วิไล แย้มสาขา  หัวหน้าส่วนจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
         - กนกศักดิ์ ใจกล้า  ที่ปรึกษาชมรมวิชาการ
         - ฤติมา ฤกษ์เขียว  เลขานุการชมรมวิชาการ
         - พัชราภรณ์ ติ๊บรัตน์  ประชาสัมพันธ์ชมรมวิชาการ

 

         องค์ประกอบในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาใด ๆ คือ สถานศึกษา ครูอาจารย์-เครือข่าย และผู้เรียน  ทั้ง 3 ส่วนต้องเชื่อมโยงพบปะปฏิสัมพันธ์กัน  แต่ในการจัดการศึกษาทางไกลของสถาบันการศึกษาทางไกล เป็นการศึกษาทางเลือกที่ออกแบบสำหรับผู้เรียนที่ไม่มีเวลามาพบกัน แม้แต่การพบกลุ่มสัปดาห์ละครั้งก็ไม่มีเวลา  จึงจัดการศึกษาทางไกลคล้าย มสธ.  โดยให้มีการพบกันผ่านทาง โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต (เว็บไซต์)   และหลักสูตรกำหนดว่าต้องพบกัน 1 ครั้ง (สัมมนา 20 ชั่วโมง ก่อนจบ)  รวมทั้งมีกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต 80 ชั่วโมง โดยอาจทำกับเพื่อนร่วมสถาบันซึ่งทำให้ผู้เรียนได้มาพบกัน  นอกจากนี้จะพบกันในช่วงปฐมนิเทศ-สอนเสริม(สัปดาห์เว้นสัปดาห์)-สอบ   อีกทั้งมีครูที่ปรึกษาที่ช่วยให้ติดต่อสัมพันธ์กันได้

         ถ้าสามารถทำในลักษณะให้เพื่อนช่วยเพื่อนได้ จะมีประโยชน์มาก  นักศึกษาจึงตั้งเป็น “ชมรมวิชาการ” (กิจกรรมนักศึกษา)  ขึ้น โดยชมรมคิดกิจกรรมเอง  เช่นนักศึกษาสมาชิกชมรมบางคนเก่งภาษาอังกฤษ ก็จัดกิจกรรม ติวช่วยเหลือแลกเปลี่ยน กับเพื่อนเป็นกลุ่ม ๆ  ( การจัดตั้งชมรมแต่ละชมรมต้องรวมตัวกันอย่างน้อย 10 คน  เสนอขอจัดตั้งกับสถาบันการศึกษาทางไกล  และขออนุมัติจัดกิจกรรมในแต่ละครั้ง  มีครูที่ปรึกษาชมรม  มีการสนับสนุนงบประมาณบางส่วน  มีการเสนอแผนฯและรายงานอย่างน้อยภาคเรียนละครั้ง )

         แรก ๆ มี “ชมรมนักศึกษา” “ชมรมภาษาอังกฤษ”  ตอนหลังเปลี่ยนชื่อจากชมรมภาษาอังกฤษเป็น “ชมรมวิชาการ”  กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 2 ปี  มีการประเมินการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง  มีการเลือกตั้งประธาน แล้วฟอร์มทีมงานคณะกรรมการ  ประชุมกับสถาบันฯอย่างน้อยภาคเรียนละครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการดำเนินงานต่าง ๆ

 

         ( ช่วงครึ่งหลังของรายการ คุยกับกรรมการชมรมวิชาการ )

         ชมวิชาการ ตั้งมา 5 ปีแล้ว มีกรรมการชมรม 4 รุ่นแล้ว ปัจจุบันมีสมาชิก 250 คน 
         วัตถุประสงค์ของชมรม

         - จัดกิจกรรมทางวิชาการที่สนับสนุนการเรียนและเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีส่วนในการทำกิจกรรมต่างๆ

         - เป็นตัวกลางในการส่งเสริมแลกเปลี่ยน ความรู้ระหว่าง นักศึกษาด้วยกันเอง หรือนักศึกษากับคณาจารย์และผู้มีความรู้ด้านต่างๆ รวมถึงให้คำปรึกษาด้านการเรียนและบริการด้านวิชาการ

         - เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมของทางชมรมและข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ให้แก่นักศึกษาของทางสถาบันและสมาชิกชมรมวิชาการ

         - สร้างเสริมความสัมพันธ์ ความสามัคคีในหมู่สมาชิก โดยไม่มีผลประโยชน์หรือวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องกับการเมือง  ไม่ขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดีงาม

 

         การติดต่อประสานงานในกลุ่ม ใช้วิธี การพูดคุยปากต่อปาก - เว็บไซต์ (มีเว็บบอร์ดของชมรม) - จดหมาข่าว - SMS - เฟซบุ๊ค - MSN    ปัจจุบันทำกิจกรรมแต่ละครั้งมีผู้ร่วม 150 กว่าคน  มีระเบียบชมรม  เลือกตั้งประธานทางไปรษณีย์เพราะนักศึกษากระจายอยู่ทั่วประเทศ ผู้สมัครเป็นประธานต้องมีผู้รับรอง 30 % ของจำนวนสมาชิก   คณะกรมการประกอบด้วย ประธาน-รองประธาน-เหรัญญิก-นายทะเบียน-ประชาสัมพันธ์-เลขานุการ-กรรมการ  รวม 18 คน   มีการตั้งโต๊ะชมรมในวันปฐมนิเทศ วันสอนเสริม วันสอบปลายภาค   มีคู่มือการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง (คู่มือประกอบด้วย ระเบียบ ตารางกำหนดการ เกมนันทนาการ ทีมงาน แบบประเมิน ฯลฯ)  หลังการจัดกิจกรรมจะมีการประชุมสรุปประเมินผลและเตรียมการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป

 

         ประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดกิจกรรม

         ประโยชน์ต่อคณะกรรมการ
         1. ฝึกทักษะการเป็นผู้นำ  ทักษะการพูดการติดต่อประสานงานต่าง ๆ

         2. ทักษะการเข้ากลุ่ม ที่มีหลากหลายอายุ
         3. กรรมการที่ร่วมทำงานจริง ได้รับชั่วโมง กพช. 60 ชั่วโมง
         ประโยชน์ต่อสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรม
         1. ได้ความรู้

         2. ได้พบปะกับอาจารย์ตัวจริง เพราะอาจารย์จะเข้าร่วมกิจกรรมและตอบคำถามต่างๆด้วย
         3. ได้ชั่วโมง กพช. ตามกิจกรรมที่ร่วม โดยไม่ต้องเขียนโครงการเอง  ( กิจกรรมส่วนใหญ่เริ่มจากเช้าจนค่ำ ได้ชั่วโมง กพช.ประมาณวันละ 10 ชั่วโมง )

   
หมายเลขบันทึก: 461513เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2011 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอขอบคุณ อ.เอกชัย สำหรับข้อมูลข่าวสาร

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ Ico48

เว็บลิ้งค์ ของนี ติดต่อที่ http://www.gotoknow.org/blog/korsornorlukchai นะคะ ที่ขึ้นไว้ไม่ได้ใช้ค่ะ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์เอก ขอบพระคุณมากค่ะสำหรับการสรุปสายใย กศน.ค่ะ
  • เอกสารเกี่ยวกับ ASEAN ไ้ด้ใส่ไว้ให้ในตู้เอกสารที่ สนง.จังหวัดแล้วนะค่ะ

- ผมเปลี่ยนลิ้งค์ในเว็บศูนย์รวมให้แล้วครับ Ico48 ถ้าเจอที่ผิดอีกก็ช่วยบอกอีกนะ

- ผมได้รับเอกสารเกี่ยวกับ ASEAN แล้ว Ico48 ขอบใจมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท