มติสภาองค์กรชุมชนระดับชาต 15 ก.ย.54


เสนอแก้ พรบ.สภาฯ สร้างความเข้มแข็งชุมชนกู้วิกฤติชาติ

มติประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชน  

15 ก.ย.2554 ณ ศุนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

 ปทุมธานี/ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา คณะกรรมการดำเนินการสภาองค์กรชุมชน ได้จัด “การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔”  ณ ห้องเอนกประสงค์ (๒๐๙) ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และพิจารณา ๕ แนวทางสำคัญการขับเคลื่อนในปี ๒๕๕๕ โดยมีตัวแทนสภาองค์กรชุมชนจากทั่วประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานภาคี เข้าร่วมการประชุมประมาณ ๓๐๐ คน

         นายจินดา บุญจันทร์ เลขานุการที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล กล่าวว่า ที่ประชุมระดับชาติฯ นอกจากมีมติในแนวทางการขับเคลื่อนด้านต่างๆ แล้ว ยังมีมติเห็นชอบให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการทบทวนแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.๒๕๕๑ และพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.๒๕๕๑ หลังพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับมีผลบังคับใช้ครบ ๓ ปี โดยให้คณะกรรมการดำเนินการสภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สภาพัฒนาการเมือง และขบวนองค์กรชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับการทบทวน แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับด้วย ทั้งนี้การขับเคลื่อนงานสภาองค์กรชุมชนตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา พบว่ายังมีปัญหาข้อติดขัดเกี่ยวกับประเด็นทางกฏหมายในบางประการ ที่อาจส่งผลต่อการขับเคลื่อนและการพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน และเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง

 ที่ประชุมได้มีมติ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

         ๑)      ทิศทางการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน ปี ๒๕๕๕

ในการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน ที่ประชุมได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงานใน ๓ ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่  สร้างความเข้มแข็งของสภาองค์กรชุมชนตำบลในการจัดการตนเอง ยุทธศาสตร์ที่  สร้างการเรียนรู้ การจัดการความรู้ การสื่อสารสาธารณะของคนในชุมชนท้องถิ่น และขยายผลโดยใช้รูปธรรมจากพื้นที่ โดยการจัดการความรู้ การพัฒนาระบบข้อมูล การติดตามประเมินผล และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ยุทธศาสตร์ที่  พัฒนาสภาองค์กรชุมชนตำบลให้มีประสิทธิภาพและประสานเชื่อมโยงกับภาคีการพัฒนา

      ๒)      มาตรการส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาสภาองค์กรชุมชน

เพื่อให้การกำหนดมาตรการการส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาสภาองค์กรชุมชน เป็นไปอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่ประชุมฯ ได้สรุปบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมา และกำหนดมาตรการในการส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาสภาองค์กรชุมชน โดยให้ พอช.ส่งเสริมการพัฒนาบุคคลากรเพื่อรองรับภารกิจในการส่งเสริมการจัดตั้งและพัฒนากิจการสภาองค์กรชุมชน โดยจัดจ้างอาสาสมัคร หรือพัฒนาบุคลากร ของ พอช.ให้มีความเข้าใจและทำหน้าที่ในการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนอย่างจริงจังและการพัฒนากิจการสภาองค์กรชุมชนตำบล ให้สามารถดำเนินการตามเป้าหมายสู่การจัดการกับปัญหาและความต้องการของคนในตำบล เป็นที่พึ่งของคนในตำบลได้ โดยอาจเป็นข้อเสนอหรือแผนงานพัฒนาทั้งระบบใน ๒ ระดับ ๑) จัดทำแผนพัฒนาให้สภาฯมีความเข้มแข็งสามารถจัดแผนงานพัฒนาหรือข้อเสนอจองตนเองได้ ๒) การจัดตั้งสมัชชาระดับตำบล โดยสภาฯที่มีความเข้มแข็งเป็นเจ้าภาพในการนำแผนของสภาฯ ไปบูรณาการกับเครือข่ายภาคีอื่นๆ เพื่อยกระดับเป็นแผนของคนทั้งตำบล

      ๓)      ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนา

เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติ ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล จึงได้ประมวลความเห็นจากสภาองค์กรชุมชนผ่านเวทีการประชุมระดับตำบล จังหวัด และภาค รวมถึงความเห็นจากเวทีสมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชน เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ โดยสามารถประมวลความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบาย และแผนพัฒนาด้านต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

๓.๑ ข้อเสนอต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจ

รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการมุ่งสร้างความเข้มแข็งในภาคเกษตรโดยการลดภาระหนี้สินของเกษตรกร สนับสนุนระบบเกษตรปลอดสารเคมีและเกษตรอินทรีย์ พัฒนาระบบตลาดที่เป็นธรรมด้านราคาของพืชผลการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร อันจะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ของเกษตรกร รวมถึงสร้างระบบความมั่นคงทางอาหารในสังคมไทย เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าร่วมประชาคมอาเซียน

ประเด็นข้อเสนอ ได้แก่ หนี้สินเกษตรกร การสร้างรายได้ ราคาผลผลิตทางการเกษตร เกษตรพันธะสัญญาและความมั่นคงทางอาหาร การค้าเสรีและประชาคมอาเซียน

 ๓.๒ ข้อเสนอต่อนโยบายสังคม

มุ่งพัฒนาสังคมโดยเน้นแนวทางปลูกจิตสำนึกคุณธรรมจริยธรรม ใช้ศาสนาและวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือและให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทหลักในการจัดการ ปัญหายาเสพติดและการพนัน แรงงานข้ามชาติ เด็กและเยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์และคนไร้รัฐ บนหลักการสิทธิมนุษยชน

 ประเด็นข้อเสนอ ได้แก่ ศาสนาและวัฒนธรรม ยาเสพติดและการพนัน แรงงานข้ามชาติ ผู้หญิง เด็กและเยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มคนไร้รัฐ

 ๓.๓ ข้อเสนอต่อนโยบายกฎหมายและโครงสร้าง

รัฐบาลควรดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างในทุกระดับ โดยให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการปรับปรุงโครงสร้างรัฐ และออกแบบโครงสร้างองค์กรปกครองท้องถิ่นให้เหมาะกับบริบทพื้นที่ เนื้อหาสำคัญ คือ “การกระจายอำนาจในรูปแบบ ชุมชน/ท้องถิ่น/จังหวัด จัดการตนเอง” หรืออาจจะเรียกชื่ออื่นๆ ที่ภาคประชาชนสามารถเข้าใจได้ ภารกิจปฏิรูปประเทศไทย มีเนื้อหาสองประการ คือ นวัตกรรมปรับปรุงกลไกองค์กร และ การสร้างขบวนการภาคประชาชน ในการเข้าร่วมภารกิจปฏิรูปประเทศไทย ภารกิจสองประการนี้จะต้องดำเนินการเป็นองค์รวมร่วมกันเพื่อให้เกิดความคืบหน้าความสำเร็จที่วัดผลได้

 ประเด็นข้อเสนอ ได้แก่ กำจัดการทุจริตคอรัปชั่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การพัฒนาภาคใต้ การเสริมสร้างความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ปกครองพิเศษเพื่อให้จังหวัดจัดการตนเอง

 ๓.๔ ข้อเสนอต่อนโยบายคุณภาพชีวิต

ยกระดับการพัฒนาสุขภาวะชุมชนท้องถิ่นสู่การจัดการตนเอง สร้างคุณภาพการศึกษาเพื่อชีวิต จัดให้มีกองทุนชุมชนท้องถิ่นและกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อยกระดับสังคมไทยให้เป็นสังคมสวัสดิการตลอดชีพ

ประเด็นข้อเสนอ ได้แก่ สุขภาพ กองทุนชุมชนท้องถิ่นและกองทุนสวัสดิการชุมชน การศึกษา

 ๓.๕ ข้อเสนอต่อนโยบายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ส่งเสริมการดูแล อนุรักษ์ จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงต้นทุนชีวิต สิทธิชุมชน ระบบนิเวศ เปิดโอกาสให้องค์กรชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และบริหารจัดการ บนหลักการมีส่วนร่วม “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ ร่วมติดตามประเมินผล ร่วมรับประโยชน์”

 ประเด็นข้อเสนอ ได้แก่ ที่ดิน/ที่อยู่อาศัย การจัดการน้ำ/ลุ่มน้ำ/น้ำโขง การจัดการน้ำและลุ่มน้ำ ป่าไม้ เหมืองแร่ การจัดการภัยพิบัติ การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง การจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พลังงาน และมาตรการเร่งด่วนด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

        ๔) การศึกษาความเป็นไปได้ในการทบทวนและแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.๒๕๕๑ และพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการมือง พ.ศ.๒๕๕๑

จากการขับเคลื่อนงานสภาองค์กรชุมชนตลอดระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา พบว่ายังมีปัญหา ข้อติดขัดเกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมายในบางประการ ที่อาจส่งผลต่อการขับเคลื่อนและการพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน และเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง

ในส่วนของสภาพัฒนาการเมือง พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๔๑ บัญญัติว่าเมื่อครบกำหนดสามปี นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้สภาพัฒนาการเมือง พิจารณาทบทวนว่าสมควรยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ขบวนองค์กรชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่ควรเสนอเพื่อพิจารณาแก้ไข เพิ่มเติมใน พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๑ และ พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.๒๕๕๑ โดยอาจจัดให้มีผู้แทนเข้าร่วมในการศึกษาประเด็นเพื่อทบทวน แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ 

ข้อเสนอ ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษา ทบทวน แก้ไข เพิ่มเติม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.๒๕๕๑ และ พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.๒๕๕๑ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง หลัง พ.ร.บ.ทั้ง ๒ ฉบับมีผลบังคับใช้ครบ ๓ ปี

         ๕)      ทบทวนการดำเนินงานของที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล

ตามที่ ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ได้เห็นชอบให้มีกติกาที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ.๒๕๕๒ ว่าด้วย การดำเนินการของที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ.๒๕๕๒ และได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา

ตามกติกาในหมวดที่ ๓ ส่วนที่ ๑ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการ โดยให้ที่ประชุมในระดับชาติ เลือกผู้แทนจำนวนไม่เกิน ๒๗ คน และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน ๖ คน รวม ๓๓ คน เป็นกรรมการ นอกจากนี้ คณะกรรมการดำเนินการ ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานสภาองค์กรชุมชนประจำภูมิภาค ๕ ภาค เพื่อเป็นกลไกติดตาม ส่งเสริมการขับเคลื่อนงานสภาองค์กรชุมชน

คณะกรรมการดำเนินการ ได้ดำเนินการตามบทบาทภารกิจที่ได้รับมอบหมาย นับตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๒ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในการนี้ จึงเห็นควรเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาทบทวนกลไกการดำเนินงานของที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล  

ทั้งนี้การส่งเสริมการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบัน (กันยายน ๒๕๕๔) มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลรวมทั้งสิ้น ๒,๖๗๗ แห่ง คิดเป็นร้อยละ ๓๓.๖ ของจำนวนตำบล/ เทศบาล/ เขตทั่วประเทศ

สรุปย่อจากข้อมูลจากเวป พอช. 18 ก.ย.54

หมายเลขบันทึก: 461400เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2011 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 05:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับคุณสมพงษ์

เสียดายที่ไม่ได้เข้าร่วมเวที

วันนั้นติดเวทีอยู่ที่ สถาบันพระปกเกล้า ได้พบกับนายหัวจินดา เมื่อวันที่12 ที่ถาบัน

มติ ตัวหนังสือ ที่ออกมา โอเค.เป็นความชอบธรรมของภาคประชาชนที่จะอ้าง.. แต่ความสำเร็จจริงอยู่ที่การปฎิบัติ

ต้นอาทิตย์หน้านี้ แกนนำจะคุยกันอีกรอบ กำหนดงานเดินต่อไป

ขอบคุณที่ติดตาม

สภาองค์กรชุมชน โจทย์ อยู่ที่ชุมชน แต่ภาคการขับเคลื่อน ระดับนโยบาย

ฝากแกนนำในการทำให้ชุมชนจัดการตนเอง ว่าจะมี นโยบาย ร่วมไปทางไหน

ขอบคุณและจะติดตามข่าว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท