มคอ. ทำไปได้ประโยชน์จริงหรือ ?


มคอ. = โม้คุยอวด

มคอ. ทำไปได้ประโยชน์จริงหรือ ?

อ.วิชัย กอสงวนมิตร  คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

(บทความนี้เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับวันที่ 15 ก.ย. 54)

                หากคุณไม่ได้ทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย   คุณคงจะสงสัยว่า มคอ. มันคืออะไร ?

                แต่หากคุณเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย   ไม่ว่าจะสอนอยู่ที่ไหนก็ตาม  หลายคนถึงกับร้องอุทารณ์ว่า  แม่คุณเอ๊ย !

                มคอ.  มาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ  เกิดขึ้นจากความหวังดีของ สกอ. หรือสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา  ที่ต้องการเห็นการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาของไทย  มีทั้งคุณภาพและมาตรฐาน  เป็นนโยบายใหม่ที่กำหนดให้ทุกวิชาจะต้องจัดทำ มคอ.  ตามรูปแบบที่ สกอ. กำหนดขึ้น  ดังนั้น  อาจารย์แทบทุกคนจึงต้องมีหน้าที่ในการทำ มคอ. 3 หรือ มคอ.4  ตั้งแต่ก่อนเริ่มเปิดภาคเรียน  จนถึงเมื่อสอนเสร็จ นักศึกษาสอบได้เกรดเรียบร้อยแล้ว  ก็ต้องทำ มคอ.  5  ขึ้นมาเปรียบเทียบอีกครั้ง

                ดูเหมือนว่าหลักการนี้ฟังแล้วก็น่าจะดี   แต่ความเป็นจริงแล้ว  ผมอยากจะพูดตรงนี้เลยว่า  เสียเวลา เสียเงิน  ได้ประโยชน์ไม่จริงครับ  แล้วผมจะได้อธิบายต่อไป.....

 

                ความคิดที่อยากให้สถาบันการศึกษาทุกแห่ง  สอนให้ได้มาตรฐานเดียวกันนั้น  เป็นความคิดที่ดีแต่ทำไม่ได้มาตลอดของผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษาของไทย  เป็นที่รู้กันมาตลอดว่า สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงนั้น  ย่อมจะจัดการเรียนการสอนได้ดีกว่า  โดยที่นักเรียนและผู้ปกครองต่างก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อเข้าไปเรียนให้ได้   ส่วนสถาบันการศึกษาที่ไม่ค่อยมีชื่อ  หรือห่างไกลความเจริญ   นักเรียนก็ไม่มีคุณภาพ  คนสอนก็ไม่มีกำลังใจ   ปัญหาไม่ได้เกิดจากความตั้งใจในการทำงาน   แต่หากเกิดจากการให้สิ่งจูงใจกับครูและนักเรียน  ในการไปเรียนหรือสอนในโรงเรียนที่ไม่มีชื่อเสียงต่างหาก   ต่อให้ฝ่ายกำหนดนโยบาย  จะสร้างมาตรฐานกฏเกณฑ์อย่างไร  ก็ไม่มีทางทำให้คุณภาพการจัดการศึกษาทัดเทียมกันในทุกแห่ง   ดังนั้น   แทนที่จะไปคิดวางกรอบสร้างมาตรฐาน   ควรเอาเวลาและสมองไปคิดหาทางสนับสนุนช่วยเหลือสถาบันการศึกษาที่ด้อยกว่าไม่ดีกว่าหรือ ?

                ยิ่งสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วยแล้ว  ความแตกต่างของเนื้อหาหลักสูตรของแต่ละสถาบันย่อมจะผิดกันอย่างมาก  มหาวิทยาลัยมีทั้งของรัฐและเอกชน  มีทั้งมหาวิทยาลัยเปิดและมหาวิทยาลัยปิด  ประกอบกับนโยบายของมหาวิทยาลัยจำนวนมาก  ก็เน้นการจัดการเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น   บางมหาวิทยาลัยมีการรับนักศึกษาโควตา  ก็คือนักเรียนในท้องถิ่นที่เรียนแค่พอใช้ได้เข้ามาเรียนต่อ  บางมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาในโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ  ซึ่งจำนวนนี้บางคนภาษาไทยก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร  แนวความคิดที่ต้องการให้การเรียนการสอนในทุกวิชา  ต้องอยู่ในกรอบมาตรฐานที่ สกอ. อยากให้เป็น   จึงเป็นสิ่งที่ขัดกับความเป็นจริงในการปฏิบัติไปโดยปริยาย

                ที่จริงแล้ว  ที่ผ่านมาในการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย  แต่ละแห่งก็ได้กำหนดให้อาจารย์ผู้สอนทำแผนบริหารการสอนประจำวิชาอยู่แล้ว  ในแผนบริหารการสอนนี้  จะต้องมีวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายของวิชา  และรายละเอียดต่างๆ ที่จำเป็นครบถ้วนอยู่แล้ว    แต่การที่ สกอ. กำหนดให้เขียนผลการเรียนรู้ ทั้งทักษะด้านคุณธรรม ความรู้ ปัญญา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการวิเคราะห์เชิงตัวเลขตลอดจนการสื่อสารการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในทุกวิชาอย่างละเอียด  จึงเป็นการสร้างงานให้อาจารย์ผู้สอนเพิ่ม  โดยผลที่ออกมาที่แท้จริงของ มคอ. คือ โม้คุยอวด  เพราะอาจารย์ทุกคนก็จะพยายามเขียนให้ตรงตามรูปแบบที่ถูกกำหนดขึ้น  และพยายามใส่เข้าไปให้ดูดีและให้ได้มากๆ ครบทุกหมวดตามที่ถูกกำหนดมา  ซึ่งก็ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับอาจารย์ที่จะเขียนให้เสร็จ  เพราะขนาดแต่งตำราเป็นเล่มก็ยังทำได้  เพียงแต่จะต้องเสียเวลาทำ มคอ.  ในทุกวิชาถึงภาคการศึกษาละสองครั้ง  และแถมยังต้องเสียเวลากับรูปแบบที่ต้องทำให้ถูกต้อง แม้กระทั่งฟอนต์ตัวพิมพ์และตัวเลขไทยหรืออารบิค ที่ถูกกำหนดขึ้นให้ทำให้เหมือนๆ กันในทุกวิชา  ทำให้ต้องแก้ไขหลายรอบกว่าจะแล้วเสร็จ

                ความคิดในเชิงการบริหารที่ต้องการให้เป็นไปในทางเดียวกันนั้น  เป็นแนวคิดที่สร้างปัญหาให้กับประเทศไทยอย่างมากในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา  การพัฒนาประเทศที่รัฐเป็นผู้กำหนดแนวทาง ทำให้เกิดการปิดกั้นภูมิปัญญาชาวบ้านและท้องถิ่น   กว่าจะรู้ว่าผู้กำหนดนโยบายกำหนดนโยบายผิดทาง  ความหลากหลายของความรู้ สังคม วัฒนธรรม  ก็ถูกทำลายไปแล้วอย่างมากมาย   การศึกษานั้นเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ   ผมจึงจะขอถามว่า  จะมีประโยชน์อันใด  หากทุกวิชามีมาตรฐานตามที่เขียนไว้  แต่บัณฑิตที่จบออกมา  ไม่สามารถทำงานสนองความต้องการของสังคมได้ดี ?

                ยิ่งไปกว่านั้น  สกอ.คงจะเข้าใจผิดไปว่า  นักศึกษานั้นเป็นเหมือนวัตถุดิบของโรงงานอุตสาหกรรม  ที่ครูอาจารย์จะต้องสร้างให้กลายเป็นบัณฑิตที่ออกมาคุณภาพแบบเดียวกัน   ทั้งที่ที่จริงแล้ว  มนุษย์ทุกคนมีข้อเด่นและความสามารถที่แตกต่างกัน  นักศึกษาที่เรียนในวิชาเดียวกัน  แต่เป็นคนละชั้นปีกัน หรือมีพื้นฐานชีวิตที่แตกต่างกัน  อาจารย์อาจจะเน้นการสอนที่ไม่เหมือนกัน   บางคนอาจจะต้องละเว้นการพัฒนาบางด้าน แต่ไปเน้นพัฒนาด้านที่จำเป็นยิ่งยวดก่อน   การกำหนดเพียงวัตถุประสงค์รายวิชาและเนื้อหาที่จะเรียน   จึงเป็นการกำหนดที่ยืดหยุ่นต่อเชิงปฏิบัติ  ส่วนการกำหนดตาม มคอ. แบบใหม่นี้  ซึ่งจะต้องมีการเปรียบเทียบวัดผลตามที่กำหนดไว้ในทุกด้าน  จึงเป็นการวัดประสิทธิภาพของการสอนที่ไม่น่าจะถูกต้อง  เพราะพอไม่อยากให้ผลงานออกมาไม่ดี  ก็จะต้องพยายามเขียนรายงานให้ผลการสอนออกมาตรงตาม มคอ.ที่เขียนไว้   จึงเท่ากับอาจารย์จำเป็นต้องหลอกตัวเองและหลอกผู้บริหารการศึกษาไปพร้อมกัน  ดังนั้น  สิ่งที่เขียนใน มคอ. จึงอาจกลายเป็น มั่วจนครบทุกอย่าง ไปโดยปริยาย

                ณ. เวลานี้  อาจารย์ทุกคนนอกจากจะต้องเหน็ดเหนื่อยกับการสอนนักศึกษา  ที่จำนวนมากมีความตั้งใจในการเรียนลดน้อยลง  ท่ามกลางปัญหาสังคมรอบด้าน   สกอ. ได้มีส่วนช่วยก่อปัญหาให้กับการอุดมศึกษาอีกครั้ง   ผมรู้สึกเบื่อหน่ายจริงๆ  กับผู้บริหารบ้านเมืองนี้  ที่มักจะไปเอาแบบอย่างจากต่างประเทศมาใช้ในประเทศไทย  โดยไม่เข้าใจว่า  ทำไปเพื่ออะไร  และได้ประโยชน์จริงหรือ ?  มคอ. จึงแทบไม่ต่างกับฉลากคำเตือนสินค้าทุกประเภท  ที่กำหนดให้สินค้าทุกชนิดต้องติดข้อแนะนำการใช้และคำเตือนไว้   โดยที่ผู้สั่งไม่เคยรู้หรอกว่า  มันได้สร้างภาระและค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลให้กับธุรกิจในประเทศไทย   และคำเตือนที่ติดไว้แทบจะไม่เคยมีผู้บริโภคคนใดที่สนใจได้อ่านเลย !

                เช่นเดียวกันครับ  มคอ. ที่ทำขึ้นมา  ผมเชื่อว่าจะมีอาจารย์เพียงไม่กี่คน  ที่ทำมคอ.แล้ว ได้นำมาทบทวนและปฏิบัติตาม มคอ.  และเป็นที่แน่นอนว่า  ทุกคนจะต้องทำ มคอ. เสร็จทั้งก่อนเริ่มสอน  และหลังจากปิดคอร์สแล้ว  เพียงเพราะเป็นหน้าที่ที่จะต้องจัดทำ  ในที่สุด มคอ. ก็จะกลายเป็นเครื่องมือ มัดคออาจารย์  ให้ทำงานลำบากขึ้น

                เปลี่ยนใจเถอะครับ...อะไรก็ตามที่ทำแล้วดี มีประโยชน์   หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งประชาชนเขาคิดเองเป็น   งานราชการควรเป็นงานส่งเสริม  ไม่ใช่ออกกฏเกณฑ์กำกับโดยไม่จำเป็น   ยิ่งกฏเกณฑ์ที่ไม่เข้าท่าด้วยแล้ว  ทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์  ซ้ำเกิดความเสียหายอีกด้วย   ผมอยากจะให้ข้อคิดก่อนจบบทความนี้ว่า  “หากนำไข่มาขายชั่งเป็นกิโลฯแล้วง่าย ประหยัดต้นทุนจริง  พ่อค้าเขาคิดเองเป็นครับ  เขาทำไปนานแล้ว  ดังเช่นทุเรียนที่ขายชั่งกิโลฯมาหลายสิบปีแล้ว  ไม่เห็นต้องมีหน่วยราชการสั่งหรือแนะนำเลย”  แต่มคอ.นี่  ไม่ใช่เป็นแค่ข้อแนะนำ  ท่านสั่งให้ทุกสถาบันต้องทำ.......ดังนั้น   โปรดยกเลิกคำสั่งเถิดครับ.....เพราะ มคอ. นี้  ไม่มีใครเอา !

 

หมายเหตุ  บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน  ไม่ได้เขียนในนามของสถาบันการศึกษาที่ทำงาน

คำสำคัญ (Tags): #tqf#มคอ
หมายเลขบันทึก: 461211เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2011 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท