การจัดการความคิด - ล้า เบื่อ เหนื่อย


ขอบคุณคุณภาวนา คุณสุรัสวดี และทีมงานที่ให้โอกาส ดร.ป๊อป ได้แนะนำโปรแกรมการจัดการตนเอง (ความล้า) ด้วยกิจกรรมบำบัดจิตสังคมแก่ผู้สนใจ 30 ท่าน

หลังจากคุณหมอสุพัตรา รังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษามะเร็ง ได้แนะนำ 5 อ. ได้แก่ อาหารดี (ผัก ผลไม้ เห็ด ถั่ว) อากาศดี ออกกำลังกายดี อารมณ์ดี และอุจจาระดี (รวมถึงอนามัยของการขับถ่ายของเสียจากภายในและภายนอกร่างกาย)

ดร.ป๊อป จึงแนะนำกิจกรรมบำบัดจิตสังคม (คิดบวกต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบตนเอง) ในผู้ที่กำลังดูแลผู้ที่เป็นมะเร็ง ผู้ที่กำลังเป็นมะเร็ง และผู้สนใจ รวม 30 ท่าน แต่คละผู้เข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมบำบัดที่หลากหลาย เช่น ผู้ที่ชอบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้ที่ชอบเล่าเรื่อง ผู้ที่ชอบทำตามผู้สอน เป็นต้น

กิจกรรมบำบัดจิตสังคมในรูปแบบ "การจัดการความล้าด้วยตนเอง" ใน 3 ช่วงเวลาๆ ละ 30 นาที รวม 90 นาที ได้แก่

1. กิจกรรมการสื่อสารกับตนเอง เน้นการอยู่เงียบๆ กับตนเอง ใช้เวลาสื่อสารในใจของตนเอง ว่า "สบายๆ ผ่อนคลาย หากสัมผัสชีพจรพบว่าเร็วกว่า 90 ครั้งต่อนาที สู้ๆ มั่นใจ หากสัมผัสชีพจรพบว่าช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที" จากนั้นฝึกจิตและสมองในการสังเกตคนรอบข้างแล้วจับกลุ่มวันเกิดเดียวกันโดยเปรียบเทียบระหว่างการรวมกลุ่มแบบสื่อสารภาษาท่าทางกับแบบวาจา" จากนั้นคิดทบทวนกิจกรรมการดำเนินชีวิตในอาทิตย์ที่ผ่านมากับเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม แล้วคิดรับรู้คะแนนความล้าจาก 0 (ไม่ล้า)-1 (ล้าน้อยที่สุด)-10 (ล้ามากที่สุด) พบว่าผู้ร่วมกิจกรรมนี้มีความล้าใน 1-3 กิจกรรมที่มีความล้ามากกว่า 7 คะแนนขึ้นไป แต่มีหลายกิจกรรมการดำเนินชีวิตหรือสาเหตุที่จัดการได้ยากเนื่องจากเป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อม ส่วนที่จัดการกิจกรรมการดำเนินชีวิตได้บ้างเกิดจากการหากิจกรรมที่สนใจและเบี่ยงเบนจากสถานการณ์ชีวิตที่เป็นมะเร็งชั่วครู่  

สรุปบทเรียน: การฝึกสื่อสารกับใจของตนเองและผู้อื่นเป็นเคล็ดลับหนึ่งในการพัฒนาสมองและจิตไม่ให้ล้าได้ หากมีอาการล้า 7/10 ขึ้นไปให้ลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น แต่เมื่อพบว่าประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจัดการได้ยากและควร "ทำใจ" ส่วนประเด็นปัญหาที่อาจจัดการได้คือ กิจกรรมการดำเนินชีวิตที่ต้องเลือกมาพูดคุยเพื่อเน้นกระบวนการแก้ไขปัญหามากกว่าการบ่นระบายความทุกข์ใจภายในกลุ่ม ดร.ป๊อป สังเกตว่า "ค่อนข้างสื่อสารทางจิตวิทยาภายในกลุ่ม เพราะมุ่งเป้าไปที่สมาชิกที่กำลังระบายความทุกข์ใจมากกว่า และมีเวลาจำกัดในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้"

2. กิจกรรมสมาธิที่หลากหลาย คือ การหลับตาฟังเสียง การสัมผัสเสียงเต้นหัวใจและการเกร็งหน้าท้องพร้อมหายใจเข้าออกระหว่างจมูกและปาก การหลับตาจับชีพจรตนเองและเพื่อน การลืมตามองไปข้างหน้าแล้วเคลื่อนไหวทรงตัวตามดร.ป๊อป การฟังเสียงดนตรีหลายจังหวะพร้อมหายใจตามใจ และการเปล่งเสียงดังๆ เก่ง กล้า ดี มีสุข

สรุปบทเรียน: สมาชิกทุกท่านในกลุ่มได้เรียนรู้และรู้สึกสบาย มีสมาธิ ปลอดโปร่ง และมีอาการเหนื่อยบ้างในการเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนรูปแบบอย่างเร็วในเวลาที่จำกัด ดร.ป๊อป จึงสรุปว่า "เป็นการเรียนรู้ความรู้สึกในหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ ในแต่ละบุคคล ในบรรยากาศที่มีฝึกการควบคุมสิ่งเร้าล้อมรอบตัวเรา"

3. กิจกรรมการผ่อนคลายและวาดรูปขณะฟังเพลงให้กำลังใจ ปิดท้ายในการเกร็งคลายกล้ามเนื้อตามลำดับส่วน การนวดกล้ามเนื้อแขน-ขา-ลำตัวด้วยตนเอง การออกเสียงอา-อู-อี และการสัมผัสไออุ่นบนหน้าหลังการถูมือสองข้าง และการกระตุ้นความกล้าที่จะไปวาดรูปเติมความสุขระหว่างกัลยาณมิตรนอกกลุ่ม

สรุปบทเรียน: สมาชิกหลายท่านใช้เวลาผ่อนคลายวาดรูปกับตนเอง ต่างคนต่างทำ มีโอกาสน้อยมากที่จะวาดรูปให้กับเพื่อนภายในกลุ่ม แต่เมื่อกระตุ้นให้เปิดใจและความกล้าในการเดินออกไปที่กลุ่มอื่น ก็แสดงบรรยากาศที่เป็นมิตรมากขึ้น แต่ด้วยเวลาจำกัดจึงไม่เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "ชีวิตที่มีพลังความสุข" มากนัก และควรจัดกลุ่มให้มีขนาดพอๆ กัน เช่น นับ1-10 แล้วแยกกลุ่มจะรู้สึกอบอุ่นกว่าการจัดกลุ่มแบบวันเกิด

ดร.ป๊อป ได้บทเรียนที่มีคุณค่าว่า "การจัดโปรแกรมในวันนี้มีพลวัตกลุ่มในทักษะการจัดการตนเองไม่เกิน 50% ของแต่ละบุคคล เนื่องจากความหลากหลายของตัวกิจกรรมที่มากเกินไปและเร่งรัดช่วงเวลาทำกิจกรรมมากเกินไป" นี่คือบทเรียนในการจัดสื่อการบำบัดทางกิจกรรมบำบัดในคนไทยที่มีโรคมะเร็งในอนาคต ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้เวลาจัดโปรแกรม 6 สัปดาห์ๆ ละ 2 ชม.

   

หมายเลขบันทึก: 461068เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2011 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

บางครั้งบางคราอาจเกิดขึ้นได้ครับ

ขอบคุณมากครับ อ.โสภณ คุณ Ka-Poom และคุณตัณฑุลาวัฒน์

น่าสนใจมากคะ กิจกรรมแบบนี้ให้ผู้ป่วยไปปฎิบัติที่บ้านได้ด้วย

บำบัด อาการอ่อนเพลีย ด้วยการประยุกต์เจริญสติ ที่หลากหลาย แล้วแต่ธรรมชาติแต่ละบุคคล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท