บันทึกความทรงจำ "แห่งสถานที่"


                เมือง, สถาปัตยกรรม, สถานที่ หากพูดในเชิง(อภิ)ปรัชญาแล้วก็คือการดำรงอยู่รูปแบบหนึ่งที่ปรากฎออกมาทางกายภาพ หลายคนเกี่ยวข้องกับกายภาพเหล่านี้ในฐานะพื้นที่แห่งการผลิตทางเศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย หรือพื้นที่แห่งการปฏิบัติการทางสังคมเพื่อการเจิญเติบโตของชีวิต ฯลฯ สำหรับหลายคน พื้นที่ทางกายภาพมีความหมายแตกต่างหลากหลายตามแต่ละประสบการณ์ของบุคคลที่ได้รับ ปฏิบัติการและความเป็นชีวิตปกติประจำวันได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า “ความทรงจำ” ทีมีต่อเวลาและสถานที่ในชั่วขณะหนึ่ง

                ความทรงจำเป็นสิ่งพิเศษอย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์ ไม่อย่างนั้น มนุษย์คงไม่ทำอะไรหลายๆ อย่างเพื่อเก็บและตอกย้ำความหมายบางอย่าง ผ่านการแสดงออกในวัตถุ ในฐานะ “ของ” แห่งความทรงจำ กวีบันทึกความทรงจำผ่านตัวหนังสือ จิตรกรบันทึกลงในภาพเขียน หลายครั้งที่ความทรงจำมักเป็นจินตนาการถึงเหตุการณ์ที่มีสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น สถานที่ซึ่งเราเคยเรียนหนังสือ สถานที่ซึ่งเราเคยทำงาน ฯลฯ ความทรงจำได้ถูกกล่าวถึงในฐานะองค์ประกอบหนึ่งในการศึกษาด้านภูมิศาสตร์และสถาปัตยกรรม ซึ่งผมสนใจอยากจะขยายความถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “สถานที่” ในฐานะพื้นที่กายภาพและ “ความทรงจำ” ในฐานะพื้นที่ทางจินตภาพ ที่ฝ่ายแรกมีลักษณะสถิตย์สูง แต่กลับกันโดยฝ่ายหลังมีลักษณะเลื่อนไหล ซึ่งธรรมชาติของเหตุการณ์ในอดีตที่เรากล่าวถึงมักเป็นการปรากฏของสองสิ่งนี้พร้อมๆ กันอยู่บ่อยครั้ง

              ความทรงจำต่อสถานที่ในระดับบุคคลอาจจะมีหรือไม่มีความหมายก็ได้ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวเจ้าประจำหน้าปากซอย สี่แยกที่เราเคยได้รับอุบัติเหตุ ถนนที่หัดขับรถครั้งแรก ฯลฯ แต่ความทรงจำสาธารณะนั้นมักมีความหมายเสมอโดยเริ่มต้นจากการสร้างความทรงจำเฉพาะกลุ่มไปสู่การแสดงออกต่อคุณค่าเหล่านี้ให้เป็นความทรงจำสาธารณะในรูปแบบต่างๆ โดยอาศัยพลังของสถานที่และวัตถุกำกับ อาทิ รูปปั้น จตุรัสเมือง หรืออนุสาวรีย์  เพื่อ (พยายาม) หมายให้คนทั่วไปมีความทรงจำต่อสิ่งหนึ่งๆ อย่างเดียวกัน

              ส่วนความทรงจำสาธาณะมักจะมีไว้เพื่ออะไรนั้น ผมเองอยากจะกล่าวถึงอยู่สองประเด็น ได้แก่ ประการแรก ความทรงจำร่วมกันสาธารณะได้ถูกฉวยใช้โดยมีลักษณะเสมือนภาชนะเพื่อห่อหุ้มความแตกต่างกัน (ในหลายเรื่อง) มาสู่ความเป็นพวกเดียวกัน (ในบางเรื่อง) กลุ่มคนภายในรัฐชาติหรือชาติพันธุ์หนึ่งๆ ย่อมต้องมีจินตนาการหรือความเข้าใจร่วมอย่างเดียวกันต่อประวัติศาสตร์ และสถานที่ เช่น การที่ชาวยิวโดยรวมมีความรู้สึกร่วมเฉพาะบางอย่างต่อค่าย Auschwitz (ค่ายกักกันชาวยิวที่ใหญ่ที่สุดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) แม้ชาวยิวเหล่านั้น บางคนอาจไม่ได้มีประสบการณ์ตรงในค่ายเลยก็ตาม หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีความหมายพิเศษเฉพาะสำหรับคนบางกลุ่ม อย่างต่อคนเดือนตุลา โดยที่คนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ตรงอาจเข้าใจหรือรู้สึกได้ไม่หมด เนื่องจากเหตุการณ์เป็นปรากฎการณ์ในเงื่อนเวลาที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ แต่การสร้างประสบการณ์หรือความทรงจำร่วมผ่านสถานที่นั้นมีพลังอย่างมาก

                ประการที่สอง สิ่งที่เรียกว่าความทรงจำเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเวลาและมีความเป็นพลวัตในลักษณะไม่ต่อเนื่องกับสถานที่อยู่เสมอ ความทรงจำของคนยุคหนึ่งต่อสถานที่หนึ่ง ย่อมอาจแตกต่างจากคนอีกยุคหนึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นสถานที่เดียวกันหรือสถานที่ที่จัดว่ามีความทรงจำสาธารณะเข้มข้นมากก็ตาม ตัวอย่างเช่นคนที่มีอายุ 50 - 60 ปีขึ้นไป ณ วันนี้อาจมีความทรงจำพิเศษต่อสถานที่อย่าง วังบูรพา ศาลาเฉลิมไทย แต่สถานที่เหล่านี้สำหรับวัยรุ่นแล้ว ไม่ใช่ไม่มีความหมายโดยสิ้นเชิง แต่มีความหมายไม่เหมือนกับคนรุ่นพ่ออย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าจะมีภาพเหตุการณ์ อาทิ ภาพถ่าย บันทึก เรื่องเล่า มากำกับให้เกิดความทรงจำอย่างเดียวกันกับคนรุ่นก่อนก็ตาม แต่บรรยากาศแห่งสถานที่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา ดังนั้นจึงส่งผลให้ความทรงจำและความหมายต่อสถานที่ลดพลังในการส่งผ่านจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งเสมอ

               สิ่งนี้เองเป็นหนึ่งในแรงขับดันของความพยายามในการสร้างวาทกรรมการอนุรักษ์ การฟื้นฟูกิจกรรม การหวนระลึกอคิตและความทรงจำบางอย่างให้กลับคืนมา เพื่อให้คุณค่า ทัศนคติ และความหมายของสิ่งต่างๆ ในฐานะสิ่งจรรรโลงมนุษย์และสังคม ได้ดำเนินต่อไปได้ เพราะความหมายของสถานที่แปรเปลี่ยนไปตามประสบการณ์และความทรงจำที่กระทบปฏิสัมพันธ์กับสถานที่นั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องมากกว่าการสร้างแนวคิดเพียงอย่างเดียว แต่ยังคงเป็นวิถีแห่งการปฏิบัติการซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน

หมายเลขบันทึก: 460958เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2011 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท