กิจกรรมบุญ


กิจกรรมบุญ อิ่มกายจิต แบ่งปันระหว่างกัน เรียนรู้วิถีไทใหญ่ผ่านอาหารข้าวซอยหนากและเนื้อส้มอุ่น

 

          

 

         วันศุกร์ ที่  16 กันยายน 2554  ได้เดินทางร่วมกิจกรรมบุญกับ ดร. พระปลัดเสน่ห์ ธมมวโร ที่อำเภอเวียงแหง  จังหวัดเชียงใหม่   ผู้ร่วมเดินทางประกอบด้วย  ป้าเล็ก  นักแสวงบุญและจิตอาสา  คุณรินภัทร นิสิตปริญญาเอก  คุณราเชนทร์ –คุณพัชนี สามีภรรยานักบุญกรรมการมูลนิธิลุ่มน้ำโขง  พระครูสังฆรักษ์เกรียงไกร พระครูวินัยธรทรงธรรม  และ อ.ไพศาล    เริ่มออกเดินทางเวลา 06.00 น. ไปแวะนมัสการพระสิงห์ที่วัดห้วยหก  อำเภอเวียงแหง  ไปกราบนมัสการเจ้าคณะอำเภอเวียงแหง    พักรับประทานอาหารกลางวันที่ตำบลเปียงหลวง     ที่นี้ได้มีโอกาสชิมยำวุ้นเส้นยูนาน รสชาติเข้มข้นอร่อยมาก

         จากนั้น เดินทางไปดูความก้าวหน้าของการก่อสร้างบ้านธรรมรักษา ที่ศูนย์พักพิงบ้านกู่จ่อบ้านธรรมรักษานี้สร้างขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นบ้านพักพิงสำหรับเด็กหญิงที่สูญเสียครอบครัวจากภัยสงคราม  ซึ่งน่าเห็นใจมากเพราะขาดคนดูแลและโอกาสทางการศึกษา  แตกต่างจากเด็กชายที่ยังมีโอกาสบวชเรียนได้รับการปกป้องภัยด้วยใบบุญพุทธศาสนา  ทุนการสร้างบ้านธรรมรักษาเกิดจากการบริจาคของคนไทยและชาวต่างชาติ  ทั้งนี้มีชาวต่างชาติคนหนึ่งมีความตั้งใจมากที่จะช่วยเหลือจึงออกวิ่งระดมทุนในต่างประเทศ   การแวะศูนย์พักพิงครั้งนี้   ได้ร่วมออกแบบกิจกรรมอบรมคุณธรรมแก่เยาวชนและกิจกรรมธรรมโอสถแก่ผู้สูงอายุในศูนย์พักพิงกู่จ่อ  โดยกำหนดจัดกิจกรรมคืนวันที่  28 กันยายน 2554  หลังจากนั้นก็เตรียมเดินทางไปโรงเรียนวันละบาท 

        ขณะนั้นเองคุณป้าที่อยู่ในศูนย์พักพิงก็มาชวนคณะเราไปที่บ้านเพื่อรับประทานข้าวซอยหนากและเนื้อส้มอุ่น   เราขอบคุณและบอกว่า  ทุกคนกินอาหารเรียบร้อยแล้ว  แต่ป้าก็คะยั้นคะยอให้ไป เพราะตั้งใจอยากให้รับประทาน  ด้วยความเกรงใจ  คณะเราที่เป็นฆราวาสจึงไปบ้านป้าและตกลงกันว่า จะรับประทานพอเป็นพิธีไม่ให้เขา   สำหรับข้าวซอยและเนื้อส้มอุ่นที่ศูนย์พักพิงนี้  รสชาติอร่อยมาก และเป็นลักษณะเฉพาะของอาหารไทยใหญ่  ป้าเจ้าของบ้านกรุณาเล่าสูตรให้ฟังดังนี้คะ

       เนื้อส้มอุ่น เป็นอาหารของชาวไทใหญ่ ที่แพร่หลายทางภาคเหนือ เรียกอีกอย่างว่าจิ้นส้มเงี๊ยว หรือ ข้าวกั๊นจิ๊น  ซึ่งเงี้ยว หมายถึง ไทยใหญ่   กั๊น แปลว่านวด หรือขยำให้เข้ากัน ส่วนคำว่าจิ้น คือเนื้อหมู    วิธีทำเนื้อส้มอุ่น จะใช้ข้างที่หุงสุกแล้ว  มานวดขยำกับหมู่สับละเอียด ปรุงรสด้วยผงชูรสและเกลือ   จากนั้นห่อด้วยใบตองนำไปนึ่งจนสุก  รับประทานกับ กระเทียม เจียว พริกทอด ต้นหอม ผักชี แตงกวา   ซึ่งแตกต่างจากข้างกั๊นจิ้น  ที่เริ่มจากการเอาเลือดไปคั้นกับใบตะไคร้ก่อน แล้วจึงนำเอาเลือดที่ได้และหมูสับมาคลุก กับข้าวสวยนวดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยเกลือ ซีอิ๊ว แล้วนำไปห่อใบตองนึ่งจนสุก รับประทานกับ กระเทียม เจียว พริกทอด ต้นหอม ผักชี แตงกวา

       ส่วนข้าวข้าวซอยหนากลักษณะคล้ายก๋วยเตี๋ยว    เป็นอาหารของชาวไทยใหญ่  ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากข้าวซอยฮ่อ หรือ ข้าวซอยอิสลาม    ข้าวซอยหนากนิยมใช้เนื้อไก่หรือเนื้อหมูมาผัดกับหัวหอมและมะเขือเทศซอยละเอียด     วิธีทำเส้นข้าวซอย  คือ การใช้ข้าวเจ้ามาตำให้ละเอียดนวด ตีเป็นแผ่นและหั่นหรือซอยเป็นเส้นเล็กคล้ายก๋วยเตี๋ยว แต่เส้นมีความเหนียวนุ่มมากกว่า   (การหั่นหรือซอยเส้นนี่เองเป็นที่มาของคำว่าข้าวซอย) เวลารับประทานนำเส้นข้าวซอยลวกให้สุก  ใส่เนื้อหมูผัด  เติมน้ำซุป ที่ใส่   ปรุงรสด้วยพริกผัดน้ำมัน น้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาล  มีเครื่องเคียงได้แก่ ผักกาดดอง หอมหัวแดง

         จากนั้น  จึงเดินทางไปประสานเตรียมงานจัดกิจกรรมอบรมคุณธรรมแก่นักเรียนโรงเรียนวันละบาท  ซึ่งเป็นโรงเรียนสมทบที่เปิดสอนระดับประถมศึกษา สำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่อพยพมาอยู่ในเขตอำเภอเวียงแหง  โดยกำหนดจัดกิจกรรมในตอนกลางวันที่ 28 กันยายน 2554  ที่มาของชื่อ โรงเรียนวันละบาทเกิดจากการที่ผู้ปกครองร่วมกันจ่ายเงินค่าตอบแทนครูวันละบาท  ตอนแรกโรงเรียนนี้ห้องเรียนมีไม่เพียงพอ  ต้องสอนกันใต้ต้นไม้  ครูก็ไม่ีมีห้องพัก ต่อมามูลนิธิลุ่มน้ำโขงฯ ได้ระดมบุญร่วมสร้่างอาคารเรียนชั้นเดียวขนาด 5 ห้องเรียนได้หนึ่งหลัง  ตอนนี้มีอาคารเพิ่มเป็น  3 หลัง ซึ่งล้วนมาจากการบริจาคทั้งสิ้น 

         กิจกรรมบุญสุดท้ายคือ  การนำอาหารแห้งไปมอบให้ตัวแทนชาวไทใหญ่เพื่อมอบต่อแก่ผู้อพยพหนีภัยชาวไทใหญ่  ซึ่งมาพักที่ดอยดำ  ชายแดนติดต่อ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่   พร้อมนำรถ Wheels chair ไปมอบให้แก่คุณยายที่เป็นอัมพฤกษ์ตำบลเปียงหลวง 

         การเดินทางครั้งนี้   จึงเต็มด้วยความอิ่มเอมที่ทำความดีในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์  และอิ่มเอมกับน้ำใจของผู้คนในศูนย์พักพิง  ซึ่งพวกเขาล้วนขัดสนเรื่องอาหารและปัจจัยในชีวิต  แต่ยังมีน้ำใจเตรียมทำอาหารให้พวกเรา  และที่สำคัญ  ผู้คนที่นี้ล้วนศรัทธาพระพุทธศาสนาอย่างเหลือล้น  ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมศูนย์ฯ กับคณะพระสงฆ์  คนทุกเพศวัยจะนั่งลงก้มกราบพระสงฆ์กับพื้นดิน  อนึ่งครั้งนี้  ลุงผู้นำศูนย์เล่าว่า พวกเขารู้สึกกังวลใจที่มีชาวต่างชาติทั้งตะวันตกและเกาหลี เดินทางมาที่ศูนย์ฯ เพื่อแจกของพร้อมเผยแผ่ศาสนาคริสต์ให้แก่เยาวชนในศูนย์ ฯ  จึงอยากให้พระมาอบรมให้เยาวชนได้ซึมซับพุทธศาสนา ....หวนคิดถึงต่อไปว่า  ทำเช่นไรอยากให้คนในสังคมเราหวงใยพุทธศาสนาเช่นนี้บ้าง     

หมายเลขบันทึก: 460840เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2011 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วดีมากๆ

ใครมีโอกาศควรได้ไปเที่ยว เพื่อย้อนรอยสมเด็จพระนเรศวร์มหาราช ที่พระองค์ทรงสละแม้ชีพเพื่อชาติ กอบกุู้เอกราชจากการเป็นทาสของพม่ารามัญ ทำให้พวกเราได้อยู่อย่างสุขสบายในวันนี้

ไปดูว่ากว่าที่พระองคืพร้อมทั้งทหารๆกล้าบุกป่าฝ่าดงไปถึงที่เวียงแหง นี้เมื่อ กว่า๔๐๐ ปีก่อนจะยากลำบากขนาดไหน

พวกเราไปใช้เวลาแค่ ๓ ชม.

อีกทั้งยังได้ชมความงดงามของธรรมชาติอี่ต่างหาก

สาธุ อนุโมทนามิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท