๑๙๗. SWOT อำเภอดอกคำใต้ เพื่อแสวงหาดอกคำใต้โมเดล


การเปลี่ยนจุดด้อยให้เป็นจุดเด่น หลายสิบปีที่ผ่านมาผู้หญิงดอกคำใต้ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงขายตัว ทำให้เกิดชื่อเสีย-ชื่องเสียงตามมาอย่างมากมาย ต่อมามีคนพะเยากลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาท้วงรัฐบาลว่า สาเหตุเรื่องเหล่านี้คืออะไร? ได้รับคำตอบจากภาครัฐว่าคนไม่มีการศึกษาประกอบกับรายได้น้อย คนพะเยากลุ่มดังกล่าวจึงแย้วว่าถ้ารู้ว่าคนพะเยาไม่มีการศึกษาแล้วทำไมรัฐ ไม่ให้การศึกษาละ? จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยพะเยา

     วันที่ ๓-๔ กันยายน ๒๕๕๔ คุณราณี วงศ์ประจวบลาภ หัวหน้ากลุ่มนโยบายและวิชาการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพะเยา โดยมีดอกคำใต้เป็นอำเภอนำร่องของจังหวัด ซึ่งได้นิมนต์ให้ผู้เขียนเข้าร่วมโครงการโดยให้ไปนำทำวัตรสวดมนต์เย็น-เจริญสติภาวนาและให้ข้อคิด งานเวทีการมีส่วนร่วม "ดอกคำใต้เมืองน่าอยู่ สู่สังคมที่ยั่งยืน" โดยมีเหตุผลว่าผู้เขียนเป็นคนดอกคำใต้ด้วยประการหนึ่ง ประกอบกับเป็นพระที่สนใจงานด้านนี้เป็นทุนเดิม ที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ดีไม่ดีอาจมีการสมทบเพิ่มให้อีกด้วย

 

     เมื่อผู้เขียนได้ไปร่วมสังเกตการณ์ตอนภาคเช้าและภาคบ่ายได้เห็นบรรยากาศดี ๆ หลายประการมีโอกาสได้คุยเบื้องต้น ได้ความว่า โครงการนี้เป็นโครงการขับเคลื่อน ฟื้นทุนทางสังคม เพื่อมาจัดการปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า "โครงการลดทุกข์-สร้างสุข" ให้กับชุมชนใน ๑๒ ตำบล

 

      จากการที่ได้สนทนากับหลาย ๆ ท่านได้ทราบว่า กระบวนการในการขับเคลื่อนตรงนี้โดยมากเป็นเวทีสัมมนา ที่ผ่านมาได้จัดมาแล้ว ๓ เวทีใหญ่ ดังนี้

     เวที ๑ เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ทุนของตนเอง กล่าวคือให้แต่ละตำบลได้ค้นหาทุนทางสังคมของตนเองว่ามีดีอะไร? โดยให้ชาวบ้านโดยมากมักจะเป็นระดับแกนนำเป็นผู้ออกความคิดเห็น หลายครั้งผู้เขียนสังเกตุเห็นตั้งแต่รุ่นเด็กขึ้นไป เช่น มีเวทีหนึ่ง เมื่อผู้ใหญ่เสนอความคิดเห็น เด็ก ๆ ก็เป็นผู้เขียนประเด็นต่าง ๆ ให้ ทำให้เกิดภาพที่น่าประทับใจมาก ที่องค์กรชุมชนเข้มแข็ง และมีคนสืบต่อ

     เวทีที่ ๒ เป็นเวทีวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนว่า ปัญหามีอะไรบ้าง? มีกี่อย่าง? ประเด็นไหนคล้ายกัน สามารพรวมกันได้หรือไม่อย่างไร? ประเด็นไหนแตกต่างกัน ควรแยกออกมาเป็นอีกหัวข้อหนึ่งหรือไม่? ประเด็นไหนมีความสำคัญมากกว่ากัน? การเรียงลำดับปัญหา ฯลฯ

     เวทีที่ ๓  เป็นเวทีสังเคราะห์โดยการหาทางนำทุนทางสังคมที่ตนเองมีอยู่มาแก้ปัญหาอย่างไร? เวทีนี้เป็นเวทีแห่งการพัฒนาโครงการเพื่อแก้ปัญหาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและครบวงจร อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแบบให้กับสังคมได้ จนเรียกติดปากว่า ดอกคำใต้ model  หลังจากนั้นก็จะเป็นการถอดบทเรียนโดยทีมงานของมหาวิทยาลัยพะเยา

 

     ประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการทำ SWOT อำเภอดอกคำใต้โดยแยกออกเป็นตำบล ๆ เรียงลำดับกันมา จำนวน ๑๒ ตำบลแล้วนำเอาผลของแต่ละตำบลมารวมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จนทำให้เห็น จุดเด่น-จุดด้อย ของตนเองพร้อมกับนำต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป 

 

     โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี มีประโยชน์...ซึ่งทางพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพะเยาจะได้นำไปขยายผลต่อไปสู่อำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดพะเยาอีก ๘ อำเภอจนครบ ๙ อำเภอในปีต่อ ๆ ไป

     โครงการนี้ทำให้เห็นว่าการจะแก้ปัญหาในภาพรวมได้ ต้องผ่านการวิเคราะห์เจาะลึกให้ได้ในระดับตำบลเสียก่อน เมื่อเรียนรู้ถึงปัญหาหรืออุปสรรค์แล้ว ค้นต่อไปจนทราบถึงจุดเด่นจุดด้อยของตนเองเพื่อที่จะพัฒนาต่อไปให้เกิดการยั่งยืน ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง

     ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือบางตำบลมีปัญหาเด็กเยาวชน และยาเสพติด ปัญหาเหล่านี้ชาวบ้านได้พยายามใช้มิติต่าง ๆ เข้าไปแก้ไขโดยใช้ภูมิปัญญาที่เป็นต้นทุนของสังคม เช่น พิธีตานตอด ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกัน เสียสละทรัพย์สินข้าวของ บริจาคคนละเล็กละน้อย แล้วนำไปตานตอด (ทานทอด) ให้กับผู้ด้อยโอกาสในชุมชน อันแสดงถึงความเอื้ออาทรของคนในชุมชนด้วย

     ประเด็นที่น่าสนใจตามมาคือ ปกติต่างคนต่างทำ แต่เมื่อนำภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมมาใช้โดยการนำของพระสงฆ์ในท้องถิ่น ทำให้ส่วนงานท้องที่(กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน) ท้องถิ่น(นายกเทศบาล-สท.) ตลอดจนถึงชาวบ้านต่างให้ความร่วมมือกันด้วยดี นี้คือปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง

 

     เมื่อถึงเวลาเย็น ผู้เขียนได้นำทำวัตรสวดมนต์เย็น เจริญสติ และให้ข้อคิด เนื่องจากว่าบางส่วนต้องการพักที่วัดและตื่นไปใส่บาตรข้าวเหนี่ยวริมกว๊านบริเวณหน้าวัดติโลกอารามในวันรุ่งขึ้น  การให้ข้อคิดหลังทำวัตรเย็น ผู้เขียนได้วิเคราะห์อำเภอดอกคำใต้ตามทฤษฎี SWOT ดังนี้

     จุดเด่นของอำเภอดอกคำใต้

          ๑.การเปลี่ยนจุดด้อยให้เป็นจุดเด่น หลายสิบปีที่ผ่านมาผู้หญิงดอกคำใต้ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงขายตัว ทำให้เกิดชื่อเสีย-ชื่อเสียงตามมาอย่างมากมาย ต่อมามีคนพะเยากลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาท้วงรัฐบาลว่า สาเหตุเรื่องเหล่านี้คืออะไร? ได้รับคำตอบจากภาครัฐว่า คนไม่มีการศึกษาประกอบกับรายได้น้อย คนพะเยากลุ่มดังกล่าวจึงแย้งว่าถ้ารู้ว่าคนพะเยาไม่มีการศึกษาแล้วทำไมรัฐ ไม่ให้การศึกษาละ? จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยพะเยา ผู้เขียนจึงกล่าวกับผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า "ผู้หญิงดอกคำใต้ต้องภูมิใจนะ เพราะเรานี้แหละมหาวิทยาลัยพะเยาจึงเกิด"

          ๒.แม้ว่าเศรษฐกิจโดยภาพรวมของดอกคำใต้ จะพึ่งพิงกับการเกษตรเป็นหลัก แต่ยังมีเศรษฐกิจชุมชนเล็ก ๆ ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนมิใช่น้อย เช่น ตำบลห้วยลาน -เป็นแหล่งทำศาลาไม้ขายทั้งในและต่างประเทศ ตำบลดงสุวรรณ-เป็นแหล่งผลิตไม้กวาดขาย ตำบลป่าซาง-เป็นแหล่งผลิตสิ้นค้าหัตถกรรม เป็นต้น 

          ๓.ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นมีผู้ทรงภูมิปัญญามากมาย เช่น หมอสมุนไพรพื้นเมือง ภูมิปัญญาด้านอักษรศาสตร์ล้านนา ภูมิปัญญาด้านการดนตรีพื้นบ้าน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่า แต่หากถูกละเลยด้วยกระแสทุนนิยมที่ผ่านมา

     จุดด้อย

           ๑.ขาดความสามัคคี การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันยังเป็นไปได้ช้าอยู่ ขาดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ ที่มีพลังในการขับเคลื่อนและการต่อสู้ในระดับมหาภาค

           ๒.ขาดการเก็บรักษาภูมิปัญญาอย่างมีระบบ

     อุปสรรค์

          เศรษฐกิจด้อย จนพึ่งพิงดินฟ้าอากาศอยู่มาก แก้ไขโดย ๑.การจัดระบบเศรษฐกิจพอเพียง  และ ๒.การนำระบบสวัสดิการชุมชนมาใช้ (ซึ่งจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป)

     โอกาส

          ๑.เมืองน่าอยู่  เป้าหมายหลักของจังหวัดพะเยาคือเมืองน่าอยู่ และถูกจัดอันดับ ๑ ใน ๕ ของจังหวัดน่าอยู่ทั่วประเทศ นี้คือโอกาสของดอกคำใต้ที่จะสร้างทัศนะและวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ให้เป็นจริงขึ้นได้

          ๒.จิตอาสา จากการสัมผัสกับชุมชนคนดอกคำใต้หลายคน มีจิตอาสามากขึ้น ในแทบทุกระดับ นั่นแสดงว่าโอกาสของท้องถิ่นมาถึงแล้ว เพราะเมื่อสังคมใดก็ตามมีจิตอาสามากขึ้น สังคมนั้นก็จะเกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันละกันอย่างแท้จริง

     การพูดคุยในวันนั้น ผู้เขียนมิได้หวังว่า "อำเภอดอกคำใต้จะเป็นเมืองน่าอยู่ในทันทีทันใด" หากแต่ผู้เขียนกับดีใจที่เห็นคนดอกคำใต้ลุกขึ้นมายืนได้ด้วยตนเอง ศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ปัญหาและพยายามแก้ปัญหาด้วยภูมิปัญญาของตนเอง

หมายเลขบันทึก: 460805เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2011 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"ดอกคำใต้" คือ ดอกอะไรครับ? ปัจจุบันยังมีให้เห็นอยู่หรือเปล่าครับ พระอาจารย์?

เจริญพรคุณโยมอักขณิช ดอกคำใต้ ภาษากลางใช้คำว่า ดอกกฐินณรงค์ มีลักษณะสีเหลือง ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท