ชีวิตที่พอเพียง : 94. เรียนวิชาชีววิทยาพัฒนาการ


         ชีววิทยาพัฒนาการ (Developmental Biology)     หรือในสมัยที่ผมเรียนเรียกชื่อว่าวิชาเอ็มบริโอ (Embryology)      เป็นวิชาที่ผมชอบ    ประกอบกับอาจารย์ผู้สอน คือ อ. หมอถนอมฤดี ภูมิภักดิ์ เป็นอาจารย์ที่สอนช้าๆ      คอยย้ำประเด็นสำคัญ    สอนอย่างใจดี เห็นอกเห็นใจนักเรียน     เรารู้สึกได้ถึงความเมตตาและอบอุ่นของท่าน     อ. หมอถนอมฤดีนี้ภายหลังผมทราบข่าวว่าตอนเป็น นศพ. ท่านเรียนไม่เก่ง    แต่ตอนเป็นอาจารย์สอนดีหาตัวจับยาก     เป็นตัวอย่างว่าการเรียนเก่งไม่สำคัญเสมอไปสำหรับการเป็นอาจารย์ที่ดี     ความรักและเห็นอกเห็นใจนักเรียนสำคัญกว่า  

         สาระในวิชานี้ คือการปฏิสนธิ     ตั้งแต่การผสมกันของไข่กับเชื้ออสุจิ เกิดเป็นไซโกต (zygote)    แล้วแบ่งตัวเป็น ๒ - ๔ - ๘ เซลล์ เรื่อยไป     แต่ไม่ใช่แบ่งแล้วเหมือนเดิม    พอแบ่งเซลล์กันไปมากๆ เซลล์ก็จะแตกต่างกันออกไป     มีการเคลื่อนที่ของเซลล์บางกลุ่มจากต่างที่ไปรวมตัวกัน กลายเป็นเนื้อเยื่อและอวัยวะ     แต่ละอวัยวะต้องมีเซลล์และเนื้อเยื่อหลากหลายชนิด

         ที่ผมประทับใจไม่รู้ลืมคือคนเราเคยเป็นปลา เป็นกบ เป็นลิง มาก่อนเกิดออกมาเป็นคน     คือตอนเป็นตัวอ่อนอยู่ในท้องแม่นั้น ตอนอ่อนมากๆ เรามีเหงือกครับ     มีเหงือกเหมือนปลา    และต่อมาเรามีหางด้วยครับ

         พอโตขึ้น เหงือกก็หายไป  มีปอดมาแทน     เท่ากับว่ามีกลไกทำลายอวัยวะที่เป็นเหงือก      และมีกลไกสร้างอวัยวะใหม่ที่เป็นปอด     ชีวิตของเราจึงมีการเกิด - ดับ หรือ สร้าง - ทำลาย เป็นวัฏจักรอยู่ตลอดชีวิต     คือเกิดขึ้นตั้งแต่เราอยู่ในท้องแม่ จนโต แก่ และตาย

        เมื่อปี ๒๕๒๑ ผมไปอินเดียเป็นครั้งแรก    ได้อ่านเรื่องศาสนาฮินดู-พราหมณ์     ได้เรียนรู้เรื่องเทพเจ้านานาองค์ ทั้งพระเจ้าผู้สร้าง ผู้กำจัดขยะสังคม และผู้ทำลาย     คิดไปคิดมา พระเจ้าทั้งหลายก็คือธรรมชาติ    และแม้ภายในตัวเราเองท่านก็ทำงานกันอยู่อย่างขมักเขม้น  


        พอทำความเข้าใจแบบนี้ จึงมองเห็นความเชื่อมโยงของสรรพวิชาความรู้ทั้งหลาย     ทั้งชีววิทยาหรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ  ศาสนา  ความเชื่อ  ปรัชญา  สังคมศาสตร์  ฯลฯ        
      

         มองเห็นจักรวาลภายนอกที่เป็นเอกภพ (universe)   จักรวาลภายในตัวเราเอง    จักรวาลภายในแต่ละเซล    จักรวาลภายในแต่ละอณู     ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า micro-cosmos    เห็นเป็นชั้นๆ ของจักรวาล ที่เชื่อมโยงถึงกันหมด

         ในบันทึกนี้ผมโยงการเรียนรู้ของผมตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ จนถึงปัจจุบัน     โดยเริ่มที่การเรียนวิชา เอ็มบริโอโลยี่     แล้วก็เชื่อมโยงแตกแขนงไปเรื่อย     ที่จริงถ้าจะให้ลงรายละเอียดก็จะเล่าได้เป็นวันๆ ทีเดียว

วิจารณ์ พานิช
๑๖ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 45973เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • อาจารย์หมอครับ ผมก็ประทับใจ อาจารย์ สอนวิชา Embryology ที่ผมเรียนมากเหมือนกันครับ ท่านคือ ศาสตราจารย์ ดร. พาณี เชี่ยววานิช หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมเรียนตอนปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ครับ
  • ปีนี้ ๒๕๔๙ (๔๑ ปี) ผมบังเอิญต้องร่วมสอนวิชานี้ ที่ มมส. แต่ที่นี่ แปล Developmental Biology ว่า ชีววิทยาของการเจริญ ครับ แถมแบ่งเป็น การเจริญของสัตว์ (Animal Development) ครึ่งหนึ่ง และ การเจริญของพืช (Plant DEvelopment) อีกครึ่ง ด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท