การเตรียมความพร้อมของนักสังคมสงเคราะห์กับการเปิดพรมแดนอาเซียน


สังคมสงเคราะห์กับประชาคมอาเซียน 

เมื่อวาน8 กันยายน 2554 เข้าร่วมประชุมเสวนาวิชาการเรื่องการเตรียมความพร้อมของนักสังคมสงเคราะห์กับการเปิดพรมแดนอาเซียนจัดโดยสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมนักศึกษาเก่าสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่ ห้องบงกชรัตน์ โรงแรมรอยัลรีเวอร์ บางพลัด กรุงเทพ เพื่อนพ้องน้องพี่นักสังคมสงเคราะห์สนใจมากขนาดต้องพึ่งเก้าอี้เสริมหลายตัว และยังมีเสียงเรียกร้องให้จัดเวทีแบบนี้ในภูมิภาคต่างๆเพื่อถ่ายทอดข้อมูลกันอีก ตามประสาสมาคมฯที่มีงบน้อยคงช่วยบรรเทาได้เบื้องต้นได้ด้วยการเขียนเล่าสู่กันนะ

สมาชิก10 ประเทศของอาเซียนในปัจจุบันมีเป้าหมายว่าจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015 ตามที่เข้าใจเบื้องต้นก็คือการเคลื่อนย้ายของประชาชนจากประเทศสมาชิกต่างๆโดยเสรี หากพิจารณาตามแผนปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนซึ่งมีกิจกรรมความร่วมมือเน้นเรื่อง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน การลดช่องว่างทางการพัฒนา เหล่านี้ย่อมแสดงถึงผลที่จะมีต่องานสวัสดิการสังคมบ้านเราไม่มากก็น้อย

ในที่ประชุมมีนักสังคมสงเคราะห์การแพทย์ทั้งฝ่ายกายและจิตเวชเล่าถึงสถานการณ์ผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติจากเพื่อนบ้านที่ไม่สมทบค่ารักษาพยาบาลแต่ต้องเข้ามารักษาการเจ็บป่วยหรือพิการเมื่อแพทย์ให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านแต่ไม่มีญาติ ไม่มีนายจ้าง ตามหาใครก็ไม่พบ สถานฑูตของประเทศนั้นๆก็ปฏิเสธการช่วยเหลือเพราะไม่มีหลักฐานว่าเป็นคนของประเทศเขาเช่นกัน เขาหรือเธอผู้นั้นต้องกลายเป็นผู้ป่วยตกค้างเป็นภาระของโรงพยาบาลที่รับรักษา (งบประมาณจาก สปสช.ก็ไม่มีหรือไม่พอ) เป็นประเด็นของสิทธิมนุษย์ชนกับภาระค่าใช้จ่ายจากระบบสวัสดิการสังคมที่บ้านเราแบกรับภาระและถ้ากลายเป็นประชาคมอาเซียนในปี2015 ปัญหาเหล่านี้จะมีมากขึ้นหรือเปล่าซึ่งผู้แทนจากกรมอาเซียนก็รับประเด็นนี้ไป ส่วนนักสังคมสงเคราะห์เองก็ต้องมาร่วมกันแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานในสถานการณ์ความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมของอาเซียน

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นองค์กรที่เป็นศูนย์กลางเรื่องสวัสดิการสังคมได้ดำเนินการความเคลื่อนไหวประชาคมอาเซียนด้วยเข้าประชุมภาคีความร่วมมือผู้ปฏิบัติงาน นักการศึกษาและสถาบันการศึกษาสังคมสงเคราะห์ในอาเซียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ประเทศฟิลิปินส์ได้แผนปฏิบัติการที่ประเทศไทยรับผิดชอบในช่วง2554-2556 ดังนี้

1.การสร้างเสริมศักยภาพนักสังคมสงเคราะห์และนักวิชาการโดยจะจัดทำรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆและหลักสูตรการอบรมที่ท่านเหล่านั้นชำนาญ  การจัดทำคู่มือหลักสูตรที่เน้นเรื่องของสิทธิของผู้ใช้บริการเช่น ผู้ติดเชื้อHIV ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ฯลฯ การแลกเปลี่ยนนักการศึกษา ผู้ปฏิบัติงานและนักศึกษาสังคมสงเคราะห์

2.การพัฒนาองค์ความรู้และการจัดการความรู้ ได้แก่การตีพิมพ์เผยแพร่ความรู้ที่เป็นมาตรฐานการปฏิบัติงานหรือบริการ การจัดทำจรรยาบรรณงานสังคมสงเคราะห์อาเซียน

3. สนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่มีองค์กรสังคมสงเคราะห์หรือองค์กรวิชาชีพให้มีองค์กรในระดับชาติ และมีหลักสูตรสังคมสงเคราะห์

4. ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพในการประชุมเชิงปฏิบัติงานภาคีความร่วมมือด้านสังคมสงเคราะห์อาเซียนในปี 2012-2013

การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้นสถาบันการศึกษาต้องตระเตรียมหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ที่มีการเรียนการสอนที่เข้าใจภาษาและวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อยชาติพันธ์ต่างๆเพื่อนบ้านในอาเซียนและภาษากลางของอาเซียน  ศึกษาประเด็นปัญหาร่วมกันเช่นการค้ามนุษย์ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การสนับสนุนให้นักศึกษาฝึกษาในประเทศกลุ่มอาเซียน

ผู้เข้าร่วมประชุมประสงค์ที่จะให้มีเวทีการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องในประเด็นอาเซียนจึงขอให้สถาบันการศึกษาและสมาคมนักสังคมสงเคราะห์และสมาคมนักศึกษาเก่าสังคมสงเคราะห์ธรรมศาสตร์ร่วมกันจัดประชุมเช่นนี้อีก

                                                                      โสภา อ่อนโอภาส

                                                                             ผู้เก็บเกี่ยว

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สังคมสงเคราะห์
หมายเลขบันทึก: 459508เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2011 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท