เพื่อนช่วยเพื่อน : การสอนนักศึกษาแพทย์-พยาบาล (๑)


การเรียนการสอนรูปแบบนี้น่าจะเป็นจุดร่วมให้สำนักวิชาด้านวิทยาการสุขภาพได้ดำเนินการเรื่อง Multi-professional education ได้

ดิฉันเคยบันทึกเรื่องราวความพยายามที่จะให้ Multi-professional education เกิดขึ้นในสาขาวิทยาการสุขภาพของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (อ่านที่นี่ , , ) ความพยายามต่างๆ ไม่มีพลังมากพอ ความฝันยังไม่เป็นความจริงสักที

เมื่อการเสวนาคณบดีครั้งที่ ๕/๒๕๕๔ วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ อาจารย์ ดร.นพ.ปรัชญะพันธุ์ เพชรช่วย อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ได้นำเสนองานวิจัยการจัดการเรียนการสอน Introduction to Clinical Medicine สำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๔ เพื่อเตรียมนักศึกษาสู่การปฏิบัติจริงในคลินิก อาจารย์ปรัชญะพันธุ์เล่าเรื่องการฝึกทักษะให้นักศึกษาและการใช้ผู้ป่วยจำลอง

เรื่องการใช้ผู้ป่วยจำลองอยู่ในความคิดของดิฉันมานานแล้ว ตั้งแต่ได้ฟัง ศ.นพ.วราวุธ สุมาวงศ์ บรรยายเรื่องนี้ในการประชุมพยาบาลศาสตร์ศึกษาครั้งที่ ๔ จึงได้มอบหมายให้อาจารย์พยาบาลคนหนึ่งติดต่อหาที่เรียนรู้เรื่องนี้ในภาคใต้ตามที่อาจารย์วราวุธแนะนำมา ๒ แห่ง แต่ได้รับคำตอบมาว่ายังไม่มีการเตรียมผู้ป่วยจำลองอย่างเป็นระบบ

เมื่อได้ยินเรื่องนี้อีกครั้ง ดิฉันจึงดีใจและเสนอว่าการเรียนการสอนรูปแบบนี้น่าจะเป็นจุดร่วมให้สำนักวิชาด้านวิทยาการสุขภาพได้ดำเนินการเรื่อง Multi-professional education ได้ รศ.ดร.สุนิพนธ์ ภุมมางกรู คณบดีสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ก็เห็นด้วย เพราะหลักสูตรเภสัชศาสตร์ก็มีห้องยาจำลองเหมือนกัน เรามีความเห็นร่วมกันว่าน่าจะทำ “โครงการโรงพยาบาลจำลอง” โดยให้สำนักวิชาแพทยศาสตร์เป็นเจ้าภาพ

ความก้าวหน้าขณะนี้อาจารย์ปรัชญะพันธุ์ได้เขียนโครงการโรงพยาบาลจำลองเบื้องต้นแล้วและขอความคิดเห็นจากทุกสำนักวิชาที่เกี่ยวข้อง เพื่อการปรับปรุงให้สมบูรณ์ แต่ในภาคการศึกษานี้สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์มีการเรียนการสอนที่ต้องฝึกทักษะการบำบัดพื้นฐานทางคลินิกและการประเมินภาวะสุขภาพให้แก่นักศึกษาพยาบาล เราจึงเชิญอาจารย์ปรัชญะพันธุ์มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันแบบเพื่อนช่วยเพื่อน

วันดีที่เรานัดกันได้คือวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๑.๓๐-๑๓.๐๐ น.มีอาหารกลางวันแบบง่ายๆ คือก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ผัดซีอิ้วใส่ไก่ มีอาจารย์พยาบาลเข้าร่วมวงคุยด้วย ๑๐ คน

 

บรรยากาศในห้องประชุม

อาจารย์กนกวรรณ ตันตระเสนียรัตน์ ผู้รับผิดชอบรายวิชาที่กล่าวถึง เล่าให้ที่ประชุมฟังว่าการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาการบำบัดพื้นฐานทางคลินิกตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๑ เป็นอย่างไร

การสอนมีทั้งการบรรยายและสาธิต มี VDO ที่นักศึกษาสามารถ copy ไปดูต่อได้ แบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มย่อย ๑๐-๑๒ คนต่ออาจารย์ ๑ คน มีการสาธิตย้อนกลับ การสอนในห้อง Lab. แต่ละเรื่องต้องใช้อาจารย์หลายคน ใช้เวลามาก มีการสอบเกือบทุกทักษะ เป็นแรงกดดันกับนักศึกษา นักศึกษาค่อนข้างเครียด ก่อนสอบให้นักศึกษาฝึกทักษะกับเพื่อน เปิดห้อง Lab. ให้ศึกษาด้วยตนเอง พบว่านักศึกษาใช้เวลาศึกษาด้วยตนเองแบบเร็วๆ ไม่ถามพี่พยาบาลประจำห้อง

ต่อมามีการใช้พยาบาลวิชาชีพที่เป็นศิษย์เก่าเข้ามาช่วยสอนในห้อง Lab. นักศึกษาบอกว่าพี่อธิบายได้ชัดเจน กล้าถาม

ในปีการศึกษา ๒๕๕๓ ยังมีการใช้กระบวนการกลุ่มย่อยเหมือนเดิม แต่ให้นักศึกษาทำ Mind mapping จับประเด็นก่อนและหลังเข้าห้อง Lab. แต่ละเรื่อง ให้ทำ Porfolio ในปฏิบัติการที่คิดว่าตนเองทำได้ดีที่สุด มีการให้ข้อคิดเห็นโดยอาจารย์ เพื่อน และตนเอง รวมทั้งสรุปความรู้เป็นของตนเอง เน้นการสอบปฏิบัติในหัตถการที่ยากและซับซ้อน แต่มีเสียงสะท้อนว่าเวลาที่นักศึกษาไปปฏิบัติจริงยังมีปัญหา จึงสงสัยเรื่องความคงทนของความรู้

ส่วนการสอนในรายวิชาการประเมินภาวะสุขภาพฯ มีการสอนทฤษฎีและการสาธิตการตรวจร่างกาย แบ่งกลุ่มนักศึกษาใหญ่ขึ้น ๑๒-๑๕ คนต่ออาจารย์ ๑ คน ที่โรงพยาบาลบ้าง มีการสอบทุกระบบ ให้นักศึกษาเขียนรายงานภาวะสุขภาพ การตรวจร่างกายภาวะปกติและเบี่ยงเบนในชุมชนและในโรงพยาบาล คนละ ๒ ฉบับ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 459343เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2011 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเรียนรู้และให้กำลังใจอาจารย์ พัฒนาการเรียนการสอนแบบ multiprofessional training คะ

แนวทางให้ศิษย์เก่าที่ออกไปทำงานจริง มีประสบการณ์ทำงานเป็นทีม มาพูดคุยแลกเปลี่ยนแบบพี่น้อง น่าสนใจมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท