dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

แนวคิดพื้นฐานในการสอนภาษาเด็กปฐมวัย


แนวคิดพี้นฐารการสอนภาษาในเด็กปฐมวัย

แนวคิดพื้นฐานการสอนภาษาอย่างไรให้กับเด็กปฐมวัย

 

                         ความหมายของการสอนภาษานั้นเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญ เพราะภาษาเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้ของเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กๆ ภาษาเป็นสิ่งที่ใช้ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้สึก ตลอดจนประสบการณ์ต่างๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจ และภาษามีความแตกต่างกันไป ภาษาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เป็นการพัฒนาทักษะทั้ง 4  ด้านคือ การฟัง พูด อ่าน และเขียน ทักษะดังกล่าวเป็นทักษะที่มีความสำคัญต่อการรับและส่งข้อมูลซึ่งจะต้องพัฒนาไปพร้อมๆกัน และจะต้องพัฒนาตั้งแต่แรกเริ่มในเด็กปฐมวัย โดยพัฒนาอย่างเหมาะสม ต่อเนื่องตลอดจนสอดคล้องกับหลักการของการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย ไม่ใช่สอนภาษาเช่นเดียวกับการสอนผู้ใหญ่ที่เป็นการสอนอย่างเป็นทางการขาดความสุขสนุกสนาน ไม่ใช่เป็นการสอนภาษาแบบท่องจำ ให้จำ ก-ฮ หรือการจำสระ วรรณยุกต์ พยัญชนะให้ได้  การสอนภาษานั้นผู้เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้นไม่ใช่ครูที่อยู่ในโรงเรียนอย่างเดียวมีปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ภาษาอย่างมีคุณภาพ แนวคิดพื้นฐานต่อการสอนภาษาที่ผู้ใหญ่จำเป็นจะต้องรู้และมีความเข้าใจมีดังนี้

                         1 มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญต่อการส่งเสริมสนับสนุนการเตรียมความพร้อมทางภาษาให้กับเด็กก่อนการสอนอย่างเป็นทางการ การเตรียมความพร้อมทางภาษาคือ ความพร้อมในด้านการฟัง พูด อ่าน และเขียน ซึ่งจะต้องเตรียมก่อนการเรียนรู้ภาษาอย่างจริงจัง

                         2  มีความเชื่อว่าประสบการณ์การเรียนรู้ทางภาษาของเด็กเล็กๆเกิดขึ้นตลอดเวลา ก่อนเด็กมาโรงเรียนก็จะมีประสบการณ์ทางภาษามาแล้ว ระหว่างบ้านมาโรงเรียน หรือระหว่างโรงเรียนกลับบ้านเด็กก็จะมีประสบการณ์การเรียนรู้ทางภาษาตลอดเวลา เช่น ป้ายโฆษณา เครื่องหมายจราจร ชื่อสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร สถานที่ราชการ  ฯลฯ

                        3  เชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้

                        4  มีความเข้าใจในหลักการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพของเด็กปฐมวัยดังนี้

                            - สอนหรือจัดการเรียนรู้ในสิ่งที่มีความหมายต่อเด็ก

                            - สอนอย่างเป็นธรรมชาติ

                            - เนื้อหาที่สอนเป็นสิ่งที่เด็กได้สัมผัสด้วยตนเอง และเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน

                            - สอนโดยให้เด็กได้เรียนรู้จากการกระทำหรือการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง

                            - สอนให้เด็กได้สนุกสนานเพลิดเพลิน

                            - ให้ความเคารพและยอมรับในภาษาที่เด็กใช้ โดยผู้ใหญ่จะต้องคอยบอกหรือแนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสมแก่เด็ก

                        5  การจัดการเรียนรู้ทางภาษาในสังคมห้องเรียน จัดสภาพการเรียนรู้ที่ให้เด็กมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น เช่น ไม่จัดเป็นกลุ่มอ่อน กลุ่มเก่ง  เป็นต้น

                        6  การสอนภาษาต้องสอนทักษะทางภาษาต่างๆไปพร้อมกัน

                        7  ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาในด้านเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ทางภาษา โดยให้เด็กมีความรักต่อการเรียนรู้ทางภาษา โดยผู้ใหญ่จะต้องสร้างความประทับใจ  สร้างความรู้สึกในเรื่องของการประสบความสำเร็จด้านภาษา การมีผู้คอยส่งเสริมสนับสนุนและให้กำลังใจในระยะเริ่มแรกของการเรียนรู้ทางภาษา

                      แนวคิดพื้นฐานดังกล่าวมีความจำเป็นที่ผู้อบรมเลี้ยงดูเด็กไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู  พี่เลี้ยง หรือผู้ปกครอง เป็นต้น โดยบุคคลดังกล่าวจะต้องรู้และปฏิบัติให้ได้ถ้าจะให้เด็กของเรามีความสำเร็จหรือประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาแม่  หรือภาษาอะไรก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาแม่ของเรา    

หมายเลขบันทึก: 459189เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2011 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท