1 อำเภอ 1 ชมรมผู้สูงอายุส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ที่เขต 2 ตอนที่ 2 ว่าถึงเรื่อง การส่งเสริมสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ


 

เรื่องนี้ ดิฉันเล่าเอง ...

เนื้อหาสาระของเรื่องที่เล่านี้ มุ่งเน้นที่จะให้ความสำคัญในประเด็นที่ว่า "... ผู้สูงอายุปัจจุบันต้องมีสุขภาพดี แข็งแรง และมีการทำกิจกรรมร่วมกัน ..."

จากภารกิจกรมอนามัย ที่เน้นการเป็นผู้เชื่อมโยงการดูแลสุขภาพ และสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ ที่กำลังมีจำนวนที่มากขึ้นๆ โดย ผู้สูงอายุต้องหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อให้มีสุขภาพกาย และสุขภาพใจที่ดีไปด้วยกัน

ปัญหาสุขภาพช่องปากไม่ได้มีแต่เรื่องฟันกับเหงือกเท่านั้น จะมีตั้งแต่เรื่อง การสูญเสียฟันและปัญหาจากการใส่ฟัน ฟันผุและรากฟันผุ โรคปริทันต์ แผล/มะเร็งช่องปาก น้ำลายแห้ง และฟันสึก

การแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากเหล่า มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ตั้งแต่ การใส่ฟันเพื่อทดแทนการฟันที่สูญเสียไป การรักษาด้วยการอุดฟัน ขูดหินปูน รักษาโรคเหงือก และขณะนี้ เริ่มที่จะมีการคิด วิธีการช่วยเหลือคนไข้ที่เป็นมะเร็งช่องปากให้รับประทานอาหารได้ ด้วยการคิดค้นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง และ "วุ้นชุ่มปาก" ที่ทำขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนน้ำลายเทียม สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหามีน้ำลายน้อยด้วย

กรมอนามัยส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ได้กำหนด การมีสุขภาพดีของผู้สูงวัย ด้วยตัวชี้วัด 5 ข้อ ได้แก่
1) มีสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม
2) มีฟันใช้เคี้ยวอาหารได้อย่างเหมาะสม
3) มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ
4) มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ
5) สามารถช่วยเหลือตนเอง และผู้อื่นได้ตามอรรถภาพ

ในเรื่องสุขภาพช่องปาก ผู้สูงอายุควรจะมีฟันใช้เคี้ยวได้อย่างเหมาะสม โดยกำหนดไว้ว่า ถ้านับจำนวนซี่ฟัน ก็คือ มีฟันไม่น้อยกว่า 20 ซี่ หรือการมีฟันหลังที่ใช้เคี้ยวอาหารได้อย่างน้อย 4 คู่สบ

สถานการณ์สุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ ที่พบในปัจจุบัน (ผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2550) ก็คือ

1) ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุทั้งประเทศ มีฟันใช้งานได้ 20 ซี่ (ร้อยละ 54.8) และผู้สูงอายุฟันเฉลี่ยประมาณ 3.27 คู่

2) โรคในช่องปาก และการสูญเสียฟัน พบว่า
- ผู้สูงอายุมีการสูญเสียฟันบางส่วนร้อยละ 83.6
- มีการสูญเสียฟันทั้งปากร้อยละ 10.5
- ผู้สูงอายุต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปาก ร้อยละ 4 (250,000 คน)
- ผู้ที่มีฟัน มีโอกาสสูญเสียฟันเพิ่มขึ้น เนื่องจาก เกือบทุกคนมีโรคฟันผุ และร้อยละ 21 มีรากฟันผุ

การทำฟันเทียมพระราชทาน เริ่มแรก เป็นเรื่องของการใส่ฟันเทียม เพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไป แต่ต่อมา ได้พบว่า การใส่ฟันแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้แก้ปัญหาในเรื่องสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ จึงมาคิดกันใหม่ว่า เป้าหมายของการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุคงไม่ใช่แค่การใส่ฟัน ไม่ได้ดูแลแค่เหงือกและฟันเท่านั้น แต่ดูแลเพื่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิต ... เราจึงต้องทำในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก การส่งเสริมสุขภาพร่างกาย จิตใจ และสังคม ควบคู่กันไปด้วย

การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ เป็นการทำกิจกรรมร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน โดยมีประเด็นการทำกิจกรรมว่า

  • บางกิจกรรม ทันตบุคลากรต้องทำเอง เช่น การใส่ฟันเทียม การรักษา การทำรากฟันเทียม การจัดบริการป้องกัน
  • บางกิจกรรม บูรณาการกับงานส่งเสริมสุขภาพ เช่น การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว
  • บางกิจกรรมอาสาสมัครภาคประชาชนช่วยได้ เช่น ชมรมผู้สูงอายุด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก
  • บางกิจกรรมอยู่ในระบบพัฒนาคุณภาพบริการ เช่น งานทันตฯ ใน รพ.สต.

กิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุ ชมรมฯ มีการทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง ก็คือ

  • การมารวมกลุ่มแปรงฟันหลังอาหาร ก่อน หรือหลังทำกิจกรรรม
  • จัดมุมความรู้ เรื่อง สุขภาพช่องปาก
  • สอน และฝึกปฏิบัติแปรงฟันให้กับบุตรหลาน เด็กเล็ก นักเรียน ประชาชน เยาวชน รวมทั้งภิกษุสามเณร
  • เยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้าน สอน แนะนำการดูแลสุขภาพช่องปาก
  • สร้างนวัตกรรม และใช้อุปกรณ์พื้นบ้านมาเสริมทำความสะอาดช่องปาก
  • ข้อตกลงหมู่บ้านเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี
  • ตั้งกองทุนแปรงสีฟันยาสีฟัน เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์การทำความสะอาดช่องปาก

และมีกิจกรรมเชิงลึก หรือกิจกรรมท้าทาย ที่เหมาะสำหรับชมรมผู้สูงอายุที่มีการพัฒนาการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากมายาวนาน จนเป็นโมเดล ให้ชมรมอื่นๆ ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือศึกษาดูงาน นั่นก็คือ

ด้านการเป็น ชมรมผู้สูงอายุส่งเสริมสุขภาพช่องปาก

  • การตรวจสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุด้วยกันในชมรมฯ
  • การย้อมสีคราบจุลินทรีย์ เพื่อการดูแลความสะอาดช่องปาก
  • การมีจิตอาสา ร่วมทำกิจกรรม

ด้านการเป็น ศูนย์เรียนรู้ "ชมรมผู้สูงอายุส่งเสริมสุขภาพช่องปาก"

  • มีการจัดทำโครงการ ขออนุมัติงบประมาณจากแหล่งต่างๆ โดยชมรมฯ
  • เป็นสถานที่ สำหรับการศึกษาดูงาน ด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก

ข้อเสนอ บทเรียน ประสบการณ์การทำกิจกรรม กับชมรมผู้สูงอายุ จากที่ได้เรียนรู้มาจากที่ต่างๆ ก็คือ

  • ศึกษาสิ่งทีมีอยู่แล้วก่อน ... แล้วต่อยอด
  • เรียนรู้ ทำงานเป็นทีม และมีเครือข่าย
  • สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • เลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย และความสนใจ
  • มีการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง
  • หมั่นสร้างแรงบันดาลใจ
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นพี่เลี้ยง สนับสนุน

รวมเรื่อง 1 อำเภอ 1 ชมรมผู้สูงอายุส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ที่เขต 2

 

หมายเลขบันทึก: 458170เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2011 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท