วิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาหลายประเด็นด้วยกัน


เขียนโดย อ.ชากีรีน สุมาลี

                                                                            ผู้ประเมินภายนอก

                                               สังกัดมูลนิธิเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและสงเคราะห์สังคม(EDS)

 

              ด้วยพระนามของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณาปราณีเสมอ  การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก 

             หลังจากที่ผมได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินภายนอกรอบสาม ทำให้ผมได้ค้นพบประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาหลายประเด็นด้วยกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดผมคิดว่าประเด็นสิ่งที่ผมพบเจอน่าจะไดเรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหมู่กลุ่มคนที่ทำการศึกษาด้วยกันเพื่อที่จะได้นำประเด็นเหล่านี้ไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป  แต่ก่อนที่จะนำเสนอผมขอวางกรอบในการนำเสนอ ว่าการนำเสนอในครั้งนี้เป็นการเสนอในภาพรวมไม่ระบุว่าเป็นโรงหนึ่งโรงใด

        ประเด็นที่ค้นพบมีดังนี้

        1. อาการ PDCA บกพร่อง พบว่าการจัดการศึกษาส่วนใหญ่ยังมีถูกจัดระบบให้เป็นระบบครบวงจรคุณภาพ PDCA อันเนื่องมาจากว่า 

             1.1 การเขียนแผนที่ไม่ชัดเจน  

                     - แผนพัฒนาคุณภาพและแผนปฏิบัติการประจำปีไม่ได้นำระบบประกันคุณภาพลงสู่แผนให้เป็นไปตาม มาตราที่ 48 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ(2545) ซึ่งระบุว่า "และสถานศึกษาจัดให้มีระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง" จึงส่งผลให้ระบบประกันคุณภาพภายในไม่เข้มแข็ง

                     - แผนพัฒนาคุณภาพและแผนปฏิบัติการประจำปีไม่ระบุเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI)ที่ชัดเจน ซึ่งส่งผลให้โครงการ / กิจกรรมที่ดำเนิการไร้ทิศทาง 

                    - โรงเรียนทำโครงการ / กิจกรรม จำนวนมาก แต่ไม่ตอบสนองระบบประกันคุณภาพ หรือ ไม่ตอบเป้าหมายของแผน/ เป้าหมายของโครงการ  กิจกรรมที่ดำเนินการไม่สามารถตอบเป้าหมายของโครงการ จึงส่งผลต่อการประเมินโครงการ

                    - โรงเรียนมีการทำโครงการจำนวนมาก แต่ขาดการประเมินผล บางส่วนมีการประเมินผลแต่เป็นเพียงแค่ประเมินความพึงพอใจ ผลการประเมินไม่ตอบเป้าหมายของโครงการแต่ส่วนใหญ่โรงเรียนไม่ได้ทำการประเมินโครงการ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่พบมากที่สุด จึงส่งผลต่อการสังเคราะห์ผลการประเมินให้เป็นสารสนเทศเพื่อนำำปแก้ปัญหา หรือ พัฒนางานต่อไป 

              จึงสรุปได้ว่าการดำเนินงานของโรงเรียนในภาพรวม วงจรคุณภาพ PDCA ยังไม่เคลื่อน ซึ่งผมเรียกอาการเช่นนี้ว่า อาการ PDCA บกพร่อง

             ปัญหาในประเด็นนี้เกิดขึ้นเพราะขาดความเชื่อมโยงจากระดับ P ระดับ D ระดับ C และระดับ A 

             ดังนั้นข้อเสนอแนะสำหรับประเด็นนี้คือ ผู้บริหารต้องออกแบบในมิติการบริหารให้ครอบคลุม วงจรคุณภาพ PDCA และทั้ง 4 ระดับต้องมีความเชื่อมโยงกัน 

             ระดับครูผู้สอนต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้ครอบคลุมวงจรคุณภาพ PDCA เช่นกัน       ออกแบบให้แผนพัฒนาคุณภาพ / แผนปฏิบัติการประจำปีและแผนจัดการเรียนรู้ให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยกันกำหนดเป้าหมายของแผนจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา / แผนปฏิบัติการประจำปี

         2. โรงเรียนที่มีระดับปฐมวัยและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานใช้แผนเดียวกัน แต่รายละเอียดในแผนกลับมีรายละเอียดของระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้นไม่ปรากฏเป้าหมายและเนื้องานในระดับปฐมวัย ในกรณีนี้ ขอเสนอให้แยกแผนงานระดับปฐมวัยกับระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ออกจากกัน

        3. ปัญหาความสัมพันธ์ในมิติการบริหารกับผลผลิต ผลสัมฤทธิ์นักเรียนต่ำ ผลการทดสอบระดับชาติต่ำ นี่ไม่่เป็นปัญหาของโรงเรียนหนึ่งโรงเรียนใด แต่เป็นผลจาการบริการการศึกษาในภาพรวม 

          3.1 จากการออกประเมินคุณภาพการศึกษาในรอบ 3 ทำให้พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ที่ประเมินมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ เมื่อนำคะแนนของแต่ละโรงเรียนมาวิเคราะห์เปรียบเทียบทั้ง 3 ปี เพื่อดูพัฒนาการของผู้เรียน พบว่า ร้อยละ 90 ผลสัมฤทธิ์ขึ้นลงแบบไร้ทิศทาง ถึงแม้ว่าบางโรงจะมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ในระดับดีสูงกว่าร้อยละ 50 แต่ก็ยังพบว่าพัฒนาการยังขึ้นลงแบบไร้ทิศทาง เมื่อตรวจสอบในมิติการบริหาร พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่มีการบริหารผลสัมฤทธิ์แต่ปล่อยให้ผลสัมฤทธิ์ขึ้นลงตามยถากรรม 

               แต่เมื่อตรวจสอบกับอีกโรงเรียนหนึ่งที่มีพัฒนาการของผลสัมฤทธิ์แบบขั้นบันได  พบว่าโรงเรียนนี้มีแผนปฏิบัติการประจำปีที่ระบุเป้าหมายของผลสัมฤทธิ์ทุกกลุ่มสาระวิชา มีเครื่องมือในการตรวจสอบติดตามผลการสอนของครู สรุปผลสัมฤทธิ์ในแต่ละรายวิชาเป็นสารสนเทศเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ มีการนิเทศแผนการจัดการเรียนรู้ มีการนิเทศการจัดการเรียนรู้ มีการวิเคราะห์ข้อสอบ และที่สำคัญที่สุดนักเรียนจากโรงเรียนนี้เป็นนักเรียนที่ไม่ได้ผ่านการสอบเข้าหรือไม่ผ่านการคัดเลือก   แต่เป็นนักเรียนที่มีความหลากหลายมาก แต่กระบวนการบริหารจัดการของโรงเรียนเป็นระบบ จึงส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้นในลักษณะขั้นบันได 

            3.2 ในกรณีของการวัดผลระดับชาติ  พบว่าปัญหานี้ไม่ได้เป็นปัญหาของโรงเรียน แต่เป็นปัญหาร่วมของการศึกษาไทย ที่หน่วยงานทั้ง 3 หน่วยงานหลักทางการศึกษาต้องให้ความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืน

             จากการประเมินภายนอกรอบ ๓ ทำให้เห็นปัญหาว่า ตบช.ที่ ๕ เป็นปัญหาของ โรงเรียนเป็นอย่างมาก ผมขอนำเสนอให้ หน่วยงาน ๓ หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการศึกษาชาติ คือ สพฐ. สทศ. และ สมศ.ได้มานั่งคุยกัน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกัน  โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้

                   ๑. ขอเรียกร้อง สทศ.ว่า ในการสอบ ONET ให้แบ่งกลุ่มโรงเรียนออกเป็น ๓ ระดับ คือ โรงเรียนเก่ง ปานกลาง อ่อน แล้วใช้ข้อสอบที่เหมาะมกับโรงเรียนแต่ละกลุ่ม

                   ๒. ขอเรียกร้องให้ สพฐ.ได้นำผล ONET มากำหนดเป็น Roadmap ในการพัฒนาสถานศึกษาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ และผลการทดสอบระดับชาติให้สูงขึ้นเป็นขั้นบันได โดยเฉพาะการพัฒนาครูให้มีความสามารถในการสอนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการสอนคิดทุกรูปแบบ เพื่อให้นักเรียนมีความสามารถในการคิดและสอดคล้องกับแบบทดสอบ ONET ของ สทศ.

                   ๓. ขอเรียกร้องให้ สมศ.ได้สร้างเครื่องมือในการประเมินภายนอกให้มีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน ระหว่างการบริหารของผู้บริหาร การจัดการเรียนรู้ของครู เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางเรียน และผลการทดสอบระดับชาติ

 

        4. ปัญหาความสัมพันธ์ในมิติการบริหารกับการจัดการเรียนรู้  นับเป็นปัญหาอีกประการหนึ่ง  คือ การบริหารไม่ได้มุ่งเน้นให้การจัดการเรียนรู้ของครูเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน  ซึ่งพบเห็นได้จาก แผนจัดการเรียนรู้ของครูไม่สอดคล้องกับแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาหรือแผนปฏิบัติการประจำปี อันเนื่องมาจากแผนปฏิบัติการประจำปีไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน จึงเป็นการยากที่จะปรับทิศทางให้แผนจัดการเรียนรู้ให้ไปในทิศทางเดียวกันกับแผนพัฒนาคุณภาพ หรือ แผนปฏิบัติการประจำปี 

           นอกจากนั้น การบริหารยังไม่ได้ใช้เครื่องมือการนิเทศสำหรับนิเทศติดตามการจัดการเรียนรู้ อันเนื่องมาจากผู้บริหารส่วนใหญ่ขาดทักษะในการบริหารวิชาการ  

           การวิเคราะห์ข้อสอบเพื่อวิเคราะห์อำนาจจำแนก ความยากง่าย ก็ไม่ปรากฏ จึงทำให้ข้อสอบขาดความเที่ยง  ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาในมิติการบริหารเพื่อจัดการเรียนรู้

 

        5. ปัญหาความสัมพันธ์ในมิติการจัดการเรียนรู้กับผลผลิต เมื่อมาพิจารณาในมิตินี้ จะพบได้ว่า การจัดการเรียนรู้ของครูมีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน จากการค้นพบของผมพบว่า โรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ และมีพัฒนาการขึ้น ๆ ลง นั้น เมื่อไปสังเกตุการจัดการเรียนรู้ของครูในภาพรวม พบว่า ครูยังไม่ปรับการจัดการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ไม่เห็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ครูส่วนใหญ่ยังบอกความรู้ มากกว่าจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เมื่อศึกษาแผนจัดการเรียนรู้พบว่า 

           - ครูส่วนใหญ่มีแผนจัดการเรียนรู้ แต่การออกแบบแผนจัดการเรียนรู้ขาดความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายของแผนจัดการเรียนรู้ กับ กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ และขาดความสัมพันธ์ระหว่างการวัดผลประเมินผลด้วย

           - ครูบางส่วนมีแผนจัดการเรียนรู้แต่ไม่ใช้แผนจัดการเรียนรู้ ในการจัดการเรียนรู้

           - แผนจัดการเรียนรู้บางส่วนขาดวิธีการวัดผลประเมินผลอย่างชัดเจน

           - บันทึกหลังการจัดการเรียนรู้ / บันทึกการสอน ขาดความชัดเจน ขาดการเชื่อมโยงกับเป้าหมายของแผนจัดการเรียนรู้ เนื่องมาจาก เป้าหมายของแผนจัดการเรียนรู้ไม่เด่นชัดทำให้ยากต่อการบันทึกหลังการจัดการเรียนรู้

           - วิจัยในชั้นเรียน ครูส่วนใหญ่ทำวิจัยในชั้นเรียน แต่ไม่ได้เป็นการมุ่งแก้ปัญหาของผู้เรียนอย่างแท้จริง อันเนื่องมาจากว่าปัญหาที่นำมาทำวิจัยไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดจากการเรียนรู้ของผู้เรียน

 

          ข้อค้นพบอีกประการหนึ่ง คือ พบว่าในบางโรงเรียนที่มีครู กศ. ๓ มาก แต่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ต่ำ และ ผลสัมฤทธิ์มีความผกผันสูง เมื่อศึกษาในระดับกลุ่มสาระพบว่า กลุ่มสาระที่มี่ครู กศ. ๓ มาก นักเรียนจะมีผลสัมฤทธิ์ทางเรียนต่ำกว่ากลุ่มสาระอื่นๆ 

 

         ข้อเสนอแนะสำหรับประเด็นนี้ มีดังนี้ 

         ๑. โรงเรียนนำสารสนเทศด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผลการทดสอบระดับชาติ มากำหนดกลยุทธ  และกำหนดเป้าหมายในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเป้าหมายของผลการทดสอบระดับชาติให้ชัดเจน  เพื่อกำหนดแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และผลการสอบระดับชาติ  ดังนั้นแผนการจัดการเรียนรู้ของครูต้องเชื่อมโยงกับเป้าหมายของแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา

         ๒. สำรวจกลุ่มนักเรียนที่มีผลการเรียนที่ต่ำกว่าระดับดี แล้วจัดกลุ่มระดับและประเภทของปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ชัดเจนขึ้น เช่นกลุ่มนักเรียนที่อ่านไม่ออก  คำนวณไม่เป็น หรือนักเรียนที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่ส่งผลต่อการเรียน

 

        ๓. พัฒนาครูให้มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ. โดยเฉพาะเน้นการสอนคิด เช่น การสอนแบบโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน( PBL) การสอนแบบโครงงาน การสอนแบบอริสัจ ๔ การสอนแบบโยนิโสมนัสการ  ฯลฯ

       ๔. ควรพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดหลากหลายรูปแบบ โดยการฝึกให้ผู้เรียนใช้แผนที่ความคิด (mind map) และ ผังมโนทัศน์ (concept map) หรือฝึกฝนให้นักเรียนใช้กิจกรรมอื่น ๆ เพื่อพัฒนากระบวนการคิดของผู้เรียน 

       6.อัตลักษณ์ , เอกลักษณ์ และมาตรการส่งเสริม ประเด็นใหม่ที่โรงเรียนยังขาดความเข้าใจ  จากประสบการณ์ในการทำงานประเมินคุณภาพรอบ3 ของ สมศ. พบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้ ไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ ไม่เข้าใจมาตรการส่งเสริมเพราะยังเป็นประเด็นใหม่มาก สืบเนื่องจาก สมศ.ได้ออกเกณฑ์การประเมินมาค่อนข้างล่าช้าทำให้โรงเรียนยังไม่ได้สร้างความเข้าใจกับประเด็นเหล่านี้  ดังนั้นในการประเมินผู้ประเมินต้องใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์และหลักรัฐศาสตร์บูรณาการควบคู่กันไป เพื่อช่วยค้นหาและชี้จุดให้โรงเรียนได้เข้าใจ ดังนั้นในบทความนี้ ผมจึงขออธิบาย ประเด็นเหล่านี้ ดังนี้

     คำว่า “อัตลักษณ์” และ “เอกลักษณ์” นี้สะกดคล้ายคลึงกัน แต่มีความหมายไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แถมยังมีความหมายบางส่วนทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งสามารถอธิบายดังนี้

             “อัตลักษณ์” ไม่มีบันทึกไว้ในพจนานุกรม แต่มีตำราหลายเล่มให้ความหมายคำว่า “อัตลักษณ์” ไว้ว่าคุณลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ของลักษณะเฉพาะของบุคล สังคม ชุมชน หรือประเทศนั้นๆ เช่น เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมท้องถิ่น และศาสนา ฯลฯ ซึ่งมีคุณลักษณะที่ไม่ทั่วไปหรือสากลกับสังคม อื่นๆ พูดง่ายๆ คือลักษณะที่ไม่เหมือนกับของคนอื่นๆ “อัตลักษณ์” มาจากภาษาบาลีว่า อตฺต + ลักษณ โดยที่ “อัตตะ” มีความหมายว่า ตัวตน, ของตน ส่วน “ลักษณะ” หมายถึง สมบัติเฉพาะตัว หากมองเพียงแค่รูปศัพท์ “อัตลักษณ์” จึงเหมาะจะนำมาใช้หมายถึงลักษณะเฉพาะตัวของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่า    คำว่า "อัตลักษณ์" ในทางการแพทย์  หมายถึง DNA เช่น การพิสูจน์อัตลักษณ์ของบุคคล หรือ พิสูจน์ตัวตนของบุคคล คือการพิสูจน์ DNA นั่นเอง

              ส่วนคำว่า “เอกลักษณ์” มีคำว่า “เอก” ซึ่งหมายถึง หนึ่งเดียว จึงน่าจะหมายความว่าลักษณะหนึ่งเดียว (ของหลายๆ สิ่ง) หรือลักษณะที่ของหลายๆ สิ่งมีร่วมกัน ซึ่งเป็นความหมายแรกตามพจนานุกรมนั่นเอง

             คำว่า “เอกลักษณ์” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า ลักษณะที่เหมือนกันหรือมีร่วมกัน เช่น ชุมชนนี้มีเอกลักษณ์อยู่ที่การทอผ้าจก หมายความว่าคนในชุมชนนี้มีอาชีพทอผ้าจกเหมือนๆ กันหมด อย่างไรก็ดี คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้คำว่า “เอกลักษณ์” ในความหมายว่าลักษณะอันเป็นเฉพาะ มีหนึ่งเดียวของสิ่งๆ หนึ่งดังที่ผมกล่าวไปแล้วข้างต้น เช่น ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย 

           เมื่อ คำ ๒ คำนี้เข้ามามีบทบาทต่อระบบประกันคุณภาพทางการศึกษา จึงสามารถอธิบายได้ ดังนี้

          6.1 อัตลักษณ์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า identity หมายถึง ผลรวมของลักษณะเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้สิ่งนั้นเป็นที่รู้จักหรือจำได้ 

       อัตลักษณ์ในทางการศึกษา หมายถึง ผลของปรัชญา ปณิธานวิสัยทัศน์ และพันธกิจในการก่อตั้งสถานศึกษา นั่นย่อมหมายถึงผลของการจัดการศึกษาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน หรือสามารถกล่าวได้ว่า อัตลักษณ์ของสถานศึกษา คือ ลักษณะเฉพาะที่เป็นตัวตนของสถานศึกษา ที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการจัดตั้งสถานศึกษา  หรือลักษณะโดดเด่นของสถานศึกษา ควรเน้นที่การกำหนดภาพความสำเร็จในตัวผู้เรียน 

       ตัวอย่างอัตลักษณ์ของสถานศึกษา

        - โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย อาจเป็น  “มีภาวะผู้นำและสุภาพบุรุษ”

        - โรงเรียนสตรีวิทยา อาจเป็น “ยอดนารี สตรีวิทยา”

        - โรงเรียนในลำปาง อาจเป็น “มีจิตสำนึกรักลำปาง รักษ์สิ่งแวดล้อม”

        - โรงเรียนในเครือเบญจมะฯ อาจเป็น “ประชาธิไตย เคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์”

        - โรงเรียนในเครือจุฬาภรฯ อาจเป็น “บุคลิกนักวิทยาศาสตร์”

        - โรงเรียนบุญวาทย์ เป็น “รักการทำดี วิชาการมาตรฐานสากล สร้างคนป็นผู้นำ”

 

        การกำหนดอัตลักษณ์ของสถานศึกษามีเกณฑ์การพิจารณ มีดังนี้

 

        ๑. ผู้บริหาร ครู บุคลากร ชุมชนและองค์กรภายนอกมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนปฏิบัติงานโดยระบุเป้าหมายและกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับปรัชญา ปณิธาน/วิสัยทัศน์ และพันธกิจการดำเนินงานของสถานศึกษาโดยได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา

        ๒. มีการสร้างระบบการมีส่วนร่วมของผู้เรียน และบุคลากรในการปฏิบัติตามกลยุทธ์ที่กำหนดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และบุคลากรไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติ

       ๓. มีการประเมินความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสถานศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความพึงพอใจอยู่ในระดับดีไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐

        ๔. ผลการดำเนินงานบรรลุตามปรัชญา ปณิธาน/วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์การจัดตั้งสถานศึกษา และเกิดผลกระทบที่ดีต่อชุมชน ท้องถิ่น

        ๕. ผู้เรียนมีอัตลักษณ์ตามปรัชญา ปณิธาน/วิสัยทัศน์ และพันธกิจด้านผู้เรียนตามที่สถานศึกษากำหนด และเป็นที่ยอมรับของชุมชน ท้องถิ่น

 

          6.2 เอกลักษณ์ของสถานศึกษา คือ ผลการดำเนินงานของสถานศึกษาตามจุดเน้นและจุดเด่นของสถานศึกษาที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษา เช่นโรงเรียนที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ โรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนสองภาษา โรงเรียนบูรณาการอิสลาม ฯลฯ

           การกำหนดเอกลักษณ์ของสถานศึกษามีเกณฑ์การพิจารณ มีดังนี้

           ๑. ผู้บริหาร ครู บุคลากร ชุมชนและองค์กรภายนอกมีส่วนร่วมในการกำหนดจุดเน้น จุดเด่น หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะของสถานศึกษา 

รวมทั้งกำหนดแผนปฏิบัติงานโดยระบุเป้าหมายและกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา

           ๒. มีการสร้างระบบการมีส่วนร่วมของผู้เรียน และบุคลากรในการปฏิบัติตามกลยุทธ์ที่กำหนดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ 

และบุคลากรไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

          ๓. มีการประเมินความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสถานศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความพึงพอใจอยู่ในระดับดีไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐

           ๔. ผลการดำเนินงานบรรลุตามจุดเน้น จุดเด่น หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะของสถานศึกษาและเกิดผลกระทบที่ดีต่อชุมชน ท้องถิ่น

         ๕. สถานศึกษามีเอกลักษณ์ตามจุดเน้น จุดเด่น หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะที่กำหนด และได้รับการยอมรับจากองค์กรภายนอกสถานศึกษา

         6.3 มาตรการส่งเสริม

               6.3.1 โครงการพิเศษเพื่อส่งเสริมบทบาทของสถานศึกษา ในตัวบ่งชี้นี้โรงเรียนต้องทำโครงการขึ้นมา ๑ โครงการเพื่อแก้ปัญหาของโรงเรียนเอง และ / หรือ ชุมชนจะทำโครงการอะไรก็ได้แต่ต้องเน้นเพื่อแก้ปัญหาของตนเอง แต่ถ้าโรงเรียนพยายามแก้ปัญหาของตนเองโดยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาแก้ปัญหาจะทำให้โรงเรียนได้คะแนนมากกว่าโครงการทั่ว ๆ ไป เพราะการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาแก้ปัญหา นั่นหมายถึงเป็นความพยายามแก้ปัญหาโดยใช้ทรัพยากรที่พอประมาณบนพื้นฐานของเหตุและผล อันจะทำให้สถานศึกษาเกิดประสิทธภาพขององค์กร  การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินงานนั้นต้องสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและการพัฒนาบุคลากร เท่าที่ค้นพบโรงเรียนส่วนใหญ่มีโครงการที่น้อมนำปรัชาญาเศรษฐกิจพอเพียงมาแก้ปัญหาของสถานศึกษาแต่ยังไม่เข้าถึงแก่นแท้ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ โรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดำเนินงานให้ครอบคลุมแนวคิด 3 ห่วง 2 เงื่อนไข (3 ห่วง ได้แก ความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน 2 เงื่อนไข ได้แก่ หลักความรู้ กับ หลักคุณธรรม)  โดยมีแนวทางในการพิจารณาดังนี้

              ๑. มีการดำเนินการโครงการพิเศษ อย่างน้อย ๑ โครงการ

             ๒. มีการดำเนินงานเข้าสู่ระบบตามวงจรคุณภาพ (PDCA)

             ๓. บรรลุเป้าหมายตามแผนการดำเนินงานของโครงการพิเศษระดับสถานศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐

             ๔. ผู้เรียน อย่างน้อยร้อยละ ๕๐ มีส่วนร่วมในโครงการพิเศษ

             ๕. มีผลกระทบที่เกิดประโยชน์ เกิดแบบอย่างและสร้างคุณค่าต่อสถานศึกษา และ/หรือ ชุมชนรอบสถานศึกษา

             6.3.2 โครงการพิเศษเพื่อส่งเสริมพัฒนาสถานศึกษาในยกระดับมาตรฐาน  รักษามาตรฐาน  และพัฒนาสู่ความเป็นเลิศที่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา   ในตัวบ่งชี้นี้ต้องนำเอาข้อเสนอแนะจากการประเมินในรอบที่ 2 มาแก้ปัญหา หรือ พัฒนาต่อเพื่อให้เกิดคุณภาพพอย่างยั่งยืน เท่าที่ค้นพบโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้นำข้อเสนอแนะจากการประเมินในรอบที่ 2 มาแก้ปัญหาหรือพัฒนา  มีบางส่วนที่เพิ่งจะมารู้จักรายงานผลการประเมินรอบ 2 ในวันที่รับการประเมิน สำหรับในตัวบ่งชี้นี้ มีเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้

                    ๑. มีแผนการดำเนินงานประจำปีตามมาตรการที่นำมาปรับปรุงและพัฒนา เพื่อมุ่งไปสู่สถานศึกษาที่มีคุณภาพตามกลุ่มสถานศึกษา โดยใช้ข้อเสนอแนะจากผลการประเมินคุณภาพภายนอกและผลการประเมินคุณภาพภายใน (กรณีสถานศึกษาที่ยังไม่เคยได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสองให้ใช้ผลการประเมินคุณภาพภายในจากต้นสังกัด)

                    ๒. มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับหน่วยงานต้นสังกัด หรือหน่วยงานสนับสนุน  หรือหน่วยงานอื่นๆ  ทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรหรือมีข้อมูลเชิงประจักษ์

                    ๓. มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบครบวงจรคุณภาพ (PDCA)

                    ๔. มีผลการดำเนินงานบรรลุเป้าหมายตามแผนการดำเนินงานประจำปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐

                    ๕. มีผลกระทบต่อคุณภาพของสถานศึกษาตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา

              เพื่อความชัดเจน และง่ายดาย ผมขอสรุปว่าแนวทางในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพ โรงเรียนต้องกล้าเปลี่ยนแปลง เป็น ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน ปฏิสังขรณ์การบริหาร  

              บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งจากสิ่งที่ค้นพบจากการประเมินภายนอกรอบ 3 ซึ่งผมพยายามที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นบทความพร้อมกับข้อเสนอแนะ เพื่อมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของไทย บทความนี้ถูกค้นพบในพื้นที่หนึ่ง อาจจะไม่ครอบคลุมที่พื้นที่อื่น ๆ แต่ผู้อ่านก็สามารถที่จะนำไปเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาระบบประกันคุณภาพของโรงเรียนได้ไม่มากก็น้อย  จึงเขียนมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาไทย

 

 

หมายเลขบันทึก: 457997เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2011 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท