ชีวิตที่พอเพียง : 93. เรียนชำแหละศพในวิชากายวิภาคศาสตร์


         ปี ๒๕๐๕ ผมเข้าเรียนแพทย์ปี ๑ ที่ศิริราช (เวลานี้เรียก ปี ๓)      วิชาที่เรียนมากที่สุดคือกายวิภาคศาสตร์      การเรียนประกอบด้วย  การฟังเล็คเช่อร์    การฟัง ทอล์คแล็บ    การปฏิบัติชำแหละศพ โดยมีอาจารย์คอยช่วยเหลือตอบคำถาม เรียกว่าอาจารย์คุมแล็บ     และการสอบ     ส่วนการเรียน/ท่องด้วยตนเองหรือติวกันเองนั้นของตายอยู่แล้ว     มีแถมด้วยอาจารย์หรือ นศพ. รุ่นพี่มาติวให้

         การเล็คเช่อร์ของอาจารย์นี้น่าสนใจมาก     แต่ละชั่วโมงเล็คเช่อร์ ดูจะมีเนื้อหามากกว่าที่จะบรรจุลงในเวลา ๕๐ - ๖๐ นาที    ดังนั้นอาจารย์จะบรรยายเร็วมาก     สมัยนั้นมีเครื่องฉายรูปสไลด์เป็นเครื่องช่วยให้เห็นภาพ     ซึ่งเวลาฉายสไลด์ต้องปิดไปและพรางแสงจากภายนอก     พวกเรานักจดก็ต้องมีไฟฉายท่อนเล็กๆ เป็นอาวุธ     การฝึกจดให้ได้เร็วและครบถ้วนเป็นเรื่องจำเป็น     จดแล้วก็ต้องมาต่อเติมภายหลัง     คนจดเก่งๆ จะมีเพื่อนนิยมมาขอยืมสมุดเล็คเช่อร์      บางคนเก่งมาก มือขวาจดตัวหนังสือ  มีอซ้ายวาดรูป    เรามีดินสอสีหลากสีไว้วาดรูป

         ตอนบรรยายเรื่องอวัยวะเพศและการทำหน้าที่ของมัน     ดูเหล่าอาจารย์จะเครียดกัน     ต้องให้อาจารย์ผู้ใหญ่มากๆ เป็นผู้บรรยาย      และต้องระวังไม่ให้ดูหยาบโลน     สมัยผมอาจารย์หมอเธียร (ศ. นพ. เธียร อุทยานัง) รองหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ เป็นผู้บรรยาย     ตอนนั้นพวกเรายังไม่ประสีประสา ก็ไม่ค่อยเข้าใจ     ตอนชำแหละศพ เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งถาม พาร์ทเน่อร์ ผู้ชาย     ว่า คลิตอริส (clitoris) มีไว้ทำอะไร     เพื่อนผู้ชาย (สุรพล) เอามานินทาว่าทำไมไม่ลองจับดู    

         คำว่า พาร์ทเน่อร์ (partner) แปลว่าเป็นคู่ทำแล็บด้วยกัน     อย่างผมคู่กับวีรวิทย์     ในแล็บกรอส (Gross Anatomy) ซึ่งก็คือแล็บเรียนชำแหละศพ    มีพาร์ทเน่อร์ ๔ คน ต่อหนึ่งโต๊ะ (หนึ่งศพ)    ส่วนมากเขาจะจับคู่หญิง-ชาย เพื่อให้ นศพ. ชายช่วยทำงานหนักๆ      อย่าง ๔ คนที่โต๊ะผมก็มี ดวงตา  ศศิประภา  วีรวิทย์  วิจารณ์      การจัดทีมพาร์ทเน่อร์นี้ วีรวิทย์เป็นผู้จัดการ     เมื่อเรียนจบศศิประภากับวีรวิทย์แต่งงานกัน     มีลูกสาวสองคนเรียนเก่งอย่างฉกาจฉกรรจ์  เป็นหมอทั้งคู่      คนพี่ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษา/ฝึกอบรมต่อที่สหรัฐอเมริกา

         การทำแล็บกรอสนี้เราไม่สวมถุงมือ    ใหม่ๆ กลิ่นน้ำยาดองศพและกลิ่นเนื้อดองติดมือ     ล้างสบู่เท่าไรก็ไม่หมด     เวลากินอาหารก็รู้สึกแปลกๆ     แต่นานๆ เข้าก็ชิน    ถึงขนาดเอากล้วยแขกไปกินกันในห้องแล็บกรอสได้

         มักมีคนถามบ่อยว่าพวกหมอกลัวผีไหม     คำตอบคือกลัวและไม่กลัวครับ     คือกล้าๆ กลัวๆ นั่นแหละ     แต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับผีที่ศิริราชมีเยอะมาก     ทั้งผีแขก  ผีบาทหลวง  แต่ไม่มีผีที่ผาดโผนอย่างในหนังนะครับ    จินตนาการของพวก นศพ. และหมอไม่ดีเท่าคนทำหนัง     คือผมเชื่อว่าผีมันอยู่ในสมองคนเรานั่นเอง  

        ผมได้เล่าแล้วว่าการเรียนกรอสนี่แหละที่ทำลายความมั่นใจตัวเองด้านผลการเรียนเสียยับเยิน    ทำให้ผมยอมรับกับตัวเองว่าผมเป็นคนที่เรียนไม่เก่งมากนัก     โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนแพทย์      แต่ตอนนี้ความมั่นใจตัวเองกลับมาแล้วนะครับ     ผมเชื่อว่าคนที่มีความสามารถในการฝึกฝนตนเองได้เก่งขนาดผม มีน้อยคน     แต่เป็นการฝึกฝนในเรื่องการเรียนรู้ทั่วๆ ไป ไม่ใช่ด้านวิชาการทางเทคนิค

วิจารณ์ พานิช
๑๔ กค. ๔๙
สนามบินหาดใหญ่

หมายเลขบันทึก: 45708เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2006 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท