“จากไม้ฟืนถึงไฮโดรเจน” เส้นทางพลังงานโลกจากมุมมองอนาคต (1)


ยุคหินไม่ได้สิ้นสุดลงเพราะไม่มีหินเหลือให้ใช้ และยุคของน้ำมันก็จะจบลงนานก่อนที่น้ำมันจะหมดโลก

ฟ้าครับ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว... นายยามานี อดีตรัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย กล่าวถึงการสิ้นสุดลงของยุคน้ำมันไว้อย่างน่าคิดว่า “ยุคหินไม่ได้สิ้นสุดลงเพราะไม่มีหินเหลือให้ใช้ และยุคของน้ำมันก็จะจบลงนานก่อนที่น้ำมันจะหมดโลก” (The Economist, Oct 23rd 2003)

นายยามานี ผู้นี้มีส่วนสำคัญต่อการขึ้นราคาน้ำมัน จนนำไปสู่วิกฤตการน้ำมันครั้งแรกเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน น่าสนใจว่าบุคคลระดับนี้ เคยมีวิสัยทัศน์ที่สะท้อนออกมาในความเห็น ที่แน่ใจได้ว่าไม่ใช่ “ความคาดหวัง” แน่นอน

เพราะเขาพูดไว้ตั้งแต่เมื่อตอนที่น้ำมันยังล้นโลก และส่วนใหญ่อยู่ในซาอุดิอาระเบีย...

แล้วราคาน้ำมันก็แพงขึ้น แพงขึ้น จนราคาจะแพงกว่าทองคำอยู่แล้ว

นี่ไม่ใช่การทำนาย แต่เป็นการ “มองอนาคต (foresight)”...

 

ย้อนประวัติศาสตร์การมองอนาคต

ในยุคแรก ๆ มนุษย์อาศัยความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสังคมมนุษย์ในเวลานั้น ผนวกเข้ากับจินตนาการเขียนขึ้นมาเป็นเรื่องราวในรูปแบบของนิยาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางไปดวงจันทร์ (From the Earth to the Moon) ที่จูลส์ เวิร์นเขียนขึ้นเมื่อปี 1865 หรือนิยายวิทยาศาสตร์เชิงเสียดสีสังคมอนาคต (Brave New World) ของอัลดัส ฮักซ์เลย์ ตีพิมพ์ออกมาในปี 1932

นิยายวิทยาศาสตร์ที่ดีจะต้องมีจินตนาการที่ล้ำลึกเกินกว่าที่ผู้อ่านจะคาดเดาได้ แต่ขณะเดียวกันเรื่องราวความเป็นไปก็จะต้องสอดคล้องและมีความสมเหตุสมผลน่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้จริง หากอิงตามหลักการวิทยาศาสตร์บางอย่างที่อธิบายได้ด้วยเหตุผล ทฤษฎี หรือสมมติฐาน (ซึ่งข้อนี้นอสตราดามุสสอบตก!)

และข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ ควรจะให้แง่คิดบางอย่างที่กระตุ้นให้เราเปลี่ยนแปลงปัจจุบัน เพื่อให้สิ่งที่ลงมือทำในวันนี้นำไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนา

นิยายสองเรื่องที่กล่าวถึงข้างต้น หากถือตามเกณฑ์นี้ก็คงกล่าวได้ว่าเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมทีเดียว และยังเป็นการมองอนาคต (จากนี้ไปจะขอใช้คำทับศัพท์ว่า foresight) ที่ส่งผลกระทบมาถึงทุกวันนี้อย่างน่าทึ่ง ตั้งแต่ในยุคที่ยังไ่ม่มีใครใช้คำว่า foresight

แต่นิยายก็ยังเป็นนิยาย ที่สร้างความน่าเชื่อถือได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ข้อเท็จจริง หากแต่มุ่งขยายขอบเขตของจินตนาการ เพื่อให้ผู้อ่านเสพด้วย “สมองซีึกขวา” เสียมาก

และคงไม่มีใครวางแผนอนาคตโดยอิงกับนิยาย (อย่างน้อยก็ในสมัยนั้น) ...

มาถึงยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเริ่มเบ่งบานเฟื่องฟู ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในวงการของนักวางแผนและนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือในการคาดการณ์อนาคตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นระบบ และอยู่บนฐานของข้อมูลจริงมากขึ้น

เครื่องมือ foresight เหล่านี้ แท้ที่จริงก็พัฒนาขึ้นมาจากเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นหลัก โดยมีองค์กร think tank ระดับมันสมองอย่างเช่น แรนด์ คอร์ปอเรชั่น นำมาใช้อย่างจริงจัง เพื่อป้อน “ข้อมูลอนาคต” ให้กับรัฐบาลสหรัฐเพื่อนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย

จากการที่เน้นข้อมูลและตัวเลข มุ่งพยากรณ์อนาคต จึงพอเรียกการ foresight ในยุคนี้ได้ว่าเป็นแบบ “สมองซีกซ้าย”

(มีต่อ)  

หมายเลขบันทึก: 45685เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2006 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท