โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ: บึงความรู้ขนาดใหญ่


จึงขอยั่วยวนให้สังคม G2K และโลกภายนอก ได้ติดตามเรื่องราว ณ จุดนี้ อย่างใจจดจ่อ และเตรียมลับคมคิดพร้อมกับกระหน่ำคีย์บอร์ดมาแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์...ให้ซ่านซ่าในหัวใจชาว G2K

ข้อเขียนอันเนื่องมาจากเวทีเรียนรู้ "ครูเพื่อศิษย์" ของชุมชนคน G2K มีให้เสพแล้วนะครับ และผมก็ไปแอบอ่านมาแล้ว ปะทะใจจนอดรนทนไม่ไหวต้องสื่อสารต่อยอดตามประสาพวกดีแต่คิดและคิดแต่ดีด้วยคน...ข้อเขียนของอาจารย์หมอสกล มีหลายข้อกระตุกคิด ที่น่านำไปบริหารสมองต่อยอดจริงๆ เช่น

- เราอนุญาตให้เด็กคิดออกเองมากเพียงไร

- การพยายามทำด้วยตนเองของนักเรียน

- อย่ามุ่งแต่ผลลัพธ์แต่เพียงอย่างเดียว

- คุณธรรม จริยธรรม มันเกิดตอนทำงาน ไม่ได้เกิดตอนเห็นผลลัพธ์

 

นี่แหละที่ชื่นชอบในคมคิดของอาจารย์ และก็ขอเลื้อยความคิดมาสู่วันคืนปัจจุบันที่ผมกำลังยืนอยู่  เรื่องราวของครูและศิษย์หรือเด็กๆ ที่ผมกำลังจะเอ่ยถึงต่อไปนี้ เป็นเหล่าครูและเด็กที่อยู่ในโรงเรียนต่างๆ ของจังหวัดอุดร ที่ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมการก้าวไปสู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โดยมีผู้ใหญ่ใจดีอย่างโรซ่า เป็นผู้ส่งเสริมและส่งเสีย….ครานี้ผมได้ร่วมคณะมาเยี่ยมเยียนการดำเนินงานของครูและนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ซึ่งต่างก็วาดหวังผลสำเร็จในตัวกิจกรรมที่จะส่งเสริมสุขภาพเด็กในโรงเรียนไว้ต่างๆ นานาๆ ตามประสาการทำโครงการ   ช่วงเวลากลางฝนอย่างนี้ พวกเขาก็เพิ่งเริ่มโครงการเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านกันมาได้สัก 3 เดือนแล้วกระมัง ก็มีทั้งที่ Start ออกตัวไปบ้างแล้ว บ้างก็กำลังตั้งท่าออกวิ่ง บ้างก็เพิ่งหารองเท้ามาใส่วิ่ง..ก็ว่ากันไปนะ   งานนี้สิ่งที่น่าหาคำตอบหรือรอดูผลลัพธ์กัน สำหรับผมคงไม่ใช่แค่เรื่องว่าโรงเรียนจะเข้าข่ายโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพหรือไม่ เด็กในโรงเรียนจะมีสุขภาพดีหรือป่าว (ขออภัยที่ใช้คำเขียนเลียนเสียงคำพูด) ซึ่งจริงๆ ประเด็นวัตถุประสงค์หลักอย่างนี้ก็น่าที่จะต้องรู้นั่นแหละ

แต่สิ่งที่อยากรู้มากไปกว่านั้นและรอคอยจะชื่นชมอยู่ ก็คือ (ประเด็นเชื่อมโยง และคิดต่อยอดจากข้อเขียนของอาจารย์หมอสกล) กิจกรรมในโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ได้เป็นพื้นที่ ได้เป็นช่วงเวลา ได้เป็นกระบะดินทรายให้เด็กๆ ในโรงเรียนได้เติบโตทางความคิดด้วยเพียงใด ได้คิดออกเอง ได้ทำเอง ได้สร้างและเรียนรู้จริยธรรม คุณธรรม รวมถึงหาเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตด้วยตนเองเพียงใด และด้วยวิธีใด

ได้อ่านได้ศึกษาก่อนลงพื้นที่เยี่ยมยามกัน พบเจอกิจกรรมที่ขีดเขียนกันไว้ ซึ่งก็มีหลากหลายและล้วนแต่เป็นกิจกรรมนำพาไปสู่การเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพทั้งนั้น เช่น

- กิจกรรมเชิงให้ความรู้และรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ

- กิจกรรมสร้างเครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครองและความร่วมมือจากพ่อค้าแม่ขายหน้าโรงเรียน

- กิจกรรมบูรณาการทักษะต่างๆ ให้เด็กมีโภชนาการที่ดี เช่น กิจกรรมเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหาร , การปลูกผัก , กิจกรรมครูและนักโภชนาการ กำหนดเมนูอาหาร

- กิจกรรมออกกำลังกาย

 

ก็ครบนะครับ ทั้งส่วนของการให้และสร้างความรู้  ส่วนของสร้างความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง และส่วนของการลงมือสร้างทำสุขภาวะทางโภชนาการจากการเลือกกินและสุขภาพจากการออกกำลังกายของเด็กๆโดยตรง  เป็นสามส่วนที่น่าจะขับเคลื่อนให้ก้าวไปสู่การเป็น โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ และเด็กมีสุขภาพดี ได้อย่างไม่น่ายากเย็นนัก (ขออนุญาตเพิ่มคำว่า “เด็กมีสุขภาพดี” เข้ามาด้วย เพราะไม่อยากรู้สึกไปเองว่าการเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ได้ประโยชน์เท่านั้น)  เหล่านี้ก็เป็นโครงการและกิจกรรมในภาพกว้างๆ พบเห็นได้ทั่วไป  แต่ที่ต้องการกระตุกคิด หรือเปิดเวทีให้คิดและเติบโตร่วมกันคือ กิจกรรมเหล่านี้จะมีพื้นที่ให้เด็กได้ร่วมคิดทำ หรือคิดเองทำเอง เพียงใด และ จะดีหรือไม่ที่ให้พื้นที่นี้แก่เด็ก...

 

ในส่วนของคำว่า “เพียงใด” ก็ต้องติดตามจากการไปเยี่ยมเยือนกันนี่แหละ ว่าเด็กมีพื้นที่และบทบาทในโครงการเพียงใด  แต่ในส่วนของคำถามว่า “ดีหรือไม่ที่จะมอบพื้นที่และโอกาสให้เด็กคิดทำเอง” นั้น ก็เราๆ ท่านๆ ก็มัก (ต้อง) คิดไปก่อนว่า  ให้เด็กคิดเองทำเอง โครงการและกิจกรรมต่างๆ อาจล้มครืน หรือเละตุ้มเป๊ะไม่เป็นท่าก็เป็นได้  ไอ้อยากให้พื้นที่ อยากให้โอกาส ก็อยากให้ แต่ก็กลัวจะไม่เข้าท่าเข้าทาง... ผู้ใหญ่เอ๋ยจะเอาไงดีล่ะที่นี้  คงต้องมาชั่งใจมองในมุมสร้างโอกาสแห่งชีวิต อาจทำให้เด็กเหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนรู้ เข้าใจในการส่งเสริมสุขภาพของตนเองอย่างที่สุด ได้เติบโตและเรียนรู้ได้จริงจังว่าบางสิ่ง บางช่วงบางตอนของชีวิต เด็กๆ อย่างพวกเขาก็สามารถทำเองได้ ไม่ว่าอาจต้องยืดอกยอมรับความล้มเหลว หรือยิ้มแป้นลิงโลดกระโดดตัวลอยด้วยความดีใจและภาคภูมิใจเมื่อสำเร็จ..แต่ก็นั่นแหละ หาคำตอบหรือชั่งความรู้สึกได้ยากหรือเกินว่ามั๊ย?  ว่า “ดีหรือไม่ฯ” จากแง่มุมคิดของผู้ใหญ่...ต้องหาคำตอบและค้นความรู้สึกในคำว่า “ดีหรือไม่ฯ” ต่อไป...

 

และนี่เป็นข้อเขียนแรก ที่ค่อนข้างใช้คำโปรยหัวได้ฟุ่มเฟือยและวกวนมาก เพียงเพื่อเปิดฉากเรื่องราวของการไปเยี่ยมเยือนให้กำลังใจ ทั้งครูและศิษย์ ในหลายๆ โรงเรียนของจังหวัดอุดรและบางส่วนเสี้ยวของจังหวัดหนองคาย ที่กำลังมีความสุขกับการสร้างทำโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งโรซ่าได้ส่งเสริมและส่งเสียไว้

 

เรื่องราว ความรู้สึก ความท้าทาย และความเคลื่อนไหวคืบหน้าในการทำกิจกรรมของครูและศิษย์ ที่จะนำพาวัฒนธรรมของสังคมโรงเรียน (ทั้งครู ผู้ปกครอง ศิษย์ ผู้เกี่ยวข้อง) ไปสู่การเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ (ในมุมของผู้ใหญ่) และการมีสุขภาพกายและใจที่ดีของเด็ก (ในมุมของเด็กซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์ตัวจริง) ต้องมีประเด็นให้สุขใจ สร้างสรรค์ ให้เป็นเรื่องจรรโลงใจและเอาอย่าง ผสมผสานกับนาทีทดท้อที่ต้องก้าวผ่านเป็นแน้แท้...เล้าโลมเรื่องราวมาซะขนาดนี้ ไม่สนใจก็ต้องน้อยใจเป็นธรรมดา แต่เชื่อเถอะว่าจะมีสาระที่น่าสนใจ น่าไล้รู้ ไม่น้อยไปกว่าเรื่องราวอื่นๆ เลย   จึงขอยั่วยวนให้สังคม G2K และโลกภายนอก ได้ติดตามเรื่องราว ณ จุดนี้ อย่างใจจดจ่อ และเตรียมลับคมคิดพร้อมกับกระหน่ำคีย์บอร์ดมาแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์...ให้ซ่านซ่าในหัวใจชาว G2K

 

ธนะภูมิ ชาญประไพ

หมายเลขบันทึก: 456711เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2011 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณและยินดีต้อนรับเป็นส่วนหนึ่งของ การขับเคลื่อนโครงการดีๆครับ

วันนี้เเละอีกหลายวันที่อีสาน เราคงได้เห็นเรื่องราวของการทำงานเพื่อเด็กในโรงเรียน

ในเเง่มุมของ โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ...

จะคอยติดตามนะครับ

 

สวัสดีค่ะ

ตามพี่เอกมาให้กำลังใจ และขอติดตามบล็อกนี้ด้วยคนนะค่ะ ^_^

ขอบคุณครับมะปราง ขอบคุณพี่ศรี ครับ

ธนะภูมิกำลังเริ่มเขียนใน Gotoknow ครับ ให้กำลังใจกันหน่อย ;)

เป็นกำลังใจให้อีกคนคะ

ได้ข้อคิด

หากอยากให้ใครทำ ให้คนนั้นคิด

หากอยากให้ดี ให้คนนั้นรู้สึก

อยากให้ อาจารย์สกล มาอ่านจัง คงปลื้มใจแน่ๆ คะ :-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท