เช็ดก้นทุกครั้งโปรดยั้งคิดถึงอนาคตลูกหลานไทย


ไม่ใช่เพียงกระดาษเช็ดก้น แต่ยาสีฟัน ยาสระผม สบู่ แปรง ยาขี้เต่า ผ้าซับระดู ฯลฯ ต่างชาติครองหมด

เช็ดก้นทุกครั้งโปรดยั้งคิดถึงอนาคตลูกหลานไทย

 

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมได้ลองสำรวจตลาดเพื่อหากระดาษเช็ดก้น “ยี่ห้อไทย”  ในร้านค้าปลีกมากหลายทั่วประเทศ ปรากฎว่ามีให้เลือกซื้อประมาณยี่สิบยี่ห้อ แต่มีของคนไทยเพียงหนึ่งเดียว แถมชื่อยี่ห้อ “รักไทย” ยังโดนใจมาก

 

มันมีขายเฉพาะในเชนสรรพสินค้าของคนไทยในอีสานตอนใต้ เอ่ยชื่อคงไม่เสียหายคือห้าง “ทวีกิจ”  มีต้นเชนมาจากอ.นางรอง จ.บุรีรัมย์  ผมช่วยซื้อ “รักไทย” มาตลอดตั้งแต่นั้น ทั้งที่คุณภาพสู้ของต่างชาติไม่ได้ เพราะมันไม่ค่อยซับน้ำและแข็งกระด้างอีกต่างหาก เช็ดแล้วเจ็บดาก แต่ทำไงได้..ดันเกิดมาเป็นคนรักชาติ ..ก็คงต้องทนรับกรรมต่อไป  (หมายเหตุ..คนอีสานเรียก “ก้น” ว่า “ดาก” อย่างไม่กระดาก)

 

เรื่องรักชาตินี้ผมมีประวัติมานานกว่า ๔๐ ปี แต่เมื่อตอนจบ มศ. ๓  (เทียบเท่า ม. ๔ ในขณะนี้) ที่ต้องทำสมุดเฟรนชิป ซึ่งเพื่อนๆเขาใช้สมุดนอกกันหมด  มีผมคนเดียวที่ใช้สมุดไทย โดยผมเขียนคำนำไว้ว่า  “สมุดนี้อาจทำในไทย ไม่สวยงามเหมือนของนอก แต่เจ้าของก็มีน้ำใจอันสวยงามให้เพื่อนเสมอ”  (ลิเกเสียไม่มีดี)

 

ไม่ใช่เพียงกระดาษเช็ดก้น แต่ยาสีฟัน ยาสระผม สบู่ แปรง ยาขี้เต่า ผ้าซับระดู ฯลฯ ต่างชาติครองหมด  แต่ผมสำรวจพบยาสีฟันยี่ห้อหนึ่งชื่อ “สุภาภรณ์” ผมซื้อมาใช้แล้วติดใจมากเพราะรสชาติดีมาก, มีความหอมสมุนไพรที่ลงตัว, เนื้อยามีความหนืดเหนียวที่พอดี, แต่ที่สำคัญคือแปรงฟันเสร็จแล้วรู้สึกสะอาดฟันสะอาดปากมากกว่าทุกยี่ห้อที่เคยใช้มาตลอดชีวิต ผมจัดอันดับว่าเป็นยาสีฟันที่ดีที่สุดในโลก

 

พอใช้หมดหลอดจะไปหาซื้ออีก ก็หาไม่พบ..ขับรถไปควานหาไปทั่วประเทศ (หลายรอบ..เหนือจรดใต้) ก็ไม่พบ เข้าใจว่าเจ๊งไปเรียบร้อย เพราะสู้การตลาดต่างชาติไม่ได้ ส่วนสบู่นั้นไม่เห็นมียี่ห้อไทยเลย  อย่าคิดว่า “นกแก้ว” คือยี่ห้อไทยนะครับ ท่านที่เคยใช้เคยลองไปอ่านฉลากดูกันบ้างไหมว่ามาจากไหน

 

ดินสอ..ไม่มียี่ห้อไทยเลย แต่ปากกาลูกลื่นมีอยู่ยี่ห้อหนึ่ง แต่ต้องใช้ภาษาฝรั่งเพราะถ้าใช้ภาษาไทยแล้วลูกค้าคนไทยจะคิดว่าเป็นของ “ไทยทำ” ก็จะไม่ซื้อ (เหมือนกับเสื้อกางเกงทั้งหลาย) สำหรับคอมพิวเตอร์ก็มีของคนไทยหลายหลาก  ขนาดใช้ชื่อนอกหลอกกันแล้ว ก็ยังเจ๊งกันมาทุกราย  ส่วนของญี่ปุ่น เกาหลี เขาใช้ชื่อภาษาแม่ทั้งนั้น..จากฮอนด้าถึงซัมซุง

 

พศ. ๒๕๓๘ ผมกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆหลังจากไปเรียนและทำงานในเมกาเสีย ๑๘ ปี เห็นมียางรถยนต์ไทยยี่ห้อ “สยามไทร์” ผมก็ซื้อมาใช้..ก็เห็นว่ามันนุ่ม เกาะถนนและทนดีไม่แพ้ของต่างชาติ แต่พอจะเปลี่ยนยางครั้งต่อไปก็หาไม่มีเสียแล้ว เจ๊งไปแล้ว คงเพราะคนไทยไม่ช่วยซื้อนั่นเอง จนบริษัทต้องหันไปผลิตส่งออกนอกอย่างเดียวในนามของยี่ห้ออื่น  แต่ตอนนี้หันมาทำขายในประเทศอีกแล้ว คงมีบทเรียนเลยไม่กล้าใช้ชื่อไทย หันไปใช้ชื่อยี่ห้อเป็นฝรั่ง (จำไม่ได้แล้ว)  ที่ผมรู้เพราะเปลี่ยนยางทีไรผมต้องถามหายางไทยทุกที แต่ปรากฏว่าคราวที่แล้วยี่ห้อนี้ไม่มีเบอร์ยางที่เข้ากับรถผมได้  ก็เลยจำใจต้องใช้ของนอก  

 

..นี่ถ้าใช้ยางไทยแล้วมันเกิดทิ่มตะปูระเบิดกลางถนนจนรถคว่ำ แล้วผมคอหักตายอย่างน่าอนาถ ก็คงมีแต่คน..สมน้ำหน้าที่รักชาติจนตาบอด

 

เท่าที่ทราบ เครื่องยนต์ไทย ยังไม่มีสักเครื่อง แม้แต่เครื่องขูดมะพร้าว ..ดังนั้นเมื่อคราวที่ผมไปนำเสนอ “โครงการวิจัยและพัฒนาและผลิตเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบใหม่”  ต่อบอร์ดของศูนย์วิจัยระดับชาติแห่งหนึ่ง   เมื่อประมาณพศ. ๒๕๔๓ ซึ่งความจริงแล้วผมต้อง “หงอ” กอกระดุม เพราะไปง้อขอเงินเขา แต่ความรักชาติทำให้ผมตาบอดและบ้าบิ่น ทำตัวเป็นนายใหญ่ “มอบนโยบาย” ต่อบอร์ดเสียเลยว่า..

 

..ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 60 ล้านคน มีดร.ด้านวิศวกรรมเครื่องกลนับพันคน มีรายได้ประชาชาติมหาศาล และกำลังภูมิใจว่าเป็นนิค (NIC) แต่น่าฉงนว่าทำไมยังไม่สามารถผลิตเครื่องยนต์ซึ่งเป็นฐานรากแห่งอุตสาหกรรมได้แม้เพียงเครื่องขูดมะพร้าว

 

ผมได้ท้าให้บอร์ดแห่งสถาบันนี้ตั้งเป้าไว้ว่า..ประเทศไทยจะต้องผลิตเครื่องยนต์สี่สูบขนาด 2000 cc ให้ได้ ภายใน 10 ปี โดยที่น็อตทุกตัว แหวนทุกวง และชิ้นส่วนอื่นๆ ประมาณหนึ่งหมื่นชิ้นที่จะมาประกอบกันเป็นเครื่องยนต์นั้น ต้องออกแบบและผลิตโดยคนไทยเท่านั้น บัดนี้ 10 ปีผ่านมาพอดี เราก็ยังผลิตเครื่องยนต์ขูดมะพร้าวไม่ได้อยู่ดี อย่าว่าแต่เครื่องยนต์สี่สูบ 2000 cc  ส่วนสนามกอล์ฟนั้นเรากลับมีระดับโลกมากเต็มประเทศ...อนิจจา

 

ที่ประเทศไทยเรายังล้าหลังได้ปานนี้ หาใช่ว่าเราขาดความรู้ หรือ บุคลากร แต่ผมเชื่อว่าเป็นเพราะเราขาด “พลังจิตทางการเมือง”  (political will) ต่างหาก  เนื่องเพราะเราไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดที่มีวิสัยทัศน์ด้านรักเทคโนโลยีชาติเลยสักชุดเดียว ทุกชุดต่างก็หวังพึ่งทุนและเทคโนโลยีต่างชาติทั้งสิ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้เราไม่สามารถพึ่งตนเองได้แล้ว ยังเป็นการทำลายการ “กำเนิด” ของเราตั้งแต่เป็นตัวอ่อนนั่นทีเดียว ผมจึงได้พูดแบบบ้าบิ่นมานานแล้วว่า รัฐบาลไทยนั่นแหละคือองค์กรที่บ่อนทำลายชาติไทยมากที่สุด

 

ขว้างงูไม่พ้นคอ ถ้าคิดให้ลึกๆ แล้ว ต้องโทษมหาลัยไทยมากกว่า ที่ไม่กล้า “สั่งสอน” นักการเมือง เห็นมีแต่พวกกอกระดุม ขอเงินนักการเมืองเอามาผลาญกันสนานสนุก

 

แต่วันนี้ผมตกใจที่จู่ๆ ก็มีบริษัท “บ้านนอก” บริษัทหนึ่งทำการผลิต ไม่เพียงแต่เครื่องยนต์เครื่องหนึ่งที่ผมฝันไว้เท่านั้น แต่ผลิตรถแทรกเตอร์ทั้งคันเลย โดยที่อุปกรณ์ทุกชิ้นผลิตที่บริษัทนี้ทั้งหมด

 

ผมขอแสดงความชื่นชมต่อผู้บริหารบริษัทนี้เป็นอย่างสูงที่สามารถสร้างเครื่องนี้ขึ้นมาได้ ส่วนผู้บริหารการวิจัยและพัฒนาไทยที่ผ่านมาทุกรัฐบาล ผมขอตำหนิอย่างรุนแรงที่คิดกันได้แต่การผลาญเงินไปดูงาน”เมืองนอก”  แต่ไม่เคยใส่ใจปัญหาพื้นฐานใน “บ้านนอก” เลย  ดูงานกลับมาก็คิดกันได้แต่ “นาโน”  ปล่อยให้ “นาข้าว” ผลผลิตต่ำกว่าเวียตนาม อินโดฯเสียอีก

 

แต่แล้วพอรถคันนี้ออกสู่ตลาดแทนที่จะทำชื่อแบบไทยๆ ว่า “พลายน้อย” ก็ตั้งชื่อเป็น “ญี่ปุ่น”  แต่ยอดขายก็ยังห่างจากยี่ห้อต่างชาติมากยังฟ้ากะเหว จนอาจต้องเจ๊งในไม่นานก็เป็นได้ (สาธุ ไม่ได้แช่ง แต่ลึกๆแล้วเอาใจช่วยมาก ขอให้เจริญ จนส่งไปขายตีตลาดญี่ปุ่น เมกาให้รวยเลิศไปเลย แล้วเอาเงินมาทุ่มสร้างพรรคการเมืองใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ด้านนี้เสียทีเถอะน่า รับรองได้ของผมหนึ่งเสียงแน่นอน)  

 

มันจะเป็นการอัปยศระดับชาติที่ต้องจารึกลงเสาหินให้ลูกหลานสาปแช่งไปอีกหลายพันปีทีเดียว ถ้าการผลิตรถแทรกเตอร์นี้มีอันต้องพับฐานไปเพราะขายไม่ออก เพราะถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่สร้างยานยนต์ได้สำเร็จโดยฝีมือคนไทยล้วนๆ (ยิ่งเป็นแทรกเตอร์ยิ่งทำได้ยากว่ารถยนต์เก๋งเสียอีก เพราะมีกลไกมากกว่า)

 

ถ้าเป็นในเมกา..ถ้าบริษัทชาติมีปัญหา รัฐบาลเขาจะเข้ามาโอบอุ้มทันที แต่ไทยเรา เป็นไง ..ลองตามมาฟังผมดู

 

ไทยเรานอกจากรัฐบาลจะไม่ช่วยบริษัทไทยแล้ว ยังซ้ำเติมด้วยการไปช่วยคู่แข่งต่างชาติเสียอีก เช่น โดยการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทต่างชาติแบบที่ไม่ต้องเสียภาษีนับร้อยแปดชนิด ซึ่งทำให้บริษัทต่างชาติสามารถลดราคาลงมาได้ต่ำกว่าสินค้าไทย แต่เขาก็ยังมีกำไรอยู่ได้ ในขณะที่สินค้าไทยต้องเจ๊งไปเพราะสู้ราคากับสินค้าต่างชาติไม่ไหว  

 

นอกจากเทคโนโลยีแล้วบริษัทต่างชาติยังมีสายป่านที่ยาว ทำให้เขาสามารถให้ชาวนาออกรถได้โดยไม่ต้องมีดาวน์ แถมปลอดการผ่อนในปีแรกอีกต่างหาก ส่วนบริษัทไทยเราถ้าทำแบบนั้นก็เจ๊งแน่ ดังนั้นชาวนาก็เลยซื้อแต่ของนอก (แม้เปลี่ยนชื่อเป็นสำเนียงญี่ปุ่นแล้วก็เถอะ)

 

นักธุรกิจญี่ปุ่นเล่าให้เพื่อนผมฟังว่า...เขาทำธุรกิจในเมืองไทยมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่เคยเสียภาษีเลยสักแดงเดียว เพราะพอช่วงปลอดภาษีหมดลง (ประมาณสิบปีแรก) เขาก็ตบแต่งเอกสารขอก่อตั้งธุรกิจใหม่ ก็ได้สิทธิใหม่ที่ไม่เสียภาษีต่อไปอีกสิบปี (ผมคะเนว่าข้าราชการไทยก็คงขยิบตาอยู่ใต้ขาโต๊ะด้วย) ส่วนบริษัทไทยเสียภาษีเต็มหน่วยตลอดตั้งแต่เปลนอนจนถึงเชิงตะกอน...อนิจจาวัตตะสังขารา

 

เสียดายที่ผมไม่ได้เป็นเกษตรกร ไม่งั้นคงได้นั่งซับน้ำตาด้วยกระดาษชำระยี่ห้อ “รักไทย” บนหลังรถไถ “พลายน้อย” เป็นแน่ ไม่ได้ร้องไห้เพราะรถไถเสียหรอกนะ (เพราะมันทนดี)  แต่ร้องเพราะสงสารคนไทยจำนวนมากที่ไม่ได้มีสิทธิภูมิใจในการใช้สินค้าไทยเหมือนกับผม

 

...ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๑๒ สค. ๕๓)

 

 

หมายเลขบันทึก: 456512เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2011 02:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท