เครื่องอบแห้งข้าวเปลือกพลังแดดอย่างง่าย


เครื่องอบแห้งพลังแดดแบบง่ายๆ ที่สามารถอบแห้งได้เร็วกว่าตากบนลาน ลงทุนน้อย ลงแรงน้อย ข้าวไม่หล่น

"เครื่องอบแห้งข้าวเปลือกพลังแดดราคาถูก"

( อบถั่ว งาพริก ข้าวโพด ก็ได้นะ)

ชาวนารายย่อยจำนวนมมากพอเกี่ยวมาได้แล้ว ก็เอาไปตากบนตอซัง 2-3 วัน ซึ่งจะเกิดการเสียหายได้หลายทาง เช่น ฝนตกหลงฤดู หนู นก และพอแห้งแล้วไปเก็บมาก็จะเกิดการร่วงหล่นได้มาก เพราะคอรวงกรอบแล้ว วิธีนี้ยังเหนื่อยยากมาก

วิธีทางเลือกที่ผมเสนอคือ ให้เกี่ยวข้าว แล้วสีฟัดทันที แล้วเอามาอบแห้งให้ในเครื่องอบแห้งที่ผมคิดค้นขึ้น (เคียวเกี่ยวข้าวพร้อมฝัดเม็ดข้าวในตัวแบบหวีผมก็คิดไว้นะครับ แต่ยังไม่ได้ลองสักที)

เครื่องอบแห้งพลังแดดแบบง่ายๆ ที่สามารถอบแห้งได้เร็วกว่าตากบนลานมาก ลงทุนต่ำ ลงแรงต่ำ ข้าวหล่นน้อย มีดังนี้ครับ


ให้สร้างแคร่ไม้ขึ้นมา ยกพื้นสูงประมาณ 1 ฟุต  ใหญ่เล็กแล้วแต่จะชอบ (แนะนำว่ากว้างสัก 1.2 ม.  ยาวสักห้าเมตรน่าจะดี)  พื้นแคร่พาดด้วยไม้รวกเล็กๆ ห่างกันสัก 10 ซม.ตลอดแนว   แล้วเอาไม้รวกพาดขวาง ทำเป็นตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบ 10 ซม x 10 ซม. โดยประมาณ  (ถ้าใช้ตาข่ายลวดกรงไก่แทนไม้รวกก็จะยิ่งดี อากาศจะระบายได้ดีกว่า)  กว้างยาวขนาดนี้จะตากข้าวได้ประมาณ  360 กก. ก็หนึ่งไร่พอดี การลงทุนถ้ามีไม้ไผ่ของตัวเองแบบไม่ต้องซื้อน่าจะไม่เกิน 200 บาทเท่านั้นเอง ซึ่งสามารถเก็บไว้ใช้ได้ 3-5 ปี กว่าไม้ไผ่จะผุ

 

จากนั้นปูลาดด้วยตาข่ายในล่อน (ซึ่งตาข่ายนี้ชาวบ้านที่ตากข้าวก็ใช้ปูลาดในการตากบนพื้นดินอยู่แล้ว ใช้ตาข่ายตาห่างดีกว่าตาถี่)  ขึงตาข่ายให้หย่อนเล็กน้อย โดยการเหน็บเย็บชายไว้ตามขอบแคร่ไม้


เอาข้าวเปลือกเปียกเทเกลี่ยลงไปบนตาข่ายในล่อนให้สม่ำเสมอ ความหนาประมาณ 10 ซม. (นี่คือเหตุผลทำไมตาข่ายต้องหย่อนเล็กน้อย)  ที่ตรงกลางขอบด้านแคบของแคร่ ให้ยกเสาสูงขึ้นกว่าแนวพื้นแคร่ประมาณ 50 ซม. ขึงเสาทั้งสองด้วยเชือก (ทำเป็นราวตากผ้า) แล้วให้เอาพลาสติกไสคลุมไว้ หรือถ้าไม่มีพลาสติกสีอะไรก็ได้ เช่นสีดำจะดีกว่าสีอื่นทำเป็นแบบหลังคาเต็นท์ ผ้าใบก็พอได้นะ  แต่ถ้าไม่มีหลังคาจริงๆ เปิดโล่งเลยก็ได้ครับ

แนวสันหลังคานั้นควรวางไว้ในแนวลมที่พัดผ่านจะดีที่สุด (ดีกว่าวางขวางลม) ทำให้ลมวิ่งเข้าทางช่องจั่ว แรงลมจะช่วยพาความชื้นออกไปได้เร็วขึ้น

พลาสติกจะคลุมปิดมิดหมดทุกด้าน แต่ไม่คลุมถึงดินนะ ใต้ถุนต้องเปิดโล่ง ส่วนหน้าจั่วให้ปิดด้านล่าง 3 ใน 4 เปิดไว้เพียง 1 ในสี่ ตรงปลายยอด (ดูรู) หน้าจั่วให้ทำยื่นออกไปทางด้านข้าง (เพื่อกันฝนสาดเวลาฝนตก) รูเปิดที่จั่วเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการระบายอากาศชื้นออก อากาศในห้องอบต้องไม่รั่วออกหรือเข้าได้ ดังนั้นต้องมีการอุดรอยต่อระหว่างแคร่และผ้าคลุมให้ดีพอควร เช่น ใช้เชือกรัด ใช้ไม้ยาวถ่วงขอบ อีกทั้งชายคาด้านหนึ่งต้องเปิดปิดได้ด้วย (เพื่อเข้าไปพลิกข้าว)

ต้องมีการพลิกข้าววันละสามครั้ง เช้า กลางวัน เย็น การพลิกง่ายมาก เช่นตอนเช้า  เอาจานกินข้าวขอบกลมมากรีดข้าวให้เป็นร่องขนานกัน  พอตอนเที่ยงก็เอาจานมากรีดอีกแต่คราวนี้กรีดไปบนสันแหลมของแถวข้าว  ซึ่งจะทำให้ข้าวด้านบนถูกพลิกลงล่างอย่างสม่ำเสมอ พอตอนเย็นก็ทำอย่างเดียวกัน ใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็พลิกข้าวเสร็จแล้ว 

ได้ทดลองอบแห้งและพลิกดูแล้ว ใช้เวลาสองวันแห้งสนิท

ถ้าตากบนพื้นดินจะได้ความหนาประมาณ 2 ซม. เท่านั้น ทำให้เปลืองที่มากกว่านี้ 5 เท่า และการพลิกกลับข้าวกระทำได้ลำบากมาก


หลักการทำงานของเครื่องอบแห้งนี้คือ ความร้อนจากแสงแดดจะส่งผ่านพลาสติกใสมาสู่อากาศภายในด้วยหลักการของเรือนกระจก (greenhouse effect) ทำให้อากาศร้อนขึ้นถึงประมาณ 50 องศา C ซึ่งช่วยให้เกิดการระเหยน้ำได้ดีกว่าปกติ เพราะความชื้นสัมพัทธ์อากาศลดลง  ส่วนอากาศเย็นใต้ถุนของแคร่จะถูกเหนี่ยวนำให้ไหลขึ้นผ่านชั้นข้าวเปลือกออกสู่ด้านบน ในระหว่างไหลขึ้น ก็ช่วยดูดความชื่นออกจากกองข้าวเปลือก ทำให้ข้าวเปลือกตลอดทั้งชั้นแห้งเร็วกว่าการตากบนพื้นมาก เพราะการตากบนพื้นไม่มีอากาศไหลผ่านด้านล่าง   อีกทั้งลมที่พัดผ่านตามแนวยาวของหลังคา ผ่านช่องเปิดที่หน้าจั่วของหลังคา ก็จะยิ่งช่วยพาความชื้นออกไปได้เร็วขึ้นกว่าปกติ

การอบแห้งทำให้ไม่ต้องเอาไปขายชื้นๆแล้วถูกโรงสีตัดราคาตั้ง 20%  ถ้าเราอบแห้งข้าวจะเบาลงหน่อย แต่ขายได้เงินมากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 10% เช่น ข้าวแห้งราคาตันละ 10,000 บาท เปียก 25% ขาย 1 ตัน ได้ 8000 บาท (ถูกหักไป 2000 บาท) แต่ถ้าอบแห้งเหลือความชื้น 15%  จะเหลือข้าวหนักประมาณ 900 โลเท่านั้น แต่ขายได้ 9000 บาท ได้เพิ่มมา 1000 บาท แต่ 8000 บาทนั้น จริงๆ แล้ว 4000 บาทเป็นค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าจิปาถะ กำไรสุทธิเพียง 4000 บาทเท่านั้น ดังนั้นที่ได้มากขึ้นนั้นทำให้กำไรเพิ่มเป็น 5000 บาท หรือกำไรมากกว่าเดิมตั้ง 25% ซึ่งเป็นเงินที่อักโขมากสำหรับชาวนา

ข้อดีอีกอย่างคือ ช่วยลดอุบัติเหตุครับ เพราะหน้าตากข้าวนี่ชาวนามักนิยมเอามาตากริมถนนทำให้รถต้องหลบ แล้วไปชนกัน มีเรื่องขึ้นมาบ่อยๆ (นายอำเภอเล่าให้ฟัง)  อ้อ..ชาวนาคนหนึ่งมาเห็นเข้าบอกว่า เอ..ทำไมมันง่ายแบบนี้ ทำไมผมทำนามาตลอดชีวิตกลับคิดไม่ออก  แกชมว่านอกจากกันฝนแล้วยังกันไก่จิกด้วยนะ

โชคดีชาวนาไทย ขอให้รวยๆ  แล้วอย่าลืมไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคราวหน้าโดยไม่รับเงินด้วยเด๊อ  เป็นศักดิ์ศรีของชาวอีสานบ้านเฮากันถ้วนหน้า

อีกอย่างที่ยังไม่เคยทดลอง แต่คิดว่าน่าจะช่วยเร่งเวลาการอบแห้งอีกสองเท่า คือ การก่อไฟใต้แคร่  …เฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น เพราะกลางวันเรามีพระอาทิตย์แล้วโดยต้องขุดดินลงเป็นร่องสามเหลี่ยม กว้าง 20 ซม. ลึกประมาณ 10 ซม.  แล้วเอาฟืนเผาไฟ (ดุ้นยาว เช่นไม้ไผ่ ไม้กระถิน) ไปวางไว้ตลอดแนว ตามความยาวของแคร่ จากนั้นเอาแผ่นสังกะสีไปปิดไว้ให้กว้างเท่าความกว้างของแคร่   ต้องมีแผ่นนี้นะครับ ไม่งั้นจะร้อนเกินไปจนข้าวตรงกลางแคร่ไหม้เสียหมด  ความร้อนจากไฟจะแผ่ไปสู่แผ่นสังกะสี แล้วแผ่ไปยังอากาศ เฉลี่ยความร้อนไปทั่ว  ทำให้อากาศใต้แคร่อุ่นลอยตัวเข้าไปในเนื้อข้าว ไปไล่ความชื้นออก (ต้องปิดรอบแคร่ด้านยาวด้วย กันความร้อนออก แต่เปิดด้านแคบไว้ให้อากาศเข้ามา) ถ้าทำแบบนี้ช่วย อาจเพียงวันเดียวก็แห้งสนิทแล้ว


-- ทวิช จิตรสมบูรณ์ (คิดหลักการไว้เมื่อปี ๒๕๕๓ เมื่อคราน้ำท่วมใหญ่โคราช)  

 

หมายเลขบันทึก: 456446เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2011 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่าสนใจค่ะ อยากเห็นตัวแบบที่ชัดเจนกว่านี้ค่ะ พอจะมีให้ดูไหมคะ 

ตอนนี้กำลังจะทำที่ไว้ตากข้าวเปลือกค่ะ ปีที่แล้วเจอทั้งฝน แยกถนนกันตาก สุนัขฉี่ใส่ ไก่คุ้ยเขี่ย 

ยังไงรบกวนด้วยนะคะ

ขออภัยนะครับ เมื่อสักครู๋ผมสับสนเรื่องชื่อของท่านไปเล็กน้อย 

ต้องเรียนรบกวนคุณ "คนถางทาง" ด้วยนะครับ ( ^_^ )

ขอโทษนะค่ะ

มองภาพไม่ออก อยากจะทำ

เครื่องอบแห้งข้าวเปลือกพลังแดดอย่างง่าย 

ขอบคุณค่ะ ^___^



อยากเห็นของจริงครับผม สนับสนุนคุณสุพัฒตรา  ดูแล้วยังไม่เห็นภาพครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท