Downscoping แนวคิดกลยุทธ์การฟื้นฟูกิจการ


Downscoping หมายถึงการลดขอบเขตการดำเนินงานขององค์กร เพื่อให้มุ่งเน้นเฉพาะธุรกิจที่ตนมีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูง
 ในช่วงที่กิจการกำลังประสบปัญหา ต้องการการฟื้นฟูปรับปรุง เพื่อให้ผลประกอบการกลับมาดีดังเดิมนั้น นักบริหารจำต้องเฟ้นหากลยุทธ์ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ความแข็งแกร่งและให้เกิดความพร้อมที่จะรับมือกับคู่แข่งขันได้อีกครั้งหนึ่งอย่างรวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่ผลการดำเนินงานลดลงอย่างน่าใจหาย กิจการต้องรีบหาวิธีป้องกันปัญหาลุกลาม ซึ่งในที่สุดหากปล่อยไว้ก็จะกระทบต่อไปยังสภาพคล่อง ส่งผลต่อความเสี่ยงของธุรกิจในเรื่องของการสูญเสียเครดิต ชื่อเสียง และอาจถึงกับถูกฟ้องล้มละลายในอนาคตได้ครับ
       
        กลยุทธ์หนึ่ง ซึ่งได้รับความนิยมมากในการปรับปรุงฟื้นฟูกิจการ คือ การลดขอบเขตการดำเนินงานขององค์กร (Downscoping) ซึ่งหมายถึงการลดขอบเขตการดำเนินงานขององค์กร เพื่อให้มุ่งเน้นเฉพาะธุรกิจที่ตนมีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงเท่านั้น โดยการลดขอบเขตของธุรกิจที่อาจจะกว้างขวางเกินไปจนตนเองดูแลไม่ทั่วถึง รวมถึงให้ผู้บริหารขององค์กรสามารถมุ่งเน้นเฉพาะในขอบเขตธุรกิจที่ตนเองถนัดและมีความเหมาะสมกับทรัพยากรของตน ซึ่งในกลยุทธ์นี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 เทคนิคหลักๆคือ
       
        เทคนิคแรก คือ การตัดทอนการลงทุน (Divestment) หมายถึง การตัดหน่วยธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานไม่น่าพึงพอใจ หรืออาจจะขาดศักยภาพในการเติบโตในอนาคตทิ้ง หรือมองว่าไม่เหมาะสมที่กิจการจะดำเนินงานต่อไป เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่าธุรกิจนั้นอาจจะไม่สามารถสร้างกำไรกลับสู่องค์กรได้อีกอย่างต่อเนื่องในอนาคต จึงควรต้องลดบทบาททางธุรกิจด้านนั้นๆลง โดยอาจจะนำออกขายและนำเงินที่ได้รับจากการขายดังกล่าว กลับมาลงทุนในธุรกิจหลักที่ตนมีความแข็งแกร่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กลับมาสูงขึ้น
       
        กลยุทธ์นี้ มักจะมีการนำมาใช้ร่วมกับการลดคนงานในองค์กรด้วย เช่น ในกรณีของบริษัท อีเอ็มไอ ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ประกาศแผนยกเลิกการผลิตแผ่นดิสก์ภาพยนตร์และดนตรีในยุโรปและสหรัฐฯ ตลอดจนบอกเลิกสัญญากับศิลปินที่ตอบสนองเป้าหมายเฉพาะกลุ่มและทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน อันจะส่งผลให้มีการปลดพนักงานทั้งหมด 1,500 อัตรา จากปัจจุบันที่มีอยู่ทั่วโลกราว 8,000 คน โดยกลุ่มธุรกิจดนตรีใหญ่อันดับสามของโลกดังกล่าว ให้เหตุผลถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า จะทำให้บริษัทลดต้นทุนได้ 50 ล้านปอนด์ต่อปี และสามารถนำไปใช้เป็นทุนดำเนินธุรกิจทางด้านดิจิตอลที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
       
        เทคนิคประการที่สอง ในกลยุทธ์ด้านการลดขอบเขตของกิจการ คือ การแยกหน่วยธุรกิจออกไปจากองค์กรของตน (Spin off) ซึ่งกลยุทธ์นี้มีแนวคิดพื้นฐานคล้ายกับการตัดทอนการลงทุน คือ จะเน้นเฉพาะธุรกิจหลักของตนและไม่ต้องการเบี่ยงเบนความสนใจไปยังธุรกิจที่ตนไม่มีความถนัด รวมทั้งต้องการรวบรวมทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่มาสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักของตน ต่างกันเพียงแต่ว่าวิธีการ Spin off นี้ ไม่ได้ขายธุรกิจที่ไม่มุ่งเน้นออกไปจากองค์กร แต่แยกธุรกิจนั้นออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่อิสระ โดยบริษัทแม่ยังคงถือหุ้นอยู่ในธุรกิจนั้นๆ เช่น บริษัทเป๊ปซี่ คอร์เปอเรชั่น ได้แยกเอาธุรกิจอาหารออกไปตั้งเป็นบริษัทใหม่ นั่นคือ บริษัท ไทรคอน
       
        โดยไทรคอนนี้ เริ่มแรกประกอบด้วยธุรกิจ 3 หน่วยหลัก คือ พิซซ่า ฮัท ทาโก เบล (ธุรกิจอาหารแม็กซิกัน) และ เคเอฟซี ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง โดยที่บริษัทเป๊ปซี่ ก็ยังคงถือหุ้นเกือบทั้งหมดของบริษัทไทรคอน เพียงแต่เป๊ปซี่จะไม่เข้าไปแทรกแซงในเรื่องการดำเนินงานหรือกำหนดกลยุทธ์หลักของบริษัทไทรคอน ซึ่งบริษัทไทรคอนจะสามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระและสามารถใช้ทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่ทั้งหมดในการสร้างความสามารถในธุรกิจฟาสต์ฟู้ดและมุ่งเน้นที่คู่แข่งขันหลักของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อต้องอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกิจการรวมทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามบริษัท เป๊ปซี่ คอร์เปอเรชั่น ก็ยังเป็นเจ้าของส่วนใหญ่ของไทรคอนอยู่ (โดยปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Yum international)
       
        เห็นได้ว่าการทำ Spin off ดังกล่าวนี้ ทำให้กิจการได้รับประโยชน์คือ ประการแรก ทำให้การดำเนินงานมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจและเกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน โดยไม่ต้องผ่านบริษัทแม่ตลอดเวลาทั้งหมด ซึ่งลดปัญหาในการประสานงาน และลดปัญหาจากการใช้กฎระเบียบในองค์กรที่มากเกินไป นำไปสู่การขาดความยืดหยุ่นในการดำเนินงานด้วย ประการถัดมา คือ การแยกหน่วยธุรกิจออกมาอย่างอิสระนี้ จะช่วยลดการแข่งขันระหว่างหน่วยธุรกิจที่แตกต่างกัน และลดปัญหาการจัดสรรและการแย่งชิงทรัพยากรภายในองค์กรเดียวกันอีกด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้หน่วยธุรกิจที่แยกตัวออกมาต่างหากนั้น ได้รับการบริหารชี้นำจากผู้ที่มีทักษะและเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในธุรกิจของตน มากกว่าที่จะได้รับนโยบายมาจากบริษัทแม่ที่อาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญหรือมุ่งเน้นในธุรกิจเฉพาะของตนมากนัก ทำให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น
       
        หลังจากการที่บริษัท เป๊ปซี่ คอร์เปอเรชั่น ได้แยกบริษัทกลุ่มไทรคอนออกมาเป็นบริษัทอิสระ จะเห็นว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจนี้ มีความแข็งแกร่งและพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างมาก โดยปัจจุบันบริษัทไทรคอน ได้มีการขยายตัวอย่างมากในธุรกิจฟาสต์ฟู้ด รวมถึงการรุกไปยังธุรกิจแบรนด์ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง เช่น เอแอนด์ดับบลิว ที่เป็นร้านไก่ทอดสไตล์อเมริกัน หรือ ลอง จอห์น ซิวเวอร์ ที่เป็นร้านอาหารทะเล และตราสินค้าอื่นๆที่ประสบความสำเร็จอีกมากมาย
       
        อย่างไรก็ตามการทำ Spin off นี้ ก็มีข้อเสียที่ทุกท่านควรต้องระวังไว้ คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้น เนื่องต้องจัดการหรือดูแลบริษัทที่แยกตัวออกมา ทำให้ทรัพยากรบางอย่างเคยใช้ร่วมกันได้ ก็ต้องแยกออกจากกัน รวมถึงการมีโครงสร้างที่ซับซ้อนขึ้น การติดต่อสื่อสารก็ยากลำบากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นต้องมีการพิจารณาความเหมาะสมว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้นจะคุ้มค่ากับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับหรือไม่ หากพิจารณาแล้วว่ามีความคุ้มค่า ก็น่าที่จะลองนำกลยุทธ์ดังกล่าวไปใช้
หมายเลขบันทึก: 45623เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2006 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท