นิทานอีสป


คนจำนวนไม่น้อยเชื่อตอนจบของชีวิตของอีสปที่ว่า ถูกชนชั้นปกครองจับไปแล้วตัดสินให้ถูกผลักตกหน้าผาตาย ที่คนเชื่อตอนนี้เพราะว่าเนื้อหาสาระของนิทานอีสปจำนวนไม่น้อยได้เหยียบตาปลาผู้มีอำนาจเข้าเต็มแรงนั่นเอง

          ณ ช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่โลกตะวันออกมีพระพุทธเจ้า  เล่าจื๊อ และขงจื๊อนั้น   ที่คาบสมุทรบอลข่านก็มีปราชญ์อยู่หลายท่าน  แต่มีสามัญชนคนหนึ่ง แม้บางสำนักไม่ยกย่องให้เป็นปราชญ์  ชื่อเสียงของเขาก็โด่งดังไม่แพ้นักปราชญ์ทั้งหลาย  แถมยังดังกว่าบางรายอีกด้วย คนผู้นี้คืออีสป นักเล่านิทานชาวกรีกที่คนทั้งโลกรู้จักเป็นอย่างดี

         นิทานอีสปแตกต่างจากเรื่องเล่าของคนทั่วไปตรงที่มิได้มีแต่มนุษย์กับเทวดาเท่านั้นที่พูดได้  สัตว์และพืชก็พูดได้และในที่สุดได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของนิสัยและพฤติกรรมของมนุษย์ที่สื่อความหมายเป็นสากลมาจนทุกวันนี้  คนไทยเราเองได้ปรับใช้สัญลักษณ์ต่างๆจนเป็นที่เข้าใจและยอมรับตรงกันเป็นจำนวนมาก  คำเปรียบเปรยเหล่านี้แทบไม่ต้องแปลหรืออธิบายให้มากเรื่องยาวความ  เช่น องุ่นเปรี้ยว  ราชสีห์  สุนัขจิ้งจอก  ลา  หมาป่า  ลูกแกะ  กบเลือกนาย กระต่ายตื่นตูม เด็กเลี้ยงแกะ ฯลฯ

         เราชาวไทยคุ้นเคยกับรูปแบบของนิทานอีสปตรงที่จบเรื่องแล้วมีต่ออีกย่อหน้าหนึ่งว่า  “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า......” จริงๆ แล้ว อีสปไม่ได้เขียนย่อหน้าพิเศษนี้  เขาจบนิทานแต่ละเรื่องโดยไม่อธิบายอะไร  ชาวยุโรปในสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (the Renaissance) ได้เพิ่มย่อหน้าที่ว่านี้ เพื่อนำไปใช้สอนเด็กๆในโรงเรียน  นอกจากนี้ การแปลจากภาษากรีกเป็นภาษาอื่นๆ แล้วแปลต่อจากภาษาอื่นๆ เป็นภาษาอื่นๆ อีกหลายทอดหลายภาษา ทำให้นิทานอีสปมีหลายสำนวน และมีความยาวต่างๆกัน  แต่ไม่ว่าสำนวนจะแตกต่างกันหรือสั้นยาวไม่เท่ากันอย่างไรก็ตาม  เค้าโครงเรื่องยังคงเดิม และชื่อนิทานยังคงมีชื่อเดียวเท่านั้น คือ นิทานอีสป   

         เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของอีสปเป็นปริศนาพอๆ กับนิทานของเขาเอง  ที่เรารู้เกี่ยวกับตัวเขาเกือบครึ่งหนึ่งเป็นข้อสันนิษฐาน หรือ เป็นนิทานเสียเองก็ว่าได้  อย่างไรก็ตาม คนจำนวนไม่น้อยเชื่อตอนจบของชีวิตของอีสปที่ว่า ถูกชนชั้นปกครองจับไปแล้วตัดสินให้ถูกผลักตกหน้าผาตาย  ที่คนเชื่อตอนนี้เพราะว่าเนื้อหาสาระของนิทานอีสปจำนวนไม่น้อยได้ เหยียบตาปลา ผู้มีอำนาจเข้าเต็มแรงนั่นเอง

         นิทานอีสปยืนยงคงทนมานานกว่าสองพันห้าร้อยปีได้ก็เพราะ เรื่องราวทั้งหลายในนิทาน ไม่เคยเก่า ไม่เคยตกยุค   มนุษย์นั้น ถึงจะเจริญก้าวหน้าหรือทันสมัยเพียงใดก็ตาม การทำเรื่องไม่เข้าท่ามากมายหลายเรื่องยังคงไม่แตกต่างจากที่มนุษย์โบราณทำมาแล้วทั้งนั้นอยู่นั่นเอง

         โอกาสหน้า จะเลือกสรรนิทานที่ไม่ฮิตแบบที่เห็นชื่อเรื่องก็รู้เรื่องหมด มาเล่าต่อขอรับ

หมายเลขบันทึก: 456013เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2011 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท