ชีวิตที่พอเพียง : ๑๓๑๔. คุยกันวันหยุด เรื่องการเรียนรู้ในชุมชน เพื่อป้องกันลูกหลานเสียคน


          วันเสาร์ที่ ๑๕ ก.ค. ๕๔ เป็นวันอาสาฬหบูชา   แต่คุณเปา (ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล)  ก็ยังนัดคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการ สรส.  และผม ไปนั่งคุยสบายๆ เรื่องการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเยาวชนในชุมชน   ผมเคยเขียนเรื่อง สรส. และคุณทรงพลไว้มากมายหลายบันทึก อ่านได้ที่นี่

          ผมนับถือคุณทรงพล ว่าเป็นคนที่ทำกระบวนการเรียนรู้เก่งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชาวบ้าน   และท่านเป็นคนที่มีใจให้แก่ท้องถิ่นหรือชุมชนเป็นอย่างมาก

            สรส. ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ให้ไปทำกระบวนการในพื้นที่โดยมีเป้าหมายหาภาคีมาร่วมกันพัฒนาเยาวชน   หวังว่าเมื่อครบ ๓ ปี (๒๕๕๒ – ๒๕๕๔) พื้นที่จะดำเนินการเองได้   โดยมูลนิธิสยามกัมมาจลไม่ต้องใช้เงินสนับสนุนอีก

          วันที่ ๑๕ ก.ค. เราไปคุยกันเพื่อดูความก้าวหน้า   และช่วยกันคิดว่า จะเกิดกิจกรรมพัฒนาเยาวชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องยั่งยืน ที่ภาคีต่างๆ ในพื้นที่ร่วมกันจัด/สนับสนุน ได้อย่างไร

          คุณทรงพลเสนอในหลายตอนของการนำเสนอ ว่าต้องมี “พี่เลี้ยง” ในพื้นที่   ทำหน้าที่จัดกระบวนการ เพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ ในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งด้านการพัฒนาเยาวชน   คำว่า “พี่เลี้ยง” นี้ หมายถึง Learning Facilitator หรือ “คุณอำนวย” นั่นเอง   แนวความคิดนี้ตรงกับผม   โดยผมมองว่า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องยั่งยืน “พี่เลี้ยง” ต้องกินเงินเดือนของ อปท. ในพื้นที่   ในลักษณะของการเป็นเจ้าหน้าที่ประจำของ อปท.  หรืออาจทำงานตามสัญญาคราวละ ๓ – ๔ ปี   และมีการประเมินผลงานทุกปี รวมทั้งประเมินว่าควรต่อสัญญาหรือไม่เมื่อสัญญาเหลือประมาณ ๑ ปี   เพื่อประกันว่าหากทำงานได้ผลดี งานนี้ก็เหมือนงานประจำ   คือมีความมั่นคง 

          ผมมองว่า คุณทรงพลและทีมงาน สรส. มีความสามารถสูงมากในการดำเนินการฝึกทักษะการเป็นพี่เลี้ยง   ให้พี่เลี้ยงมีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่ โดยใช้หลักการ KM   โดยผมมองว่า การฝึกนี้ทำแบบ PBL (Project-Based Learning)   ใช้เวลา ๑ ปี  แล้วในปีที่ ๒ ทั้งปี พี่เลี้ยงทำงานไปเรียนรู้ไป โดยใช้ PLC (Professional Learning Community)   หรือชุมชน ลปรร. การทำหน้าที่พี่เลี้ยง  เพื่อวางรากฐานให้พี่เลี้ยงที่ฝึกขึ้นรวมตัวเป็นเครือข่าย ลปรร. การทำหน้าที่พี่เลี้ยงตลอดไป  โดยที่ อปท. ที่เข้าร่วมโครงการก็เกิดความเข้าใจ ว่าจะต้องสนับสนุนทั้ง PBL ของชาวบ้าน ที่มีพี่เลี้ยงเป็นวิทยากรกระบวนการ   และสนับสนุน PLC ของพี่เลี้ยง เพื่อให้พี่เลี้ยงเรียนรู้จากการทำหน้าที่ของตน  ยกระดับความรู้และทักษะของพี่เลี้ยงอย่างไม่มีวันจบสิ้น

          นี่คือกลไกหนึ่งของ “สังคมอุดมปัญญา” หรือสังคมเรียนรู้ (Learning Society) ที่เราใฝ่ฝัน   มองที่ชุมชนหรือพื้นที่เป็นหลัก  โดยมีการกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกันเรียนรู้ของชาวบ้าน ในกิจกรรมของการดำรงชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ควรเน้นที่การประกอบอาชีพ   จะรวมตัวกันเรียนรู้เรื่องอะไร ในช่วงไหน ชาวบ้านตกลงกันเอง  โดยการเรียนรู้นั้นเน้นเรียนรู้โดยการลงมือทำเป็นหลัก  แล้วเอาประสบการณ์จากการปฏิบัตินั้น มา ลปรร. กันโดยนัดตั้งวง ลปรร. อย่างสม่ำเสมอ เช่นทุกสัปดาห์ ครั้งละครึ่งวัน ในวันพุธเช้า ๘.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. ที่ ...   โดยมีพี่เลี้ยงเป็นผู้ช่วยนัดหมาย จดบันทึกประเด็นการเรียนรู้ เพื่อนำมาทบทวนในการนัดครั้งต่อไป

          ชาวบ้านบางคนอาจเป็นสมาชิกของหลายวง ลปรร. ก็ได้   พี่เลี้ยงจะต้องฝึกทักษะในการสร้างข้อตกลงร่วมกัน ให้สมาชิกรับผิดชอบมาประชุม ลปรร. อย่างสม่ำเสมอ  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง

          ที่จริง สรส. ทำงานในพื้นที่มาหลายปี  มีฝีมือเป็นที่เชื่อถือ  น่าจะพร้อมในการชักชวน อปท. ให้เข้ามาร่วมลงขัน

          นอกจากนั้น สสส. ก็สนใจให้ สรส. ทำงานประสานการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ   เพื่อสร้างคนทำงานในพื้นที่แถว ๒ และแถว ๓ ขึ้นมาทดแทนคนเดิมที่มีอยู่  ซึ่งก็ตรงกับแนวคิด “การสร้างพี่เลี้ยง” ของคุณทรงพลพอดี     

          ในระหว่างการเสวนา ผมได้เรียนรู้ว่า คนในชุมชน/พื้นที่ ถูกทำร้ายหรือทำลาย ด้วยสาเหตุหลักๆ ๒ ประการ

๑. การเอางานประเภท “โครงการ” ที่จบสิ้นภายในเวลาสั้น เช่น ๑ ปี  มาให้ชาวบ้านเข้าร่วม  โดยมีแรงจูงใจต่างๆ   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงินเบี้ยเลี้ยงรายวัน  ทำให้แกนนำชาวบ้านหมดเวลาไปกับการตอบสนอง โครงการระยะสั้น   ไม่เคยได้คิดสร้างสรรค์โครงการระยะยาวที่ดำเนินการต่อเนื่องด้วยตนเอง และก่อผลสร้างความเข้มแข็งแบบต่อเนื่องยั่งยืน   ผมมองว่าพฤติกรรมของหน่วยราชการหรือแหล่งทุนแบบนี้เป็นการมอมเมาชาวบ้าน  เพื่อผลงานของตนเอง
๒. ความเสี่ยงที่จะเสียคนของวัยรุ่นในพื้นที่สูงมาก และมีแนวโน้มจะยิ่งสูงมากขึ้น   เนื่องจากปัจจัยที่หลากหลาย  ตั้งแต่ปัจจัยด้านพ่อแม่ที่ขาดทักษะการพูดคุยกับลูกวัยรุ่น  ความล้มเหลวของโรงเรียนในการจัดการเรียนรู้   ทำให้เยาวชนเบื่อเรียน ไม่มี self esteem ขาดความสุข ขาดความรัก  หันไปหาความสุขชั่วแล่นจากการรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ เสพยาเสพติด เซ็กส์ หรือกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ ที่ไม่สร้างสรรค์   เห็นได้ชัดเจนว่า เยาวชนเหล่านี้ต้องการ safety net   ป้องกันไม่ให้ชีวิตเดินไปสู่ทางตัน

          คุณทรงพลเล่าเรื่องการร่วมกับ อบต. จัดกระบวนการสร้างแกนนำเยาวชน เป็น “เยาวชนนายหมู่” ที่เป็นหัวหน้าชวนเพื่อนรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อชุมชน/พื้นที่  ฝันว่าจะเกิด “หมู่บ้านสาธิต” ใน ๕ ปี   ที่ภาคีหลายฝ่ายในพื้นที่ร่วมกันดำเนินการ safety net ให้แก่เยาวชน  โดยสนับสนุนเยาวชนรวมตัวกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน   และตนเองเกิดการเรียนรู้ เกิดการเติบโตทางจิตใจ เกิดความมั่นใจในตนเอง เกิดความเคารพภาคภูมิใจตนเอง  

           ผมให้ความเห็นว่า ที่จริง “หมู่บ้านสาธิต” จัด safety net แก่เยาวชน  น่าจะมีอยู่แล้ว   จากการที่ อปท. และกลไกอื่นๆ ในหมู่บ้านร่วมกันส่งเสริมให้เกิด   หาก สรส. ดำเนินการเสาะหา  ไป “จับภาพ”  และเอามา ลปรร. กัน เพื่อชักชวนให้เกิดกลไกนี้ในพื้นที่อื่นๆ   น่าจะขยายพื้นที่ที่มี safety net แก่เยาวชนได้เร็วขึ้น

          คุณทรงพลบอกว่า มีความเชื่อมโยงกับสมาคม อบต.  จะหาทางชวนมาสนับสนุนกระบวนการ   โดยผมเชื่อว่า ผู้คนในพื้นที่ที่มีลูกทุกคนต่างก็ทุกข์ใจ กังวลใจ ว่าเมื่อลูกโตเข้าสู่วัยรุ่น ลูกจะมีโอกาสเสียคนสูงมาก   การทำ safety net แก่เยาวชน จึงน่าจะดึงทรัพยากรสนับสนุนจากพื้นที่ได้ไม่ยาก

          นอกจากนั้น การฝึกและพัฒนา พี่เลี้ยง ด้วย PBL และ PLC ก็จะเป็นอีกแรงหนึ่งของการสร้าง safety net แก่เยาวชน

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ก.ค. ๕๔
         
                   
         

หมายเลขบันทึก: 455395เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2011 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2012 09:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท