นาชีวภาพที่ได้ผลดีและเสียเหงื่อหน่อย (ตอน ๔)
ผมได้นำเสนอวิธีการทำนาด้วยกบ มด ปลา ไว้สามตอนแล้ว (ถ้าจำไม่ผิด) ตอนนี้ขอเปลี่ยนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เลยขอเสนอเป็นตอนที่สี่นะครับ ...ซีรี่นี้น่ามีไม่ต่ำกว่า ๒๐ ตอน (ยังกะไซอิ๋ว หรือ เพชรพระอุมาเลยนิ อิอิ)
รหัสเรียนวิชาการทำนา 101 นั้นจะเริ่มประมาณตั้งแต่การไถนา ประกอบด้วยการไถดะ ไถแปร คราด ทำเทือก ..ซึ่งเหนื่อยยาก และเปลืองพลังงาน เวลา มากหลาย
ส่วนผมคนขี้เกียจ ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้คิดหาทางลดการใช้แรงงานแบบ “โง่แล้วขยัน” ลงให้มากที่สุด สุดท้ายอาจกลายเป็นว่าเราเองเสียอีกที่โง่แล้วเจือกขยันคิด ...แบบผิดๆให้เปลืองเวลา ...แต่ถ้าไม่กล้าคิดแหวกแนวให้แตกต่าง ไฉนเลยโลกนี้จะวิวัฒน์มาได้ถึงปานนี้
การทำนาจนวันนี้จะไถดะ ซึ่งคือการไถหยาบนั่นเอง เริ่มไถเมื่อฝนแรก พอดินชื้น ทำให้ไถได้ง่าย ใช้แรงน้อย ใช้หัวผาลไถใหญ่ กินดินลึกประมาณ 30 ซม. นัยว่าเพื่อพลิกหน้าดิน เอาดินข้างล่างมาสัมผัส ออกซิเจน (ว่าเข้านั้น...ทั้งที่ที่บ้านเชียงเขาไถแบบนี้มาห้าหกพันปีแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้เข้าเรียนฟิสิกส์เคมีในหอคอยงาช้างสักหน่อย)
เหตุผลต่อมาก็กล้อมแกล้มกันไปมาในเน็ตและตำราว่า เพื่อกลบเมล็ดหญ้า (เออ พอเข้าท่า ...แต่น่าจะเอามาเป็นเหตุผลแรกหลักเสียมากกว่า)
จากนั้นตากดินไว้อีก 1-2 สัปดาห์ เพื่ออะไรก็ไม่มีใครบอก ...ส่วนใหญ่บอกว่าเพื่อให้ ออกซิเจนได้เข้าไปสัมผัสดิน (ผมก็ถามคำถามเดิมๆว่า เอ้า...แล้วชาวบ้านเชียง ห้าหกพันปีก่อนท่านรู้เรื่องนี้ด้วยหรือ) หรือไม่ก็กำปั้นทุบดินกันว่า “เพื่อตากดิน” เอาละ มั่วไปมั่วมา..ไม่ว่ากัน
แต่ผมขอแจมมั่วๆว่าการไถดะนี้ เหตุผลหลักคือ เพื่อกลบเมล็ดหญ้าวัชพืชเสีย 80% ที่เหลือทั้งหมดเป็นเหตุผลรอง (ซึ่งเป็นแรงดลใจให้ผมคิดวิธีการใช้มดง่ามกำจัดเมล็ดวัชพืชดังที่ได้โพสต์ไว้ก่อนนี้แล้ว) ...ที่ต้อง”ตากดิน”ไว้ 1-2 สัปดาห์ก็เพื่อให้เมล็ดวัชพืชหน้าดินมันงอก ซึ่งจะได้ทำลายด้วยการไถแปร และ ไถคราดต่อไป
หลังจากตากดินไว้ 1-2 สัปดาห์ก็มาสู่การไถแปร ซึ่งการไถแปรนี้คือการไถที่ละเอียดขึ้น ใช้ผาลไถที่เล็กลง กินดินตื้นขึ้น (ประมาณ 15 ซม) โดยทิศทางการไถจะตั้งฉากกับทิศการไถดะ
ศึกษาหาอ่านถามจากหลายท่านก็ไม่ทราบแน่ว่าไถแปรไปทำไม แต่พอเดาได้ว่า ไถเพื่อ 1) ขุดถอนรากหญ้าที่งอกออกให้หมด 2) ตีดินให้ละเอียดมากขึ้น 3) พลิกดินเอามาสัมผัส ออกซิเจน (ฮั่นแน่...พระเอกอ๊อกมาอีกแล้ว)
จากนั้นทำการไถคราด (หรือ คราดดิน ก็เรียก) ..ซึ่งพยายามหาข้อมูลมานานว่าต้องทิ้งเวลาจากการไถแปรนานเท่าใด ก็หาไม่พบ เดาจากบริบทว่าคงคราดทันทีหลังจากการไถแปร เพราะเป้าประสงค์คือ เพื่อเก็บเศษวัชพืช (ที่ล้มจากการไถแปร ที่อาจตั้งต้นขึ้นใหม่ได้ในภายหลัง...เดาเอาเอง เพราะค้นหาอย่างไรก็ไม่เจอ ถามคนทำนาหลายคนก็อธิบายไม่ได้ รู้แต่ว่าพ่อแม่สอนมาอย่างนี้...เออสังคมไทยเรา ไม้ล้มข้ามได้แต่หญ้าล้มห้ามข้ามเด็ดขาด เพราะมันตั้งต้นใหม่ได้ ชาวนาไทยโบราณท่านเรียนรู้มานานแล้ว เลยต้องคราดออก) และอีกอย่างเพื่อตีดินให้ละเอียด เพื่อพร้อมต่อการ “ทำเทือก”
โห..ทำเทือก...ทำไปทำไมก็ยิ่งยากไปใหญ่ ถามคนทำนามาหลายราย ให้คำตอบไม่ตรงกันสักคน
วิธีการเตรียมดินปลูกข้าวที่ผมได้คิดไว้คือ (ก่อนด่า อย่าลืม....การคิดที่ดี คือการ”ทำ” ที่ยากที่สุด)
...คือพอไถดะเสร็จ ก็ให้ไถแปรทันทีในวันนั้น ...อย่าปล่อยทิ้งไว้ ๑-๒ สัปดาห์ ถ้าให้ดีต้องไถแปรที่ละเอียดกว่าอีกครั้งคือ ไถดะด้วยผาล ๓ ไถแปรครั้งที่หนึ่งด้วยผาล ๕ แล้วไถแปรครั้งที่สองด้วยผาล ๗ หรือไถผาลสาม แล้วตามด้วยเจ็ดทันทีถ้าเครื่องหรือควายมีกำลังพอ (เทียมควายคู่)
จากนั้นตากดินไว้สองอาทิตย์ให้หญ้างอกให้เต็มหมด จากนั้นไถคราด เอาหญ้าออก แล้ว “ไม่ต้องทำเทือก”
ลองคิดดูนะครับว่าวิธีนี้ต่างจากวิธีเดิมอย่างไร จะเห็นว่าต่างจากการใช้ช่วงเวลาที่ต่างกัน และการประหยัดแรงงาน พลังงาน ในการทำเทือก
สิ่งที่ต่างตามมาคือ หญ้าในนาจะน้อยกว่าวิธีเดิมมาก เพราะ ....
เพราะในวิธีเดิมนั้น พอเราไถแปร มันก็พลิกเม็ดหญ้าที่จมลึกประมาณ 15 ซมจากการไถดะ ขึ้นมาบนหน้าดินอีก ก็เลยมางอกได้ ทั้งที่ควรจมดินลึก 15 ซม จนขาดออกซิเจนตายไปแล้ว (สาธุ ฆ่าพืชและฆ่าคอมมิวนิสต์คงเหมือนกัน คือไม่บาป) กลับไปพลิกมันขึ้นมารับออกซิเจน อ้างว่าเพื่อ “ตากดิน” ไปซะอีก
แต่วิธีใหม่นี้เราดะและแปรพร้อมกัน เพื่อทำดินให้ละเอียด และร่วนลึกพร้อมกันไป พลิกหน้าดินหยาบละเอียดคราวเดียวกัน จะได้ไม่ขุดเอาเม็ดหญ้าให้ขึ้นมางอกอีกซ้ำสอง โธ่ มันจะตายอยู่ดีๆ ดันไปต่อลมหายใจให้มันอีก สงสัยว่าเป็นชาวนาใจบุญ (ชอบเลี้ยงงูเห่าอีกต่างหาก)
การทำเทือก คือการปาดหน้าดินให้เรียบ เพื่อประโยชน์คือเมื่อปักดำแล้ว แล้วปล่อยให้น้ำเข้านา น้ำจะได้ท่วมดินได้สม่ำเสมอทั่วแปลงนา ซึ่งหญ้าจะได้ “ตาย” (จากการหายใจไม่ออกเพราะน้ำท่วม..โหดจริงๆ ฆาตกรใจโฉด ช่างไม่นึกถึงชีวิตวัชพืชเลยหนอ ขอให้กรูได้ข้าวกินกันตายไว้ก่อน หญ้าตายช่างหัวมัน)
แต่ถ้าเราไม่ไปไถแปรพลิกหน้าดินขึ้นมา เมล็ดหญ้าที่ไหนมันจะมางอกได้ ...ก็ถ้ามันไม่งอก แล้วเราจะต้องเสียแรงทำ “เทือก” ไปทำไม
ทำบาป ทำแท้ง เมล็ดหญ้าทั้งที่ ทำเพียงครั้งเดียวได้ไหม บาปก็น้อย เหนื่อยก็น้อย แถมลดโลกร้อน จากการใช้พลังงานทำเทือกได้อีก ต้นทุนต่ำ ค่าดำเนินการกำจัดหญ้าต่ำ ก็ได้กำไรมากขึ้น แถมเหนื่อยน้อยลง
เวลาที่เหลือก็เอาไปอ่านโกทูโนว (ซึ่งขอแนะว่าเปลี่ยนมาเป็นภาษาไทยดีกว่า เช่น “มาเรียนเขาเพื่อรู้เรา”
....คนเถียงนา (๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๔)
55 ครูbonnie ครับ การสอนเด็กก็ไม่ต่างอะไรกับการปลูกกล้า หว่านนา เพื่อปลูกเขาให้รอด ให้ออกดอก งอกงาม เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ของรุ่นต่อไป ...มันเป็นเช่นนั้นเอง ครับ
อาจารย์วรภัทร ให้สัมภาษษ์เจาะใจครับ