ความสอดคล้องของพิชัยสงครามซุนวูกับ ปีเตอร์ ดรักเกอร์


คำถาม : เครื่องมืออันทรงอานุภาพของผู้บริหาร

 

ความเชื่อมโยงกันระหว่างแนวคิดของปีเตอร์ ดรักเกอร์ บิดาแห่งการจัดการสมัยใหม่กับแนวคิดของ ท่านซุนวู ปรมาจารย์ผู้เรียบเรียง พิชัยสงครามซุนวู ( The Art of War ) มีอยู่มากมายหลายประเด็นด้วยกัน แม้ทั้งสองท่านจะมีชีวิตอยู่ต่างยุคสมัยกันถึงเกือบ 2,500.- ปี แต่ผลงานของทั้งสองท่านต่างได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เมื่อผู้คนนำเอาไปประยุกต์ใช้
ประเด็นแรกที่ผู้เขียน จะนำเสนอในสิ่งที่ได้ค้นพบและเห็นถึงความมหัศจรรย์ ในความสอดคล้องกันของแนวคิดทั้งสอง ก็คือ “ ผู้นำที่ดีต้องคิดด้วยคำถาม ไม่ใช่ประโยคบอกเล่า ”


ผู้บริหารที่มีประสิทธิผล ฝึกฝนการตั้งคำถาม ผู้บริหารที่ไร้ประสิทธิผลวนอยู่กับประโยคบอกเล่า

“ ความผิดพลาดที่สำคัญไม่ได้เกิดจากคำตอบที่ผิด
แต่มันอันตรายอย่างยิ่งที่ตั้งคำถามที่ไม่ถูก ”
ปีเตอร์ ดรักเกอร์

การเรียนรู้แนวคิดของ ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ บิดาแห่งการจัดการสมัยใหม่นั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เขาเรียนรู้แนวคิดการตั้งคำถามนี้ จาก โซเครติส อภิมหาปรัชญาแห่งตะวันตก ซึ่งโซเครติส มีชีวิตร่วมสมัยกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เล่าจื้อ และ ท่านปรมาจารย์ ซุนวู
น่าสนใจอย่างยิ่งว่า นักคิดในยุค 2,500 ปีก่อน ล้วนมีแนวความคิดที่เป็นแนววิทยาศาสตร์มาก หลักการหลายอย่างยังใช้ตกทอดกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน แม้ท่านจะมีชีวิตอยู่ต่างท้องที่ ต่างภูมิภาคกันก็ตาม
ดรักเกอร์ แนะนำผู้บริหารที่เริ่มต้นเป็นนักบริหารใหม่ว่า คุณสมบัติของนักบริหารที่มีประสิทธิผลจะต้องทำ 2 ข้อนี้อย่างขาดไม่ได้ คือ
ข้อที่หนึ่ง เขาจะต้องเริ่มต้นถามตนเองว่า อะไรที่จำเป็นต้องทำ ? แล้วทำทุกอย่างจนมั่นใจว่า เข้าใจในงานที่จำเป็นต้องทำ
ข้อสองคือ เขาต้องถามตนเองว่า เขาจะสื่อสารอย่างไรให้คนที่เกี่ยวข้องเข้าใจ และนำไปสู่การปฏิบัติได้ ?
คงเป็นเพราะผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะมีอยากทำงานเพื่อสนองความต้องการของตนเองเป็นที่ตั้ง เลยทำให้มักละเลยการวิเคราะห์งานที่รับผิดชอบ จากเหตุปัจจัยที่แท้จริง ขาดเรียงลำดับความสำคัญที่แท้จริง นำไปสู่ความล้มเหลวได้ง่าย
ส่วนปรมาจารย์ซุนวู ท่านได้เรียบเรียง ซุนวูปิงฟ่าหรือพิชัยสงครามซุนวู ( The Art of War ) ขึ้นเมื่อประมาณยุค 2,500.- ปีที่แล้ว และถือว่า เป็นพิชัยสงครามอมตะ ยิ่งในวงการธุรกิจด้วยแล้ว เกือบทุกชาติทุกภาษา ต่างนำมา ตีความ ดัดแปลง เพื่อสอนผู้คนของตนเพื่อให้ทันต่อการแข่งขัน พิชัยสงครามเล่มนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วหลายช่วงอายุคน แม้กระทั่ง ขงเบ้งกุนซือเทวดา ที่คนไทยรู้จักดี ก็ได้เรียนรู้ การจัดการกองทัพด้วยพิชัยสงครามเล่มนี้ เช่นกัน
ท่านได้เน้นเรื่อง คำถามสำหรับผู้นำ เอาไว้ในบทแรก ของ The Art of War ( จากทั้งหมด 13 บท ) ว่าด้วย “ การประมาณสถานการณ์ ” ความว่า

“ ต้องตั้งคำถามว่า
รัฐใดมีระบบความคิดที่ถูกต้อง ? แม่ทัพใดชำนาญศึก ?
ฤดูไหน สถานที่ใดมีความได้เปรียบ ? วิธีการบัญชาการอย่างไดได้ผล ?
กองกำลังกลุ่มไหนเข้มแข็ง ? นายทหารและกำลังพลฝ่ายไหนได้รับการฝึกฝนมาดี ?
การให้รางวัลและการลงโทษอย่างใดมีเหตุผล ?
สิ่งเหล่านี้จะบอกได้ว่าจะชนะ หรือพ่ายแพ้
แม่ทัพบางคนประมาณสถานการณ์เยี่ยงนี้ ถ้าเราใช้แม่ทัพเหล่านี้ จักชนะ จงรักษาพวกเขาไว้
แม่ทัพบางคนไม่สนใจประมาณสถานการณ์ หากเราใช้แม่ทัพเหล่านี้ จักพ่ายแพ้
จงกำจัดคนเหล่านี้เสีย ”

ด้วยแนวคิดเรื่องคำถาม 7 ข้อของซุนวูปิงฟ่า นี้ ประมวลผลได้ว่า ผู้บริหารต้องรู้จักตั้งคำถามเพื่อเปรียบเทียบความเข้มแข็งของตนกับคู่แข่งอยู่เสมอ ถ้าผู้บริหารคนใดไม่ทำเช่นนี้ ให้กำจัดออกจากตำแหน่งเสีย ถือว่าขาดวิสัยทัศน์ ขืนหากยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป อาจทำให้กองทัพพ่ายแพ้หรือล่มสลาย ในที่สุด
ส่วนสาเหตุที่ ดรักเกอร์ แนะให้ผู้บริหารต้องฝึกตั้งคำถาม เพราะการคิดด้วยประโยคบอกเล่าหรือคำตอบนั้น มักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่คำถามไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงบ่อย เช่น หากเราถามว่า ลูกค้าของคุณคือใคร ? ลูกค้าของเราอาจจะเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ตามสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลง หรือ ตามการเปลี่ยนแปลงในด้าน ค่านิยม เจตคติ การรับรู้ อารมณ์ หรือความหมายในการตีความสิ่งต่างๆ ของคน แต่การใช้ประโยคคำถามนั้น มักไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงบ่อยนัก
เช่นเดียวกับการทำศึกสมัยโบราณ การเตรียมการเพื่อทำศึกเป็นเรื่องสำคัญมาก การออกเดินทางพิชิตศึก อาจใช้เวลาแค่ 6 เดือน แต่การเตรียมเสบียงและซ่องสุมกำลังคน อาจใช้เวลาถึง 3 ปีถึงจะมีงบประมาณหรือกำลังที่เข้มแข็งพอ สำหรับการออกรบและต้องทำแบบเป็นความลับด้วยนะ
ที่สำคัญก่อนทำสิ่งใดๆ แม่ทัพหรือผู้นำต้องตั้งคำถาม 7 ข้อนี้ เพื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ทั้งยังต้องมีวิธีการหาข้อมูลคำตอบ ให้ได้อย่างชัดเจนด้วย ดังคำกล่าวที่เราคุ้นเคยกันดีคือ “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง ” นั่นเอง


ต้องตั้งคำถามหรือ ? แล้วต้องเริ่มอย่างไรล่ะ ?
“โซเครติส” เป็นนักปราชญ์ชาวกรีซ ซึ่งเกิดในยุคสมัยเดียวกับพระพุทธเจ้า อาศัยอยู่ในกรุงเอเธนส์ เป็นบุคคลที่ได้รับการกล่าวถึงและอ้างถึงคำพูดของท่านมาจวบจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน รวมถึง ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ได้นำกระบวนการทางความคิดของท่านมาใช้ประกอบการทำงานเป็นที่ประจักษ์แก่ผุ้คนมากมาย
ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาทางด้านความคิดและปรัชญาตะวันตก อีกทั้งยังเป็นปรมาอาจารย์ของนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่อีกหลายท่าน อาทิเช่น เพลโต อริสโตเติล ท่านเป็นเจ้าของแนวคิดที่ว่า “ คิดอย่างไรจึงจะคิดได้อย่างถูกต้อง และเข้าถึงความเป็นจริงได้มากที่สุด ? ”
การฝึกคิดด้วยวิธีการตั้งคำถาม โซเครติสได้ลำดับการตั้งคำถามเพื่อการแก้ปัญหาต่างๆ เอาไว้เป็นขั้นตอน ด้วยกลุ่มคำถามที่หลากหลายถึง 8 ประเภท ดังนี้
1. Open-ended Question เป็นคำถามปลายเปิด เช่นใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไรและเกิดผลกระทบกับใคร อย่างไร โดยจะถามแต่ในสิ่งที่เราสนใจเท่านั้น เฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์
2. Diagnostic Question เป็นคำถามที่ถามเพื่อวิเคราะห์ให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของปัญหา มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับปัญหานี้บ้าง
3. Challenge Question เมื่อได้ภาพรวมและสาเหตุของปัญหาแล้วนั้น ให้ถามย้อนกลับไปว่าแล้วรู้ได้อย่างไรว่าที่คิดมานั้นถูกต้องแล้ว มีข้อมูลและเหตุผลอะไรมาสนับสนุนบ้าง คำถามในลักษณะนี้ตั้งขึ้นเพื่อใช้หาหลักฐานและข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม
4. Action Question เป็นคำถามถึงแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหา มองให้ออกว่า สิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้ สิ่งไหนควรทำ ไม่ควรทำ สิ่งไหนทำแล้วจะเกิดผลอย่างไร แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเรารับได้หรือไม่
5. Action Plan เป็นคำถามที่ถามถึงลำดับก่อนหลังในการแก้ปัญหา ปัญหาใดควรได้รับการแก้ไขก่อน ซึ่งควรเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เห็นได้ชัดเจน
6. Prediction Question เป็นคำถามที่ถามถึงแผนการที่วางไว้ ว่าถ้าถูกต้องผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
7. Hypothetical Question เป็นคำถามที่ถามถึงแผนการที่วางไว้ว่า หากไม่เป็นอย่างที่คาด เราจะได้รับผลกระทบอย่างไรแล้วเรามีแผนสำรองอะไรไว้บ้างหรือไม่
8. Question of Generalization ดูแนวโน้มภาพรวมทั้งหมด ทั้งในระดับบุคคล แนวโน้มในบริษัท ธุรกิจ สภาพแวดล้อม ระดับเศรษฐกิจ แนวโน้มระดับประเทศและระดับโลก (Macro perspective) และในระดับย่อย (Micro perspective)คือมองคนที่อาศัยอยู่กับเรา ลูกน้อง เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ
เมื่อวิเคราะห์โดยสรุปแล้ว การเริ่มต้นฝึกตั้งคำถามสำหรับผู้บริหาร ทั้ง โซเครติส ซุนวู และปีเตอร์ ดรักเกอร์ ต่างมีกระบวนการที่เหมือนกันดังนี้ คือ
1. ต้องเริ่มต้นตั้งคำถามเพื่อให้เข้าใจภาพรวมของงานทั้งหมด เช่น ซุนวู เริ่มต้นถามว่าระบบความคิด ( Philosophy ) ของรัฐใดถูกต้องที่สุด เพื่อถามหาภาพรวมการบริหารจัดการ ดรักเกอร์ถามว่า อะไรคือสิ่งที่ต้องทำ ? และทำทุกอย่างจนมั่นใจว่า เข้าใจในงานที่จำเป็นต้องทำ
ทั้งสองแนวคิด ต้องการให้ผู้นำหรือผู้บริหาร รวมรวมข้อมูลในภาพรวมทั้งหมดก่อน แล้วจึงนำมาวิเคราะห์โดยปราศจากฉันทาคติ
2. ต้องเป็นคำถามปลายเปิดก่อน เช่น มันเกิดอะไรขึ้น ? เพื่อที่เราจะได้ตั้งสติสัมปชัญญะ ( Be in Present ) กับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
3. ระดมปัญหาไม่ใช่จมอยู่กับปัญหา คือ การพยายามตั้งคำถามให้มากที่สุด เขียนมันออกมาอย่างยาวเหยียดเลย “ คำตอบไม่ใช่สิ่งที่จุดประกาย แต่เป็นคำถามต่างหาก ” กระบวนการระดมปัญหา เริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า “ อะไรเกิดขึ้น? ” ผู้เขียนได้รับคำตอบว่า ผู้เขียนค้นพบความสอดคล้องกันของแนวคิดใน The Art of War กับ แนวทางการบริหารจัดการของปีเตอร์ ดรักเกอร์ จากนั้นวิธีการผู้เขียนก็เริ่มระดมความคิดด้วยวิธีการดังนี้ คือ นั่งไล่จดคำถามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหน้ากระดาษ A4 เขียนไปเรื่อยๆ ให้เต็ม 1 หน้าแล้วค่อยหยุด ได้คำถามที่เกี่ยวข้องดังนี้ เช่น มีประเด็นไหนบ้างที่มันตรงกันจริงๆ ? เราจะถ่ายทอดมันอย่างไร ? อะไรคือคุณค่าที่จะนำเสนอต่อผู้คน ? อะไรคือคุณค่าจริงที่ผู้คนจะนำไปปฏิบัติได้จริงๆ ? อะไรควรทำก่อนระหว่างการเปิดคอร์สฝึกอบรมกับการเขียนหนังสือ ? ฯลฯ เป็นต้น
บางทีการนั่งเขียนให้เต็มหน้ากระดาษ A4 ครั้งเดียวอาจติดๆ ขัดๆ ก็ได้ หมายความว่า เราคิดไม่ออก ไม่สามารถคิดรวดเดียวจบได้ อย่างนี้เราสามารถวางกระดาษทิ้งไว้ก่อนได้ โดยวางในที่สามารถมองเห็นได้ชัดแล้วค่อยมาเติมทีหลังก็ได้
4. เลือกเอาคำถามที่ดีที่สุดออกมาอีกชุดหนึ่ง ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “ คำถามเร่งปฏิกิริยา ” มันเป็นคำถามที่กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหว การทุ่มเททรัพยากรเข้าไป มองหาหนทางใหม่ เปิดมุมมองใหม่ให้กับเรา หรือเป็นคำถามที่นำพาเราไปสู่โอกาสได้
คำแนะนำสำหรับการค้นหาคำถามเพื่อเร่งปฏิกิริยา คือ ลองพยายามตั้งต้นคำถามที่ว่า
“จะเป็นอย่างไร ถ้าหากว่า.................?” เช่น ผู้เขียนใช้ชุด คำถามเร่งปฏิกิริยาที่ว่า
“ จะเป็นอย่างไร ถ้าเราสามารถถ่ายทอดแนวคิด เรื่องความสอดคล้องกันของงแนวคิดของ ปีเตอร์ ดรักเกอร์กับซุนวู ปิงฟ่า ไห้คนไทยเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ? ”
ด้วยคำถามนี้ กระตุ้นให้ผู้เขียนเกิดพลังกระตือรือร้น และมองเห็นโอกาส พร้อมจะทุ่มเทพละกำลังเพื่อค้นคว้าเรื่องนี้จนกว่าจะเป็นมรรคเป็นผลออกมา และผู้เขียน ก็ตั้งปณิธานว่าทั้งชีวิตจะเป็นผู้เผยแพร่ภูมิปัญญาที่สอดคล้องกันนี้ ให้คนไทยมีความรู้ เพื่อประโยชน์ในการเท่าทันการแข่งขันในสังคมโลกนั่นเอง
5. จัดทำ Action Plan กระบวนการนี้ผู้เขียนค้นพบว่าทั้ง 3 ท่าน ทั้ง ซุนวู โซเครติส และดรักเกอร์ นำเสนอตรงกัน คือ หลังจากมีคำถามที่ตั้งสมมติฐานที่ถูกต้องแล้ว ต้องเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังด้วย โดยซุนวูบอกว่า การประเมินจาก Action Plan นี้ จะทำให้เราลำดับกิจกรรมและทรัพยากรทั้งหมดที่ต้องทุ่มลงไปได้ หากประเมินแล้วได้ไม่คุ้มเสีย ท่านให้เลี่ยงการก่อสงครามซะ
การทำ Action Plan สรุปจากแนวคิดของซุนวูและดรักเกอร์ ต้องทำ 2 อย่างประกอบกัน คือ
- สร้างเป้าหมายระยะยาว เราสามารถสร้างได้ด้วย วิธีการสร้าง Imagine Future
( IF ) คือ การจินตนาการถึงอนาคตให้ละเอียดให้ได้แง่มุมมากที่สุดเท่าไหร่ยิ่งดี จนมันผสานเป็นหนึ่งเดียวกับความรู้สึกนึกคิดของเรา ในผลสัมฤทธิ์ที่เราต้องการ วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ อัลเบิร์ต ไอสไตน์ ใช้เป็นกระบวนการทำงานของเขา ในที่สุดก็ค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ จนคำพูดเขากลายเป็น Motto สำคัญ คือ “ จินตนาการสำคัญกว่า ความรู้” เป็นต้น หลังจากนั้นให้เขียนเป้าหมาย บรรยายออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ได้
- สร้าง Action Plan จากเป้าหมายระยะสั้น วิธีการนี้ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ เรียกว่า การทำ Feedback Analysis วิธีการก็คือ ให้ถามตัวเองว่า “ระยะเวลาจากนี้ไปอีก 9 – 12 เดือน เราต้องการผลสัมฤทธิ์อะไรบ้าง” เช่น ผู้เขียนก็จดลงในเป้าหมาย 9- 12 เดือนว่า ต้องมีบทความเรื่องนี้ เผยแพร่อินเตอร์เน็ตหรือสื่ออื่นๆ การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม การออกเป็นหนังสือ เป็นต้น จากนั้นก็มาเรียบเรียงว่า อะไรต้องทำก่อน อะไรต้องทำหลัง ตามความสำคัญและจำนวนทรัพยากรที่เรามี
-
ตั้งคำถามถูกต้อง คือ การหาสมมติฐานที่ถูกต้องในการบริหารจัดการ

ตอนที่ดรักเกอร์ เข้าไปให้คำปรึกษาแก่องค์กร จีอี ในยุคปี 1981 ก่อนที่ แจ็ค เวลล์ จะเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอไม่ถึงสัปดาห์ เวลล์ได้เข้าพบดรักเกอร์ที่บ้านของดรักเกอร์ในแคล์มอนต์ (Claremont ) แคลิฟอร์เนีย ( California )ทั้งสองคน-ปรมาจารย์ด้านการจัดการและว่าที่ซีอีโอ- ได้ปรึกษากันถึงแนวทางการเปิดตัวของเวลล์ในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์กรจีอี
ดรักเกอร์เปิดประเด็นว่า บริษัทอยู่ในช่วงถดถอยเกือบตลอดช่วงทศวรรษที่ 70 ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนมาเป็นรุกบ้าง เขาตั้งคำถามให้กับเวลล์ และช่วยกันหาคำตอบว่า

“ถ้าคุณยังไม่ได้อยู่ในธุรกิจนั้น แล้วต้องตัดสินใจด้วยข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้
คุณจะเข้าไปทำธุรกิจนั้น ในวันนี้หรือเปล่า ?”

ผลที่ตามมาก็คือ เวลล์ตัดสินใจได้ว่า ในหลายๆกรณีที่คำตอบของจีอี จะต้องเป็นคำตอบว่าไม่ ดังนั้นเขาจึง ลงมือทำ ตามการตัดสินใจ เขาขายแผนกเครื่องใช้เล็กๆ และปีต่อมา เขาขายธุรกิจต่างๆ ออกไปมากมายกว่า 100 แห่ง ด้วยการตรวจสอบที่ว่า ถ้าหากว่า “ มันไม่ได้ทำให้ จีอีเป็นที่หนึ่งหรือที่สอง” เขาขายกิจการและไล่คนออกกว่า 100,00 คน
เขาถูกวิพากษ์วิจารญ์ ว่าเป็นคนใจดำอำมหิต ใจคอโหดเหี้ยม เมื่อเลือกแค่จะรักษาธุรกิจที่เป็นจุดแข็งของจีอี 3 กลุ่มเท่านั้น คือ (1) ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เครื่องยนต์ของเครื่องบิน ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ( 2 ) ธุรกิจที่เป็นแกนหลัก เช่น เรื่องของแสงสว่าง และ (3)ธุรกิจบริการ เช่น บริษัทเงินทุนจีอี ( จีอีแคปิตอล )
แต่ท้ายที่สุด แจ็คเวลล์ ทำให้หุ้นจีอีเติบโตด้วยมูลค่าเพิ่มกว่าหมื่นเท่า ทำให้เรารับรู้ได้ว่า แจ็ค เวลล์ได้พิสูจน์ความเป็นผู้บริหารที่มีประสิทธิผล โดยทำตามกระบวนการแนะนำของ ปีเตอร์ ดรักเกอร์
สิ่งที่เหนือกว่านั้นก็คือ สำนักฝึกอบรมของจีอีที่โครตัน วิลล์ ซึ่งแจ็ค เวลล์ เป็นผู้ผลักดันให้เป็นสถาบันฝึกอบรมผู้บริหารขององค์กร สามารถผลิตซีอีโอขนาดใหญ่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในฟอร์จูน 500 มากกว่าที่ไหนๆ ของโลก
โดยสรุปแล้ว การตั้งคำถามเป็นงานของผู้บริหาร ผู้บริหารต้องฝึกฝนกระบวนการตั้งคำถามเพื่อเปรียบเทียบศักยภาพของตนเองกับคู่แข่งอยู่เสมอ ต้องฝึกฝนตั้งคำถามในมุมของคู่แข่ง ต้องฝึกฝนการตั้งคำถามในมุมมองของลูกค้า ต้องฝึกฝนให้ทีมงานหรือมือรอง ตั้งคำถาม
ทั้งนี้ เพื่อจะได้เห็นมุมมองในการสร้างโอกาส ให้ได้มากที่สุด ดังประโยคสำคัญของ ซุนวูที่ว่า “ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง รู้เข้าไม่รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะห้าสิบครั้ง ไม่รู้เขาไม่รู้เรา รบร้อยครั้ง แพ้ร้อยครั้ง ”
ดังนั้น ผู้บริหารที่วิ่งวน อยู่กับประโยคบอกเล่า คือ “ผู้นำที่ไม่ใฝ่หา ความรู้เขารู้เรา” ซุนวู
บอกว่า ผู้นำประเภทนี้ อาจทำไห้กองทัพแตกพ่าย พาชาติหรือองค์กรเสียหายได้ ท่านให้กำจัดทิ้งเสีย

คำสำคัญ (Tags): #ซุนวู
หมายเลขบันทึก: 454646เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2011 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นข้อมูลที่ดี มีประโยชน์ .........อยากให้ผู้เขียนติดต่อมาที่ 087-692-6484

ข้อมูลเป็นวิชาการดีค่ะ..อยากให้เอามาลงอีก ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ช่วยมาแนะนำ..ติดต่อมานะคะ 02-998-1740

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท